ThaiPublica > เกาะกระแส > วิกฤติเศรษฐกิจแบบไหน? ทำไมจัดงบฯไม่เหมือนมีวิกฤติ

วิกฤติเศรษฐกิจแบบไหน? ทำไมจัดงบฯไม่เหมือนมีวิกฤติ

3 มกราคม 2024


น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล

‘ศิริกัญญา’ ถาม ‘เศรษฐา’ วิกฤติเศรษฐกิจแบบไหน? ทำไมจัดงบฯไม่เหมือนมีวิกฤติ พลิกเอกสารงบประมาณปี’67 กว่าหมื่นหน้า ควานหางบฯกระตุ้นเศรษฐกิจ พบรัฐบาลฝากความหวังไว้กับ พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ทำ ‘Digital Wallet’ – ยืมเงินแบงก์รัฐ ทำประชานิยม หวั่นดอกเบี้ยขาขึ้น ดันต้นทุนเงินกู้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดปี 2568 ตั้งงบฯจ่ายดอกเบี้ยทะลุ 10%

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล ได้กล่าวอภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดย น.ส.ศิริกัญญา ได้ตั้งข้อสังเกตจากการใช้เวลาในการอ่านเอกสารงบประมาณกว่า 10,000 หน้า จึงเกิดคำถามในใจว่า ‘วิกฤติเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบฯไม่เหมือนมีวิกฤติ’

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เรื่องนี้ปกติฝ่ายค้านจะเป็นคนพูดว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤติ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ย้ำในหลายครั้ง หลายโอกาส ว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติแล้ว แต่ถ้าประเทศไทยกำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจริง ๆ ตัวงบประมาณจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเรากำลังอยู่ในภาวะแบบใด และจะมีการจัดสรรงบประมาณไว้เพื่อตอบสนองต่อวิกฤติอย่างไรบ้าง

ดังนั้น สิ่งแรกที่เราต้องดูว่าเศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติหรือไม่ คือเอกสารงบประมาณเล่มขาวคาดม่วง เป็นรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง ระบุเศรษฐกิจปี 2566 จะเติบโต 2.5% , ปี 2567 จะโต 3.2% , เงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ และจะเกินดุลบัญชีเงินสะพัดทั้งในปีนี้ และปีหน้า ตรวจดูเอกสารงบประมาณทั้งเล่มแล้วก็ยังไม่พบว่าประเทศมีวิกฤติ แต่พอไปดูเอกสารงบประมาณฉบับประชาชนที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจว่าไม่วิกฤติแน่นอน โดยเฉพาะปี 2567 ขยายตัวถึง 5.4% ขณะที่เอกสารงบประมาณเล่มขาวคาดม่วง ระบุว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2%

“ถามว่าทำไมหนังสืองบประมาณฉบับประชาชนระบุว่าเศรษฐกิจไทยขยายแค่ 3.2% ตอนหลังได้รับคำตอบว่าเป็นตัวเลขที่ไม่รวมเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลพยายามโชว์ตัวเลขอัตราการขยายตัวที่รวมเงินเฟ้อเข้าไปด้วย เข้าใจว่ารัฐบาลพยายามสื่อสารกับประชาชนว่า รัฐบาลกำลังบรรลุเป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจให้โต 5% ตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งไม่เคยมีประเทศไหนทำมาก่อน และนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกทราบดี ไม่มีใครทำแบบนี้ ไม่เช่นนั้นประเทศที่เงินเฟ้อสูง เช่น ซิมบับเว เงินเฟ้อกว่า 200% จีดีพีปีต่อปีจะโตเป็นสองเท่า ดังนั้นขอร้องรัฐบาล อย่าโกงสูตร เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมาย” น.ส. ศิริกัญญากล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปกติในปีที่เกิดวิกฤติ เรามักจะจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ หรือ กู้เงินเพิ่ม เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และนำเม็ดเงินส่วนหนึ่งไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อมาดูงบฯขาดดุลของปี 2567 พบว่ามีการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณแค่ 3.6% ของจีดีพี ในขณะที่จีดีพีบอกว่าจะโตแค่ 3.5% ก็ถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่ไม่ได้ก็จนชนเพดานเหมือนในปี 2565 ซึ่งมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลสูงถึง 4% ของจีดีพี

“แต่ถ้าไปดูแผนการคลังระยะปานกลางของรัฐบาลจะเห็นได้ว่า รัฐบาลกำหนดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568 – 2570 เอาไว้ที่ 3.4% ของ GDP เท่ากันทุกปี จนดูไม่ออกว่าปีไหนมีวิกฤติเศรษฐกิจกันแน่ หรือ จะสรุปว่าเราจะเกิดวิกฤติต่อไปเรื่อย ๆจนถึงปี 2570 ใช่หรือไม่ ทำไมรัฐบาลถึงจัดทำประมาณการขาดดุลงบประมาณเอาไว้แบบนี้ ทั้ง ๆที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศไว้ว่าจะทำงบประมาณให้สมดุลภายใน 7 ปี คือจัดทำงบประมาณโดยไม่กู้สักบาท” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า หากประเทศเกิดวิกฤติจริง ก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น เราจึงต้องไปค้นหางบฯกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นเรือธงของรัฐบาลชุดนี้ คือ Digital Wallet เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 เพิ่งจะประกาศแพกเกจใหญ่วงเงิน 600,000 ล้านบาท นำมาใช้ในโครงการ Digital Wallet วงเงิน 500,000 ล้านบาท แจกคนละ 10,000 บาท ให้ประชาชน 50 ล้านคน และนำเงินไปเติมในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีก 100,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจาก 2 แหล่ง คือ พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก 100,000 ล้านบาท

แต่ถ้าเราไปดูในเอกสารงบประมาณปี 2567 กลับไม่ปรากฏว่ามีงบฯ Digital Wallet แม้แต่บาทเดียว ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กลับลดกระหน่ำ ซัมเมอร์เซลล์ จากที่โฆษณาไว้ 100,000 ล้านบาท ลดลง เหลือ 15,000 ล้านบาทเท่านั้น ตกลงเรายังจะเชื่ออะไรได้อีกจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี สรุปว่าเรายังต้องลุ้นว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท จะออกได้หรือไม่ และต้องพึ่ง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ อย่างเดียวแล้วใช่หรือไม่ สรุปยอดวงเงินกู้ตอนนี้ ต้องเพิ่มเป็น 585,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการทำ Digital Wallet และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใช่หรือไม่

“รัฐบาลกำลังฝากความหวังทั้งหมดเอาไว้ที่ พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ เสมือนเหมือนกับเอาไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวดังนั้นมันมีความเสี่ยงสูงมาก หากเราไม่สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้ เท่ากับว่างบฯกระตุ้นเศรษฐกิจของเราก็จะกลายเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ยังไม่หมดหวัง เราไปค้นหางบฯกระตุ้นเศรษฐกิจกันต่อว่าหลบอยู่ในส่วนไหนของงบประมาณรายจ่ายปี 2567 อีกหรือเปล่า ก็กลับไปดูที่งบประมาณฉบับประชาชน สำนักงบประมาณ ได้จัดแบ่งงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อปัญหาเร่งด่วนออกเป็น 3 กลุ่ม การแก้ไขปัญหาหนี้สิน , การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และการผลักดันการท่องเที่ยว

คราวนี้เราไปเจาะดูกันทีละเรื่อง เริ่มจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินแบ่งเป็น 3 โครงการ คือ โครงการพักหนี้เกษตรกร , สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft loan สำหรับ SMEs และมหกรรมแก้หนี้โดยกรมบังคับคดี เรื่องนโยบายพรรคหนี้เกษตรกรใช้เงินไปแล้ว 11,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้มาใช้งบประมาณปี 2567 แต่ไปใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทน หรือ ไปรูดบัตรเครดิต โดยให้ ธ.ก.ส.ออกเงินไปก่อน จึงไม่ปรากฎรายการอยู่ในเอกสารงบประมาณปี 2567 ส่วนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SMEs จำนวน 24,700 ราย ที่ปรากฎในเอกสารงบประมาณ รัฐบาลได้ตั้งงบฯ 1,633 ล้านบาท เพื่อไปชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสินที่ไปปล่อยกู้ให้กับ SMEs ในช่วงโควิดฯระบาด ยังไม่พบว่ามีงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด

ต่อจากเรื่องแก้ไขปัญหาหนี้สิน ก็มาถึงเรื่องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน พบว่าเรื่องการปรับลดค่าไฟฟ้าที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่ได้ควักกระเป๋าจากงบประมาณสักเท่าไหร่ แต่เพิ่งจะมาใช้งบกลางไปประมาณ 1,950 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนการปรับลดราคาน้ำมันนั้น ใช้วิธีลดภาษีสรรพสามิต กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และโครงการลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่โครงการนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2565 และล่าสุดก็มีโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับที่ว่าการอำเภอ ซึ่งจะประหยัดค่าไฟให้กับรัฐบาลได้ 70 ล้านบาท แต่ไม่ได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน

มาถึงตรงนี้ก็ยังไม่เจองบฯกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลบรรจุในงบฯในปี 2567 เรามาดูกันต่อ อันนี้ดูใกล้เคียงที่สุด คือ โครงการผลักดันการท่องเที่ยว อาทิ โครงการ Moto GP วงเงิน 187.5 ล้านบาท , โครงการพืชสวนโลกอุดรธานี 387.6 ล้านบาท , จัดงบ Expo 2025 Osaka Kansai วงเงิน 137 ล้าน และโครงการที่มีการก่อสร้างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อาทิ โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล 179.2 ล้านบาท กับ โครงการก่อสร้างสวนสัตว์ จากเขาดินย้ายไปอยู่ที่คลอง 6 ปทุมธานี 994.4 ล้านบาท แต่ที่น่าสนใจคือโครงการตัดถนนเพื่อการท่องเที่ยวใช้งบฯมากถึง 7,700 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50% ของงบประมาณที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้รับ 16,000 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนก็มีความจำเป็นต้องตัดถนน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้สะดวก แต่เราไม่สามารถทำให้การท่องเที่ยวพัฒนา หรือ เพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวของนักท่องเที่ยวได้ด้วยการตัดถนนแต่เพียงอย่างเดียว สรุปว่าตอนนี้มันวิกฤติแบบไหน ทำไมกระตุ้นเศรษฐกิจกันแบบนี้

จบเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจเรามาต่อกันที่งบฯกระทรวงกลาโหม ถ้าดูข้อมูลย้อนหลัง ทุกๆครั้งที่ประเทศเกิดวิกฤติกระทรวงกลาโหมจะเสียสละเพื่อประเทศ โดยการปรับลดงบประมาณของตนเองลง เพื่อนำไปใช้ในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ ยกตัวอย่าง ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งงบฯกลาโหมลดลง 21% ช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์งบฯกลาโหมลดลง 10% และช่วงเกิดวิกฤติโควิดฯระบาดหนักงบฯกลาโหมก็ยังพยายามที่จะลด ถึงแม้จะลดลงได้แค่ 5% แต่ถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ ปรากฎว่างบฯกลาโหมของรัฐบาลเศรษฐาที่ให้สัมภาษณ์ว่าประเทศกำลังวิกฤติกลับกลับเพิ่มขึ้น 2%

นอกจากนี้ มีโครงการใหม่เพียง 236 โครงการ ใช้งบประมาณเพียง 13,656 ล้านบาท จากงบทั้งหมด 831,000 ล้านบาท น.ส.ศิริกัญญา เข้าใจว่ารัฐบาลยังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการทุกอย่างที่เป็นนโยบายของรัฐบาลได้ ด้วยโครงการใหม่ที่มีเพียงน้อยนิด ทำให้เราแทบไม่สามารถคาดหวังได้เลยว่านโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลทำสำเร็จได้ภายใน 1 ปี ตามที่สัญญาไว้หรือไม่

ส่วนเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่บรรจุในงบฯยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน สิ่งที่เราตรวจพบ คืองบฯ 37% เป็นการสร้างถนนและสะพาน และอีก 15% เป็นงบฯก่อสร้างอาคาร ที่ดิน และสำนักงานฯ ไม่แน่ใจตรงนี้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน หรือว่าเราจะไปแข่งขันกับประเทศอื่นด้วยการตัดถนน และสร้างตึก นอกจากนี้ยังมีการสอดไส้อยู่ในแผนงานสนับสนุนด้านความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งใช้งบประมาณวงเงิน 36,997 ล้านบาท ปรากฎว่า 40% เป็นงบฯที่นำไปใช้หนี้แบงค์รัฐ เช่น ธนาคารออมสิน , ธนาคารเอสเอ็มอีกแบงก์ และบสย. ส่วนแผนงานเกษตรสร้างมูลค่าตั้งงบประมาณเอาไว้ 49,895 ล้านบาทปรากฏว่า 80% เป็นงบฯใช้หนี้ ธ.ก.ส. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา อาทิ หนี้ที่เกิดจากโครงการประกันรายได้ , โครงการจำนำข้าวและพืชผลทางการเกษตร ไม่แน่ใจโครงการลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้อย่างไร

“ดิฉันทราบดีว่าข้อจำกัดของรัฐบาลมีอะไรบ้าง แต่ถ้าท่านไม่แตะปัญหาของโครงสร้างงบประมาณเลย ก็ไม่มีทางหลุดพ้นจากวังวนนี้ได้ และจะไม่สามารถผลักดันโครงการใดๆ ที่สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชนผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เลย งบนี้จะกลายเป็นงบฯของข้าราชการเท่านั้น”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ข้ออ้างอย่างแรกที่รัฐบาลอาจบอก คือมีเวลาเพียงในการจัดงบประมาณใหม่ 2 เดือน แต่ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะ ครม. มีการรื้องบประมาณใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีการรื้อไปถึง 2 รอบ แต่การรื้องบฯนั้นทำได้ไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยภาวะผู้นำอย่างมาก ซึ่งต้องเข้าใจกระบวนการจัดทำงบประมาณ เจรจากับพรรคร่วมและข้าราชการ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงงบประมาณภายใต้กรอบระเบียบกฎเกณฑ์แบบเดิม ๆ มีแผนหลายระดับซ้อนกัน ยิ่งทำให้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายของตัวเอง แทบเป็นไปไม่ได้เลย

นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ยังมีปัญหางบมรดกตกทอดจากรัฐบาลประยุทธ์ จากงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท รัฐบาลเศรษฐามีงบฯที่สามารถจัดสรรได้เอง หรือ บรรจุโครงการใหม่ ๆ เข้าไปได้ไม่ถึง 1 ใน 4 หรือประมาณ 740,000 ล้านบาท เมื่อดูว่าแต่ละเรื่องมีปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไรบ้าง เรื่องแรกคือค่าใช้จ่ายบุคลากร ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 37% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เนื่องจากมีหน่วยงานใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ยิ่งทำให้บุคลากรภาครัฐเพิ่ม ทั้งนี้งบบุคลากรรวมถึงงบฯบำเหน็จบำนาญที่โตเร็ว และกำลังจะแซงงบฯเงินเดือนในอีกไม่ถึง 10 ปี ซึ่งต้องย้ำว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้จะตัดบำนาญ แต่นี่คือปัญหาที่เรากำลังเจอ หากเราไม่พูดถึง หรือ พยายามแก้ไข เราจะไม่มีวันขับเคลื่อนนโยบายที่ให้สัญญากับประชาชนได้
.
สรุปสุดท้าย ตนอยากชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ไม่อยากโทษว่าเป็นที่รัฐบาลอย่างเดียวที่ไม่สามารถจัดงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่เราน่าจะถอดบทเรียนในเรื่องนี้ ไม่ให้เราพลาดแล้ว พลาดอยู่ พลาดต่อ

เรื่องแรกคือการจัดสรรงบฯผิดพลาด 2 ปี ใช้เงินคงคลังเกือบ 1.2 แสนล้านบาท เอาไปชดใช้เงินเดือนบุคลากร บำเหน็จบำนาญ ทั้งที่ งบฯส่วนนี้เป็นส่วนที่เราไม่ควรพลาด เพราะเป็นเรื่องที่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมาอาการหนักมาก ต้องไปควักเงินคงคลังมาใช้ แล้วต้องมาใช้คืนในภายหลัง นี่คือ ความผิดพลาดของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่ดูเหมือนรัฐบาลเศรษฐาจะพลาดต่อ เพราะงบบำเหน็จบำนาญตั้งไว้ไม่พอจ่าย เงินเลื่อนเงินเดือนข้าราชการที่ควรต้องตั้งเพิ่มแน่ ๆ เพราะรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งเพิ่ม แบบนี้พยากรณ์ได้เลยว่างบฯปี 2569 จะต้องควักเงินคงคลังออกมาใช้อีก

เรื่องนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ คือตั้งงบฯขาดแล้วให้ไปใช้งบกลาง เช่น นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็ไม่ได้ตั้งไว้ งบฯโครงการซอฟต์พาวเวอร์ 5,164 ล้านบาท ก็ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ แล้วจะไปหาเงินที่ไหน ถ้าไม่ใช่งบกลาง ความผิดพลาดเหล่านี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นความตั้งใจผิดพลาด หรือ ไม่

นอกจากนี้ ยังมีความผิดพลาดในการประมาณการรายได้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 วันแรกที่มีการรื้องบ มีการตั้งกรอบประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.787 ล้านล้านบาท โดยระบุชัดเจนว่าจะมีการเก็บภาษีการขายหุ้น เพื่อนำมาสมทบเป็นรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาท

แต่ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2566 นายกรัฐมนตรี พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “จะไม่เก็บภาษีการขายหุ้น” ซึ่งตนไม่มีปัญหา แต่ต้องถามว่า 14,000 ล้านบาทนั้น จะเอาที่ไหนมาชดเชย หรือ ภาษีสรรพสามิตที่ช่วยพยุงค่าน้ำมันให้ประชาชน 60,000 ล้านบาท ซึ่งขอยืนยันว่า ตนไม่มีปัญหากับมาตรการต่าง ๆ เพียงแต่เมื่อกระทบกับประมาณการรายได้ ตนยังไม่เคยได้ยินว่ารัฐบาลจะหาเงินจากที่ไหนมาชดเชย นอกเสียจากบอกว่าถ้าทำโครงการ Digital Wallet แล้วจะทำให้เราจัดเก็บรายได้รัฐเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ล้านบาท

“รัฐบาลฝากความหวังไว้ที่ Digital Wallet ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจัดเก็บรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้น แบบนี้คือพลาดแบบ ไม่ควรพลาด เราสามารถทบทวนประมาณการรายได้ หรือ กู้ชดเชยขาดดุลให้สูงขึ้นได้ แต่รัฐบาลต้องพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมากับประชาชน”

เรื่องสุดท้าย คือ หนี้สาธารณะ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า หากดูตัวเลขหนี้สาธารณะของปี 2567 อยู่ที่ 64% ของจีดีพี ซึ่งตนเห็นว่าตัวเลขนี้ไม่ได้บอกอะไรเลย แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี เมื่อคำนวณเปรียบเทียบกับความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาล พบว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงตลาดพันธบัตรของไทยค่อนข้างผันผวน ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวนี้คาดว่าจะทะลุ 10% ในปี 2568 ทั้งนี้ ยังไม่รวมหนี้จาก Digtal Wallet และหนี้ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลหยิบยืมเงินจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ เสมือนเป็นบัตรกดเงินสดของรัฐบาล

สรุปแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตนไม่เห็นอะไร นอกจากเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลนี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ นี่หรือคือรัฐบาลที่สืบทอดชื่อเสียงกันมาว่าเก่งด้านเศรษฐกิจ นี่หรือคือรัฐบาลที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘หาเงินได้ ใช้เงินเป็น’ กลับผิดพลาดในการจัดงบประมาณได้มากขนาดนี้ ทั้งตั้งงบฯไว้ไม่เพียงพอ ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ประมาณการรายได้ผิดพลาดแบบไม่น่าให้อภัย และไม่คิดจะแก้ มุ่งแต่จะใช้กลไกนอกงบประมาณในการบริหารประเทศ ไม่สนใจภาระทางการคลัง คงถึงเวลาที่ประชาชนต้องคิดใหม่ กับ ฝีมือการบริหารราชการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย…

  • “เศรษฐา” แจงสภา – งบ ฯปี’67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท จ่ายอะไรบ้าง?
  • เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?…แต่การบริหารนโยบายการคลัง ‘วิปริต’
  • เศรษฐกิจไทย วิกฤติ-ไม่วิกฤติ?… กับ 4 คำถาม 8 ปัญหาโครงสร้างเรื้อรัง
  • เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?… กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีกระบวนการรองรับ