ThaiPublica > เกาะกระแส > “ชาญชัย” แจงเหตุถวายฎีกา แก้ทุจริต เตือน ทอท. ประมูล “ดิวตี้ฟรี” รอบใหม่ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

“ชาญชัย” แจงเหตุถวายฎีกา แก้ทุจริต เตือน ทอท. ประมูล “ดิวตี้ฟรี” รอบใหม่ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

17 ตุลาคม 2018


เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เวลา 10.30 น. นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องแถลงข่าว พรรคประชาธิปัตย์

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เวลา 10.30 น. นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ ด้านกลไกในการปราบปรามการทุจริต คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องแถลงข่าว พรรคประชาธิปัตย์

ประเด็นแรก นายชาญชัยชี้แจงถึงเหตุผลที่จะถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ว่า การถวายฎีกาเป็นเรื่องสิทธิของบุคคลตามกฎหมายระหว่างพสกนิกรกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และราชประเพณีว่าด้วยการถวายฎีกา โดยประเด็นที่ตนจะถวายฎีกานั้นเป็นเรื่องของระบบการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และล่าช้าอย่างมาก เป็นผลให้การบังคับและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

“ส่วนกรณีที่มีผู้กล่าวอ้างว่าผมไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลอาญาคดีทุจริตฯ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ขอยืนยันว่าผมเคารพในคำตัดสินของศาลอาญาคดีทุจริตฯ และจะใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คดีตามกฎหมายต่อไป รวมทั้งจะนำคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลอาญาคดีทุจริตหลายประเด็น ส่งให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเรียกเงิน 14,290 ล้านบาท คืนแผ่นดิน” นายชาญชัยกล่าว

  • ศาลคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง “บอร์ด ทอท.- คิง เพาเวอร์” ระบุ “ชาญชัย” ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เตรียมยื่นอุทธรณ์ – ป.ป.ช. สานต่อคดี
  • “ชาญชัย” เตรียมจี้ “บิ๊กตู่-คลัง-คมนาคม” ทวง 14,290 ล้านจากคิงเพาเวอร์ คืนแผ่นดินใน 60 วัน หลังศาลคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง
  • นายชาญชัยกล่าวย้ำว่าตนไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะนำคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ถวายฎีกาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งเรื่องนี้ตนทราบดี ตราบใดที่การพิจารณาคดี ยังไม่ถึงที่สุด ตามกฎหมายถวายฎีกาไม่ได้ แต่ประเด็นที่ตนจะถวายฎีกานั้น เป็นการรายงานข้อเท็จจริง พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จากการดำเนินโครงการลงทุนของรัฐ ช่วงปี 2548-2560 รวม 14 โครงการ คิดเป็นมูลเสียหาย 451,506 ล้านบาท ตามที่เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งในจำนวนนี้มีประเด็นที่เกี่ยวกับโครงการลงทุนที่ท่าอากาศยานรวมอยู่ด้วย

    และในฐานะที่ตนเคยทำหน้าที่ ส.ส., คณะกรรมการยกร่างกฎหมายหลายฉบับ และปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน จึงจำเป็นต้องถวายฎีกาให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้รับทราบสถานการณ์จากอดีตถึงปัจจุบันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุปสรรคของกฎหมาย และระบบอุปถัมภ์ช่วยเหลือเกื้อกูลให้มีการฉ้อฉล ทำผิดกฎหมายเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวาย แตกความสามัคคี มีการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์แก่ตน และพวกพ้อง ทำให้ประเทศชาติเสียหาย กระทบต่อความสงบสุขของประชาชน ซึ่งตนได้ปฏิบัติหน้าที่ทุกช่องทาง เพื่อให้เป็นผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ภาคประชาชนก็ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

    “หลายคนอาจวิตกในประเด็นที่ผมจะยื่นถวายฎีกา ประเด็นที่ผมจะรายงานต้องเป็นเรื่องจริงสถานเดียว และมีเอกสารหลักฐานประกอบด้วย มิฉะนั้นจะถือเป็นการนำความเท็จไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่ควรทำ” นายชาญชัยกล่าว

    ประเด็นที่ 2 กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมออกประกาศคัดเลือกผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาค ก่อนที่สัญญาสัมปทานฯ ที่บังคับใช้ในปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 2563

    นายชาญชัยกล่าวว่า “เรื่องนี้ ตนขอฝากไปถึงคณะกรรมการ ทอท. (บอร์ด ทอท.) การเปิดประมูลรอบนี้ ขอให้ ทอท. ปฏิบัติตามขั้นตอน และกระบวนการแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 เนื่องจากศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาว่าโครงการดังกล่าวมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ทอท.ยังไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้อง” ซึ่งคดีนี้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องตนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาหมิ่นประมาท มีทั้งหมด 8 ประเด็น ในจำนวนนี้มีประเด็นที่ตนเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การทำสัญญาระหว่างกลุ่มคิง เพาเวอร์ กับ ทอท. นั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) หรือไม่ และมีผลอย่างไร

    โดยนายชาญชัยกล่าวว่า หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ตนนำมาหักล้างข้อกล่าวหา เริ่มตั้งแต่กรณีที่ ทอท. ทำหนังสือถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการประเมินมูลค่าการลงทุนของโครงการในกิจการร้านค้าปลอดอากร ซึ่ง ทอท. ก็ไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัย ต่อมาเมื่อปี 2550 บอร์ด ทอท. ได้แต่งตั้ง พล.ต.ต. ประทิน สันติประภพ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ พบว่า โครงการดังกล่าวนี้มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท และไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 จึงนำเรื่องเสนอ ทอท. บอกเลิกสัญญาสัมปทานฯ

    ทางกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายจาก ทอท. โดยในคำบรรยายฟ้องของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ระบุว่า ได้ลงทุนไปเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่ง ป.ป.ช. ก็ไม่ได้พิจารณาหลักฐานดังกล่าว จึงเป็นที่มากรณีที่ตนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า สัญญาสัมปทานดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน

    นายชาญชัยกล่าวว่า เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว ต่อมาได้มีคำพิพากษาว่า “ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจโดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% จึงถือเป็นทรัพย์สินของประเทศ จำเลย คือ นายชาญชัยได้ให้สัมภาษณ์ โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบของคณะกรรมการ และหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย การกระทำของนายชาญชัย จึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะกระทำได้ เพื่อเผยความจริงอันเป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคม และช่วยเป็นหู เป็นตาแทนประชาชน ในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา”

    นายชาญชัยกล่าวว่า หลังจากที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ ตนจึงขอย้ำเตือน คณะกรรมการ ทอท. หากจะมีการจัดประกวดราคา หรือ อนุญาตให้เอกชนร่วมทุนในโครงการร้านค้าปลอดอากร ซึ่งมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ตามคำพิพากษาของศาลฯ ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 ทั้งนี้ ตนจะนำคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ได้มีการตัดสินประเด็นนี้ ส่งให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอร์ด ทอท. ใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาเคยส่งรายการผลการศึกษาฯ ของ สปท. ไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่ละเอียดเท่ากับคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงขอนำเสนอผู้ที่มีอำนาจกำกับดูแล พิจารณาอีกครั้ง

    “ก่อนหน้านี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้พิพากษาว่า ผมไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนผมเข้าถือหุ้น แต่วันนี้ผมเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง หากพบการกระทำผิด หรือ ฝ่าฝืนกฎหมายเกิดขึ้น ผมฟ้องแน่ ใครทำอะไรไว้ก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้มีทั้งหมด 8 ประเด็น ผมจะแถลงข่าวครั้งเดียว คงจะต้องใช้เวลานานมาก จึงขอแยกแถลงข่าวทีละประเด็น โดยในวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2561 เวลา 10.00 น. ผมขอแถลง ต้นเหตุที่ทำให้อาหารและเครื่องดื่มในสนามบินมีราคาแพง ตามที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐาน ทั้งนี้เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น” นายชาญชัยกล่าวทิ้งท้าย