ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > AOT ข้ามขั้นตอน! เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ก่อนคลังคลอด กม.ลูก – กำหนดกิจการที่เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใหม่

AOT ข้ามขั้นตอน! เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ก่อนคลังคลอด กม.ลูก – กำหนดกิจการที่เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใหม่

15 มีนาคม 2019


หลังจากพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 มีนาคม 2562 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ได้ลงนามในประกาศ 2 ฉบับ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ ทอท. โดยฉบับแรกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการมืออาชีพเข้ามาประมูลสิทธิในการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานนานาชาติรวม 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ และฉบับที่ 2 ประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการมาประมูลสิทธิบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้ง 2 งาน เริ่มขายซองประมูลวันที่ 19 มีนาคม – วันที่ 1 เมษายน 2562

การออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาประมูลสิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยาน 4 แห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ครั้งนี้ อยู่ในข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามกระบวนการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือไม่

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สอบถามประเด็นดังกล่าวกับนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เนื่องจาก สคร. ยังไม่ได้พิจารณาและออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการให้เอกชนเข้าร่วมทุนในกิจการของรัฐ”

กรณี ทอท. นำพื้นที่หรือทรัพย์สินบางส่วนออกมาให้เอกชนประมูลสิทธิในการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ อยู่ในข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือไม่ นายประภาศกล่าวว่า มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัย คือ ในมาตรา 7(3) และ วรรคสุดท้าย ระบุ “กิจการตามวรรค 1 (ท่าอากาศยาน, การขนส่งทางอากาศ) ให้รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จําเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” ดังนั้น ในกรณีที่ ทอท. นำพื้นที่บางส่วนออกมาเปิดประมูล จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าสัมปทานพื้นที่ดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นหรือไม่

  • ทอท. เปิดคัดเลือกเอกชนรายเดียว ผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ 10 ปี เปิดขายซอง 19 มี.ค. นี้
  • เตรียมเสนอ สนช. แก้ กม. ปลดล็อกประมูลดิวตี้ฟรีต้นปี ’62 ไม่ต้องปฏิบัติตาม “พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ” ประชุมนัดพิเศษ 25 ธ.ค. นี้
  • “ประภาศ” ตอบคำถามอดีต รมว.คลัง แจงประมูลดิวตี้ฟรี ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. PPP ใหม่หรือไม่? ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ
  • สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ สำนักรัฐฯ เตรียมออกระเบียบดูแลการคัดเลือกเอกชนใช้ประโยชน์ “ทรัพย์สิน-ที่ดินรัฐ”
  • นายประภาศกล่าวต่อว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ทาง สคร. ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงต้นสังกัดของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง โดยขอให้จัดส่งข้อมูล “กิจการที่เกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งนั้น ตามกฎหมายประกอบด้วยกิจการอะไรบ้าง ทั้งนี้ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจทุกแห่งถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเป็นการเฉพาะ ดังนั้น ทาง สคร. จึงจำเป็นต้องให้กระทรวงต้นสังกัดในฐานะผู้รักษากฎหมาย ดำเนินการจัดส่งข้อมูลมาให้ สคร. พิจารณา เช่น ตามกฎหมายท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้บัญญัติกิจการที่เกี่ยวเนื่องจำเป็นกับกิจการท่าอากาศยานไว้อย่างไร โดยเฉพาะกิจกรรมการดิวตี้ฟรี และบริหารกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทาง ทอท. ต้องทำหนังสือตอบ สคร. ว่าโครงการดังกล่าวเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องจำเป็นกับสนามบินหรือไม่ ตามหลักสากลควรเป็นอย่างไร

    “หลังจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจัดส่งข้อมูลมาให้ สคร. แล้ว ตามขั้นตอนของกฎหมายเจ้าหน้าที่ก็จะทำเรื่องเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ทำหน้าที่พิจารณา วินิจฉัย ทั้งนี้ เพื่อออกประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาว่าโครงการลงทุนประเภทใดเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็น เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณากิจการใดที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกระบวนการ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ต่อไป” นายประภาศกล่าว

    ผู้สื่อข่าวว่า กรณี ทอท. ออกประกาศเชิญชวน และเตรียมเปิดขายซองประกวดราคาไปก่อนที่ สคร. จะออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนจะมีผลกระทบอย่างไร นายประภาศตอบว่า กรณี ทอท. เปิดขายซองประกวดราคาไปก่อนนั้น คงเข้าใจว่าโครงการนี้ไม่เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาโครงการนี้เป็นกิจการต่อเนื่องจำเป็นหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ หากคณะกรรมการนโยบายร่วมทุนฯ วินิจฉัยว่าโครงการนี้เป็นกิจการเกี่ยวข้องจำเป็น ก็ต้องกลับมาปฏิบัติตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ ส่วน TOR ที่ออกมาแล้ว ก็อาจเก็บไปใช้หลังจากที่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการของกฎหมายครบถ้วนแล้วก็ได้

    “การตีความคำว่า กิจการต่อเนื่องจำเป็น เป็นประเด็นปัญหาตั้งแต่อยู่ในชั้นกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ถ้าถามผมตอนนี้ ธุรกิจดิวตี้ฟรีเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็นต้องมีตามหลักสากลหรือไม่ ตอนนี้จึงยังตอบไม่ได้ เพราะอำนาจในการวินิจฉัยประเด็นปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนฯ เป็นผู้ชี้ขาดว่ากิจการประเภทไหนเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็น ประเภทไหนไม่เกี่ยวเนื่องจำเป็น ขณะนี้ทาง สคร. ได้ส่งหนังสือไปสอบถามกระทรวงต้นสังกัดของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดแล้ว” นายประภาศกล่าว

    อนึ่ง ตามประกาศ ทอท. วันที่ 11 มีนาคม 2562 ทอท. เปิดขายซองประมูลสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวม 4 แห่ง ในราคาชุดละ 2,500,000 บาท ในระหว่างวันที่ 19 มีนาคม – วันที่ 1 เมษายน 2562

    • ฟังคำชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมวันที่ 2 เมษายน 2562
    • นัดดูสถานที่ประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ 4 แห่ง มีรายละเอียดดังนี้
      • ดูสถานที่ประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 5 เมษายน 2562 เวลา 9.00-12.00 น.
        ดูสถานที่ประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต วันที่ 9 เมษายน 2562 เวลา 9.00-12.00 น.
        ดูสถานที่ประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ วันที่ 10 เมษายน 2562 เวลา 9.00-12.00 น.
        ดูสถานที่ประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ วันที่ 11 เมษายน 2562 เวลา 9.00-12.00 น.
    • เปิดให้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงาน เพื่อขอรับสิทธิการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในวันที่ 30 เมษายน 2562 ในเวลา 9.00-11.00 น.
    • ประกาศรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ ทอท. กำหนด ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป
    • นำเสนอผลงาน (presentation) ข้อเสนอทางเทคนิคในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 3 พฤษภาคม 2562
    • เปิดซองเสนอค่าตอบแทน และประกาศผลคะแนนสูงสุดในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไป

    ส่วนการประมูลสิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

    • เปิดขายเอกสารการยื่นข้อเสนอในราคาชุดละ ชุดละ 2,500,000 บาท ในระหว่างวันที่ 19 มีนาคม – วันที่ 1 เมษายน 2562
    • นัดรับฟังคำชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมวันที่ 2 เมษายน 2562
    • ดูสถานที่ประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 5 เมษายน 2562 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
    • ยื่นข้อเสนอการดำเนินงาน เพื่อขอรับสิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ฯวันที่ 30 เมษายน 2562 เวลา 13.00-15.00 น
    • นำเสนอผลงาน วันที่ 7-8 พฤษภาคม 2562 เวลา 9.00 น.
    • เปิดซองเสนอค่าตอบแทน และประกาศผลคะแนนสูงสุดวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป

    องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จับตาประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน หวั่นเอื้อประโยชน์ทุนใหญ่

    องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยืนยันจับตาประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรี 4 สนามบินอย่างใกล้ชิดต่อ ข้องใจรายได้จากการขายสินค้าปลอดภาษีที่ผ่านมาต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น หวั่นการประมูลใหม่เอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ก่อนมีรัฐบาลใหม่

    ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึง การประมูลโครงการร้านค้าปลอดภาษีอากร (duty free shop) ครั้งใหม่ในสนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินหาดใหญ่ สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ รวมทั้งสิทธิ์เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (pick-up counter) ที่นักท่องเที่ยวซื้อจากร้านค้าปลอดภาษีในเมือง ซึ่งปัจจุบันธุรกิจนี้มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท เป็นอีกโครงการประมูลใหญ่ที่ทางองค์กรฯ เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกรงว่าอาจถูกสอดแทรก เร่งอนุมัติ หรือปรับแก้เงื่อนไขเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ก่อนมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง

    ข้อมูลจาก Generation Research พบว่า ปี 2559 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 32.6 ล้านคน (จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ค้างแรม) กลับสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าปลอดภาษีอากรได้แค่ราว 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6.1 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้มีจำนวนผู้มาเยือนเพียง 16.9 ล้านคน แต่ยอดขายสินค้าปลอดภาษีและธุรกิจค้าปลีกในสนามบินสูงกว่าประเทศไทยถึง 5.7 เท่า โดยเป็นจำนวนเงินถึง 10.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.49 แสนล้านบาท

    ดร.มานะ นิมิตรมงคล
    เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

    เมื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆ แล้วยังพบว่า ประเทศชาติได้ผลตอบแทนจากอุตสาหกรรมนี้ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และกว่าสิบปีที่ผ่านมามีข่าวไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับร้านค้าปลอดภาษีอากรมากมาย ทั้งที่เป็นคดีความและเรื่องที่ถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา สภาปฏิรูป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป เช่น การจ่ายผลตอบแทนไม่เป็นไปตามสัญญา การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐด้อยประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการไม่โปร่งใส เป็นต้น ขณะที่หลายประเทศสามารถสร้างจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ด้วยการช้อปปิ้งโดยเฉพาะสินค้าปลออดภาษีอากร นอกจากจะทำให้ตลาดท่องเที่ยวเติบโตแล้วยังสร้างรายได้ สร้างการจ้างงาน ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่รัฐ จึงไม่สมควรที่จะเสียโอกาสเหล่านี้ไปอีก

    “กว่าสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยเสียโอกาสหารายได้ และสร้างชื่อเสียงด้านนี้ไปมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ถ้าวันนี้เอกชนไม่สามารถผูกขาดธุรกิจได้อีกต่อไป จะเกิดการพัฒนาธุรกิจเพื่อการแข่งขัน ยอดขายโดยรวมของไทยสามารถเพิ่มจากปีละ 6 หมื่นล้าน เป็น 3 แสนล้านต่อปี รายได้ของรัฐเพิ่มจาก 9,000 ล้านบาทเป็นกว่าแสนล้านบาทต่อปีได้ ดังนั้นการประมูลครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อความโปร่งใส เปิดกว้าง และเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เราจึงทำหนังสือถึงนายกฯ อีกครั้ง เสนอให้ใช้ข้อตกลงคุณธรรมกับการประมูลนี้ ให้ประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบตั้งแต่ต้น เพื่อความโปร่งใส และหวังว่าท่านนายกฯ จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้” ดร.มานะกล่าว