ThaiPublica > เกาะกระแส > เศรษฐกิจไทย วิกฤติ-ไม่วิกฤติ?… กับ 4 คำถาม 8 ปัญหาโครงสร้างเรื้อรัง

เศรษฐกิจไทย วิกฤติ-ไม่วิกฤติ?… กับ 4 คำถาม 8 ปัญหาโครงสร้างเรื้อรัง

18 พฤศจิกายน 2023


ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม

จากกระแสข้อถกเถียง “เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?” ‘ไทยพับลิก้า’ได้รวบรวมบทความในประเด็นดังกล่าวซึ่งเป็นข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิจัย เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง แลกเปลี่ยนมุมมอง ต่อประเด็นดังกล่าวและข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

ระยะนี้มีการพยายามชี้นำว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยการกู้เงินเพื่อแจกให้ประชาชนได้ใช้จ่ายเพื่อบริโภคคนละ 10,000 บาท ยกเว้นคนอายุต่ำกว่า 16 ขวบ

ผมขอตั้งคำถาม 4 ข้อ คือ เศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤติหรือไม่ หากไม่วิกฤติจะต้องมีนโยบายอะไร รัฐบาลมีวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมหรือไม่ และผลกระทบมีอย่างไร

  • คำถามแรก เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤติหรือไม่
  • ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ จะหมายถึงสภาพที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างฉับพลัน หรือวัดได้ว่า GDP ติดลบติดต่อกัน

    ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยอยู่ภาวะวิกฤติ 3 ครั้งคือ

  • วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540-2541 เมื่อเศรษฐกิจหดตัว 7.6% GDP ลดลง $30 พันล้าน รัฐบาลกู้เงินมิยาซาวา
  • วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551-2552 เมื่อเศรษฐกิจหดตัว 0.7% GDP ลดลง $10 พันล้าน รัฐบาลกู้เงินไทยเข้มแข็ง
  • วิกฤติโควิด 2562-2563 เมื่อเศรษฐกิจหดตัว 6.2% GDP ลดลง $45 พันล้าน รัฐบาลกู้เงินด้วยพ.ร.ก.โควิด
  • ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศไม่อยู่ในภาวะวิกฤติ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในเกณฑ์ปกติ หน่วยงานที่ศึกษาภาวะเศรษฐกิจไทยที่สำคัญของประเทศ คือ สศช.(สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธปท.(ธนาคารแห่งประเทศไทย) ได้โต้แย้งรัฐบาลว่า แม้ GDP อาจชะลอลง แต่การบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัวค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวของ C (Consumption) อยู่ระดับ 6-7% ต่อเดือน ตัวที่ฉุดเศรษฐกิจกลับเป็น การลงทุนภาครัฐ (เพราะงบประมาณ 2567 ล่าช้า 7 เดือน การส่งออกเพราะเศรษฐกิจภายนอก และการลงทุนเอกชนเพราะขาดความเชื่อมั่น ทำให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติปีนี้จะขยายตัวต่ำลงเหลือ 2.7%(ตามการประเมินของ IMF) หรือ 3.2% ตามการประเมินของสศช. และกระทรวงการคลัง หรือ 4.4% ตามการประเมินของธปท. เหตุผลที่ธปท. ยังสูงกว่าหน่วยงานอื่นเป็นเพราะมีการประเมินการใช้จ่ายภาครัฐไว้ในอัตราสูง

    แต่ยังไม่ถึงขั้นติดลบตามที่มีการกล่าวอ้าง หรือชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ recession และประมาณการในปี 2567 ก็ล้วนแต่จะมีแนวโน้มฟื้นตัวที่สูงกว่าปีนี้

    ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ไม่ถึงร้อยละ 1 ดังนั้นหากอิงตามตัวเลขเศรษฐกิจมหภาค ไม่ปรากฎว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤติที่ติดลบหรือถดถอยแต่ประการใด

  • คำถามที่สอง เศรษฐกิจไทยควรต้องดูแลอย่างไรเมื่อโตไม่ถึง2% ต่อปีในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
  • ผมเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจไทยโตช้าเกินไป และจำเป็นต้องแก้ไข การที่เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนบ่งชี้ถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขทั้งในด้านโครงสร้างที่ต้องใช้เวลา และเฉพาะหน้าที่น่าจะทำได้ทันที ทั้งที่ใช้เงินแผ่นดินและที่ไม่ต้องใช้เงินแผ่นดิน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่ใช่การแจกเงินอย่างเลื่อนลอย

    อันดับแรก ปัญหาโครงสร้างที่ต้องแก้ไขโดยด่วนคือ ประชากรไทยกำลังลดลง เพราะเด็กเกิดใหม่น้อยลงเหลือต่ำกว่า 5 แสนคนต่อปีเทียบกับที่เคยเกิดใหม่ 1.2 ล้านคนต่อปีเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผลที่ตามมาคือมีแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ลดลง เกิดปัญหาการขาดแคลนจำนวนแรงงาน ซึ่งดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยมีการว่างงานที่ต่ำ และมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้นทุกที ปัญหานี้ย่อมกระทบต่อแรงดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับที่ใช้ทักษะมาก(skilled) หรือทักษะปานกลาง(Semi skilled) ก็ยังไม่ได้มาตรฐาน นอกจากแรงงานไทยจะลดลง นโยบายการส่งแรงงานไปต่างประเทศก็ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานของธุรกิจภายในประเทศ

    อีกด้านหนึ่งของปัญหาประชากร คือ คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะที่แก่ แต่ยังไม่มีเงินเก็บเพียงพอ เกิดปัญหาคนจนระหว่างผู้สูงอายุ ที่ขาดรายได้ประจำ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีเงินออมหรือบำนาญใช้ในยามชรา แต่ส่วนใหญ่ยังต้องดิ้นรนทำงาน ไม่มีหน่วยงานรัฐใด ๆ มาดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ลุกลามมากขึ้น ได้แต่ทำการสงเคราะห์อย่างผิวเผินรัฐบาลยังไม่มีนโยบายดูแลปัญหาประชากรอย่างเป็นระบบ และเหมาะสมกับเศรษฐกิจและสังคม

    อันดับ 2 ปัญหาน้ำมันขายปลีกมีราคาแพง คนไทยยังต้องบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรัฐบาลไปอ้างอิงกับราคาน้ำมันสิงคโปร์ ทั้งที่กำลังการผลิตของไทยที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิงคโปร์ หากมีการขยายโรงกลั่นอีก 2.4 แสนบาร์เรลต่อวันตามประกาศ กำลังการผลิตของไทยจะมากกว่าสิงคโปร์ ประเทศไทยกลายเป็นผู้กลั่นน้ำมันดิบและส่งออกน้ำมันเบนซินและดีเซลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลก็ยังประกาศราคาหน้าโรงกลั่น โดยอิงกับราคาที่สิงคโปร์ (ซึ่งบวกกำไรและค่าใช้จ่ายอื่นๆอยู่แล้ว) บวกค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าคุณภาพ เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังยอมให้มีค่าการตลาดที่สูงกว่าลิตรละ 2 บาท โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา รัฐบาลที่เข้ามาบริหารในระยะสองเดือนที่ผ่านมาก็แก้ไขปัญหาโดยการใช้เงินแผ่นดินจากการลดอัตราภาษีและใช้เงินกองทุนน้ำมันซึ่งติดลบสูงกว่า 70,000 ล้านบาท

    รัฐบาลยังไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงด้วยการปรับโครงสร้างไม่ให้ผู้ผลิตและจำหน่ายเอาเปรียบได้กำไรเพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะการประกาศราคาหน้าโรงกลั่นโดยอ้างอิงกับราคาสิงคโปร์ ทั้งที่ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปสิงคโปร์ปีละหลายหมื่นล้านบาท ต้นทุนพลังงานที่แพงยังบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศที่อาจจะได้เปรียบในเรื่องพลังงาน

    อันดับ3 ปัญหาดอกเบี้ยแพง ประชาชนฝากเงินได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แพง ประเทศไทยไม่การการกำหนดส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝาก ทำให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ โดยเฉพาะเงินกู้นอกระบบธนาคารยังมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามไว้ก็ตาม

    อันดับ 4 ระบบราชการมีปัญหา มีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง มีกำหนด KPI ให้หน่วยราชการปฏิบัติแต่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับ ตัวอย่างเช่น KPI ด้านการศึกษาเป็นภาระให้ครูต้องมาให้เวลากับการปฏิบัติตาม KPI โดยไม่มีการวัดผลกระทบต่อเวลาที่เด็กได้รับน้อยลง เป็นต้น

    อันดับ 5 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีปัญหาขาดทุนเรื้อรังและไม่มีเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหา เช่น ขสมก. รฟท. และ รฟม. เป็นต้น ขสมก.จึงมีภาระหนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาทเพราะขาดทุนสะสมต่อเนื่องมากว่า 40 ปี

    อันดับ 6 กลไกตลาดผู้บริโภคมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้นมีลักษณะของการเป็น oligopoly ทั้งในธุรกิจค้าปลีก โทรคมนาคม และน้ำมันเชื้อเพลิง กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคยังอ่อนแอ

    อันดับ 7 ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติจากแสงแดด และน้ำบาดาลในปริมาณมากมหาศาล แต่รัฐบาลก็ไม่สนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มีหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 2 หมื่นหมู่บ้านที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้บริโภค การติดตั้ง solar roofs เพื่อส่งไฟฟ้าเข้าระบบก็ยังถูกกีดกัน

    อันดับ 8 ด้านเทคโนโลยี่ ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก แต่ยังคงเป็นสถานศึกษามากกว่าที่จะเป็นแหล่งสนับสนุนทางวิชาการให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะ SME งานวิจัยต่างๆมักจะไม่ได้ต่อยอดเพื่อเกิดประโยชน์แก่ภาคการผลิตของเอกชน ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี่จากต่างประเทศเป็นหลักด้วยต้นทุนที่สูง

    ตัวอย่างของปัญหาโครงสร้างทั้งแปดข้างต้น ได้สะสมพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดความสูญเปล่า และเป็นภาระต่อประชาชนรวมทั้งผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยในประเทศ แต่ไม่มีรัฐบาลใดมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง จึงทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางและความทุกข์ยาก ทำให้ความเหลื่อมล้ำและการด้อยโอกาสจำนวนมาก

    ปัญหาโครงสร้างที่หมักหมมเหล่านี้ ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการแจกเงินคนละหนึ่งหมื่นบาทในรูปของ Digital Wallets (DW) ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมมีข้อโต้แย้งดังนี้

    1.รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ให้เหตุผลเดียวกันในการตราพระราชกำหนด 2 ฉบับใช้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาทในเวลา 3 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนบริโภคมากขึ้น แต่ก็ไม่ปรากฎว่าเศรษฐกืจไทยมีการตอบสนองด้วยการขยายตัวสูงมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เงิน Digital Wallet มีวงเงินน้อยกว่าเพียง 1 ใน 3 ของที่เคยใช้ จึงย่อมไม่อาจเชื่อได้ว่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5 ได้

    2.สาเหตุที่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยไม่ได้ผล เพราะลักษณะเศรษฐกิจไทยคล้ายกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คือเป็นเศรษฐกิจเปิด มีสัดส่วนของการนำเข้าสูงมากถึง 68% ใกล้เคียงกับกัมพูชาที่ 80% และมาเลเซียที่ 60% ซึ่งตรงข้ามกับประเทศใหญ่ เข่น สหรัฐอเมริกา จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเศรษฐกิจอันดับ 1-2-3 ของโลกเหล่านี้มีสัดส่วนการนำเข้าเพียง 15% สำหรับสหรัฐอเมริกา 17% สำหรับจีนและ 18% สำหรับญี่ปุ่น ดังนั้น multiplier effect* หรือการเกิดการไหลเวียนของเงินหลาย ๆ รอบจึงเกิดได้ชัดในประเทศใหญ๋ แต่สำหรับประเทศไทยหรือกัมพูชาเงินส่วนใหญ่จะรั่วไหลไปต่างประเทศทันทีที่จ่ายออกไปในรอบแรก

    นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำของการมีรายได้ ย่อมทำให้เงินบางส่วนที่อัดฉีดไปไม่ได้มีการใช้จ่ายทันที ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากรายได้หรือเงินก็จะกระจุกตัวในหมู่ผู้มีรายได้มาก รัฐบาลได้ประกาศว่าเงินนี้จะหมุน 3.3 รอบแต่จากการตรวจสอบผู้ทำวิจัยเรื่องนี้จากข้อมูลประเทศไทย ได้รับคำชี้แจงว่าจะหมุนเพียง 0.8 รอบนั้นตามสมการ องคประกอบของรายจ่ายประชาชาติหรือGDP มี 4 ปัจจัย

    หากรัฐบาลเพิ่ม ตัว C ผลที่ตามมาคือตัว M ที่จะเพิ่มตามมาทำให้ GDP ไม่ได้เพิ่ม แถมยังจะติดลบและอาจมีผลทำให้ค่าเงินอ่อนเพราะเกิดการสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศ

    การที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่า เศรษฐกิจจะหมุน 3.3 รอบจากการใข้จ่ายบริโภค เท่ากับมีข้อสมมุตฐานว่า mpc (marginal propensity to consume) ของไทยมีค่า 0.7 ขณะที่สมการข้างต้นจะเห็นได้ว่า GDP=Y

    สรุป จากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการนำเข้าถึง 68% multiplier effect น่าจะมีเพียง 1.02 รอบ ไม่ใช่ 3.3 รอบ แต่ multiplier อาจจะลดต่ำลงอีก หากการหาแหล่งเงินชดเชยมาจากการลดการให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชนและเกิด Crowding out effect

    3.พฤติกรรมการออมและการบริโภคของคนในแต่ละประเทศแต่ละสังคมก็มีความแตกต่างกัน จะมาอ้างเพื่อลอกเลียนกันง่ายๆมิได้ การนำมาตรการแจกเงินที่ใช้ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นมาเป็นตัวอย่างจึงพึงตระหนักว่า คนญี่ปุ่นจะมีนิสัยรักการออมและระมัดระวังการใช้เงินมากกว่า จนประเทศเข้าสู่ภาวะ Deflation แม้รัฐบาลจะมีหนี้สาธารณะมาก แต่ก็เป็นการลงทุนของชาวญี่ปุ่น ขณะที่คนเกาหลีเมื่อได้รับการกระตุ้นให้ใช้จ่ายก็เกิดภาวะวิกฤติบัตรเครดิด ประชาชนมีหนี้สินเกินตัว เป็นต้น

    4.การออกพ.ร.บ. กู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท ย่อมได้รับการสนับสนุนจากธนาคารต่างๆ ที่มีสภาพคล่องสูงแต่เป็นห่วงเรื่องความเสี่ยงในการให้สินเชื่อแก่ประชาชน และมีความต้องการที่จะถือครองหลักทรัพย์รัฐบาล เช่น พันธบัตรมากกว่าที่จะปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะมีกรณีไม่อาจชำระหนี้ได้ หรือ NPL (non performing loans) ธนาคารต่างๆย่อมขานรับการกู้เงินของรัฐบาลเพราะได้รับประโยชน์เฉพาะหน้า ผลเสียที่เกิดขึ้นในระบบการเงินคือ ประชาชนและธุรกิจขนาดเล็กขนาดย่อมจะถูกเมินจากธนาคารในการขอกู้เงิน เพราะให้กู้กับรัฐบาลจำนวน500,000 ล้านบาท เป็นหนี้ที่ปลอดความเสี่ยงและได้ดอกเบี้ยสูงเพราะเป็นภาวะที่ดอกเบี้ยโลกปรับตัวขึ้นสูงมาก มิฉะนั้นผู้กู้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นให้ระบบธนาคาร การลงทุนและการบริโภคของประชาชนและธุรกิจย่อมถูกกระทบและถ่วงไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวตามที่รัฐบาลคาดหวัง ผลกระทบนี้ ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Crowding Out Effects

    ดังนั้น เมื่อเทียบตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ประเทศไทยไม่อาจจัดว่าอยู่ในภาวะวิกฤติที่ต้องอัดฉีดเงินจำนวนมากด้วยการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน

    สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อเพิ่มตัวเลข GDP เฉพาะหน้าคือการเร่งรัดการใช้จ่ายของรัฐ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่าย ที่ล่าช้าในปี 2567 เพราะเป็นตัวถ่วง GDP ในปีนี้ หน่วยราชการมีการของบประมาณถึง 5.8 ล้านล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรในวงเงินเพียง 3.48 ล้านล้านบาท ยังมีอีก 40% หรือ 2.32 ล้านล้านบาทที่ไม่ได้รับงบประมาณ ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างสาธารณูปไภคสาธารณูปการที่ช่วยประชาชนเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในการหารายได้ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำในภาคเกษตร การให้ความรู้แก่ประชาชนในการประกอบสัมมาชีพด้าน Digital Technology เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

    นอกจากนี้รัฐบาลควรเร่งรัดปรับแก้กฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารการเงินของประชาชน เช่น กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกฎหมายสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารการเงินและหนี้สิน โดยไม่มีภาระใดๆต่องบประมาณแผ่นดิน

    ในการบริหารเศรษฐกิจให้เติบโตต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและต่อเนื่อง ลำพังแค่การใช้เงินหมื่นบาทให้หมดเปลืองไปไม่กี่วัน ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างเรื้อรังที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆที่ระบุไว้ข้างต้นทั้ง 8 ประการได้ การบริหารเศรษฐกิจโดยคิดแต่จะปั้น GDP เพื่อกดสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ก็ไม่น่าใช่วิธีคิดที่รอบคอบ และเป็นการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่า

  • คำถามที่สาม เกี่ยวกับแหล่งเงินเพื่อชดเชย
  • รัฐบาลขาดความชัดเจนเรื่องการชดเชย เงิน DW ว่าจะมาจากแหล่งใด ซึ่งสร้างความสับสนหรือความไม่เชื่อมั่นต่อการบริหารการเงินการคลังของรัฐ เพราะขัดแย้งกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

    ก.ในช่วงการหาเสียงได้แจ้ง กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้งว่าจะอาศัยการตัดรายจ่ายในงบประมาณ และการเพิ่มรายได้ภาษีอากร โดยไม่มีการกู้เงินหรือก่อหนี้ใดๆ) ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดี เพราะแสดงว่ามีความรับผิดชอบทางการคลัง มีการยืนยันว่าต้องการแสดงความโปร่งใสตรงไปตรงมา

    ข.ภายหลังการเลือกตั้ง ได้ชี้แจงว่า จะอาศัยการจัดเก็บรายได้ที่จัดเก็บได้เกินเป้า 1-2 แสนล้านบาทมาใช้ ผมแย้งว่ารายได้ที่เก็บได้เกินหรือต่ำกว่าเป้าหรือประมาณการรายได้ ได้เป็นส่วนหนึ่งของเงินคงคลังแล้ว ไม่อาจจะนำมากล่าวอ้างเพื่อชดเชยการใช้จ่ายใหม่ของรัฐบาลได้ เว้นแต่จะระบุในกฎหมายรายจ่ายว่าเป็นการใช้เงินคงคลัง

    ค.ต่อมามีการให้คำชี้แจงว่าจะอาศัย 1. เงินยืมจากธนาคารออมสิน 2. วงเงินที่เหลือไม่ได้ใช้ตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 3. เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ

    ผมได้แย้งว่าเงินยืมจากธนาคารออมสิน ไม่น่าจะสมควรเพราะเป็นสถาบันการเงินที่ตั้งมากว่า 100 ปีเพื่อสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การออม การที่รัฐก่อหนี้โดยนำเงินนี้มาให้ใช้เพื่อบริโภคจึงเป็นการไม่สมควร ต่อมากฤษฎีกาก็ชี้ว่ามาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.ออมสินไม่ได้เปิดช่องให้รัฐบาลใช้เงินออมสินเพื่อการบริโภค

    สำหรับการอ้างอิงมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มีไว้เพื่อตีกรอบไม่ให้รัฐบาลใช้เงินเกินตัว ถ้อยคำในมาตรา 28 จึงไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงิน หากจะกู้เงินต้องไปดูมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.หนี้สาธารณะซึ่งอนุญาตให้กู้เงินด้วยวัตถุประสงค์ 5 ประการ แต่การกู้มาแจกหรือบริโภคไม่อยู่ในเงื่อนไขในการกู้เงินตามมาตรา 28 สำหรับการใช้เงินนอกงบประมาณนั้นก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบ เพราะบางส่วนรัฐอาจเรียกมาได้ แต่ถ้ามีจำนวนมากก็จะมีผลเสียต่อตลาดเงินตลาดทุนที่เงินเหล่านี้ไปลงทุนไว้

    ง.เมื่อปลายเดือนตุลาคม มีการจัดสัมนาเรื่องนี้ที่วุฒิสภา มีที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาชี้แจง ซึ่งได้ให้ข้อสรุปทิ้งท้ายว่าจะชดเชยการใช้เงิน DW ด้วยงบประมาณรายจ่าย 2567 แต่จะไปจ่ายเดือนกันยายน 2567 ไม่ใช่กุมภาพันธ์ 2567 ตามที่เคยประกาศไว้

    จ.ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศวิธีการชดเชยการใช้เงิน DW ก็มีการให้ข่าวจากรัฐบาลว่า จะอาศัยการผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะกระทำเป็นรายปี ผมก็ได้ให้ความเห็นในงานเสวนาเรื่องนี้ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคมว่า เท่าที่ผ่านมารัฐบาลมีการดำเนินโครงการใหญ่ที่ต้องใช้เงินหลายปี เช่น การก่อสร้างทางมอเตอร์เว จึงมีการผูกพันงบประมาณปีต่อ ๆไป โดยมีข่าวว่าปีแรก 2567 จะใช้ 130,000 ล้านบาท (ซึ่งเท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มจากเดิมที่รัฐบาลพลเอกประยทธ์เคยมีมติไว้ โดยรัฐบาลเศรษฐาให้เพิ่มยอดการขาดดุลอีก 100,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 30,000 ล้านบาทจะมาจากการปรับประมาณการรายได้ที่สูงขึ้นเพราะฐานรายได้ปี 2566 เก็บได้สูงกว่า) แต่คราวนี้จะมีการผูกพันงบเพื่อการบริโภคซึ่งจะไม่มีข้อสัญญารองรับเฉกเช่นงบลงทุน เพราะเป็นการแจกเพื่อบริโภค รัฐบาลที่รับช่วงต่ออาจปฏิเสธไม่จัดงบให้ได้

    ฉ.ล่าสุด นายกรัฐมนตรีก็ประกาศว่า จะตราพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ทำให้เกิดข้อเป็นห่วงใยหลายประการ เช่น มาตรา 53 มีถ้อยคำระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินและวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ หากไม่เข้าเกณฑ์นี้ก็จะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 140 เกี่ยวกับการใช้เงินแผ่นดิน นอกจากนี้ การขาดดุลภาครัฐที่เคยลดลงภายหลังจากที่covid เบาบางลง จะกระโดดสูงเป็น 1.3 ล้านล้านบาท เทียบกับเมื่อก่อนเกิด covid ที่สูง 2-4 แสนล้านบาท ดังนั้นหนี้สาธารณะในปี 2567 ย่อมขยายสูงขึ้นอึกเป็น 64% ของ GDP เทียบกับ 40% เมื่อก่อนเกิด covid ถึงแม้ว่าสัดส่วนนี้ของไทยจะดูไม่มากใกล้กับประเทศในยุโรป แต่อย่าลืมว่ารายได้รัฐบาล ของชาวยุโรปมีสัดส่วนที่สูงมากถึง 30-40% ของ GDP เพราะมีอัตราภาษี VAT กว่าร้อยละ 20% และอัตราภาษีเงินได้จะสูงและเป็นแบบขั้นบันได ดังนั้นกำลังในการหารายได้ของรัฐบาลไทยที่ต่ำย่อมเป็นข้อจำกัดต่อการก่อหนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยต่อรายได้รัฐบาลไทยจึงอยู่ในเกณฑ์สูงมาก

  • คำถามที่ สี่ ผลกระทบที่ตามมา ความเสี่ยงทางการคลัง
  • ความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้ ทำให้สังคมมีข้อกังขา หน่วยงานตรวจสอบต่างๆ เช่น ป.ป.ช. สตง. ได้เคลื่อนไหวตั้งทีมงานเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ของรัฐ ว่าจะเกิดความเสียหายเช่นเดียวกับกรณีจำนำข้าว ซึ่งย่อมทำให้เกิดความหวั่นไหวในบรรดากรรมการที่เกี่ยวข้อง ถึงขั้นที่ผู้ว่าการธปท. และเลขาสศช. ประกาศในประชุมให้บันทึกความเห็นต่างของตนในรายงานการประชุม แม้กระทั่งเลขากฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลยังแบ่งรับแบ่งสู้ ความไม่ชัดเจนและมีข้อคำถามเกี่ยวกับการชดเชยการใช้เงิน DW เหล่านี้ย่อมสร้างความหวั่นไหวต่อตลาดทุน ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกและหุ้นตก ประชาชนผู้ลงทุนสูญเสียมูลค่าทรัพย์สินไปจำนวนมาก การประกาศใช้มาตราการคืนภาษีทดแทนการแจกเงินแก่คนรวยก็มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูงทำให้ธุรกิจฝีดเคืองยิ่งขึ้น เพราะรอดูความชัดเจนของรัฐ ก่อนจะซื้อข้าวของ

    ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะบั่นทอนความเชื่อถือของรัฐบาลในการดำเนินโครงการนี้ หรือถือว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่ต้องการท้วงติงหลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศได้ออกมาทักท้วง เพราะประสงค์ให้รัฐบาลคำนึงถึงความเสี่ยงทางการคลัง เพราะเงินแผ่นดินมีจำกัด

    เมื่อใช้ไปแล้วก็ต้องเก็บภาษีจากประชาชนมาคืนหนี้สินที่เกิดขึ้น รัฐบาลพึงเก็บทรัพยากรเหล่านี้ไว้ใช้ในยามจำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีความอ่อนไหวและเภทภัยต่างๆที่ประเมินไม่ได้ ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอาจถูกกระทบหากมีความประมาทในการบริหารการคลัง ดังเข่นที่สหรัฐอเมริกากำลังถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดเกรดเพราะมีหนี้ชนเพดานและเสี่ยงต่อการshutdown สำนักงานของรัฐเพราะไม่มีเงินจ่าย

    การผ่านกฎหมายกู้เงินเพื่อ DW นี้ยังต้องผ่านด่าน 4 ด่านคือ

      1.คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล
      2.สภาผู้แทนราษฎร ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
      3.วุฒิสภา ซึ่งมีวุฒิสมาชิกที่ออกมาแสดงความเห็นต่างอย่างมาก
      4.ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีผู้ดำเนินการยื่นและอยู่ในกระบวนการแล้ว

    ทั้ง 4 ด่านนี้คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โอกาสที่รัฐบาลจะสามารถผลักดันให้เป็นกฎหมายเพื่อให้แจกเงินแก่ประชาชนได้โดยเร็วจึงเป็นเรื่องยาก นี่ยังไม่ได้คำนึงถึงประเด็นทางเทคนิคที่จะมีการใช้ Blockchain หรือการตีความว่าเข้าข่ายเป็นเงินตราตามพ.ร.บ. เงินตรา 2501 หรือไม่ การไปทำงานซ้ำซ้อนกับ ธปท.ในเรื่องการจัดทำ CBDC โดยที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกดำเนินการได้จึงน่าจะไม่เหมาะสม
    ข้อเสียที่ตามมาคือประชาชนที่คาดหวังและสมควรได้รับการดูแลช่วยเหลือจากรัฐก็จะต้องรอและสุดท้ายก็อาจจะรอเก้อหากกฎหมายถูกตีตกไป เช่นเดียวกับกรณีพ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่เคยถูกพิพากษาตกไปเมื่อปี 2557 หวังว่ารัฐบาลจะไม่โบ้ยความผิดพลาดเสียหายว่าเป็นเพราะศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีการเตือนจากฝ่ายต่างๆและมีตัวอย่างจากพ.ร.บ.2.ล้านล้านบาทอยู่แล้ว

    ท้ายสุด ในการออกแบบโครงการนี้ รัฐบาลควรคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนที่อายุน้อยกว่า 16 ขวบในปัจจุบันซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ไม่ให้เกิดความรู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรม เพราะประชาชนรุ่นนี้จำนวน 10 ล้านคน แม้จะเยาว์วัย แต่ก็เสียภาษี.VAT.ทุกครั้งที่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค กลับถูกจำกัดสิทธิ์โดยไม่มีเหตุผล

    ทั้งหมดนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลได้สร้างประเด็นเป็นที่ถกเถียงในสังคมนับตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศเมื่อต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมาถึงบัดนี้ไม่ได้มีความชัดเจนว่าปฏิบัติได้และจะเกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า

    หมายเหตุ

    *“Modern estimates of the multiplier put it much lower than that. In the late 1970s, I was involved in the first systematic comparison of the multiplier in the 3 leading macroeconomic models of the UK economy, including that of the Treasury. We estimated then it was between 0.5 and 1.2.
    The Journal of Economic Literature, one of the world’s top academic journals, published a symposium in September last year on the size of the multiplier. Even the Keynesian-based models of the US economy only put the multiplier at between 0.8 and 1.5. And this will be lower for much more open economies such as the UK, because a bigger proportion of any increase in spending simply leaks out of the economy in imports. Nobel Prize winner Robert Barro argues that spending targeted to have very low import content has a multiplier of around 0.6.” จาก Blog ของ Jim Riley “How Big is My Multiplier?” 6th September 2012