ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯชี้ “เพื่อไทย” แจกเงินดิจิทัล ให้ดูงบฯปี’67 – มติ ครม.อนุมัติ 200 ล้าน ชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน กรณีซื้อหุ้น IFC – IBRD

นายกฯชี้ “เพื่อไทย” แจกเงินดิจิทัล ให้ดูงบฯปี’67 – มติ ครม.อนุมัติ 200 ล้าน ชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน กรณีซื้อหุ้น IFC – IBRD

11 เมษายน 2023


เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการประชุม ครม. ณ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯชี้ “เพื่อไทย” แจกเงินดิจิทัล ให้ดูงบฯปี’67 เหลือเท่าไหร่
  • ชี้นโยบายหาเสียง ต้องพุ่งเป้า – ไม่เหวี่ยงแหแจกทุกกลุ่ม
  • มั่นใจ รทสช. กวาด ส.ส. เกิน 100 ที่นั่ง
  • ประชุม 4 หน่วยงาน ถกเสถียรภาพการคลัง
  • ปัดหารือ “บิ๊กป้อม” เรื่องจัดตั้งรัฐบาล
  • ย้ำแก้ PM 2.5 ทุกมิติแล้ว ชี้ ปชช.ไม่พอใจเข้าชื่อร้องเรียนได้
  • มติ ครม.อนุมัติ 200 ล้าน ชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน กรณีซื้อหุ้น IFC – IBRD
  • กพยช.เผย 3 ปี จับผู้ต้องหา 1.8 ล้านคน ขังคุก 9.8 แสนคน
  • เห็นชอบประกาศ มท.ใช้ผังเมืองรวมพัฒนา “ชุมชนทองผาภูมิ”
  • ผ่าน กม.ควบคุมหน่วยงานรัฐเรี่ยไรเงิน
  • ขึ้นทางด่วนกาญจนาฯ – มอเตอร์เวย์ ฟรี 12-18 เม.ย.นี้
  • เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    ยันรัฐบาลทำผลงานเต็มที่

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า วาระเรื่องทางด่วนเข้าไปแล้ว และรัฐบาลพิจารณาอย่างเหมาะสม สิ่งที่ทำได้ก็จะดูแลให้ประชาชน อะไรที่เป็นปัญหาจะหารือให้ได้ข้อยุติ ยืนยันรัฐบาลทำเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนมีความสุข มีรายได้ที่พอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

    ถาม กกต. จัดงบกลาง กู้เรือหลวงสุโขทัยได้หรือไม่

    มีคำถามว่า งบกลางที่จะใช้ในการกู้เรือหลวงสุโขทัย ได้มีการเสนอเข้า ครม.หรือยัง พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “กำลังสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ เรื่องของการใช้งบประมาณในเรื่องใหม่ที่ไม่ได้มีอยู่ในงบประมาณเดิม ต้องถาม กกต. ซึ่งความจำเป็นเร่งด่วนมีอยู่ จะต้องเอาขึ้นมาให้เร็วที่สุด เพื่อตรวจสอบหลักฐานและสาเหตุต่าง ๆ ที่อยู่กับตัวเรือด้วย”

    หารือนายก ฯ ลาว-เมียนมาร์ แก้ PM 2.5

    พลเอกประยุทธ์ ตอบปัญหา PM 2.5 ว่า ได้มีการย้ำเตือนอยู่เสมอ และย้ำว่าเราจะต้องทำให้เกิดการบูรณาการกัน วันนี้ทุกคนลงไปทำงานเต็มที่ในพื้นที่อยู่แล้ว อีกทั้งอธิบดี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ด้วย

    “ตัวเลข PM2.5 ตอนนี้ก็ขึ้นๆ ลงๆ เป็นไปตามกระแสลมด้วย ประเด็นสำคัญคือการเผาวัชพืช ทั้งบ้านเรา และ พื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ก็ได้มีการประสาน และหารือมาโดยตลอด อาทิตย์ที่แล้วผมหาโอกาสในการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ (ลาว และเมียนมาร์) เพราะเป็นประเทศที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น กลุ่มของเราคือสองสามประเทศที่มีชายแดนติดกัน อีกส่วนคือด้านนู้นที่ไกลไป แต่อากาศมันเคลื่อนไปเคลื่อนมาตลอด ต้องเข้าใจบริบทของสภาพภูมิอากาศด้วย” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ย้ำแก้ PM 2.5 ทุกมิติแล้ว ชี้ ปชช.ไม่พอใจเข้าชื่อร้องเรียนได้

    ถามต่อว่าประชาชนเชียงใหม่-เชียงราย ได้เข้าชื่อกันเพื่อร้องเรียนรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ไม่เป็นไร ก็ร้องมาเถอะ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ขอความร่วมมือจากภาคประชาชน เพราะไฟมันเกิดขึ้นเองในป่าไม่ได้อยู่แล้ว มันมีการจุดไฟ เผาวัชพืช และเข้าไปในป่าเขตอุทยานอะไรต่างๆ อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ล่าสัตว์บ้าง หาของกินในป่าบ้าง มันเป็นผลกระทบโดยรวม ผมคิดว่าการทำงานทุกวันนี้ เราทำทุกมิติอยู่แล้ว แต่ถ้าประชาชนยังไม่พอใจก็เป็นสิทธิของเขานะจ๊ะ”

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือ โดยวันนี้ได้ไปหารือไปภาคธุรกิจต่างๆ ที่ต่างประเทศเรื่องการผลิตอาหารสัตว์ ทั้งอ้อยและข้าวโพด รวมถึงได้มีการกำชับ และกำหนดเวลาในการเผาเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษมากเกินไป แต่ปรากฏว่าไม่ค่อยได้รับความร่วมมือมากนัก ดังนั้นจึงได้มีการตรวจสอบสาเหตุหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การใช้รถยนต์ด้วย การจุดไฟเผาป่า โรงงานอุตสาหกรรม และได้สั่งให้ทุกหน่วยงานรายงานตนทุก 3 วัน

    เมื่อถามว่าเรื่องฝุ่นจะถูกโยงไปประเด็นการเมืองหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “อยู่ที่วัตถุประสงค์และความมุ่งหมายของแต่ละคนแต่ละพรรคว่ากันไป รัฐบาลพยายามทำให้เต็มที่ตามหน้าที่ และความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ข้อสำคัญคือถ้าเราไม่ร่วมมือกันก็แก้อะไรไม่ได้สักอย่าง”

    แนะ “เพื่อไทย” แจกเงินดิจิทัล ต้องดูงบฯปี’67 เหลือเงินเท่าไหร่

    พลเอกประยุทธ์ ยังกล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ว่า “ผมไม่อยากไปอะไรกับใคร เพราะเป็นเรื่องการหาเสียง วันนี้มาพูดเรื่องการรักษาเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศ การใช้จ่ายของเราในช่วงที่ผ่านมาอย่างไร พุ่งเป้าไปยังผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ และทำให้เกิดการยกระดับรายได้การประกอบอาชีพต่างๆ เพิ่มเติม ไม่ใช่ให้เงินอย่างเดียว”

    “เราต้องดูเม็ดเงินว่าจะทำอะไรได้อีก เพราะฉะนั้นงบประมาณต่าง ๆ ในปี 2567 มันตั้งไปแล้ว จะไปแก้ไขอะไร ก็ไปแก้ในสภา เพราะนี่เป็นกฎหมายระเบียบงบประมาณที่เราต้องทำล่วงหน้า ส่วนงบฯปี 2567 ได้เอาสิ่งต่างๆ ที่จะต้องทำต่อเรื่องการลงทุนต่างๆ ที่มีกฎหมายชัดเจน มีเงินเหลือเท่าไร งบประมาณในการใช้หนี้ การเติมเงินโครงการต่างๆ ที่เราสำรองจ่ายช่วงโควิด ต้องมองในบริบทใหญ่” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ถ้ามองในภาพรวมจะเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คำว่า ดีขึ้นไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะร่ำรวยได้หมด เพียงแต่ทำให้สถานะทางการเงินของเราให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวและการลงทุนใหม่

    พลเอกประยุทธ์ เสริมว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือวันนี้ต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยที่ผ่านมา ตนใช้เวลาหลายปีที่ทำต่อเนื่องมา ไม่ว่าจะเป็นอีอีซี หรือ BOI ใหม่ หลายอย่างเราทำใหม่แล้ว เพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะใช้งบประมาณสูงขึ้นในโอกาสต่อไป

    “จะทำอะไรก็ตามต้องคำนึงถึงทรัพยากรว่ามีเท่าไร เราดูแลใครได้บ้าง ดูแลได้มากน้อยแค่ไหน การทำอะไรต่าง ๆก็ตาม ถ้ามันมากเกินไป สิ่งที่ทำอยู่แล้วเดิมก็สูญเสียไปทั้งหมด อะไรที่เคยได้ ก็ไม่ได้ เพราะไปทำเรื่องใหม่ทั้งหมด มันจะคุ้มค่ากัน หรือ เปล่ากับการสูญเสียไป ก็ไม่รู้เหมือนกัน เป็นเรื่องของประชาชนช่วยกันคิด ก็แล้วกัน” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพูดในที่ประชุม ครม. วันนี้ ว่า “ข้อให้ระมัดระวังเรื่องความมีเสถียรภาพของรัฐบาล และสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ วันนี้เราเป็นลำดับต้นๆ ที่รักษาไว้ได้ ทางด้านองค์กรการเงินระหว่างประเทศก็ชื่นชมว่าเราสามารถบริหารจัดการได้ดี แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของประชาชนโดยรวม ก็ต้องเห็นใจรัฐบาลด้วยแล้วกัน ถ้ามีเราก็ดูแลให้ได้หมด อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง”

    ปัดหารือ “บิ๊กป้อม” เรื่องจัดตั้งรัฐบาล

    เมื่อถามว่า หากสื่อเชิญไปร่วมเวทีดีเบตทางการเมืองจะมีโอกาสไปร่วมหรือไม่ เพื่อพูดถึงนโยบาย ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ก็อธิบายไปแล้วหลายช่องทาง”

    เมื่อถามย้ำถึงการดีเบต พลเอกประยุทธ์ ตอบทันทีว่า “คำถามอื่น”

    ผู้สื่อข่าวยังถามถึงกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศจะไม่จับมือกับก้าวไกลและเพื่อไทย ว่า นายกฯ มองอย่างไร พลเอกประยุทธ์ ตอบสั้นๆ ว่า “ไม่ได้มอง”

    ถามต่อว่า ได้พูดคุยอะไรกับพลเอกประวิตรบ้าง พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “คุยเรื่องทั่วๆ ไป” จากนั้นผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าไม่ได้คุยเรื่องเตรียมตัวเป็นรัฐบาลใหม่ ทำให้พลเอกประยุทธ์ พูดต่อว่า “ไม่เคยคุยกัน เรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิท่าน ท่านเป็นหัวหน้าพรรค ผมไม่ได้เป็นศัตรูกับใครอยู่แล้ว ผมต้องการจะทำเพื่อชาติ บ้านเมือง เพื่อประชาชน อะไรที่มันดีก็ว่ากันไป อย่ามาพูดว่า ‘แต่ๆ’ ทั้งหมดมันคืออนาคต ยังไม่เกิดก็อย่าเพิ่งไปคิดมัน”

    ถามต่อว่า พรรคพลังประชารัฐเล่นบทสองหน้าหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่ได้มองๆ ผมไม่ได้มองใครทั้งสิ้น ผมมองว่ารัฐบาลจะทำอะไรเพื่อประชาชนได้บ้างทั้งวันนี้และวันหน้า ไม่สร้างภาระให้คนอื่น”

    มั่นใจ รทสช. กวาด ส.ส. เกิน 100 ที่นั่ง

    เมื่อถามว่า นายกฯ ได้ฟังตัวแทนจากพรรค รทสช. ไปขึ้นเวทีดีเบตร่วมกับพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ก็โอเค ก็บอกให้สุภาพเรียบร้อย ไม่ไปทะเลาะอะไรกับใคร นโยบายของผมคือไม่ไปทะเลาะอะไรกับพรรคอื่นๆ ไม่ว่าจะรู้จักไม่รู้จัก ผมไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับใคร เพราะผมมองประเทศชาติและประชาชนเป็นหลักตลอดเวลา ทุกคนไม่ใช่ศัตรูผม ให้เกียรติซึ่งกันและกันนะจ๊ะ”

    พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงกระแสตอบรับของพรรครวมไทยสร้างชาติว่า “ก็ดีอยู่นี่นะ มีอะไรเสียหายหรอ”

    พลเอกประยุทธ์ ยังตอบเรื่องนโยบาย-กลยุทธ์ไม้เด็ดของการหาเสียงว่า “กลยุทธ์ผมมีอยู่แล้ว ที่ทำทุกวันก็เป็นกลยุทธ์ของผมอยู่ ทำอะไรก็ตามให้ระมัดระวังผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติและประชาชนคนอื่นๆ ก็ได้รับอยู่แล้ว จะทำยังไงให้เขาไม่รับผลกระทบในการทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ถ้าทำใหม่ๆ ขึ้นมาแล้วคนเก่าๆ ไม่ได้ แล้วยอมกันไหม ผมก็ไม่อยากไปทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ก็กรุณาใช้วิจารณญาณใคร่ครวญให้ดีแล้วกัน ฝากสื่อด้วย”

    สุดท้าย ผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงความมั่นใจของพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าจะได้รับเสียงเกิน 100 เสียงหรือไม่ โดยพลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ก็คงต้องมั่นใจแหละมั้ง ธรรมดาทุกพรรคก็มั่นใจทุกพรรค เราเป็นที่ปรึกษาพรรค เป็นประธานยุทธศาสตร์ ก็ต้องมั่นใจในสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ ทำด้วยความถูกต้อง สุจริตและยุติธรรม นั่นเป็นนโยบายของพรรค ขอให้เชื่อมั่นก็แล้วกัน แต่ถ้าทุกคนต้องการอะไรที่มันหวือหวาก็ไม่รู้จะทำไง แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ความเสียหายขนาดใหญ่จะตามมา”

    มท. รายงานไฟป่า – หมอกควัน – PM2.5

    นายอนุชา รายงานว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พูดถึงผลการดำเนินงานเรื่องฝุ่นและหมอกควัน PM2.5 ว่า ที่ผ่านมามีการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด โดยการดำเนินงานดังกล่าวจะมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของหน่วยงานต่างๆ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม การใช้ระบบแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในการสนับสนุนการสั่งการ และให้ผู้อำนวยการแต่ละระดับแจ้งเตือนแก่ประชาชน

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีการทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุต่างๆ มีการเตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เตรียมความพร้อมและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิด ส่วนประเด็นการเผาในพื้นที่การเกษตรกได้มอบหมายให้ระดับอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการประสานการปฏิบัติกับกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ และใช้อาสาสมัครท้องถิ่นร่วมรณรงค์ลดการเผา อีกทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้รับทราบทันท่วงที

    นายอนุชา ยังกล่าวถึงหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ เริ่มจาก กรณีที่ไฟป่าหรือ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ บูรณาการหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหาร พลเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนอาสาสมัครและประชาชนช่วยกันเข้ามาควบคุมแหล่งกำเนิดและฝุ่นควันไฟต่างๆ ส่วนกรณีเกิดไฟป่า ให้รวบรวมเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะ ประกอบกับชุดปฏิบัติการพร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักรกลที่เหมาะสมเพื่อเร่งดับไฟในพื้นที่โดยเร็วที่สุด

    นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังเข้าไปดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาสุขภาพและโรคทางเดินหายใจ และให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดติดตามสถานการณ์และรายงานผลการดำเนินงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบอย่างต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้กำชับและสั่งการถึงสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและ PM 2.5 ว่ามี 4 ส่วนที่ต้องรายงานเข้ามาที่ส่วนกลางถึงนายกฯ โดยตรง คือ (1) จุดความร้อนในพื้นที่ต่างๆ (2) สาเหตุของจุดความร้อน (3) การรายงานการปฏิบัติการ การแก้ไขในสถานการณ์ที่หน้างานอย่างละเอียด และ (4) การสรุปผลการดำเนินงานในอนาคตเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ

    กำชับ มท.ดูแลความปลอดภัยช่วงสงกรานต์

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและกำชับช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเน้นย้ำถึงความปลอดภัยในการเดินทาง และกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการ ทั้งจุดตรวจ จุดอำนวยความสะดวกตลอดช่วงเทศกาล

    “งบประมาณไม่ได้เป็นข้อจำกัด เพราะได้มีการพูดคุยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าต้องให้เกิดความระมัดระวังเป็นอย่างดีให้ลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด” นายอนุชา กล่าว

    ประชุม 4 หน่วยงาน ถกเสถียรภาพการคลัง

    นายอนุชา รายงานว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายกฯ ได้เชิญหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเข้ามาชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และข้อควรพึงระวัง ได้แก่ สภาพัฒน์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานประมาณ

    นายอนุชา ให้ข้อมูลว่า สภาพัฒน์ฯรายงานเศรษฐกิจทั้งในภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่ายังมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2566-2567 และมีประเด็นที่ประเทศไทยดำเนินการได้ดีคืออัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูงนัก ทำให้ไม่ได้เป็นข้อกังวล โดยถ้าเทียบตามลำดับแล้วอยู่ลำดับที่ 20 ของโลก และอยู่ลำดับที่ 2 ของอาเซียน ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.8% ซึ่งกลับลงมาในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งไว้ที่ 1-3%

    นอกจากนี้ สภาพัฒน์ฯยังพูดถึงการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้มีผลกระทบกับการส่งออกของไทย จากสถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่นโยบายของรัฐบาลว่าจะกระตุ้นการส่งออกอย่างไรให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

    ธปท.ชี้กู้ 1.5 ล้านล้าน เป็นนโยบายที่เหมาะสม

    นายอนุชา ให้ข้อมูลว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยพูดถึงเสถียรภาพด้านการเงินการคลัง และยืนยันว่าหนี้ต่างประเทศของไทยไม่ได้อยู่ในอัตราที่สูงจนเกินไป เงินคงคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และสถาบันการเงินในประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ขณะนี้ไม่ได้มีความกังวลเรื่องความเสี่ยงด้านการเงินการคลังของไทย

    “ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ หมายความว่ามีการพูดถึงเรื่องกู้เงิน 1.5 ล้านล้านในช่วงโควิด – 19 เพื่อนำมาดูแลสุขภาพของประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา แต่จากนี้ไปคงไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องเข้ามาดูแลกลุ่มเปราะบางโดยดำเนินนโยบายที่พุ่งเป้า หมายความว่าต้องมีการดำเนินการที่มุ่งตรงไปถึงประชาชนที่ต้องการให้ช่วยดูแล นโยบายที่จะครอบคลุมประชากรทั้งหมดโดยไม่พุ่งเป้า อาจไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสม” นายอนุชา กล่าว

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า บางประเทศได้ดำเนินการให้มีเศรษฐกิจดีขึ้น แต่สุดท้ายไม่เป็นผล ทำให้เกิดปัญหาความผันผวนต่างๆ บางประเทศมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อไม่สูงเกินไป ส่งผลให้เกิด shock ได้ และสถาบันการเงินต้องล้มละลาย ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการด้านการคลังที่อาจเป็นประเด็นปัญหา

    “แต่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้เป็นปัญหากับประเทศไทย เพราะตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานวันนี้คือภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐในปัจจุบันอยู่ที่ 8.5% หากคาดว่าสิ้นปีงบประมาณปี 2566 นี้อาจจะมีการขยับตัวที่ 8.75% ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าไม่เกินมาตรฐานสากลที่ 10% เพราะถ้าเกิน 10% ขึ้นไปจะทำให้ credit rating อาจต้องทบทวนหรือจับตามอง เพราะถ้ามีการทบทวนแล้วอาจทำให้เราต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น พูดง่ายๆ ว่าสถาบันการเงินที่เราไปกู้มาอาจจะต้องเพิ่มความเสี่ยงด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย” นายอนุชา กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง สศค. ยืนยันว่าภายในสิ้นปีนี้ ภาระดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินต้องจ่ายเมื่อเทียบกับรายได้ของภาครัฐคงจะไม่สูงเกินกว่า 8.75%

    เผย 5 เดือน คลังรีดภาษีได้เกือบ 1 ล้านล้าน

    นายอนุชา รายงานว่า กระทรวงการคลังพูดถึงผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสุทธิในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณคือตุลาคม 2565 ถึง กุมภาพันธ์ 2566 ตัวเลขชัดเจนว่ารัฐบาลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ซึ่งจัดเก็บได้ประมาณ 9.9 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่า 10% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.8%

    โดยหน่วยงานที่จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม

    ส่วนกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เพราะรายได้กรมสรรพสามิตที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล เป็นไปตามการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน โดยกรมสรรพสามิตจะสูญเสียรายได้เดือนละ 10,000 ล้านบาทในการนำเงินที่ไม่ได้จัดเก็บไปดูแลประชาชน ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลจะถูกกว่าลิตรละประมาณ 5 บาท ส่วนนี้มีการดำเนินการมาแล้วหลายเดือน และคาดว่าส่วนที่ไม่ได้จัดเก็บอาจมีมูลค่าถึงแสนล้านบาทได้

    ชี้นโยบายหาเสียง ต้องพุ่งเป้า – ไม่เหวี่ยงแหแจกทุกกลุ่ม

    นายอนุชา กล่าวถึงการรายงานของสำนักงบประมาณว่า การดูแลงบประมาณปี 2567 รวมถึงวงเงินงบประมาณที่ได้ผ่านรัฐสภาไปแล้วคือ 3.35 ล้านล้านบาท เป็นงบฯตามสิทธิและงบผูกพันประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท ส่วนที่ต้องกันไว้เป็นงบลงทุนตามกฎหมายกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 20% หรือประมาณ 4 แสนล้านล้านบาท และเมื่อหักรายละเอียดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ เหลือรายจ่ายงบประมาณที่ 2.2 แสนล้านบาท

    “ถ้าจะต้องนำงบประมาณมาดำเนินการตามนโยบายของที่หลายส่วนนำเสนอ จะต้องมีการปรับตรงนี้ ซึ่งเป็นไปได้ยาก สำนักงบประมาณพูดถึงตัวเลขที่จะต้องดำเนินการโครงการใหม่ๆ อาจจะมีความลำบาก ต้องดูเรื่องงบอย่างใกล้ชิดในการพิจารณาเป็นรายละเอียดการใช้จ่ายของภาครัฐในอนาคต ส่วนเงินที่จะนำเป็นนโยบายใหม่ๆ อาจมีปัญหาและมีประเด็น” นายอนุชา กล่าว

    “นายกฯ สรุปว่านโยบายการเงินการคลังอยู่ในภาพรวมที่มีเสถียรภาพ และที่ประชุมสอบถามว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจกับการดำเนินนโยบายในปัจจุบันที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือเสถียรภาพ ถูกต้องหรือไม่อย่างไร ทั้ง 4 หน่วยงาน คือ สภาพัฒน์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณก็เห็นพ้องต้องกันว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันในการทำให้มีเสถียรภาพทางการเงินเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน” นายอนุชา กล่าว

    “ส่วนในอนาคตการจะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต ควรเป็นนโยบายที่พุ่งเป้าโดยตรงไปถึงประชาชนในกลุ่มต่างๆ ไม่ใช่ดำเนินการในลักษณะเหวี่ยงแหให้ทุกกลุ่มทุกคน เพราะจะเป็นข้อจำกัดงบประมาณและวินัยทางการเงินการคลัง” นายอนุชา กล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    นาวสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    แจงความคืบหน้าแผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ฯ ครั้งที่ 18 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้จัดทำรายงานความคืบหน้า เพื่อเสนอรัฐสภาทราบเป็นรอบสุดท้าย เนื่องจากระยะเวลาของแผนการปฏิรูปประเทศได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี (27 กันยายน 2565) ซึ่งจากการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้บรรลุผลของการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญฯ แล้ว โดยสรุปได้ ดังนี้

    1. สรุปผลการดำเนินการของแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน มีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

      1.1 ด้านการเมือง เช่น การจัดทำชุดความรู้การปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบหนังสือ สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป จัดให้มีแอปพลิเคชัน Smart Vote Civic Education เพื่ออำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าถึงข้อมูลผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง และข้อมูล ที่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง

      1.2 ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวของการทำงาน และการให้บริการของภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ปัจจุบันมีงานบริการภาครัฐผ่านระบบ e-Service รวม 343 บริการ มีแพลตฟอร์มกลางสำหรับประชาชน Citizen Portal ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และแพลตฟอร์มกลางสำหรับภาคธุรกิจผ่านเว็บไซต์ (www.bizportal.go.th)

      1.3 ด้านกฎหมาย มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การตรากฎหมายเป็นไป โดยละเอียดรอบคอบ ไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น และพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย และสอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

      1.4 ด้านกระบวนการยุติธรรม มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ในการกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เป็นต้น

      1.5 ด้านเศรษฐกิจ มีระบบภาษีเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ มีระบบการยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ (e-Filling) และมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ. FTA

      1.6 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นกลไกภาครัฐในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

      1.7 ด้านสาธารณสุข มีคลินิกหมอครอบครัว หรือ PCC : Primary Care Cluster และ Telemedicine ซึ่งเป็น การนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time

      1.8 ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ มีศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti-Fake News Center : AFNC) ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอมผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Website Line และ Facebook

      1.9 ด้านสังคม มีการจัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน อย่างเป็นธรรม กระจายที่ดินทำกินให้ชุมชนแล้วจำนวน 1,442 ผืน ครอบคลุมพื้นที่ 70 จังหวัด รวมเนื้อที่ 5,757,682 ไร่ อันเป็นการช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศให้มีที่ดินทำกินรวม 69,368 ราย

      1.10 ด้านพลังงาน มีการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อปรับกระบวนการอนุมัติ อนุญาตของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้สามารถลดระยะเวลาและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เป็นต้น

      1.11 ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ มีระบบการจัดการเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์ ด้วยระบบดิจิทัล (e-Complaint and Appeal) และมีระบบรับแจ้งเบาะแสทางเว็บไซต์ ปัจจุบันมีผู้แจ้งเบาะแสทั้งหมด 76 เรื่อง เป็นการแจ้งแบบปกปิดตัวตน จำนวน 66 เรื่อง และเป็นการแจ้งแบบเปิดเผยตัวตน จำนวน 10 เรื่อง

      1.12 ด้านการศึกษา มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. กองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด

      1.13 ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน รวมถึงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เช่น ชุมชนแหลมสัก จ. กระบี่ และบ้านเมืองรวง จ. เชียงราย

    2. สรุปผลการดำเนินการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายการปฏิรูปประเทศ โดยเป็นกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จำนวน 45 ฉบับ ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2565 ประกอบด้วย กฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 10 ฉบับ กฎหมายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 35 ฉบับ และยังมีกฎหมายที่อยู่ระหว่างหน่วยงานของรัฐจัดทำร่างกฎหมาย จำนวน 22 ฉบับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการเร่งดำเนินการจัดทำ/ปรับปรุง ให้แล้วเสร็จ และนำเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากแผนการปฏิรูปประเทศสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 การดำเนินการในระยะต่อไปนั้น หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องนำประเด็นปฏิรูปประเทศมาดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกของแผนระดับที่ 2 ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคง และแผนระดับที่ 3 ได้แก่ แผนปฏิบัติราชการและแผนปฏิบัติการด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย

    รับทราบแนวทางป้องกันทุจริตซื้อรถดัดแปลง

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชี มาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของมาตรการดังกล่าว เพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริตในการจัดซื้อรถดัดแปลง เช่น รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกขยะมูลฝอย และรถดูดสิ่งปฏิกูล ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สรุปได้ ดังนี้

      1. การจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลาง ให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ ราคาต้นทุนและผลตอบแทนตามปกติทางการค้าของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ได้แก่ การพิจารณาต้นทุนและอุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และภาษี การจดประกอบที่เกี่ยวข้องกับรถดัดแปลง ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม
      เห็นว่าแนวทางการกำหนดต้นทุนรถดัดแปลงมีรายละเอียดซับซ้อน เนื่องจากหน่วยงานแต่ละแห่งมีความต้องการใช้รถแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของผู้ผลิต รถดัดแปลงจะผันแปรไปตามคุณลักษณะเฉพาะ อาจทำให้ราคากลางไม่สะท้อนราคาของรถอย่างแท้จริง ดังนั้น ข้อเสนอแนะของ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
      2. การบูรณาการฐานข้อมูลเปรียบเทียบ เพื่อประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งนำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางที่แล้วเสร็จไปดำเนินการในระบบออนไลน์กลางของภาครัฐ ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางจะปรับปรุงระบบการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐ (e-GP) ให้รองรับข้อมูล ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ของหน่วยงาน และจัดเก็บข้อมูลการจัดซื้อ รถดัดแปลงและกำหนดรหัสของรถดัดแปลง เพื่อจัดประเภทหมวดหมู่ และคุณลักษณะเฉพาะ ของรถให้อยู่ในรหัสเดียวกัน และเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
      3. การตรวจสอบเชิงรุก เพื่อป้องกันการสมยอมราคาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถดัดแปลงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง เห็นว่า หากจำเป็นต้องกำหนดเป็นตัวชี้วัดในแผนประจำปีของหน่วยงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาความเหมาะสม โดยให้เป็นไปตามหลักการของ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
      4. การนำข้อเสนอแนะจากการประเมินติดตาม การปฏิบัติตามอนุสัญญา UN ว่าด้วยการต่อต้าน การทุจริต ค.ศ. 2003 และข้อเสนอแนะจากคู่มือ พิชิตความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตในสัญญาภาครัฐ จาก UNDP เช่น ประเด็นการขยายระยะเวลา การพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์มาประกอบ การพิจารณาปรับปรุงกระบวนการทำงาน ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่การดำเนินงานผ่านทางเว็บไซต์ และสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะและประชาคมระหว่างประเทศนั้น หน่วยงาน พิจารณาเห็นแล้วว่า ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (จำนวน 7 วัน) มีความเหมาะสมแล้ว หากขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ จะส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐล่าช้า อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ กระทรวงการคลังได้เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่หน้าเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า ข้อมูลจากระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลาง ตั้งแต่ปี 2552-2561 พบว่า มีสัญญาซื้อขายรถดัดแปลงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบริษัทเอกชน จำนวน 1,721 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินทั้งสิ้น 8,634.68 ล้านบาท ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงให้ความสำคัญ สั่งการให้ช่วยกันระมัดระวัง และยกระดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทุกหน่วยงานจึงต้องทำให้การจัดหา จัดซื้อเกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ต้องไม่เอื้อ ประโยชน์แก่รายใดรายหนึ่ง ต้องระมัดระวังเพื่อให้ประเทศไทยสามารถยกระดับ ลำดับ คะแนนความโปร่งใสจากการประเมินของหน่วยงานสากล ให้อยู่ในระดับดับที่มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

    ผ่านแผนพัฒนาสับปะรดไทย

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบร่างแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ.2566 – 2570 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ เสนอร่างแผนพัฒนาด้านสับปะรดฉบับนี้ มีวิสัยทัศน์ คือ ศูนย์กลางระดับโลกในการผลิต แปรรูป และสร้างคุณค่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากสับปะรดอย่างยั่งยืน ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้ 5 พันธกิจหลัก ดังนี้

      1) สนับสนุนและพัฒนาสับปะรดให้สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน
      2) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบการวิจัยและสายพันธุ์ การบริหารจัดการแปลง การบริหารจัดการดินและน้ำ การบริหารโซนนิ่งการเกษตร การจัดการระบบโลจิสติกส์ และการบริหารผลผลิตสับปะรด ให้มีความสมดุลทั้งอุปสงค์ อุปทานของระบบเศรษฐกิจ การเกษตรมูลค่าสูงและการบริโภค
      3) เสริมสร้างขีดความสามารถและการบริหารจัดการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อการเป็นศูนย์กลางการผลิต การแปรรูป และการตลาด
      4) ส่งเสริม พัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิตเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีความมั่นคงในอาชีพ สามารถบริหารจัดการการเกษตรที่ยั่งยืนด้วยตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
      5) ส่งเสริมการสร้างสรรค์วิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตการแปรรูปและการตลาด

    สำหรับตัวชี้วัดของร่างแผนฉบับนี้ ประกอบด้วย 1) พื้นที่ปลูกที่ได้รับการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากนโยบายภาครัฐ จำนวน 1,000 ไร่ต่อปี 2) ผลิตภาพการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี 3) มูลค่าการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี (จากปี 2565 จำนวน 23,700 ล้านบาท) 4) รายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี (จากปี 2565 จำนวน 330,700 บาท)

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า สถานการณ์สับปะรดโรงงานในปี 2566 คาดว่า มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตรวม 1.65 ล้านตัน เนื้อที่เพาะปลูก 430,958 ไร่ ซึ่งลดลงจากปี 2565 เนื่องจากเกษตรกรได้ลดพื้นที่เพาะปลูกลง เพราะปัญหาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยและสารเคมีและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สำหรับผลผลิตสับปะรดในปี 2566 นี้ ร้อยละ 72 ของผลผลิตทั้งหมด จะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ และผลผลิตร้อยละ 28 ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ ข้อมูลการส่งออกสับปะรดปี 2565 ไทยส่งออกสับปะรดในรูปแบบผลิตภัณฑ์รวม 512,574 ตัน มูลค่า 23,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 12.14 โดยประเทศที่ไทยส่งออกสับปะรดกระป๋องมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอมริกา สหพันธรัฐรัสเซีย และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ส่วนราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2566 ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ แบ่งเป็น 1) สับปะรดที่ส่งเข้าโรงงานเฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.14 บาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ที่กิโลกรัมละ 6.50 บาท) 2) สับปะรดที่ใช้บริโภค เฉลี่ยกิโลกรัมละ 11.14 บาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ที่กิโลกรัมละ 10.06 บาท)

    ชงชุด “เคบายา” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบเห็นชอบเสนอชุดเสื้อเคบายา (Kebaya) ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ร่วมกับประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ทั้งนี้ ในรายงานเอกสารที่ทำส่งต่อยูเนสโก มีชื่อว่า เคบายา: ความรู้ ทักษะ ประเพณีและการปฏิบัติ (Kebaya: Knowledge, Skills, Tradition and Practices) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลในภาพรวมเสื้อเคบายาของทุกประเทศ ซึ่งในส่วนของไทยได้ระบุถึงการสืบทอด โดยถ่ายทอดทักษะในการทำเสื้อเคบายาให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการนำไปใช้ในงานประเพณีพิธีกรรมและงานเทศกาล การจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ งานวิจัย และนำเสนอความรู้ในสื่อสิ่งพิมพ์สื่อดิจิทัล รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในการสงวนรักษาของชุมชน ซึ่งมีรายละเอียด อาทิ

    เคบายา (Kebaya) เป็นชุดพื้นเมืองของสตรี “ไทย – เพอรานากัน” หรือ “บาบ๋า – ย่าหยา” ในพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคใต้ของไทย สามารถพบได้ในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล สตรีพื้นเมืองจะนำมาสวมใส่ทั้งงานทางการ งานสังสรรค์ และงานเทศกาลต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงไปถึงชุมชนและกลุ่มต่าง ๆ เช่น ช่างฝีมือ นักออกแบบ สมาคมธุรกิจ นักสะสม และกลุ่มศิลปะการแสดง ที่ผ่านมา เคบายา ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2555 โดยมีความสอดคล้องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ

    เคบายา (Kebaya) ชุดพื้นเมืองของสตรี “ไทย – เพอรานากัน” หรือ “บาบ๋า – ย่าหยา”

    สำหรับคุณสมบัติของเคบายาที่ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก อาทิ เคบายาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยมักจะมีการสวมใส่ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ รวมถึงการสวมใส่สำหรับแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การเต้นรำแบบดั้ง เดิมและร่วมสมัย นอกจากนี้ การทำเสื้อเคบายาต้องใช้ทักษะและความรู้เฉพาะด้าน เช่น การออกแบบ การเลือกและการตัดผ้าและส่วนประกอบ การตัดเย็บ การปักแบบต่าง ๆ ส่วนมาตรการสงวนรักษาของไทย อาทิ 1)การถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ 2)ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการสวมใส่เสื้อเคบายาอย่างต่อเนื่อง 3)สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมการสวมใส่เสื้อเคบายาให้อยู่ในสังคมร่วมสมัย 4)สนับสนุนเงินทุนและการสนับสนุนเชิงเทคนิคให้กับชุมชน ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตและใช้งานเสื้อเคบายา เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการรักษาวัฒนธรรมเคบายาจากรุ่นสู่รุ่น

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกร่วม “เคบายา” ครั้งนี้ จะเป็น Soft Power อย่างหนึ่งของไทย นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในเวทีโลกที่เป็นตัวอย่างในความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ทั้งนี้ การเสนอรายการมรดกร่วม “เคบายา” กับ 4 ประเทศ ถือเป็นครั้งแรกของไทย ที่ผ่านมาไทยได้เสนอขึ้นบัญชีรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในนามของไทยเพียงประเทศเดียว ได้แก่ โขน นวดไทย และโนรา ซึ่งยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว เมื่อปี 2561 2562 และ 2564 ตามลำดับ ส่วนสงกรานต์ในไทย ต้มยำกุ้ง และผ้าขาวม้า อยู่ระหว่างการพิจารณา

    อนุมัติ 200 ล้าน จ่ายชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน กรณีซื้อหุ้น IFC – IBRD

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ใช้จ่ายจากงบประมาณ ปี 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำ เป็นจำนวน 200.60 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับการชดเชยการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนในการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนแบบสามัญ และ เฉพาะเจาะจงของกลุ่มธนาคารโลก ปี 2561 จำนวน 2 องค์กร ได้แก่ 1) ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และโครงการเงินกู้แก่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และ 2) บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ให้เงินลงทุน และสร้างตลาดเพื่อพัฒนาภาคเอกชนของประเทศสมาชิก

    การชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ที่เห็นชอบการซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบสามัญและแบบเฉพาะเจาะจงของ IBRD และ IFC วงเงินจำนวน 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,652 ล้านบาท) โดยกำหนดชำระภายในระยะเวลา 5 ปี คือ ภายในปี 2566 ที่ผ่านมาปีงบประมาณ 2563 -2565 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนของ IBRD และ IFC ไปแล้ว 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 54.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมียอดคงเหลือที่ต้องชำระงวดสุดท้ายภายในปี 2566 จำนวน 23.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ด้วยสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าที่ได้ประมาณการไว้ ทำให้ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนได้น้อยกว่าแผนกำหนด โดยปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการคลังคาดว่า จะสามารถชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนได้ประมาณ 17.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่เพียงพอ กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบกลาง ปี 2566 เพื่อชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนของ IBRD และ IFC ดังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะต้องชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวให้กับ IFC และ IBRD ในวันที่ 15 เมษายน 2566 และวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตามลำดับ

    ขึ้นทางด่วนกาญจนาฯ – มอเตอร์เวย์ ฟรี 12-18 เม.ย.นี้

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

    โดยมีสาระสำคัญเป็นการการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง ตอนกรุงเทพฯ – เมืองพัทยา รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางวัว) ทางแยกเข้าชลบุรี ทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ทางแยกเข้าพัทยา และตอน บ้านหนองปรือ – บ้านฉาง รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (บ้านอำเภอ) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนพระประแดง – บางแค ช่วงพระประแดง -ต่างระดับบางขุนเทียน และตอนบางปะอิน – บางพลี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปี 66 ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันพุธที่ 12 เม.ย. 66 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันอังคารที่ 18 เม.ย. 66 รวมระยะเวลา 7 วัน

    ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่องกันระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย. 66 รวม 5 วัน ที่คาดหมายได้ว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว เป็นผลให้การจราจรติดขัดในทุกสายทางที่ออกและเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง เกิดความคล่องตัว แล้วยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในกำรเดินทำง ลดภาระค่าครองชีพ ของประชาชน รวมทั้งเป็นกำรลดการใช้พลังงานของประเทศ และลดมลพิษทางอากาศด้วย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ประเมินผลจาการดำเนินการยกเว้นค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว คาดว่าจะมีการการสูญเสียรายได้ประมาณ 164.71 ล้านบาท โดยคาดการณ์จากปริมาณจราจรช่วงดำเนินการประมาณ 4,239,600 คัน และได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เงินค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และหมายเลข9 ที่จัดเก็บได้ เป็นเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางซึ่งกรมทางหลวงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยนำส่งเป็นเงินนอกงบประมาณ(ทุนหมุนเวียน) และนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ.2497 และ พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 จึงไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณแผ่นดินหรือภาระทางการคลัง ในอนาคต และไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินการที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป ตามมาตรา 169(1) ของรัฐธรรมนูญ

    นอกจากนี้การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจที่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ประมาณ 267 ล้านบาท ซึ่งประเมินจากมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายจากากรใช้รถและมูลค่าการประหยัดเวลาจากการเดินทาง รวมทั้งยังมีผลประโยชน์ที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้รวมอยู่ด้วยได้แก่ การเพิ่มกำลังซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างๆ และและผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะก่อให้เกิดหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 227 ล้านบาท

    กพยช.เผย 3 ปี จับผู้ต้องหา 1.8 ล้านคน ขังคุก 9.8 แสนคน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบถึงสถานการณ์กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ตลอดจนการพัฒนาด้านการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมในระยะที่ผ่านมา ตามรายงานประจำปีงบประมาณ 2565 ของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.)

    ทั้งนี้ กพยช. รายงานว่าในช่วงปี 2562-64 ภาพรวมกระบวนการยุติธรรมไทยมีจำนวนคดีที่แจ้งความ 1,923,542 คดี จำนวนผู้ต้องหาที่จับกุมได้ในช่วง 3 ปีดังกล่าวรวม 1,883,193 คน มีคดีอาญาเข้าสู่การพิจารณา 1,642,011 คดี และคดีเสร็จไปของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร 1,490,814 คดี ส่วนคดีด้านปกครองนั้น มีสถิติคดีเข้าสู่ศาลปกครองชั้นต้นรวม 24,180 คดี และคดีแล้วเสร็จ 20,159 คดี

    สำหรับจำนวนผู้ที่อยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ทั่วประเทศ แบ่งเป็น นักโทษเด็ดขาด 814,905 คน ผู้ต้องขัง (อยู่ระหว่างการอุทธรณ์-ฎีกา-ไต่สวน-พิจารณาและสอบสวน) 166,899 คน และพบว่ามีผู้กระทำผิดซ้ำหลังจากได้รับการปล่อยตัวในปีแรก 92,288 คน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ยังได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานของ กพยช. และคณะอนุกรรมการภายใต้ กพยช. 6 คณะ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานบริหารกระบวนการยุติธรรมของประเทศ อาทิ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประวัติอาชญากรรม พ.ศ…. เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำให้ผู้พ้นโทษไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติสุข โดยเฉพาะการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงาน หรือ สถานประกอบการที่ตรงกับความสามารถหลังการพ้นโทษแล้ว การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ชะลอการฟ้อง พ.ศ…. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้แสดงความรับผิดชอบในการกระทำ ชดเชยเยียยาผลร้ายแห่งการกระทำแก่ผู้เสียหายในชั้นแรก และเปิดโอกาสให้รับฟังความเห็นจากผู้เสียหายอันนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่กรณี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม

    การจัดทำกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2566 – 69 ประกอบด้วย 5 กรอบ ได้แก่ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา, ทางแพ่ง ปกครอง, เพื่อพัฒนากฎหมาย, เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม

    ทางด้านสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของ กพยช. ก็ได้ดำเนินการที่ส่งผลสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม อาทิ การจัดทำสถานการณ์อาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมประจำปี พัฒนาระบบการใช้มาตรการต่อผู้กระทำผิดอาญาแทนการควบคุมตัว การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรม การขับเคลื่อนงานในมิติเชิงพื้นที่ เป็นต้น

    ผ่าน กม.ควบคุมหน่วยงานรัฐเรี่ยไรเงิน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานรัฐ พ.ศ…. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรฯ พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงมาตรการในการควบคุมและดูแลเรื่องการเรี่ยไรของทางราชการ ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

    ทั้งนี้ ระเบียบฯ ฉบับปรับปรุงแก้ไขนี้ได้เพิ่มเติมบทนิยามของคำว่า “เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร” โดยเพิ่มกรณีของบุคคล หรือ นิติบุคคลอื่นใด ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรง หรือ ทางอ้อมกับการเรี่ยไรด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุม เพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการควบคุมเรี่ยไร โดยเพิ่มผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการด้วย เนื่องจากปัจจุบันได้มีการเรี่ยไรผ่านระบบออนไลน์ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาช่วยดูแล

    พร้อมกันนี้ มีการเพิ่มกรณีพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการควบคุมเรี่ยไร โดยกำหนดให้กรณีที่กรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จนกว่าจะมีการแต่งตั้ง เพื่ออุดช่องว่างกรณีที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ตั้งกรรมการซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้ในระยะเวลาดังกล่าวกรรมการเท่าที่มีอยู่ดำเนินการประชุมต่อไปได้

    นอกจากนี้มีการตัดผู้แทนของคณะกรรมการกฤษฎีกาจากองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร และ ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมเรี่ยไรในการวินิจฉัยปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวมถึงแก้ไขถ้อยคำในระเบียบฯ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้องและบังคับใช้ในปัจจุบัน และ แก้ไขบทเฉพาะกาลเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการบังคับใช้ระเบียบฯ

    เห็นชอบประกาศ มท.ใช้ผังเมืองรวมพัฒนา “ชุมชนทองผาภูมิ”

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้อง หรือ ชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ บริการสาธารณะ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การค้าชายแดน การบริการ และรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยจะเป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

      1. กำหนดให้ผังเมืองรวมชุมชนทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี มีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเมืองให้เป็นศูนย์กลางการบริหาร การปกครอง การศึกษา การคมนาคมและการขนส่งของ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี รวมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      2. กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมดเป็น 10 ประเภท โดยแต่ละประเภทจะกำหนดลักษณะถึงการให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทนั้นๆ และกำหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดำเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
      3. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณแนวถนนตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศ โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กำหนด เช่น การสร้างถนน หรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

    “ทุกพื้นที่ของประเทศ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีผลงานเด่นชัดที่จะพัฒนาพื้นที่ว่าง และจัดทำผังเมืองรวมให้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาเมืองควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของคนในชุมชน สำหรับในพื้นที่ชุมชนท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้เน้นย้ำการจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้รองรับและส่งเสริมการค้าการค้าชายแดน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่” นางสาวทิพานัน กล่าว

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 11 เมษายน 2566 เพิ่มเติม