ThaiPublica > เกาะกระแส > คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 8) : POS สำคัญไฉน คู่สัญญา “คิงเพาเวอร์-AOT” ติดตั้งช้า 9 ปี ยอดขายเรียลไทม์ตรวจสอบอย่างไร ใครรับผิดชอบ?

คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 8) : POS สำคัญไฉน คู่สัญญา “คิงเพาเวอร์-AOT” ติดตั้งช้า 9 ปี ยอดขายเรียลไทม์ตรวจสอบอย่างไร ใครรับผิดชอบ?

30 กรกฎาคม 2019


คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 8): ติดตั้ง POS ล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญาฯ 9 ปี สตง.ชี้ AOT อาจเสียผลประโยชน์ฯ ทอท.โต้ สตง. ไม่เรียลไทม์ก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย แจงเชื่อมต่อข้อมูลภาษีไม่ได้ เหตุกรมศุลฯ ใช้ระบบ Manual คุมสินค้าปลอดอากร “คิง เพาเวอร์” อ้างศาลติดตั้ง POS ตั้งแต่ปี 2549 ศาลวินิจฉัยเป็นแค่เครื่องออกใบกำกับภาษีแบบย่อ

แม้การประมูลให้สัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินนานาชาติทั้งสุวรรณภูมิ หาดใหญ่ ภูเก็ต และเชียงใหม่รอบใหม่จะได้ผู้ชนะไปแล้ว แต่สัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดในปี 2563 ระหว่างทางสัญญาสัมปทานมีเรื่องราวหลายประเด็นที่เป็นคำถามและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล โดยบางคดีมีการตัดสินสิ้นสุดไปแล้ว บางคดีมีคำพิพากษาในชั้นต้น และมีการอุทธรณ์ต่อ ซึ่งข้อเท็จจริงที่มีการไต่สวนและเปิดเผยในคำพิพากษา จึงนำมาสู่ประเด็นคำถามว่าผู้ถือหุ้นของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ทั้งรายเล็กรายใหญ่ ผู้บริหาร ทอท. และผู้กำกับดูแลอย่างกระทรวงคมนาคม ได้ติดตามตรวจสอบและดำเนินการใดๆ หรือไม่

ต่อจากตอนที่แล้ว ตามที่ไทยพับลิก้าได้นำเสนอตัวเลขผลการจัดเก็บค่าสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิและภูมิภาค ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” จัดเก็บรายได้จากค่าสัมปทานดิวตี้ฟรีที่ “สนามบินสุวรรณภูมิ-หาดใหญ่-ภูเก็ต-เชียงใหม่” รวมกันได้ 30,760 ล้านบาท แต่ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า รายได้รวมน่าจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 2 แสนล้านบาท

สำหรับปีงบประมาณ 2562 ซึ่งยังมีเวลาเหลืออีก 2 เดือน ทอท.คาดว่าจะมีรายได้จากค่าสัมปทานดิวตี้ฟรี 5,200 ล้านบาท แต่พอปี 2564 ตามตัวเลขที่ผู้ชนะการประมูลเสนอจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 15,419 ล้านบาทต่อปี ดังที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ผู้ชนะประมูลเสนอราคา จึงมีคำถามตามมาว่า ในอดีต ทอท.จัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้รับสัมปทานฯ ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ ท่ามกลางนักเดินทางจำนวนมากมาย และเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการติดตั้งระบบตรวจสอบยอดขายอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ หรือที่เรียกว่าระบบ “POS” ที่ติดตั้งล่าช้ากว่าที่กำหนดในเงื่อนไขของ TOR และสัญญาสัมปทานฯ มานานถึง 9 ปี

ประเด็นนี้ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 หลังการประกาศผู้ชนะประมูล (ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562) ยอมรับว่า ทอท.เพิ่งจะติดตั้งระบบ POS แบบเรียลไทม์เมื่อไม่นานมานี้ โดย ดร.นิตินัยกล่าวว่า “หากย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ตนไม่แน่ใจว่ามีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบเรียลไทม์หรือไม่ เท่าที่ทราบ ทอท.มีการติดตั้งระบบ POS มาตั้งแต่เปิดสนามบินแล้ว แต่ไม่เรียลไทม์ ทุกๆ เย็นก็จะมีการจัดทำรายงานส่งให้ ทอท.เป็นแบบวันต่อวัน ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ส่งให้กรมสรรพากร แต่เพิ่งจะมีการปรับปรุงให้เป็นระบบเรียลไทม์หลังจากมีเทคโนโลยีประเภทนี้เข้ามา ตอนนี้เริ่มใช้แล้ว และในสัญญาสัมปทานใหม่ ก็กำหนดให้ต้องมีการติดตั้งระบบ POS แบบเรียลไทม์ด้วย”

และก่อนหน้านี้ “ไทยพับลิก้า” เคยสัมภาษณ์นายนิตินัยในเดือนมกราคม 2559 ซึ่งได้ตอบคำถามในประเด็นนี้ว่า

ไทยพับลิก้า: ยอดขายที่คิง เพาเวอร์ ขายได้ กับตัวเลขที่แท้จริงที่ส่งให้การท่าฯ ตรวจสอบอย่างไร

ในส่วนนี้คิง เพาเวอร์ เขามีระบบ Point of Sale หรือ POS มีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจ เราตรวจเอง หากมีหน่วยงานภายนอกสงสัย เช่น สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ก็เข้ามาตรวจสอบด้วย ไปตรวจสอบในระบบของเขา ทางคิง เพาเวอร์ เขามีระบบของเขา แต่ของการท่าฯ ยังไม่มีระบบ POS ไปลิงก์กับของคิง เพาเวอร์

ไทยพับลิก้า: ทำไม ทอท.ไม่เชื่อมโยงระบบ POS กับบริษัท คิง เพาเวอร์ เพื่อตรวจสอบยอดขายได้เลย

ระบบคอมพิวเตอร์ของการท่าฯ ยังไม่ได้ทำ ต้องลงทุน ในเชิงเทคนิค เราอยากจะลิงก์ แต่ตอนนี้ซอฟต์แวร์ยังไม่อัปเกรด เรื่องการลงทุนซอฟต์แวร์ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการรายได้ของ ทอท.แล้วว่าให้ลงทุน เพิ่งมีมติเห็นชอบแผนการลงทุนระบบคอมพิวเตอร์ หากถามว่าทำไมก่อนหน้าไม่ลิงก์ ก็คงต้องไปถามซีอีโอท่านเก่า ผมเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารที่ ทอท. 8 เดือน ก็เสนอผ่านคณะกรรมการรายได้เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

ไทยพับลิก้า: POS เป็นระบบสำคัญที่จะตรวจสอบยอดขาย

ระบบมันลิงก์ แต่ถ้าสงสัยก็มีการตรวจเป็นครั้งๆ มี สตง.ตรวจเป็นระยะๆ ประเด็นอย่างที่เรียนว่า การไม่มี POS ไม่ได้เป็นเครื่องมือเดียวที่จะตรวจ ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่มี POS ตายแล้ว…เราตรวจอะไรคิง เพาเวอร์ ไม่ได้ ไม่ใช่ มันเป็นแค่เทคโนโลยีที่ทำให้การตรวจสอบง่ายขึ้น ดังนั้น การมี POS หรือไม่มี POS ก็มีการตรวจโดย manual หรือมีคนมาตรวจเป็นระยะอยู่แล้ว เพียงแต่ POS เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการตรวจ ส่วนความถี่ก็ว่ากันไป บางทีก็ตรวจเป็นรายปีก่อนปิดงบ

ผมว่า POS ไม่ได้ตอบทุกอย่าง ผมเชื่อว่าความโปร่งใสชนะทุกอย่าง ถ้ามันโปร่งใส คุณอยากดูก็เข้ามาดูเลย

ไทยพับลิก้า: ในสัญญาบอกว่าให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการติดตั้งระบบตรวจสอบ

คิง เพาเวอร์ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบ POS เสร็จเรียบร้อยมานานแล้ว แต่ ทอท.ไม่ได้ลิงก์เอง แต่เราจะไปว่าเขาผิดสัญญาเพราะการท่าฯ ไม่รู้จะไปทำอะไรได้ ก็ต้องทบทวนตัวเองว่าทำหรือยัง ไม่ถือว่าคิง เพาเวอร์ ผิดสัญญา

ไทยพับลิก้า: ทอท.ไม่ได้เชื่อมต่อระบบ POS กับบริษัท คิง เพาเวอร์ แล้วตรวจสอบยอดขายกันอย่างไร

เจ้าหน้าที่ ทอท.รายงาน หลักการทำงานของระบบ POS ของ ทอท.ทำงานอย่างไร คือ เปิดลิ้นชักนานกี่นาทีแล้วไม่มีการเอาเงินออก การไม่มีเงินเข้า-ออกถือว่าผิดปกติ ก็จะเตือนให้ไปดูกล้องวงจรปิดว่ามีการขายหรือไม่ เพราะการเปิดลิ้นชักมันต้องทอน ถ้าเปิดแล้วต้องมีการทำธุรกรรม ว่ามีการรูดการ์ด มีการทอนเงินกันในช่วงนั้น ถ้าทางซ้ายมีการเตือนว่ามีการเปิดลิ้นชัก ทางขวามาดูว่าไม่มีการทำธุรกรรม ก็ไปดูกล้องวงจรปิด นี่เป็นระบบ POS ของ ทอท. ก็เรียนว่ายังไม่ค่อยเข้าใจไอทีมาก แต่ POS ไม่ใช่สูตรสำเร็จ

จากคำตอบของซีอีโอ ทอท. ถามว่าหากไม่ติดตั้งระบบ POS ตามสัญญาที่ผ่านมา ถือว่าผิดสัญญาหรือไม่!! หรือถ้า ทอท.ไม่ดำเนินการในเรื่องนี้ ทำไมคณะกรรมการ คณะผู้บริหาร ทอท. หรือผู้ถือหุ้นรายเล็ก หรือรายใหญ่อย่างกระทรวงการคลังไม่ดำเนินการกับผู้บริหารที่ละเว้นการปฏิบัติตามสัญญา

ถามว่าหากเทคโนโลยีไม่สามารถทำได้ ทำไมจึงมีการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานว่าต้องตั้งระบบ POS!!!

“POS” คืออะไร – สำคัญอย่างไร

ระบบ POS หรือ point of sale คือ ระบบเชื่อมต่อและส่งผ่านข้อมูลการขาย ยอดรายรับของสินค้าทุกประเภท จากเครื่องเก็บเงินของร้านค้าทุกเครื่อง ทุกจุด เชื่อมต่อกับ POS central server ของระบบ AIMS (airport information management system) การบันทึกยอดขายข้อมูลสินค้าเป็นแบบ real-time transaction โดยผ่าน wireless access point ซึ่งติดตั้งเข้ากับโครงข่ายเน็ตเวิร์กของอาคารผู้โดยสาร ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลยอดขายของแต่ละร้านค้าจากเครื่องเก็บเงินเข้าสู่ระบบ AIMS คล้ายๆ กับระบบ POS ของห้างสรรพสินค้า ทุกครั้งที่มีการขาย สแกนบาร์โค้ด ข้อมูลการขายที่บันทึกไว้ในบาร์โค้ดจะถูกส่งไปที่ศูนย์ประมวลผลส่วนกลางทันที สามารถตรวจสอบข้อมูลยอดขายได้ทุกขณะเวลา แก้ไขไม่ได้ <

ทำไม TOR – สัญญาฯ กำหนดให้ AOT ต้องติดตั้ง

ในแต่ละปีมีผู้โดยสารเดินทางผ่านเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิและภูมิภาคหลายสิบล้านคน หากใช้ระบบ manual ในการบันทึกยอดขาย อาจจะมีปัญหาความไม่เป็นธรรม ความโปร่งใส และข้อโต้แย้งระหว่าง ทอท.กับผู้รับสัมปทาน เนื่องจากการจัดเก็บค่าสัมปทานทั้งในส่วนของพื้นที่ดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท. โดยในอดีตเริ่มต้นที่ 15% ของรายได้จากยอดขายและบริการก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ เปรียบเทียบกับผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้รับสัมปทานฯ นำเสนอขณะยื่นซองประมูล ยอดไหนสูงกว่าให้ใช้ยอดนั้น

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ ทอท.และผู้รับสัมปทานใน TOR และสัญญาสัมปทานฯ จึงกำหนดให้มีการติดตั้งระบบ POS แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตรวจสอบยอดขายและคิดค่าสัมปทานฯ ได้เป็นรายวัน รายเดือนและรายปี อย่างแม่นยำ ไม่คลาดเคลื่อน และเป็นที่ยอมรับกันทั้ง 2 ฝ่าย

ติดตั้งระบบ POS ล่าช้า 9 ปี มีผลกระทบอย่างไร

ในคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1567/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.2683/2561 และศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ พ. 545/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ พ. 428/2562 ซึ่งเป็นคดีความระหว่างกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นโจทก์ ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลย คดีหมิ่นประมาท ได้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเรื่องการติดตั้งระบบ POS แบบเรียวไทม์ไว้ค่อนข้างชัดเจน

เริ่มจากคำพิพากษาของศาลแพ่ง ระบุว่า ก่อนที่สนามบินสุวรรณภูมิจะเปิดทำการในปี 2549 ทาง ทอท.ได้มีการสั่งซื้อเครื่องเก็บเงิน point of sale terminal จำนวน 100 เครื่อง รวมทั้งว่าจ้างเอกชนดำเนินการติดตั้งระบบ POS ให้กับร้านค้าที่รับสัมปทานภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ ทอท.ไม่สามารถกำหนดสถานที่ติดตั้งระบบดังกล่าวได้ เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปจากกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานตามสัญญาของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 จากนั้น ทอท.ก็มีหนังสือแจ้งให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ติดตั้งและเชื่อมต่อระบบ POS แบบเรียลไทม์ แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการแต่ประการใด

สตง.ชี้ ติดตั้ง POS ล่าช้า ทอท.อาจเสียผลประโยชน์ตอบแทน

จนกระทั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบ ณ วันที่ 9 กันยายน 2558 ทอท.ก็ยังเชื่อมต่อระบบ POS ไม่สำเร็จ สตง.จึงมีความเห็นว่า “การไม่เชื่อมต่อระบบ POS อาจทำให้ ทอท.มีโอกาสเสียผลประโยชน์ตอบแทนที่จัดเก็บจากยอดขายสินค้าในพื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิ”

รายงานการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่า กรณีที่ ทอท.ยังไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลรายรับกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ให้เป็นไปตามเวลาที่แท้จริง (real-time transaction) อาจทำให้ระบบการส่งข้อมูลที่เกี่ยวกับการขายสินค้าปลอดอากรไม่สามารถควบคุมหรือตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน ยอดเงิน สินค้า ให้เป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนได้ การรายงานยอดขายแต่ละวัน ทอท.ถือตามยอดรายงานของบริษัทผู้ขาย

สตง.จึงมีข้อเสนอแนะถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้เร่งรัดดำเนินการติดตั้งระบบ POS เชื่อมโยงข้อมูลรายรับกับผู้รับสัมปทาน ฯ แบบเรียลไทม์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งให้วางระบบเชื่อมโยงการตรวจสอบข้อมูลกับกรมศุลกากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ เพื่อใช้ในการยืนยัน สอบทานข้อมูล ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส

ช่วงนั้น ดร.นิตินัยให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้าว่า “การไม่ติดตั้งระบบ POS แบบเรียลไทม์ ก็ไม่ทำให้ ทอท.เสียหาย” (อ่านข่าวเพิ่มเติม)

  • สตง. บี้ทอท. เร่งเชื่อม POS เช็คยอดขาย ”คิง เพาเวอร์” แบบเรียลไทม์ พบ 9 ปีไม่คืบหน้า แจงบัญชีรายรับต่ำกว่าข้อมูลกรมศุลฯ
  • “นิตินัย” โต้ สตง. ทุกประเด็น ยัน ทอท. ไม่เสียหายกรณี “คิงเพาเวอร์” ระบุตรวจสอบ – ถามทุกปี แต่เอาผิดใครไม่ได้ ไม่เบื่อบ้างหรือ!
  • “ นิตินัย ศิริสมรรถการ ” ผอ.ทอท. ไขปม”แดนสนธยา” – ธุรกิจร้านค้าปลอดอากร “เปิดเสรี” หรือ “ผูกขาด”
  • ทอท.แจง สตง. เชื่อมต่อข้อมูลภาษีไม่ได้ เหตุกรมศุลฯ ใช้ระบบ manual คุมสินค้าปลอดอากร

    ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ทอท.ได้ทำหนังสือชี้แจงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินถึงเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้รับสัมปทานกับกรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ในปี 2555 ทอท.เคยมีการพิจารณาประเด็นเชื่อมโยงข้อมูลการขายสินค้าปลอดอากรกับกรมศุลกากรและกรมสรรพากร แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากกรมศุลกากรใช้วิธีควบคุมสินค้าทัณฑ์บนในทางกายภาพและทางบัญชี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร โดยไม่มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้งาน ส่วนกรมสรรพากรใช้วิธีเรียกเก็บภาษีโดยอ้างอิงระเบียบของกรมศุลกากร ซึ่งเป็นสินค้าปลอดอากรได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าและเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะถือว่าไม่มีการนำเข้าสินค้ามาในประเทศ กรมสรรพากรจึงไม่มีข้อมูลรายการของบริษัท คิง เพาเวอร์

    อ้างติดตั้ง POS ตั้งแต่ปี 2549 ศาลชี้เป็นแค่เครื่อง “POSS” ใช้ออกใบกำกับภาษี

    ขณะที่บริษัท คิง เพาเวอร์ (โจทก์) ได้ชี้แจงต่อศาลแพ่งและศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ติดตั้งเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (point of sale: POS) ตามสัญญาสัมปทานตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา โดยเครื่องบันทึกการเก็บเงินของบริษัทได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากกรมสรรพากร ประเด็นนี้ ศาลแพ่งมีความเห็นว่า “เป็นเพียงระบบการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างย่อ ต่างกับรูปแบบที่ ทอท.กำหนดให้เป็นระบบประมวลผลทันที (real-time)”

    ส่วนศาลอาญากรุงเทพใต้วินิจฉัยประเด็นนี้ว่า “เป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินชนิดคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบกับเป็นระบบ POSS เพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อจำนวน 119 เครื่อง การติดตั้งเครื่อง POSS ไม่เกี่ยวกับการติดตั้งระบบ POS เพื่อรับรู้ยอดขายสินค้าที่จะนำไปใช้คำนวณเป็นรายได้ของ ทอท.แต่อย่างใด”

    ต่อมา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 คณะอนุกรรมาธิการฯ สปท.ได้เชิญผู้แทนจากทอท.มาชี้แจงเรื่องการจัดซื้อระบบ POS จำนวน 100 เครื่อง แต่ไม่สามารถติดตั้งได้ เนื่องจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้ติดตั้งเครื่อง POS ที่จัดหามาเองไว้ก่อนแล้ว ไม่สามารถใช้กับระบบ POS ที่ ทอท.จัดหามาได้

    เครื่องเก็บเงิน (point of sale terminal) จำนวน 100 เครื่อง
    ที่มาภาพ: สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

    นับตั้งแต่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เข้าประกอบกิจการดิวตี้ฟรีตั้งแต่ปี 2549 ถึงธันวาคม 2558 รวมระยะเวลากว่า 9 ปีที่ ทอท.ไม่มีระบบที่สามารถใช้ในการควบคุม ตรวจสอบยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทอท.เพิ่งเริ่มดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์และระบบบันทึกยอดขายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยมีกำหนดเวลาติดตั้งแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม 2558 แต่จากการตรวจสอบของ สตง. ณ วันที่ 9 กันยายน 2558 พบว่ายังเชื่อมต่อระบบ POS แบบเรียลไทม์ไม่แล้วเสร็จ ต่อมา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ทอท.ได้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบ POS แบบเรียลไทม์ที่สนามบินดอนเมืองเสร็จเรียบร้อยในเดือนมกราคม 2559 ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2559

    ภายหลังศาลแพ่งได้วินิจฉัยประเด็นฟ้องอื่นๆ ครบทุกประเด็นแล้ว จึงพิพากษา “ข้อความที่นายชาญชัยนำมาแถลงข่าว เป็นการแถลงข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารที่ได้มาจากหลายหน่วยงาน เช่น เอกสารสัญญาสัมปทานฯ ของ ทอท., เอกสาร สตง., รายงานการประชุมของอนุกรรมาธิการฯ สปท. ที่มีเจ้าหน้าที่ของ ทอท.เป็นผู้มาชี้แจงต่อที่ประชุม เป็นต้น การแถลงข่าวของนายชาญชัยเป็นการนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาตามอำนาจหน้าที่ขอคณะอนุกรรมาธิการฯ แถลงข่าวให้สาธารณชนทราบโดยสุจริต เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของชาติ เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ทอท. ให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยและประชาชนทั่วไปรับทราบ เข้าใจปัญหาความเป็นมา ข้อความที่นายชาญชัยนำมาแถลงไม่ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง ไม่เป็นการละเมิดโจทก์” พิพากษา “ยกฟ้อง” ความคืบหน้าคดีนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์

    ส่วนศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาว่านายชาญชัยให้สัมภาษณ์โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบ ของคณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย หรือได้รับแต่งตั้งโดยชอบ การกระทำของนายชาญชัยจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะกระทำได้เพื่อเผยข้อเท็จจริง อันเป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคม และช่วยเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

    อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อบังคับของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2528 ข้อ 81 วรรคท้าย ห้ามไม่ให้อนุกรรมาธิการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกิจการงานของคณะกรรมาธิการก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ประธานคณะกรรมาธิการในคณะนั้นๆ จะไปดำเนินการตามข้อบังคับกับจำเลยต่างหาก หามีผลต่อการวินิจฉัยในคดีไม่

    “การกระทำของจำเลย จึงถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) และไม่ใช่เป็นการดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น” ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา “ยกฟ้อง” ความคืบหน้าคดีนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์เช่นกัน

    หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาคดี นายชาญชัยจึงดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ว่า “ปลด (บอร์ด) เรื่องอะไร การสอบสวนและกฎหมายว่าอย่างไร แจ้งความกันหรือยัง ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่รัฐบาลจะเอาเรื่องที่มีกระแสมาทำโดยไม่มีที่มา หลักฐานการทุจริต ผู้เสียหาย กระบวนการยุติธรรมว่าอย่างไร” โดยจัดส่งสำเนาคำพิพากษาศาล พร้อมหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ ทอท. เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้

    ปรากฏว่ามีนายกรัฐมนตรีเพียงรายเดียวที่ทำหนังสือแจ้งกลับนายชาญชัยว่าได้รับเอกสารที่จัดส่งให้แล้ว แต่ไม่ได้สั่งการใดๆ เพื่อจัดการกับเรื่องนี้ให้ถูกต้องแต่อย่างใด

    เช่นเดียวกับคณะกรรมการ ทอท.ที่ “คน” กระทรวงการคลังนั่งเป็นประธานกรรมการ (นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง) และเป็นกรรมการ (นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร) ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาหรือไม่อย่างไร

    จึงเป็นคำถามต่อไปยังผู้ถือหุ้นของ ทอท.ทุกรายที่ต้องถามหาความโปร่งใสจากคณะผู้บริหาร ทอท. โดยเฉพาะกระทรวงการคลังที่มีบทบาททั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และในฐานะผู้จัดเก็บรายได้เข้ารัฐ โดยมีตัวแทนนั่งเป็นกรรมการถึง 3 คน ได้สอดส่องและทำหน้าที่ในฐานะกรรมการทวงถามหรือยัง

    รวมทั้งคณะกรรมการ ทอท.และผู้บริหาร ได้มีการสะสางข้อเท็จจริงข้างต้น มีคำตอบและดำเนินการกับเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร

    เพราะ ทอท.เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดล่าสุด (14 มิถุนายน 2562) 953,570.48 ล้านบาท และ ณ 26 กรกฎาคม 2562 มีมูลค่า 1,024,998.98 ล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่ม ปตท. จะตอบคำถามเรื่องธรรมาภิบาลกับนักลงทุนอย่างไร