
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 2/2562 ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ PPP เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP มีมติรับทราบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย รวมทั้งมีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ในกลุ่มของกิจการท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ ตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 23 เมษายน 2562
สำหรับ “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามมาตรา 7 (3) ที่จะต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 มีทั้งหมด 13 ประเภทกิจการ ประกอบด้วย กิจการท่าอากาศยานจำนวน 12 ประเภทกิจการ และกิจการขนส่งทางอากาศอีก 1 กิจการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
-
1. ครัวการบิน (catering services)
2. คลังสินค้า
3. ระบบให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานอุปกรณ์บริการภาคพื้นดิน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง
4. อุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวก
5. บริการขนส่งสัมภาระที่เกิดการตกค้างระหว่างเดินทาง
6. การให้บริการด้านผู้โดยสาร (passenger handling services)
7. การให้บริการรักษาความปลอดภัย
8. การติดตั้งป้ายแบบอิเล็กทรอนิกส์แสดงข้อมูลแก่ผู้โดยสารและผู้มาใช้บริการท่าอากาศยาน
9. การให้บริการล้างเครื่องบินด้วยระบบเคลื่อนที่
10. การปรับปรุงความปลอดภัย หรือการรักษาความปลอดภัยของสนามบิน
11. การก่อสร้างหรือการติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อลดผลกระทบทางเสียงที่เกิดขึ้นจากการใช้สนามบิน
12. การรักษาสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดจากการใช้สนามบิน
13. การบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย เพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรอง รวมทั้งจัดทำร่างประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นฯ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 ทางคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้มีการประชุมกัน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 และครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ได้แก่ กระทรวงคมนาคม, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, กรมศุลกากร, กรมท่าอากาศยาน, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), กองทัพเรือ, บริษัท การบินไทน จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
โดยคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นฯ ตามมาตรา 7 (3) เนื่องจากมีความเร่งด่วน รวมทั้งกำหนดกรอบแนวทางในการพิจารณาประเภทกิจการใดที่ถือเป็น “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามมาตรา 7 วรรคที่ 2 ซึ่งมีหลักการพิจารณาดังนี้
-
1. หากไม่มีกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นนั้น จะไม่สามารถดำเนินกิจการตามมาตรา 7 วรรคที่ 1 ได้
2. กรณีที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง กำหนดให้ต้องมี “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ไว้ในการดำเนินกิจการตามมาตรา 7 วรรคที่ 1
ส่วนกิจการร้านค้าปลอดอากร (duty free) และกิจการร้านค้าบริการ (retails and services) ภายในท่าอากาศยานนั้น คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายมีความเห็นว่า “เป็นกิจการเชิงพาณิชย์ แต่ไม่ใช่กิจการจำเป็นที่ขาดไม่ได้” ดังนั้น การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีและสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 เพราะไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามมาตรา 7 วรรคที่ 2

วันเดียวกันนั้น นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สรุปรายชื่อผู้ซื้อซองประมูล หลัง ทอท.ปิดขายซองเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 เวลา 16.00 น.
โครงการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้มาซื้อซองประมูลทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่
1. บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด
2. บริษัท คิงพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด
3. บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท โรงแรมรอยัลออคิด เชอร์ราตัล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
โครงการให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้มาซื้อซองประมูล 4 ราย ได้แก่
-
1. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด
2. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด
3. บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด
ทั้งนี้ผู้ที่จะยื่นซองจะต้องแจ้งรายชื่อ Joint Venture ที่จะร่วมประมูลกับ ทอท. ก่อนกำหนดยื่นซองประมูลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ โดย ทอท. ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งในวันที่มีการชี้แจงคุณสมบัติและวันเปิดซอง เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาลที่ ทอท. ดำเนินการมาโดยตลอด
(หมายเหตุ: การสะกดเป็นไปตามโพสต์ต้นทาง)