ThaiPublica > เกาะกระแส > กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนที่ 2): ดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิคะแนนต่ำกว่าสนามบินชั้นนำในภูมิภาคเกือบทุกเกณฑ์

กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนที่ 2): ดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิคะแนนต่ำกว่าสนามบินชั้นนำในภูมิภาคเกือบทุกเกณฑ์

9 มีนาคม 2018


ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้นำเสนอซีรีส์ “เจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีธุรกิจที่ได้รับสัมปทานรายใหญ่เพียงรายเดียว และสัมปทานที่สนามบินสุวรรณภูมิจะครบสัญญาในปี 2563 โดยมีกระแสข่าวว่าจะมีการเปิดประมูลให้สัมปทานดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิเร็วๆ นี้ ล่าสุด สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ออกรายงาน “การศึกษาธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย” โดยระบุเป็นการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมจากแบบอย่างของการพัฒนาการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรหรือดิวตี้ฟรี และกระบวนการการจัดระเบียบการให้สัมปทานที่เป็นมาตรฐานสากล จากประเทศชั้นนำหลากหลายประเทศ (international best practice) รวมทั้งข้อเสนอแนะสรุปให้เห็นแนวทางการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

สนามบินสุวรรณภูมิ

ต่อจากตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงการสร้างโอกาสการแข่งขันที่สมดุลและเป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยวหรือธุรกิจดิวตี้ฟรี จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจะนำพาประเทศไทยสู่แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดตามมาตรฐานสากล

ในตอนที่2 รายงานจะกล่าวถึงภาพรวมของประเทศไทยและบทวิเคราะห์เกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศ ว่าในแง่คุณภาพมาตรฐานของไทยเป็นอย่างไร และโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจดิวตี้ฟรีเพื่อให้ก้าวขึ้นมาอยู่ในกลุ่มแนวหน้าของโลกเป็นอย่างไร

1. ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนแบบค้างแรมมากกว่า 32 ล้านคน โดย 40% เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการใช้จ่ายสูง

จากข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ อัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 10% ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย ขณะเดียวกัน จากการสำรวจโดยมาสเตอร์การ์ด กรุงเทพมหานครก็ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเมืองอันดับ 1 ของโลกจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้มาเยือนแบบค้างแรมมากกว่านครลอนดอน นครปารีส และนครนิวยอร์ก ทั้งในด้านจำนวนและการเติบโตจากปี พ.ศ. 2555-2559 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นสัดส่วนถึง 20.6% และก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นสัดส่วนถึง 15.1% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงในประเทศไทย เช่น นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และรัสเซีย เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 11.8 ล้านคนในปี 2555 เป็น 20.5 ล้านคนในปี 2559 (ดูภาพที่ 2) ปัจจุบัน ทั้ง 4 ชนชาติข้างต้นนี้ ถือเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 40% และ 50% ในตลาดการท่องเที่ยวขาเข้าของประเทศไทยและกรุงเทพฯ โดยเติบโตขึ้น 14.6% และ 12.7% ในปี 2555-2559 การเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักเป็นอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ (14.6% เทียบกับ 5.8%) ซึ่งนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการใช้จ่ายสูงเหล่านี้เริ่มมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ภาพที่ 2 นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังที่พักจำแนกตามสัญชาติในปี พ.ศ. 2559
ภาพที่ 3 จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง

ประเทศไทยมีสนามบินนานาชาติ 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและสนามบินนานาชาติดอนเมือง สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในสนามบินนานาชาติที่ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยมีผู้โดยสารระหว่างประเทศเข้า-ออกมากกว่า 46 ล้านคนในปี 2559 ซึ่งเติบโตขึ้น 4.8% ระหว่างปี 2558-2559 ในขณะที่สนามบินนานาชาติดอนเมืองมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 39.9% จากสถิติพบว่า กว่า 80% ของนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านทั้งสองสนามบินนี้เป็นหลัก

ภาพที่ 4 ผลงานการท่องเที่ยวของไทยที่มีต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และระดับการจ้างงาน

เนื่องด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวอันมหาศาล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และการจ้างงานของประเทศ ตามที่ World’s Travel & Tourism Council ศึกษามา พบว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยนับเป็นสัดส่วนต่อ GDP (20.6%) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (11.8%) และค่าเฉลี่ยทั่วโลก (10.2%) กอปรกับการเติบโตของสัดส่วนการท่องเที่ยวต่อ GDP ที่ +9.4% ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก

ในขณะเดียวกัน การจ้างงานจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีสัดส่วนรวมทั้งสิ้น 15.1% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 9.7% และ 9.6% ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นที่ 6.9% ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเติบโตของการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวเร็วที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก

ดังนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศโดยรวม และรายได้จากการท่องเที่ยวจึงควรถูกนำกลับไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย

2. ในเชิงเปรียบเทียบ ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ของโลก แต่สนามบินของประเทศไทยยังไม่ได้รับการประเมินที่สูงนัก

ภาพที่ 5 การจัดอันดับสนามบิน 100 อันดับ ของสกายแทร็กซ์ ในปีพ. ศ. 2559

จากการจัดอันดับโดยสกายแทร็ก (Skytrax) สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่อันดับ 38 จาก 100 อันดับของสนามบินทั่วโลกในปี 2560 นอกจากนี้ ผลการปฏิบัติงานของสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเปรียบเทียบกับสนามบินในกลุ่มประเทศระดับเดียวกันยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า สะท้อนผ่านคะแนนการประเมินโดยสกายแทร็ก ซึ่งสนามบินสุวรรณภูมิได้รับคะแนนที่ 3.5 จากคะแนนเต็ม 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีกของสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสนามบินชั้นนำอื่นๆ ในภูมิภาคในเกือบทุกเกณฑ์

ดังที่ปรากฏในภาพที่ 5 ในด้านการจัดอันดับสนามบินทั่วโลกโดยสกายแทร็ก สนามบินชั้นนำอื่นๆ ในภูมิภาคมีความโดดเด่นกว่าสนามบินสุวรรณภูมิเป็นอย่างยิ่งแม้ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารที่ใกล้เคียงกันก็ตาม เช่น การจราจรในสนามบิน (ผู้โดยสารขาเข้า ขาออก และเปลี่ยนเครื่อง) ในปี 2559 ของสนามบินชางงีของสิงคโปร์ สนามบินอินชอนของโซล และสนามบินสุวรรณภูมิของกรุงเทพฯ มีผู้โดยสารรวมอยู่ที่ 58.7 ล้านคน, 57.8 ล้านคน และ 55.9 ล้านคน ตามลำดับ (รวมผู้โดยสารภายในประเทศ) อย่างไรก็ตาม สนามบินชางงีได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของโลกและสนามบินอินชอนอยู่ที่อันดับ 3 ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในอันดับที่ 38

จากการประเมินโดยสกายแทร็ก ในภาพที่ 6 สนามบินสุวรรณภูมิได้รับคะแนน 3.5 ดาวโดยรวม ในทางตรงกันข้าม สนามบินอื่น เช่น อินชอน ชางงี ฮ่องกงอินเตอร์เนชั่นแนล และฮาเนดะ ได้รับคะแนน 5 ดาวทั้งสิ้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสนามบินสุวรรณภูมิยังมีโอกาสที่จะได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในทั้ง 11 ตัวชี้วัด เพื่อที่จะยกระดับให้เทียบเท่ากับสนามบินระดับโลกแห่งอื่น

ภาพที่ 6: คะแนนสกายแทร็กในมิติข้อมูลสำคัญสำหรับสนามบินที่เลือกในเอเชียในปี พ.ศ. 2560
ที่มา: สกายแทร็ก – 100 สนามบินยอดนิยม 2559, 2560

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ 5 ตัวชี้วัดย่อย เช่น “สถานที่และความสะดวกในการจับจ่าย (shopping facilities)” สนามบินสุวรรณภูมิได้รับคะแนนต่ำสุดในบรรดา 5 สนามบินชั้นนำที่แสดงเป็นเกณฑ์มาตรฐาน (ดูภาพที่ 7) สนามบินสุวรรณภูมิล้าหลังสนามบินอื่นๆ ในแง่ความหลากหลายของ “ตัวเลือกร้านค้า/แบรนด์” และคุณภาพของการบริการ อีกทั้งจำนวนร้านค้าในราคาปานกลางก็มีจำกัด

ภาพที่ 7: คะแนนสกายแทร็กในหัวข้อ “ความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย” สำหรับสนามบินที่เลือกในเอเชียในปี พ.ศ. 2560

3. ธุรกิจค้าปลีกในสนามบินสุวรรณภูมิที่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น การเสนอขายสินค้าปลอดภาษีมีข้อจำกัดด้านความหลากหลายและตัวเลือกของร้านค้า/แบรนด์

ทั้งนี้อาจเป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากการขาดการแข่งขันที่สมดุลและเป็นธรรมเพราะภาพรวมของธุรกิจปลอดภาษีในประเทศไทยอยู่ภายใต้การผูกขาด หากข้อเสนอแก่ลูกค้าและประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่สามารถเทียบเท่ากับที่ท่าอากาศยานระหว่างประเทศชั้นนำอื่นๆ ในภูมิภาค รายได้ค้าปลีกท่องเที่ยวในประเทศไทยก็จะยังไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร

เมื่อพิจารณาถึงจำนวนผู้ค้าปลีกในธุรกิจการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศที่กล่าวมา ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 90% (ดูภาพที่ 8) ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรในประเทศอื่นๆ เช่น ในเกาหลีใต้ ประกอบด้วยผู้ประกอบการถึง 10 ราย โดยผู้ประกอบการ 3 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 10-40% แม้กระทั่งประเทศที่มีขนาดเล็ก เช่น กัมพูชา ก็มีผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรอยู่ถึง 3 รายแล้วในปัจจุบัน

โดยสรุป ธุรกิจปลอดภาษีของไทยในปัจจุบันยังขาดการแข่งขันที่สมดุลและเป็นธรรม ประเทศไทยจึงยังไม่สามารถดึงดูดการใช้จ่ายของนักเดินทางเพื่อเพิ่มยอดขายของร้านค้าปลอดภาษีอากรได้อย่างเต็มที่

เมื่อพิจารณาประมาณการยอดขายสินค้าปลอดภาษีอากรของประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 32.6 ล้านคน (จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ค้างแรม) ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าปลอดภาษีและการท่องเที่ยวได้แค่ราว 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้มีจำนวนผู้มาเยือนเพียง 16.9 ล้านคน แต่ยอดขายสินค้าปลอดภาษีและธุรกิจค้าปลีกในสนามบินสูงกว่าประเทศไทยถึง 5.7 เท่า โดยเป็นจำนวนเงินถึง 10.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ดูภาพที่ 9)

ผลการดำเนินงานของสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสนามบินอินชอน สนามบินนาริตะ และสนามบินฮาเนดะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการใช้จ่ายต่อจำนวนผู้โดยสารขาออกที่เดินทางไปต่างประเทศ (ดูภาพที่ 10) ยอดใช้จ่ายโดยประมาณต่อผู้โดยสารต่างชาติที่สนามบินอินชอนอยู่ที่ 70 เหรียญ สูงกว่าของสนามบินสุวรรณภูมิ 52%

หากนำนักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทั้งขาเข้าและขาออกมาพิจารณา ค่าใช้จ่ายโดยประมาณของนักเดินทางต่อคนในเกาหลีใต้จะเท่ากับ 260 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในเมืองไทยประมาณ 5.5 เท่า ข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่า ตลาดค้าปลีกเพื่อการท่องเที่ยวของไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตผ่านการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแต่ละคนที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกในสนามบินของไทยมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ

กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรองรับปริมาณและแนวโน้มการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูง เช่น ชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย ในปี ุ2559 นักท่องเที่ยวในกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงคิดเป็น 39.1% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในประเทศไทย จำนวนนี้มีอัตราเติบโตที่สูงเมื่อเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี ในช่วงปี 2555-2559 ที่ 14.6%

การแข่งขันที่สมดุลและเป็นธรรมจากผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรที่หลากหลายทั้งจากนานาชาติและท้องถิ่นจะทำให้คุณภาพและการให้บริการธุรกิจค้าปลีกในสนามบินได้รับการพัฒนายกระดับมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจะมีโอกาสที่จะเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ในสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาตามมาตรฐานสากลที่ควรจะเป็น ตลาดค้าปลีกเพื่อการท่องเที่ยวของไทยก็จะสามารถจัดอยู่ในกลุ่มแนวหน้าของโลกได้ไม่ยากนัก

อ่านต่อตอนที่ 3 เปรียบเทียบโครงสร้างสัมปทานดิวตี้ฟรีโลกกับของไทย