ThaiPublica > คอลัมน์ > “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” สมบัติมีค่าของสังคมไทย

“โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” สมบัติมีค่าของสังคมไทย

19 มิถุนายน 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ที่มาภาพ : ธนาคารกรุงเทพ

การจากไปของคุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ในวัย 73 ปี ถึงแม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง แต่ก็มิได้ทำให้คุณค่าของท่านด้อยลงไปแม้แต่น้อย เพราะชีวิตที่สร้างสรรค์นั้นยังคุณค่าแห่งการเป็นตัวอย่างให้แก่อนุชนรุ่นต่อไปเสมอ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจไทยเริ่มในปี พ.ศ. 2504 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ งานสำคัญของแผนนี้คือการวางโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งจนทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูง สังคมไทยในเมืองเพลิดเพลินกับ “ความร่ำรวยใหม่” อยู่หลายปีอย่างมองข้ามเพื่อนในชนบท

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถือได้ว่าเป็นบุคคลแรกๆ ซึ่งเกี่ยวพันกับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่มองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น นอกจากการเขียนและพูดแล้ว ท่านได้ตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยขึ้นใน พ.ศ. 2510 ที่จังหวัดชัยนาท โดยใช้ที่ดิน 33 ไร่เศษที่คุณเสนาะ นิลกำแหง ซึ่งเป็นเพื่อนท่านและญาติร่วมกันบริจาค

มูลนิธิได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในการบูรณะชนบท 13 แห่งตามหมู่บ้านในตำบลใกล้เคียงเพื่อหาข้อมูล และบูรณาการการเรียนรู้ตามความต้องการของชุมชนในเรื่องสุขภาพ การศึกษา อาชีพ และสหกรณ์ หลังจากนั้นก็นำแนวคิดจาก “ล่างสู่บน” ดังกล่าวไปใช้ในโครงการลุ่มน้ำแม่กลองในปี 2518 โดยเป็นโครงการความร่วมมือของ 3 มหาวิทยาลัย คือ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และมหิดล โดยคาดว่าจะสรุปเป็นแผนปฏิบัติและนำเสนอต่อรัฐบาลได้ในกลางปี 2520 เพื่อเป็นรูปแบบการพัฒนาชนบทแบบใหม่ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นเสียก่อน ทุกอย่างจึงหยุดชะงักไป

ในปี 2508 คุณโฆสิตเข้ารับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในขณะที่คณะกรรมการบริหารประกอบด้วยบุคคลที่เปี่ยมด้วยความรู้และประสบการณ์ เช่น คุณบุญมา วงศ์สวรรค์ มล.เดช สนิทวงศ์ คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ โดยมีคุณประหยัด บุรณศิริ เป็นเลขาธิการ ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของคุณโฆษิต

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ท่านลาออกจากราชการไปทำงานที่ธนาคารโลกที่สหรัฐอเมริกา โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการเงินกู้ของบังกลาเทศ ซึ่งจุดนี้เองทำให้ได้รับประสบการณ์โดยตรงในเรื่องความยากจน

ดร.เสนาะ อูนากูล ผู้ได้รับความเคารพอย่างยิ่งจากคุณโฆสิต ก็โอนไปเป็นรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ หลังจากคลื่นลมสงบ ดร.เสนาะย้ายกลับมาเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ และได้เรียกคุณโฆสิตกลับเมืองไทยเพื่อให้มาเป็นผู้อำนวยการกองศึกษาภาวะเศรษฐกิจ และดำรงตำแหน่งอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2517-2523

ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในขณะนั้นแผนพัฒนาฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกฯ ก็เกิดขึ้น โดยตลอดเวลาของการเป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2523-2531) สภาพัฒน์ภายใต้การนำของ ดร.เสนาะ อูนากูล ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง และทีมงานคนหนึ่งที่รับผิดชอบงานสำคัญก็คือคุณโฆสิต โดยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาชนบทและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นแห่งชาติ

งานสำคัญของการพัฒนาชนบทอยู่ในมือของคุณโฆสิต ภายใต้การชี้นำของ ดร.เสนาะ ปิยมิตรรุ่นน้องของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และหลังจากที่มีการสะดุดชะงักมานานปี ช่วงเวลาทองของสังคมไทยและของคุณโฆสิตคือการวางกรอบการพัฒนาชนบท การเก็บข้อมูลหลายลักษณะสำคัญของทุกตำบล (ที่เรียกกันว่า “จปฐ.” หรือ “ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน” ของประชาชน) เพื่อประเมินความยากจน และแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในระดับภาพรวมและท้องถิ่น

คุณโฆสิตสร้างและสะสมชื่อเสียงในด้านความเป็นมืออาชีพของเทคโนแครต ความซื่อสัตย์ ความรู้ความสามารถรอบด้านที่สะสมมาจากงานหลายตำแหน่งในสภาพัฒน์และต่างประเทศ ตลอดจนความสุภาพอ่อนโยน ความเป็นมิตร ความมีเหตุมีผล การให้เกียรติผู้อื่น ฯลฯ ปรากฏให้นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ ตลอดจนคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้สัมผัส (ผู้เขียนซึ่งรู้จักท่านมากว่า 40 ปีในฐานะนักวิชาการสามารถยืนยันได้เต็มที่)

จากตำแหน่งรองเลขาธิการฯ สภาพัฒน์ คุณโฆสิตลาออกไปเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในปี 2535 เป็นเวลาสั้นๆ ต่อด้วยการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเดียวกันในรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน

ในปี 2538 คุณโฆสิตรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใน พ.ศ. 2540 และใน พ.ศ. 2542 รับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ท่านรับตำแหน่งการเมืองครั้งสุดท้ายในปี 2549 โดยเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสารในรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

ความเป็นเทคโนแครตของคุณโฆสิตมาจากพื้นฐานการศึกษาคือรัฐศาสตร์การคลังในระดับปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ตลอดจนประสบการณ์จากงานวางแผนและศึกษาเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเรื่องความยากจนและการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมายาวนาน

อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้เขียนความประทับใจในตัวคุณโฆสิตจากการได้สัมภาษณ์ในหลายโอกาสไว้ ดังนี้ “คุณโฆสิตเคยบอกผมว่า ไม่ว่าจะสวมหมวกอะไร ท่านก็คงเป็นเทคโนแครตโดยสามัญสำนึก หากให้ไปทำธุรกิจเองก็คงเจ๊งเพราะท่านสนุกกับการคิดมากกว่าการทำ แต่ตัวท่านก็ไม่ใช่เทคโนแครตแบบเด็กๆ อีกแล้ว ไม่ได้ไปอ่านไปหาเครื่องมือจากตำรามาใช้ทำมาหากิน ท่านศึกษาเรียนรู้จากความจริงในโลกจริง แล้วใช้สามัญสำนึก ใช้วิธีคิดเรื่องการพัฒนาเป็นกรอบในการเข้าใจปัญหาและแก้ไขปัญหา สำหรับคุณโฆสิตการพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และท่านพูดเสมอว่างานพัฒนาคืองานชั่วชีวิตของท่าน

ผมเคยถามคุณโฆสิตว่า สวมหมวกทำงานมาหลายหมวกเคยดำรงตำแหน่งทั้งในระบบราชการ บริษัทเอกชน และคณะรัฐมนตรี งานอะไรที่มีความสุขที่สุด ท่านตอบแบบไม่ลังเลว่าสมัยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานการพัฒนาชนบทแห่งชาติ… ช่วงนั้นคุณโฆสิตเป็นกำลังหลักของภาครัฐในด้านการพัฒนาชนบทและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ท่านสนุกกับการลงพื้นที่ เรียนรู้ปัญหาจริงและทำงานกับชาวบ้าน

เท่าที่ผมได้รู้จัก คุณโฆสิตเป็นคนง่ายๆ สบายๆ มองโลกในแง่ดี ไม่มีพิธีรีตอง และเมตตา ให้เกียรติคนรุ่นหลังเสมอ แม้ท่านจะจริงจังเรื่องงาน แต่ก็สัมผัสได้ถึงการปล่อยวางตามธรรมชาติ ดังที่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องหลักคิดในการทำงานไว้ว่า คนเราทำทุกอย่างไม่ได้และไม่สามารถทำทุกอย่างได้ดีหมด งานบางอย่างถ้าเราเริ่มแล้วอาจทำไม่สำเร็จแม้ทำเต็มที่แล้วก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือดับความโลภตรงนี้ แล้วหาทางส่งต่อความคิดนี้ให้คนอื่นสืบสานต่อไป โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้คนอื่นหันมาสนใจในงานที่เราให้คุณค่า

เช่นนี้แล้ว ทุกครั้งที่ได้สนทนากัน คำพูดของคุณโฆสิตที่ผมได้ยินบ่อยจนติดหูจึงเป็นคำว่า “การพัฒนา” “ระยะยาว” “มองไกล” สมกับความเป็นนักพัฒนาชั่วชีวิตและความเป็นเทคโนแครตโดยสามัญสำนึกของท่าน…”

ชีวิตมนุษย์นั้นสมควรแห่งการเลียนแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวอย่างนั้นอุดมด้วยความคุณธรรมและบุคคลิกภาพอันน่าพึงประสงค์ สำหรับเยาวชนทั้งหลายนี่คือต้นแบบที่เหมาะสม อย่าไปมัวเสียเวลามองหาไอดอลในเน็ตหรือจากวงนักร้องต่างประเทศอยู่เลย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 มิ.ย. 2559