ThaiPublica > เกาะกระแส > โฆษกคลังแจงหั่น GDP ปี’66 เหลือ 1.8% ชี้ “วิกฤติ – ไม่วิกฤติ” ต้องมีคนเคาะ!

โฆษกคลังแจงหั่น GDP ปี’66 เหลือ 1.8% ชี้ “วิกฤติ – ไม่วิกฤติ” ต้องมีคนเคาะ!

24 มกราคม 2024


เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 และ 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

โฆษกคลังแจงหั่น GDP ปี’66 เหลือ 1.8% ยันเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ ยังไม่เข้าสู่ ‘ภาวะถดถอยทางเทคนิค’ ชี้ถึงขั้น “วิกฤติ – ไม่วิกฤติ” ต้องมีคนเคาะ!

ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ โฆษกรัฐบาลมือลั่น นำเอกสารประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และ ปี 2567 ของกระทรวงการคลังตีตราลับมาโพสต์กลุ่มไลน์ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล วันนี้นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พร้อมกับนักเศรษฐศาสตร์ของ สศค. จึงต้องมาชี้แจงถึงสาเหตุที่ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจ หรือ “GDP” ปี 2566 ลงอย่างละเอียด จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 2.7% ต่อปี ลดเหลือ 1.8% ต่อปี ส่วนปี 2567 เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.2 % ลดลงเหลือ 2.8% ต่อปี

  • โฆษกรัฐบาลเผยคลังหั่น GDP ปี’66 เหลือแค่ 1.8%
  • โดย นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6 ถึง 2.0) ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยายร้อยละ 2.6” โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี 2566 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.8 ถึง -1.3) ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

    ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะหดตัวที่ร้อยละ 1.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.2 ถึง -1.7) ในส่วนของสถานการณ์ค่าเงินบาทในปี 2566 พบว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนโดยอ่อนค่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 และแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจีน และนโยบายการเงินผ่อนคลายของญี่ปุ่น โดยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปี 2566 เฉลี่ยที่ 34.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 2565 ที่ร้อยละ 0.7

    นอกจากนั้น ยังพบว่าตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรของไทยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนไทยสุทธิ 3.3 แสนล้านบาท เป็นผลจากกระแสเงินทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกจาก ทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทยที่ 1.9 และ 1.4 แสนล้านบาท ตามลำดับ โดยนักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยต่อเนื่องตลอดทั้งปี

    นายพรชัย กล่าวต่อว่า “นอกจากปัจจัยสำคัญตามที่กล่าวในข้างต้นแล้ว ก่อนที่ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2566 ลง เจ้าหน้าที่ สศค.ได้นำตัวเลขประมาณ GDP รายไตรมาสมาพิจารณา พบว่า GDP ไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 2.6% , GDP ไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 1.8% และ GDP ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวอยู่ที่ 1.5% ดังนั้น หากจะให้ GDP ไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 2.7% ตามที่ สศค.เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ GDP ไตรมาสที่ 4 อยู่ในระดับ 4-5% จากนั้นก็มีการหารือกันภายใน สศค. ปรากฎว่าตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ “MPI” ล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2566 ติดลบย 4.7% ต่อปี หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์หดตัวติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 23 คอมพิวเตอร์หดตัวติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 15 พวกยางและพลาสติกหดตัวติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 9 ซึ่งตัวเลขดัชนี MPI ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ สศค.นำมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับลดประมาณการ GDP ในครั้งนี้”

    นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

    “ยืนยันการจัดทำประมาณการเศรษฐกิจของ สศค. เราทำงานโดยยึดมั่นตามหลักวิชาการ และทำด้วยความรอบครอบ และมีการสอบยันกับหน่วยงานอื่น ๆ และตอนที่เราทำตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ ก็มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสภาพัฒน์ ฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน”

    นายพรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2567 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 ถึง 3.3) โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ คาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ และภาคการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 33.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 19.5 ต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 ต่อปี ส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง

    นอกจากนั้น คาดว่าการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอตัวลงเล็กน้อยตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวชะลอตัวลง ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 ถึง 4.7) และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี

    อ่าน สมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 และปี 2567 เพิ่มเติมที่นี่

    นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.

    ยันเศรษฐกิจไทยยังไม่ถดถอย

    หลังแถลงข่าวเสร็จผู้ส่อข่าวถามว่าการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงในครั้งนี้ ถือว่าเศรษฐกิจไทยประสบปัญหาวิกฤติแล้วหรือยัง?

    นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจแบบไหนถึงจะเรียกว่า “วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ” แต่อาจมีนิยามที่ใช้กันในระดับสากล อย่างที่สหรัฐอเมริกาใช้คำว่า “Technical Recession” หรือ “เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค” ก็คือต้องนำ GDP รายไตรมาสมาเปรียบเทียบกันแบบไตรมาสต่อไตรมาส หาก GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน แบบนี้ถือว่า “เศรษฐกิจถดถอย” แต่มันจะลามไปถึงขั้นวิกฤตหรือไม่ ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังขยายตัวที่ 2.8% และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีตามที่นายพรชัยแถลงข่าว

    ชี้ “วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ” ต้องมีคนเคาะ!

    นายพรชัย กล่าวเสริมว่า “เศรษฐกิจถดถอยต้องมีสัญญาณว่า GDP ติดลบ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้ยังไปไม่ถึงขั้น Technical Recession แต่ก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจถดถอย อย่างในช่วงที่โควิดฯระบาด หรือ วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ต้องมีคนมาเคาะ และถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ถึงจะเรียกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ยกตัวอย่าง กรณีต้มยำกุ้งก็มีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามาช่วยเหลือ โดยให้รัฐบาลจัดทำบันทึกข้อตกลง LOI ก่อนที่จะให้กู้ยืมเงินมาใช้เป็นทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ถัดมาก็เกิดสถานการณ์โควิดฯระบาด รัฐบาลก็ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ประชาชนอยู่บ้าน เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

    “แต่อย่างไรก็ต้องหากไปดูความหมายของคำว่า “วิกฤติ” เป็นคำวิเศษณ์ ต้องใช้คู่กับคำนามประกอบกัน เช่น เวลาวิกฤติ หรือ เหตุการณ์วิกฤติ อย่างที่ ดร.พิสิทธิ์กล่าวว่า GDP ต้องติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน กรณีนี้เวลามันวิกฤติ แต่ถ้าเหตุการณ์วิกฤติ ก็อาจเป็นไปได้ว่าครัวเรือนมีปัญหาทางการเงินกันมาก จนประชาชนไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย ตรงนี้อาจเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินของภาคครัวเรือนก็ได้ ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องรับฟังข้อมูลต่าง ๆมาประกอบการพิจารณา และต้องมีคนมาบอกว่ากรณีนี้เข้าเงื่อนไขวิกฤติหรือไม่” นายพรชัย กล่าว

  • วิกฤติเศรษฐกิจแบบไหน? ทำไมจัดงบฯไม่เหมือนมีวิกฤติ
  • “เศรษฐา” แจงสภา – งบ ฯปี’67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท จ่ายอะไรบ้าง?
  • เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?…แต่การบริหารนโยบายการคลัง ‘วิปริต’
  • เศรษฐกิจไทย วิกฤติ-ไม่วิกฤติ?… กับ 4 คำถาม 8 ปัญหาโครงสร้างเรื้อรัง
  • เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?… กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีกระบวนการรองรับ