ThaiPublica > คอลัมน์ > คนป่วยแห่งเอเชีย : The Sick Man of Asia เป็นโรคร้ายเรื้อรัง หรือ แค่เป็นหวัด

คนป่วยแห่งเอเชีย : The Sick Man of Asia เป็นโรคร้ายเรื้อรัง หรือ แค่เป็นหวัด

7 เมษายน 2015


sickman of asia-page-004_1

หลังจากที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ Benigno Aquino III ได้ประกาศเมื่อกลางปีที่แล้วว่า ฉายาThe Sick Man of Asia ที่ฟิลิปปินส์รับต่อมาจากจีนซึ่งเป็นผู้ครองตำแหน่งประเทศแรกนั้น ได้กลายเป็นอดีตที่รางเลือน (Distant Memory) ไปแล้ว เนื่องจากฟิลิปปินส์มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่อง ความเหลื่อมล้ำก็ลด คอร์รัปชันก็หด แถมศักยภาพในอนาคตก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

พอตำแหน่งว่างลง สื่อต่างประเทศและนักวิเคราะห์ทั้งหลายแทบจะลงมติเอกฉันท์ ยกให้ประเทศไทยแลนด์แดนสยามครองตำแหน่ง “The New Sick Man Of Asia”ไปอย่างสมภาคภูมิ เพราะกำลังนี้ ในสายตาต่างประเทศในสายตาของภาคเอกชน ดูเหมือนอาการทางเศรษฐกิจต่างๆ มันออกเต็มที่

แต่ถ้าถามทางการไทย ถามสภาพัฒน์ ถามผู้บริหารเศรษฐกิจ ก็เห็นได้ชัดว่ายังค่อนข้างจะไม่กังวลมากนัก ยังชิลๆ อยู่ ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเป็นแค่การชะงักงันจากปัจจัยภายนอกบ้าง จากภัยธรรมชาติบ้าง จากความขัดแย้งทางการเมืองบ้าง ถ้าภาวะเหล่านี้ผ่านพ้นไป เราก็คงปรับเข้าสู่ภาวะปรกติได้ ปัจจัยพื้นฐานส่วนใหญ่ยังดีอยู่ ถึงแม้อาจจะไม่เติบโตหวือหวาเหมือนเมื่อก่อน หรือเหมือนเพื่อนบ้านตลาดเกิดใหม่อื่นๆ แต่ก็จะเติบโตได้ประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งเขาเรียกว่า New Normal

ความเห็นต่างนี้ เลยทำให้เกิดคำถามขึ้นมา 2 คำถาม ว่า 1. เราแค่ป่วยเป็นหวัด ซึ่งแค่พักผ่อนหน่อย อย่าทะเลาะกัน กินอาหารดีๆ เดี๋ยวก็หาย หรือป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องผ่าตัด ต้องปฏิรูปฟื้นฟูเป็นการใหญ่ 2. เราควรสงบเสงี่ยมเจียมตัวยอมรับ New Normal ที่ผู้วางแผนเศรษฐกิจกำหนดให้หรือไม่ ศักยภาพจริงมันตำ่เตี้ยแค่นั้นหรือ หลังจากวิ่งเต็มที่ 8% ในช่วง 2505-2539 โต 5% ช่วง 2543-2552 ชะลอมาเป็น 3% ในช่วง 2552-2557 การที่จะกลับมา 4% ได้ก็ดีนักหนาแล้ว ไม่ควรจะไปทะเยอทะยานอย่างมาเลเซียที่จะเป็นประเทศร่ำรวยภายในห้าปีนี้ (และคงเป็นได้แน่ๆ) ซึ่งถ้าไทยทำได้ 4% ทุกปีไป เราก็จะได้เป็นประเทศมั่งคั่งในปี 2578 อีกยี่สิบปี หรือถ้าสะดุดไปบ้างเฉลี่ยได้แค่ 3% ก็ยืดเป็นยี่สิบห้าปี (2583) จะไปเดือดร้อนอะไร เราควรจะเดินแบบพอเพียงรอฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือแม้แต่เขมร พม่า ลาวไปก่อน เจริญเร็วเดี๋ยวปัญหาจะเยอะ คนรถ คนสวน คนใช้หายากตาย

เรื่องนี้ ทำให้ผมย้อนรำลึกถึงอดีตคราว “ต้มยำกุ้ง” พ.ศ. 2539-2540 เมื่อสื่อต่างประเทศเริ่มระบุว่าฉายา “มหัศจรรย์แห่งเอซีย” (Miracle of Asia) ที่ไทยเราครองอยู่ในเวลานั้น มันเป็นภาพลวงตา พอหนังสือ The Economist พาดหัวหน้าปกว่า “The Fall of Thailand” เมื่อปลายปี 2539 เราก็ห้ามเอามาขายในไทย พอนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ CLSA ระบุว่าไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่วิกฤติ ตอนต้นปี 2540 รัฐบาล (บิ๊กจิ๋ว) ก็ส่งสันติบาลเข้าตรวจค้นราวี จนเขาเผ่นออกนอกประเทศ แล้วก็เลยดังระเบิดไปภายหลัง ทางการไทย สภาพัฒน์ แบงก์ชาติ กูรูทั้งหลายต่างก็ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ลงทุนไปเยอะผลผลิตย่อมจะเพิ่มเอง ถึงจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดร่วมสิบเปอร์เซ็นต์ (ของ GDP) ก็ไม่ต้องห่วง แม้ Paul Krugman จะเตือนว่า การสักแต่ว่าลงทุนไปโดยไม่มี Productivity เพิ่มนั้นย่อมไปไม่รอด แต่ท่านโหรเศรษฐกิจจากธนาคารใหญ่ก็ยังยืนยันว่าไม่มีปัญหา คุณ Paul อยู่ไกล ไม่เข้าใจไทยแลนด์ พอเกิดวิกฤติคุณ Paul ก็เลยได้ Nobel Prize ไป ส่วนท่านโหรก็ไปเป็นที่ปรึกษาใหญ่ให้อีกหลายรัฐบาล

พูดถึงช่วงวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ทำให้ผมพยายามนึกถึงบทบาทของสภาพัฒน์ในช่วงนั้น บอกตรงๆ ว่านึกไม่ออก ไม่ทราบว่าท่านทำอะไรบ้าง ทั้งในด้านการเตือนภัย ทั้งในกระบวนการแก้ปัญหา ดูเหมือนท่านจะหาย “เข้ากลีบเมฆ” ไปเสียเฉยๆ (ต้องขอโทษนะครับถ้าความจำคลาดเคลื่อน…มันนานมากแล้วนะครับ) เราเกิดวิกฤติหลังจากใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ไปได้แค่ครึ่งปี ต้องรื้อแผนใหม่หมด แผนฯ 9 แผนฯ 10 ก็ไปเน้นเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนี้แผนฯ 11 ก็เหมือนไม่ใช่แผน เป็นแค่เมนูที่ให้นักการเมืองมาเลือกหยิบเอาไปใช้

ก็จริงแหละครับ ว่าปัจจัยความเชื่อมั่นของนักลงทุน ของผู้บริโภค เป็นเรื่องสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจ (เดี๋ยวผมก็คงถูกกล่าวหาว่าทำลายความมั่นใจ ทำลายบรรยากาศการฟื้นตัว) แต่การให้คนหลงเชื่อบนของที่ไม่มีจริง ไม่มั่นคงแข็งแรงจริง ถ้าเกิดอะไรขึ้น คนซื่อที่หลงเชื่อนั่นแหละครับจะซวยสุด ส่วนคนฉลาดก็คงตักตวงประโยชน์จากความมั่นใจจอมปลอมนี้ไป ความเชื่อมั่นที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานที่ดีจริง ย่อมช่วยได้แค่ระยะสั้น ไม่มีทางยั่งยืนไปได้

ขอกลับมาเรื่องป่วยหนักเรื้อรัง หรือแค่เป็นหวัด

ผมขอยืนยันอีกครั้ง หลังจากที่อธิบายมาหลายครั้งแล้ว (อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สอนว่า ถ้าอยากจะให้สังคมเข้าใจ จะต้องอดทนพูดซ้ำพูดซาก) ว่านอกจากเราจะเติบโตในอัตราที่แย่ในสิบห้าปีหลังนี้แล้ว (2543-2557) เรายังโตแบบกลวงๆ อีกด้วย หรือถ้าพูดอย่าง Krugman ก็คือโตโดยที่ไม่ได้มีการเพิ่มของผลิตภาพ (Productivity) เท่าที่ควร …แต่ต่างจากยุค “ต้มยำกุ้ง” ตรงที่คราวนั้น เอกชนคึกคะนองลงทุนซี้ซั้วโดยที่ไม่เกิดผลคุ้มค่า แต่คราวนี้เราโตขึ้นมาด้วยเทคนิค “การโด๊ป” การอัดให้โตด้วยฝีมือรัฐบาล ซึ่งความจริงถ้ารัฐจะเก่ง จะอัดได้อย่างนี้ตลอดไปก็ย่อมไม่มีปัญหา แต่สำหรับผม มันแน่ชัดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เดินอย่างนี้ต่อไปไม่มีทางยั่งยืน และเป็นการเดินเข้าสู่ขอบเหวแห่งหายนะค่อนข้างแน่เสียด้วย

ทำไมผมถึงกล้าบังอาจชี้ไปอย่างนั้น….

ลองมาดูการเติบโตในเจ็ดปีหลังสุดดูสิครับ เราเติบโตปี 2008 ได้แค่ 2.46% และวิกฤติโลกก็เลยทำให้ปี 2009 หดตัว -2.3% ปี 2010 ฟื้นตัวแรงได้โต 7.8% พอปี 2011 เกิดนำ้ท่วมใหญ่เลยโตเหลือ 0.1% ปี 2012 ก็ฟื้นตัวอีกอัดฉีดเต็มที่ทุกอย่าง ประชานิยม หนี้ครัวเรือนโตได้ 6.5% แต่พอ 2013 ยาโด๊ปชักหมดฤทธิ์ หดอีก เหลือแค่ 2.9% พอมา 2015 ทะเลาะกันเกือบครึ่งปีทำให้โตห่วยอีกแค่ 0.7%

สรุป 7 ปีเราโตเฉลี่ยแค่ปีละ 2.6% เท่านั้นเอง ถ้าใครบอกว่า New Normal มันคือ 4% ต่อปี ผมก็ยังสงสัยนักว่าประมาทไปหรือเปล่า

จริงอยู่ที่ว่า เจ็ดปีที่ผ่านมันมีปีไม่ปกติเสียสามปี วิกฤติโลก นำ้ท่วมใหญ่ ม็อบ “คนดี” อาละวาด แต่ปกติถึงจะโดน Disrupt บ้าง ถ้าโครงสร้างแข็งแรงปีต่อมาก็จะต้อง Rebound แข็งแรง แต่นี่ก็เห็นๆ ว่าห่วยติดต่อมาสองปีแล้ว ปีนี้รัฐบาลมีอำนาจเต็ม อัดฉีดเต็มที่ ยังคาดว่าจะโตได้แค่ 3.8% (จากการทบทวน “ลดประมาณการณ์” ครั้งแรกของ ธปท. เมื่อไม่กี่วันนี้นะครับ ธปท. “ลดประมาณการณ์” ติดต่อกันมาร่วมสิบไตรมาสแล้วนะครับ) อย่างปีที่แล้ว เริ่มต้นสภาพัฒน์คาดว่าเราจะโตตั้ง 4-5% แล้วก็ลดคาดการณ์ลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายเหลือแค่ 0.7% เรียกว่าคาดผิดไปนิดหน่อย…ตั้งแค่เจ็ดเท่าตัวเท่านั้นเอง แล้วนี่จะให้พวกเราเชื่อเรื่อง New Normal ของท่านได้อย่างไร

ที่ว่ามามันเป็นแค่เรื่องตัวเลข เป็นเรื่องปริมาณการเติบโตที่ผ่านมาเท่านั้น เรามาลองดูเรื่องคุณภาพกันบ้าง ว่าที่โตๆ อย่างช้าๆ มานี่ เราโตอย่างแข็งแรง มีการเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันมากน้อยอย่างไร หรือสักแต่ว่าอัดฉีดลมอัดฉีดนำ้เข้าไป

ผมขอยกเหตุผล 4 ประการ ที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือของรัฐบาลที่ผ่านมาทุกรัฐบาลในช่วงสิบปีหลังนี้ ฝีมือในการอัดฉีดให้เศรษฐกิจระยะสั้นเติบโตมาได้โดยไม่ต้องเพิ่ม Productivity แท้จริงสักเท่าไหร่

เรื่องแรก ก็เป็นการเติบโตของรัฐวิสาหกิจในสิบปี (2547-2556) ขนาดของงบค่าใช้จ่ายและลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่า จาก 1.5 ล้านล้านบาท เป็น 5.1 ล้านล้านบาท (เกือบสองเท่าของงบประมาณ) ทรัพย์สิน (ไม่รวมสถาบันการเงิน) เพิ่มจาก 3 ล้านล้านเป็น 6 ล้านล้าน มีกำไรแค่ 1.6 แสนล้าน เรียกว่ามี ROA แค่ไม่ถึง 3% (สี จิ้นผิง ประกาศปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจีนขนานใหญ่ เพราะ ROA ลดจาก 9% เป็นน้อยกว่า7%) แถมที่มีกำไรล้วนแต่เพราะมีอำนาจผูกขาดแทบทั้งนั้น เช่น ไฟฟ้า ประปา ท่าเรือ สนามบิน ปตท.ฯลฯ ส่วนที่ต้องแข่งขัน ล้วนขาดทุนยับ เช่น การบิน โทรคมนาคม การขนส่ง ฯลฯ ซึ่งแผนของทุกแห่งก็ล้วนแต่อยากขยายตัว อยากลงทุนเพิ่ม อยากจ้างงานเพิ่มทั้งนั้น

เรื่องที่สอง เป็นการเพิ่มหนี้ให้ระบบ ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ (Special Financial Institutions) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 8 แห่ง (ไม่นับรวมธนาคารกรุงไทย) ซึ่งในปี 2546 มีทรัพย์สินรวมแค่ 1.3 ล้านล้าน แต่ปัจจุบันขยายเป็น 4.7 ล้านล้าน ซึ่งเป็นการขยายอย่างน่ากังขาต่อเรื่องคุณภาพ เพราะหลายแห่งมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพถึงเกือบครึ่ง มากกว่าธนาคารพาณิชย์เอกชนร่วมสิบเท่าตัว นอกจากนั้น รัฐยังส่งเสริมให้มีการกู้เพื่อบริโภคเกินตัว เช่น โครงการรถคันแรก ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งสูงเกิน 85% ของ GDP เกือบเป็นแชมป์เอเซียไปอีกตำแหน่งหนึ่ง

เรื่องที่สาม เป็นการขยายตัวของระบบราชการเอง ทั้งขนาด บทบาท และอำนาจ รายงานของสถาบันอนาคตไทยศึกษาระบุว่า รัฐเพิ่มจำนวนข้าราชการและลูกจ้างเกือบ 50% ในสิบปีที่ผ่านมาจนมีจำนวนถึง 2.2 ล้านคน และมีงบเงินเดือนสวัสดิการเพิ่มถึงสามเท่าตัว จนคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP 7% สูงที่สุดในอาเซียน (สิงคโปร์ 3% ทั้งๆ ที่นายกฯ ได้ปีละ 56 ล้านบาท) เงินเดือนแรกเข้าของราชการไทยสูงกว่าเอกชนถึง 10% แล้ว ทุกอย่างเพิ่มหมดยกเว้นความมีประสิทธิภาพกับความโปร่งใสสุจริต World Economic Forum ลดอันดับความมีประสิทธิผลของราชการไทยจาก 65 เมื่อสิบปีที่แล้ว เป็น 74 ส่วน Transparency International ก็ลดอันดับความซื่อสัตย์จาก 70 เป็น 102

เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องการอัดฉีดผ่านโครงการประชานิยมที่ไม่เพิ่มผลิตภาพ แถมทำลายกลไกตลาดกับรั่วไหลเยอะ เงินหลวงที่จะเสียหายไปกับโครงการเหล่านี้ก็ไม่ถูกนับรวมในงบประมาณ และในหนี้สาธารณะที่ต้องมีภาระชดใช้ ยกตัวอย่างเช่น การจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ถูกระบุว่าเสียหายถึง 540,000 ล้านบาท ซึ่งชัดเจนครับว่า ถ้าไม่มีโครงการอุบาทว์นี้ GDP ในสามปีย่อมหายไปอีกร่วม 5% จนแทบไม่โตเลย

สรุปว่า ชัดเจนมากครับว่า นอกจากเราโตช้าแล้ว ยังโตแบบกลวงๆ ด้วย ถ้าไม่มีสี่เรื่องที่ว่า สิบปีที่ผ่านมาเราน่าจะโตแค่ไม่เกิน 2% ต่อปี แต่ด้วยฝีมือรัฐบาลก็เลยยังอัดฉีดกล้อมแกล้มมาได้ (อย่าเข้าใจว่าผมด่าระบอบทักษิณนะครับ เพราะในสิบห้าปีเรามีรัฐบาลอื่นนานกว่าหนึ่งในสามของเวลา ซึ่งทุกรัฐบาลก็ทำเหมือนๆ กัน รวมทั้งรัฐบาลนี้ด้วย)

การโตโดยภาครัฐนั้น เป็นที่แน่นอนครับว่า 1. ไม่มีประสิทธิภาพ 2. ไม่ยั่งยืน การที่เราขยายตัวในภาครัฐมากกว่าเอกชนก็แปลว่าเราเอาทรัพยากรไปให้ภาคที่มีประสิทธิภาพตำ่ใช้ แถมทรัพยากรนั้น นอกจากเบียดมาจากระบบในปัจจุบันแล้ว ยังมีการแอบเอาของอนาคต เอาของลูกหลานมาอีกไม่น้อย ตัวเลขหนี้สาธารณะที่เป็นทางการนั้น ดูเหมือนจะยังคงอยู่ที่ 46-47% เหมือนเดิม ซึ่งก็จะทำให้เราประมาท แต่ถ้านับรวมภาระแอบแฝงอื่นๆ กับถ้าเรายังทำนโยบายอย่างนี้ไปเรื่อยๆ วันหน้าคงอันตรายที่อาจเกิดวิกฤติหนี้รัฐก็เป็นได้ (ตอนกรีซระเบิดก็มีหนี้ทางการแค่ 60% ของ GDP เองครับ)

สิ่งหนึ่งที่เติบโตคู่ไปกับขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ อย่างแน่นอนก็คือ คอร์รัปชัน ใครว่าเมืองไทยไม่ค่อยมีนวัตกรรม ผมว่านวัตกรรมด้านนี้เราลำ้หน้ากว่าใครๆ มีการออกแบบคิดค้นวิธีการขึ้นมามากมาย อัจฉริยะระดับ Harvard หรือ Stanford หลั่งไหลเข้าสู่วงการเพียบ แล้วพอรัฐโตทำให้โกงได้เยอะ การอยากโกงเพิ่มก็กลับมา ส่งเสริมให้รัฐโตเพิ่มเข้าไปอีก เป็นวงจรอุบาทว์ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

ยิ่งถ้าดูเครื่องยนต์เศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ดูเหมือนแผ่วใกล้ดับเกือบทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น การบริโภค (ก็หนี้มันถึงคอหอยแล้วนี่ครับ) การส่งออก (ก็ไม่ได้เพิ่มผลิตภาพเลย จะให้ไปแข่งกับใครล่ะครับ) การลงทุนภาคเอกชน (ก็คนไม่กิน แถมขายส่งออกก็ไม่ได้ จะให้ลงไปหาพระแสงอะไรล่ะครับ) ทุกคนเลยชี้นิ้วให้รัฐบาลงัด Keynesian มาใช้เร่งด่วน ให้เร่งเพิ่มใช้จ่าย เพิ่มลงทุนเข้าไปใหญ่ ไอ้รัฐลงน่ะผมไม่ว่าหรอกครับ ถ้าลงอย่างมีประสิทธิภาพ ประชานิยมก็ทำได้ แต่อย่าให้รั่วไหล อย่าไปทำลายตลาด กับให้เกิดประโยชน์ต่อผลิตภาพระยะยาวบ้าง แต่นี่พอดูโครงการที่จะลงล้วนแต่น่าห่วงทั้งนั้น แอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถไฟทางคู่ซำ้ซ้อนไปกับรถไฟความเร็วสูง รางแคบ รางกว้าง มั่วทับกันไปหมด แถมหลายๆ อัน มันดันมี Import Content สูงๆ ทั้งนั้น ไปเพิ่ม GDP จีน GDP ญี่ปุ่นเข้าไปอีก

สำหรับผมแล้ว นี่ไม่ใช่อาการป่วยธรรมดา ไม่ใช่แค่เป็นหวัดปวดหัว แต่เป็นโรคเรื้อรังร้ายแรงเลยทีเดียว ถึงแม้เนื้อร้ายยังไม่ส่งอาการมาก แต่ทิ้งไว้ย่อมฝังรากลึก แล้วแก้ไม่ออก ไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็จะทำให้ศักยภาพถดถอย โตแบบแกร็นๆ ไปเรื่อย ปัญหาความเหลื่อมลำ้ก็จะทวีจนเกิดปัญหาสังคมใหญ่หลวงตามมาแน่นอน

ดูเหมือนผมวาดภาพเสียน่ากลัว ตรงข้ามกับพวกนักวางแผนเศรษฐกิจ อย่างเช่น พวกสภาพัฒน์ พวกแบงก์ชาติบางคน หรือกระทั่งทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ที่ยังเชื่อว่ารากฐานเราดี แค่สะดุด แค่เป็นหวัด เมื่อหลุมอากาศผ่านพ้นก็จะวิ่งฉลุยได้อีก แต่หลักฐานทุกอย่างมันทำให้ผมแน่ใจว่าเราป่วยหนัก ยิ่งได้โอกาสมาทำงานรัฐ มาเห็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งระบบราชการ ยิ่งมั่นใจเข้าไปใหญ่

แล้วเราจะทำยังไง ถึงจะพ้นอาการป่วยเรื้อรังนี้ไปได้ล่ะครับ

ก็ปฏิรูปไงครับ ทำสิ่งที่ควรทำเสียที ทุกคนพูดถึงการปฏิรูปมากมายหลายสิบด้าน ทั้งการปกครอง การศึกษา พลังงาน ศาสนา ฯลฯ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ แต่พอไปดูรายละเอียด หลายส่วนกลับเป็นข้อเสนอเพิ่มรัฐเข้าไปอีก ตั้งองค์กรโน่น ตั้งสมัชชานั่น เพิ่มบทบาท ขนาด อำนาจ (แม้องค์กรอิสระก็เป็นรัฐนะครับ) ไม่เคยจำบทเรียน ว่าให้ทรัพยากรไปก็มักจะรั่วไหล ให้บทบาทอำนาจ ก็มักจะเอาไปขาย เพิ่มรัฐก็เท่ากับเพิ่มสินค้าบนหิ้งคอร์รัปชันเข้าไปอีก

ข้อเสนอของผมเป็นการไปจัดการกับส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปกดให้หดตัว ไปปลดปล่อยทรัพยากรที่ถูกใช้งานอย่างไม่ดีออกมา นั่นก็คือ “ต้องลดรัฐ” ครับ ลดทั้งขนาด บทบาท และอำนาจ ขณะเดียวกันต้องกดดันให้มีประสิทธิภาพ และตัดวงจรคอร์รัปชันลงให้ได้ แทนที่ สนช. สปช. จะเอาแต่เสนอกฎหมายเยอะแยะ น่าคิดจะปรับปรุงตัดทอนกฎหมายเก่าๆ ที่ล้าสมัยมากกว่า วางระบบรากฐานที่จะให้รัฐและหน่วยงานรัฐเล็กลง ทำแต่สิ่งที่ควรทำ ทำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหล ไม่โกงกิน ส่วนอื่นๆ นั้นสร้างกลไก สร้างกติกาที่ดี ให้เอกชนเขาทำไป แค่นี้เราก็พร้อมจะทะยาน (โมเดลที่ว่านี้แหละครับ ที่ท่านลี กวน ยู ทำมาตลอด 50 ปี จนสิงคโปร์ลำ้หน้ากว่าใคร)

ที่ผมยอมกลืนน้ำลายตัวเอง ถอนตัวออกมาจากกลุ่ม “สองเอา สองไม่เอา” มาร่วมทำงานหนักอยู่ทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่วัยควรเกษียณอายุแล้ว ก็เพราะเห็นอาการชัดนี่แหละครับ หวังว่าจะช่วยให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจได้ หวังว่าจะช่วยวางรากฐานลดคอร์รัปชันลงได้บ้าง หวังว่าจะได้ใช้ชีวิตช่วงท้ายอยู่ในบ้านเมืองที่เจริญก้าวหน้าและสงบสุข (จะค่อยๆ เอาความคืบหน้ามารายงานตามควรนะครับ)

จริงๆ แล้วผมอยากให้ตัวเองคิดผิด ให้กลายเป็นคนตีโพยตีพาย มองโลกในแง่ร้าย อยากให้พื้นฐานเราแข็งแกร่ง พอวางกรอบการเมืองใหม่เสร็จ พอร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ส่งมอบบ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยแล้ว ทุกอย่างก็วิ่งได้ฉลุย เศรษฐกิจกลับสู่ New Normal ได้ด้วยดี ถึงจะโตช้าแบบเจียมเนื้อเจียมตัวอย่างที่ผู้วางแผน (สภาพัฒน์) เขาชี้นำ แต่ก็หวังว่าปัญหาความเหลื่อมลำ้จะดีขึ้น คนรวยยอมแบ่งการเติบโตที่มีน้อยให้กับผู้ด้อยกว่าแต่โดยดี

ผมคิดว่าความเข้าใจเบื้องต้นเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ ถ้าเราคิดว่าแค่เป็นหวัด เราก็รักษาอย่างเป็นหวัด แต่ถ้าแน่ใจว่าเป็นโรคร้าย ก็ถึงคราวต้องยอมอดทนผ่าตัดใหญ่เสียที

นี่แหละครับ…วันหยุดยาว ไม่มีใครชวนไปเที่ยวไหน แถมไหล่เจ็บออกกำลังไม่ได้ ผมก็เลยฟุ้งซ่าน ไปทะเลาะโต้แย้งกับเหล่าดอกเตอร์สภาพัฒน์เขาเสียยืดยาว ทั้งๆ ที่ตัวเองจบเศรษฐศาสตร์มาได้อย่างฉิวเฉียด GPA 2.0 เท่านั้นเอง ไม่เป็นไรครับ อีกไม่กี่ปีก็ได้รู้แน่ ว่าเราจะครองตำแหน่ง “คนป่วยแห่งเอเชีย” ได้เหนียวแน่นยาวนานตามอย่างผู้ครองตำแหน่งสองรายก่อนหน้านี้หรือไม่ …เพี้ยง ขอให้ไอ้เตาทายผิดเถอะ (กลัวจะได้ Nobel Prize เหมือนคุณ Krugman น่ะครับ)

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 6 เมษายน 2558