ThaiPublica > เกาะกระแส > เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?… กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีกระบวนการรองรับ

เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?… กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีกระบวนการรองรับ

22 พฤศจิกายน 2023


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

จากกระแสข้อถกเถียง “เศรษฐกิจไทยวิกฤติ-ไม่วิกฤติ?” ‘ไทยพับลิก้า’ได้รวบรวมบทความในประเด็นดังกล่าวซึ่งเป็นข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิจัย เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง แลกเปลี่ยนมุมมอง ต่อประเด็นดังกล่าวและข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นเมื่อถามว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่วิกฤติ ว่า สถานการณ์เมื่อผ่านไปถึงต้นปีหน้าหรือกลางปีหน้า เศรษฐกิจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่ทุกคนคิดไว้ แล้วเมื่อถึงจุดนั้นความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจจะมี แต่จะมากน้อยรุนแรงแค่ไหน ต้องดูสถานการณ์กันก่อน อย่างที่เห็นสัญญานบางอย่างของเศรษฐกิจในเรื่องภาวะถดถอยในยุโรป เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่เริ่มชะลอตัวลงในไตรมาสที่สี่ และจีนที่กำลังเผชิญกับวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง ในยุโรป และความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ยังมีอยู่

“ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นสถานการณ์ต่างๆที่กำลังกดดันเศรษฐกิจทั้งหมดของโลกอยู่ รวมไปถึงเรื่องของดอกเบี้ยที่ยังจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะเวลาหนึ่ง ก็จะกดดันพอสมควร เมื่อถึงจุดนั้น ความจำเป็นในการกระต้นเศรษฐกิจก็อาจจะชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ”

สิ่งที่กังวลใจก็คือ ภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ ปีหน้าภาคท่องเที่ยวก็ยังคงฟื้นแต่ฟื้นไม่เยอะ เพราะฉะนั้นเมื่อฟื้นไม่เยอะ ก็หมายความวา่แรงขับเคลื่อนที่มาจากภาคท่องเที่ยวก็จะมีอย่างจำกัดในต้นปีหน้า ก็ต้องหาเครื่องยนต์ใหม่

“ผมคิดว่าความจำเป็นในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนว่าจะกระตุ้นเท่าไรนั่นคือคำถาม”

การที่รัฐบาลจะเอาเรื่องนี้เข้าสภาเป็นทางที่ใช่ เพราะว่าจะเปิดโอกาสให้ทุกคนมีการคุย และให้ข้อคิดเห็น รัฐบาลเองก็จะมีเวลาคิดว่า ขนาดที่เหมาะสมในการกระตุ้นเศรษฐกิจคืออะไร ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็น แต่จะกระตุ้นแค่ไหน

ฉะนั้นการเอาเข้าสภา และการมีเวลาอีกเล็กน้อยจะทำให้รัฐบาลมองทะลุว่าความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ประมาณเท่าไร และไปคิดเรื่องขนาดอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นที่สำคัญที่ผมมองว่าจำเป็นก็คือ เงินขนาดนี้ต้องผ่านสภา ไม่ผ่านสภาไม่ได้ เพราะหากเกิดปัญหาที่ตามมา ผมสนับสนุนให้ผ่านสภา ผมคิดว่าการเข้าสภาจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ตรวจสอบ ได้แสดงความคิดเห็นและได้ลงคะแนนกัน

เพราะการทำครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยใช้จ่ายเงินพอสมควร การที่ไม่ผ่านสภาเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นผมคิดว่า ต้องผ่านสภา แต่จะกระตุ้นแค่ไหน สถานการณ์จะเป็นตัวบอก

ในุมมองของผม ปีหน้าเศรษฐกิจจะไม่ดี เมื่อพิจารณาจากภาวะทั่วโลก ถ้ายุโรปเริ่มไม่ดี สหรัฐเริ่มชะลอ แล้วจีนเกิดวิกฤติ ไม่ใช่สัญญานที่ดีเลย เพราะทั้งหมดนี้เกินครึ่งหนึ่งของโลก

ฉะนั้น ถ้าจะมีแนวโน้มตามทางนี้แล้วก็บวกกับสงครามที่อาจจะลุกลามขัดแย้งเพิ่มเติม ก็จะเป็นโลกที่น่ากังวลใจในปีหน้า แล้ว ถ้าสถานการณ์ทรุดลง การมีการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างก็เป็นการเหมาะสม

ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็กระตุ้นศรษฐกิจ เพียงแต่ว่าคำถามคือ “เม็ดเงิน” และสถานการณ์รอบๆ ซึ่งปีหน้าอาจจะเป็นสถานการณ์ที่มีความจำเป็น เพียงแต่จะใช้เงินเท่าไร ก็ให้รัฐบาลตัดสินใจและขอสภา

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะส่งผ่านมาไทยผ่านช่องทางการส่งออก การส่งออกปีหน้าก็จะไม่เติบโต การท่องเที่ยวก็ไม่ได้มีนักท่องเที่ยวมาอย่างที่คิด ที่มองกันว่าจะมามากกว่านี้ ตอนนี้ก็เริ่มแผ่วแล้ว ปีหน้าถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดี ก็จะไม่เติบโตมาก

ที่สำคัญ การท่องเที่ยวเนื่องจากเราเริ่มจากศูนย์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก็ต้องดูว่าเพิ่มขึ้นปีละเท่าไร ปีแรกเพิ่มขึ้นประมาณ 11 ล้านคน ปีที่สองจาก 11 ล้านคนเป็น 28 ล้านคน เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 17 ล้านคน แต่ปีหน้าเราจะได้นักท่องเที่ยว 35 ล้านคนหรือไม่ เพราะคือการเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้านคนจาก 28 ล้านคน ซึ่ง 6 ล้านคนหมายถึงแรงกระตุ้นที่ไม่มาก

“ปีหน้าถ้าท่องเที่ยวเพิ่มแค่นี้ ก็แสดงว่าแรงเคลื่อนจากท่องเที่ยวจะไม่มี เครื่องยนต์ที่มาจากท่องเที่ยวจะแผ่วลง ส่งออกก็ไม่ได้ แล้วหากดอกเบี้ยสูง หนี้เต็มไปหมด เศรษฐกิจจะหมุนอย่างไร นี่คือคำถามของผม”

“ผมจึงไม่อยากปฏิเสธไว้ตั้งแต่เนิ่นว่าไม่อยากจะไปกระตุ้น เพราะผมดูแล้วว่าเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดว่าจะดี ผมกลับคิดว่า ปีหน้าท้าทายพอสมควร แต่จะท้าทายแค่ไหน เวลาจะบอกเอง พอเวลาผ่านไป แล้วความขัดแย้งด้านสงครามไม่จบง่าย ในตะวันออกกลางต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนในการที่จะดีขึ้น ยูเครนกับรัสเซียก็ยืดเยื้อ ไม่มีทีท่าว่าจะจบ สงครามครั้งนี้ก็เช่นกัน มีการกระจายวงออกมาบ้าง”

นอกจากนี้เมื่อส่งออกไม่ได้ และสถานการณ์ท่องเที่ยวไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่คาด จะทำให้ปีหน้าเศรษฐกิจไหลเวียนไม่ได้ดีมากนัก มีการกระตุ้นบ้างก็ได้ เพียงแต่ต้องตัดสินใจว่าระดับจะอยู่ตรงไหน

สำหรับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล อย่าเพิ่งไปคาดหวังว่าจะหมุนหลายรอบ เอาให้หมุนรอบแรกก่อน เพราะคนจำนวนมากยังมีปัญหาเรื่องหนี้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ

มีความป็นไปได้ว่า เงินที่เข้าไปจะกลับไปสู่การชำระหนี้เป็นส่วนใหญ่ ดังเคยเห็นตัวอย่างจาก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แจก 500 บาท ก็มีวิธีการที่แลกเป็นเงินสดออกมา ดังนั้นการได้รับเงิน 10,000 บาทก็อาจจะมีหาวิธีการที่จะเอาเงินสดออกมา

“สุดท้ายผมคิดว่ามันจะช่วยเศรษฐกิจได้สัก 2-2.5% ส่วนการท่องเที่ยวปีหน้าจะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจได้ 1-2% จากปีนี้ที่ช่วยเศรษฐกิจได้ 4% กว่า หายไป 2.5% เมื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเงินดิจิทัลก็จะเข้ามาทดแทนส่วนนี้ ส่วนด้านอื่นๆยังไม่มีส่วนต่อเศรษฐกิจนัก ด้านการลงทุนก็ต้องใช้เวลา ด้านการบริโภคก็เป็นหนี้กันเยอะแล้ว การส่งออกถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดี การส่งออกก็ไม่ได้ ปีหน้าเศรษฐกิจคงโตได้ แต่ไม่ดี ถ้าไม่มีแรงกระตุ้นเลย”

ที่เรามองไว้น่าจะโต 3-4% ปีหน้าเป็นปีของวิกฤติ เมื่อเป็นปีวิกฤติเป้าหมายคือให้ทุกคนยืนอยู่ได้ ผ่านไปได้ แล้วค่อยไปเร่งขับเคลื่อนกันในครึ่งหลังของปีซึ่งในครึ่งหลังของปีก็จะมีการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆมาช่วย

ในมุมมองทางเศรษฐกิจ ก็มองกันว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าดูจากข้อมูลต่างๆ เศรษฐกิจในปีหน้าด้วยตัวมันเองไม่ดีนัก มีความท้าทายเยอะทั้งข้างในข้างนอก แล้วพอเป็นลักษณะนี้ เมื่อเศรษฐกิจไม่ค่อยดี

“การกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพียงแต่จะกระตุ้นเท่าไร คือคำถาม แล้วจะกระตุ้นอย่างไรให้ถูกต้อง มีกระบวนการที่รองรับ”