ThaiPublica > เกาะกระแส > เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?…แต่การบริหารนโยบายการคลัง ‘วิปริต’

เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?…แต่การบริหารนโยบายการคลัง ‘วิปริต’

21 พฤศจิกายน 2023


สมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

จากกระแสข้อถกเถียง “เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?” “ไทยพับลิก้า” ได้รวบรวมบทความในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิจัย เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง แลกเปลี่ยนมุมมอง ต่อประเด็นดังกล่าวและข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เติมเงินคนละ 10,000 บาท ผ่านแอป “เป๋าตัง” ให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป ประมาณ 50 ล้านคน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เป็นแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ ซึ่งไม่ตรงกับที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียงว่าจะใช้แหล่งเงินจากการบริหารงบประมาณ หรือรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 5% ต่อปี ขยายตัวน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม, หนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 91% ของ GDP, หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หากปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนจะไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และเมื่อนำมารวมกับมาตรการอื่นๆ ที่กำลังทยอยออกมา คาดว่าจะดันให้เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดต่ำลง แต่ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น อาจนำไปสู่ปัญหาวิกฤติได้

เหตุผลดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันเป็นวงกว้าง การตรากฎหมายพิเศษให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 500,000 ล้านบาทมาแจกประชาชนคนละ 10,000 บาท มีความจำเป็นเร่งด่วน และถ้าไม่ทำประเทศจะเกิดวิกฤติหรือไม่ อย่างไร

ในฐานะที่ผมเคยรับราชการอยู่ที่กระทรวงการคลัง เคยมีส่วนร่วมในการยกร่าง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 2548 และผลักดัน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 จนมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน หากรัฐบาลไม่ใช้แหล่งเงินกู้ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะฯ ก็สามารถมาใช้แหล่งเงินกู้จาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ มาตรา 53 แต่มีเงื่อนไขว่า “การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้โดยออกกฎหมายขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ ซึ่งไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้ได้ทัน…”

“ความจริงผมก็ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่เมื่ออ่านบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ในมาตราดังกล่าว ก็เขียนเอาไว้ชัดเจน ไม่ต้องไปตีความอะไรมากมาย ประเด็นอยู่ที่ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องตรากฎหมายพิเศษให้กระทรวงการคลังกู้เงินเป็นจำนวนมากหรือไม่ และเศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือยัง สำหรับความเห็นของผม คิดว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่มีปัญหาวิกฤติ และไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกกฎหมายพิเศษมากู้เงินเป็นจำนวนมาก สามารถใช้ช่องทางของงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ ทั้งงบฯ ปี 2567 และปี 2568 ก็ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ หากคิดว่าประเทศจะเกิดวิกฤติ ก็เพิ่มวงเงินงบประมาณเข้าไปสิ”

ไม่ใช่ผมมองแบบนี้คนเดียว ยังมีนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายท่านก็มองเหมือนกับผม ปัญหาของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ได้รับผลกระทบมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา หรือโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขอีกนาน ในความเห็นของผม เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาวิกฤติหรือไม่ มีตัวชี้วัดมีดังนี้

ประการแรก ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ระดับ 211,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าสูงมาก จัดอยู่ในอันดับ 17 หรือ 18 ของโลก แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและความแข็งแกร่งมาก ปริมาณทุนสำรองที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ หากเปรียบเทียบกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ขณะนั้นประเทศไทยเหลือทุนสำรองฯ ไม่ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่เพียงพอที่จะนำเข้าสินค้า วัตถุดิบต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง กรณีอย่างนี้ผมถือว่าวิกฤติ

ประการที่ 2 การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยรัฐบาลเศรษฐาได้ปรับกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นไปอีก 130,000 ล้านบาท มีกรอบวงเงินรวมอยู่ที่ 3,480,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 9.26% ตัวเลขวงเงินงบประมาณที่ตั้งเอาไว้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามเร่งเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างเต็มที่ ไม่เห็นมีใครพูดอะไร หรือส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะมีปัญหาวิกฤติแต่อย่างใด เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวตามปกติ ซึ่งต่างจากช่วงโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6% งบประมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา กรณีอย่างนี้ผมถือว่า “วิกฤติ รัฐบาลจะออกกฎหมายพิเศษให้กระทรวงการคลังกู้เงินเท่าไหร่ก็ไม่มีใครว่า เพราะวิกฤติจริงๆ”

“ในความเห็นของผม คำว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ” มีลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศเวเนซุเอลา ศรีลังกา หรือ สปป.ลาว สำหรับประเทศไทยแล้ว ผมเห็นว่ายังไม่วิกฤติ แต่ผมว่าการบริหารนโยบายการเงินการคลังวิปริตมากกว่า”

ถามว่าวิปริตอย่างไร จากผลกระทบการเมือง ทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เกิดความล่าช้า ซึ่งการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ เครื่องยนต์ตัวหลักที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ งบประมาณรายจ่ายประจำปี นอกเหนือจากการลงทุน การบริโภค การนำเข้า และส่งออก

แต่ประเด็นเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่ล่าช้า ไม่ค่อยมีใครพูดถึง คิดว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ปีนี้มีผลบังคับใช้ล่าช้ากว่า ระหว่างที่ พ.ร.บ.งบฯ ปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็สามารถใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.งบฯ รายจ่ายปีที่แล้วจ่ายไปพลางๆ ก่อนได้

แต่ปัญหาคืองบลงทุนปีนี้แทบจะเบิกจ่ายไม่ได้เลย แล้วจะเอาอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจ

หากงบประมาณรายจ่ายมีผลบังคับใช้ได้เร็วขึ้น ป่านนี้ได้กระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว ไม่ต้องไปหาเงินมาแจก ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็เข้าใจเหมือนผม คือ ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทเลย แต่ถ้าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ไปใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งกำลังจัดทำกันอยู่ ยังไม่ได้เข้าสภาเลย ทำไมไม่ใช้ช่องทางนี้

ที่น่าแปลกใจ ไม่เห็นมีใครในรัฐบาลพูดถึงการเร่งกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 วงเงินเกือบ 3.5 ล้านล้านบาท แต่กลับไปสนใจเรื่องยกร่างกฎหมายกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อทำ Digital Wallet

แทนที่รัฐบาลจะมาหาวิธีปรับปรุงหลักเกณฑ์ หรือระเบียบข้อกฎหมาย เพื่อร่นระยะเวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เดิมกำหนดไว้ 4 เดือน อาจจะลดเหลือ 2 เดือนครึ่งได้หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เม็ดเงินที่ควรจะออกตามช่องทางที่ถูกต้องทำได้เร็วขึ้น แต่ไม่ทำ กลับไปเร่งออกกฎหมายกู้เงิน โดยอ้างว่าถ้าไม่ทำแล้วประเทศอาจเกิดวิกฤติ

ทั้งๆ ที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีวงเงินมากกว่าวงเงินกู้หลายเท่าตัว แต่กลับปล่อยงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ให้ดีเลย์กันหน้าตาเฉย จนกระทั่งมาทับกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ซึ่งปกติต้องเริ่มจัดทำกันแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 พอถึงช่วงเดือนมกราคมปีหน้า ก็เริ่มนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา

“ผมไม่เห็นมีใครพูดถึง หรือออกมาผลักดัน ดังนั้น งบฯ ก้อนใหญ่เกือบ 3.5 ล้านล้านบาทก็เลยถูกแช่แข็ง หรือถูกลากออกไป กว่างบฯ ปี 2567 มีผลใช้บังคับคาดว่าจะประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 เหลือเวลาใช้จ่ายเงินอีก 5 เดือน ก็ปิดงบฯ เริ่มใช้งบฯ ปี 2568 กันต่อไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่าประเทศยังไม่มีวิกฤติ แต่การบริหารนโยบายการคลังวิปริตมากกว่า”

ถามว่าเศรษฐกิจไทยโตช้า 10 ปี ขยายตัวเฉลี่ย 1.9% เกิดจากอะไร ปัญหานี้ใครๆ ก็รู้กันทั้งนั้นว่าปัญหามาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจ รัฐบาลที่ผ่านมารู้และพยายามแก้ แต่ก็แก้ไม่ได้ อย่างหนี้สินภาคครัวเรือนตอนนี้ 91% และยังมีหนี้ของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ตัวเลขก็ยังไม่ลดลงสักเท่าไหร่ และก็มาเจอผลกระทบของภาคส่งออกที่ติดลบ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ทำให้ซัพพลายเชนต่างๆ แปรปรวน ปัจจัยเหล่านี้ต่างหากที่ต้องมาแก้ไขกัน

เรื่องการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจแทบจะไม่ค่อยเน้นเลย คิดแต่จะกระตุ้นการบริโภค ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าไม่จำเป็น เพราะการบริโภคก็เดินตามปกติ ไม่มีปัญหา ควรจะกระตุ้นการลงทุนมากกว่า แต่แทบจะไม่มีเลย ซึ่งการไปเชิญชวนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศเป็นกิจกรรมทางการตลาด แต่ยังไม่ได้ลงทุนจริงๆ

การแจกเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคให้เศรษฐกิจโต ผมคิดว่าช่วยแก้ปัญหาได้นิดหน่อย แต่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะยังไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งอาจกระทบกับความน่าเชื่อถือของนักลงทุนที่นายกรัฐมนตรีไปเชื้อเชิญ หากเขาเห็นรัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินการคลังแบบนี้อาจจะถอยก็ได้

วันนี้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือยังไม่ปรับลดเครดิตของประเทศ เพราะมีปัจจัยอื่นค้ำยันอยู่บ้าง อย่างเช่น ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งตามที่กล่าวข้างต้น แต่ถ้ากู้เงินกันจนเกินเลยไปกว่านี้ จนเกิดการสะสมของหนี้สาธารณะมากเกินไป ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ ถ้าหลังจากที่ดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเลตไปแล้ว อีก 1-2 ปี ปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขทับถมเข้ามาอีก วันนั้นประเทศอาจถูกลดอันดับเครดิตลง ก็มีความเป็นไปได้ ประเทศไทยเองก็ไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกา หากเครดิตทำท่าไม่ค่อยดี ก็ต้องปรับดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งกระทบไปถึงนักลงทุนต้องการจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าที่ควรจะได้รับ

เม็ดเงินงบประมาณตามช่องทางที่ถูกต้อง ก้อนใหญ่กว่า กลับไม่เร่ง แต่ไปเร่งยกร่างกฎหมายกู้เงิน เศรษฐกิจของประเทศยังไม่วิกฤติหรอก แต่การบริหารนโยบายการคลัง มันวิปริตไปแล้ว…

  • เศรษฐกิจไทย วิกฤติ-ไม่วิกฤติ?… กับ 4 คำถาม 8 ปัญหาโครงสร้างเรื้อรัง
  • เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?… กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีกระบวนการรองรับ