ThaiPublica > เกาะกระแส > สทบ.ของบฯ 4 หมื่นล้าน จัด 5 แพกเกจ พลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

สทบ.ของบฯ 4 หมื่นล้าน จัด 5 แพกเกจ พลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

22 มิถุนายน 2020


นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

ชงของบฯ รัฐบาล 40,000 ล้าน พลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชน-โอนเงิน 5 แสนบาท ผ่านกองทุนหมู่บ้าน 79,604 แห่ง ดึงสมาชิก 13 ล้านคน ประชาชนเกี่ยวข้องอีก 40 ล้านคน ร่วมกันทำกิจกรรม 5 แพกเกจ คาดปีแรกเงินสะพัด 100,000 ล้านบาท

19 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดสรรเงินไปกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองไปแล้วหลายครั้ง แต่เฉพาะที่สำคัญๆ จะมีอยู่ 3 ช่วง คือ ครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หลังจากพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 2544 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2544 ปรากฏว่ารัฐบาลขณะนั้นไม่มีงบประมาณ เพียงพอที่โอนไปให้กองทุนหมู่บ้าน 66,188 แห่ง ใช้เป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งแห่งละ 1 ล้านบาท จึงไปขอกู้ธนาคารออมสิน 66,188 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ และรัฐบาลจัดสรรงบฯ มาชำระหนี้ให้ธนาคารออมสินปีละ 10,000 ล้านบาท

ครั้งที่ 2 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อมาทำโครงการไทยเข้มแข็ง ได้มีการจัดสรรเงินกู้ 19,559 ล้านบาท ไปเพิ่มทุนให้กับกองทุนหมู่บ้าน โดยการจัดสรรเงินขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกของกองทุน เช่น กองทุนมีสมาชิก 50-150 คน ได้รับการจัดสรรเงินเพิ่มทุน 200,000 บาท/กองทุน, มีสมาชิก 151-350 คน ได้รับจัดสรรเงินเพิ่มทุน 400,000 บาท/กองทุน และมีสมาชิกตั้งแต่ 351 คน ได้รับจัดสรรเงินเพิ่มทุน 600,000 บาท/กองทุน ปิดโครงการมีกองทุนหมู่บ้านได้รับการจัดสรรเงินเพิ่มทุน 70,011 กองทุน คิดเป็นวงเงิน 16,633 ล้านบาท ไม่ได้รับการจัดสรรเงินเพิ่มทุน 9,164 กองทุน เหตุเพราะคุณสมบัติไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ และบางแห่งไม่ได้ทำเรื่องขอรับการจัดสรรเงินเพิ่มทุน

ครั้งที่ 3 สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการจัดสรรเงินเพิ่มทุนให้กองทุนหมู่บ้าน 79,255 แห่ง กองทุนละ 1 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวม 79,255 ล้านบาท แต่มีกองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับการจัดสรรเงิน 53,590 กองทุน คิดวงเงิน 53,590 ล้านบาท อีก 25,665 กองทุน ไม่ได้รับการจัดสรร เนื่องจากคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านหมดวาระไปก่อน

ล่าสุดหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีคนงานหลายล้านคนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสั่งการให้กระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อไปจ่ายเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ 550,000 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท นำไปใช้ในการรักษาและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนที่เหลือ 400,000 ล้านบาทเตรียมไว้ใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563 มีส่วนราชการเขียนโครงการเข้ามาขอใช้งบฯ ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ที่มีเลขาธิการสภาพัฒน์เป็นประธานฯ จำนวน 34,263 โครงการ รวมเป็นวงเงิน 841,269 ล้านบาท หนึ่งในนั้นมี “โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ขอใช้งบฯ 40,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท โดยจะนำไปจัดสรรต่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 79,604 แห่ง กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อดูแลสมาชิกกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโควิด 13 ล้านคน มีประชาชนเกี่ยวข้อง 40 ล้านคน เฉลี่ยตกหัวละ 1,000 บาท

การจัดสรรเงินกู้ หรือเงินงบประมาณไปให้กองทุนหมู่บ้านครั้งนี้ แตกต่างจากอดีตอย่างไร นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ยืนยันว่า การจัดสรรเงินไปให้กองทุนหมู่บ้านครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเงินที่จะนำไปเพิ่มทุน และไม่ได้ให้กองทุนเพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อกับสมาชิก แต่จัดสรรให้กองทุนหมู่บ้านนำไปใช้ทำกิจกรรม หรือ โครงการต่างๆ ภายใต้กรอบหรือแผนงาน 5 ด้าน ซึ่งกำหนดเอาไว้ชัดเจน คือ 1. แผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน, 2. แผนงานสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับสินค้าและบริการชุมชน, 3. แผนงานพัฒนาและสร้างอาชีพให้กับชุมชน, 4. แผนงานขนส่งและกระจายสินค้าสู่ชุมชน และ 5. แผนงานด้านการตลาดสำหรับสินค้าชุมชน การเบิกจ่ายเงิน สทบ.จะให้ตามงวดงาน ต้องทำงานก่อนถึงจะได้เงิน ไม่ได้ให้ไปทั้งก้อนทีเดียว

นายรักษ์พงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับกองทุนหมู่บ้านที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการนี้ มีเงื่อนไขสำคัญ คือ กองทุนหมู่บ้านจะเข้าร่วมโครงการต้องจ้างแรงงานในท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มลูกหลานในชุมชนที่ได้รับผลกระทบโควิดเดินทางกลับบ้านเกิดหรือถูกพักงาน กองทุนละ 3 คน รวมทั่วประเทศประมาณ 240,000 คน มาทำหน้าที่สำรวจข้อมูล ความต้องการของสมาชิกกองทุน รวมทั้งค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการ สถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่น ตามแพลตฟอร์มที่ สทบ.กำหนด เพื่อนำมาสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ big data ให้ สทบ.นำมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาและบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านต่อไป ตรงนี้ถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ

“เหตุที่ต้องกำหนดเงื่อนไขให้กองทุนหมู่บ้านต้องจ้างแรงงานในท้องถิ่น กองทุนละ 3 คน ก็เพื่อรองรับแรงงานจำนวนมากที่เดินทางกลับบ้าน ลดปัญหาและภาระทางสังคมให้กับท้องถิ่น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว สทบ.กันงบฯ ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างพนักงานของกองทุนหมู่บ้านประมาณ 10,000 ล้านบาท หลังจากกองทุนหมู่บ้านส่งรายชื่อพนักงานหรือลูกจ้างมาให้ สทบ.พิจารณาอนุมัติ ทาง สทบ.ก็จะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีพนักงานลูกจ้างของกองทุนหมู่บ้านโดยตรง คนละ 14,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยให้พนักงานลูกจ้างเหล่านี้ออกไปสำรวจข้อมูลสมาชิก และประชาชนในพื้นที่ เช่น ทักษะแรงงาน อาชีพ ข้อมูลสินค้าและบริการของชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว ความต้องการของสมาชิกกองทุนฯ ส่งข้อมูลเข้าไปเก็บไว้ในระบบคลาวด์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ สทบ.นำมาใช้ในการพัฒนาจัดทำฐานข้อมูล วิเคราะห์ค้นหาผลิตภัณฑ์และงานบริการที่โดดเด่นของสมาชิก และใช้เป็นฐานข้อมูลสนับสนุนการจัดทำกิจกรรมหรือโครงการตามแผนงานทั้ง 5 ด้าน” นายรักษ์พงษ์กล่าว

หลังจากที่ได้ข้อมูลของกองทุนหมู่บ้านมาแล้ว ทาง สทบ.ก็จะนำมาศึกษาวิเคราะห์ว่ากองทุนหมู่บ้านแต่ละแห่งมีความเหมาะสมที่จะทำกิจกรรมหรือโครงการประเภทไหน ภายใต้กรอบแผนงาน 5 ด้าน มีรายละเอียดดังนี้

1. แผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และองค์ประกอบที่จำเป็นด้านการท่องเที่ยว เช่น อาหารท้องถิ่น โฮมสเตย์ และที่พักในชุมชน ผลิตภัณฑ์และของที่ระลึก การออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชน โดยต่อยอดจากอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่โดดเด่นของชุมชน และมีการจัดแบ่งตามคลัสเตอร์เอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อตอบโจทย์ความสนใจของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม ส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวชุมชน การจับคู่ธุรกิจ การสร้างเครือข่ายในชุมชน การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ และสื่อการตลาดออนไลน์

“เจตนารมณ์ของโครงการนี้ ต้องการให้สมาชิกกองทุนมีรายได้เสริม สมาชิกทุกคนยังคงประกอบอาชีพหลักตามปกติ ทั้งนี้ เพื่อรักษาวิถีชีวิตชุมชน สมาชิกบ้านไหนว่างก็มาช่วยต้อนรับแขก ขับรถ ขับเรือพาเที่ยว ไม่ใช่ขายนา ขายไร่ มาทำโฮมสเตย์กันหมด และที่สำคัญ ไม่ใช่เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมานอนพักค้างคืน ตอนเช้าเดินกลับ อย่างนี้ก็ไม่เอา ต้องออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวให้น่าสนใจ เช่น เดินทางมาพักบ้านนี้ ไปรับประทานอาหารท้องถิ่นอีกบ้านหนึ่ง ก่อนกลับแวะซื้อผลิตภัณฑ์หรือของที่ระลึกของชุมขนอีกบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ สทบ.ยังมีแผนสนับสนุนให้มีการจับคู่ธุรกิจ สร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวระหว่างชุมชนด้วย” นายรักษ์พงษ์กล่าว

2. แผนงานสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับสินค้าและบริการของชุมชน โดยยกระดับมาตรฐานสินค้าให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ ตอกย้ำคุณภาพสินค้าด้วยเรื่องราวของภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด รวมทั้งดำเนินการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ สร้างตราสินค้า และจัดหาเทคโนโลยีต่อยอดผลิตภัณฑ์ จัดทำสื่อการขายและสื่อการตลาด ตลอดจนจัดเตรียมบริการขนส่ง ซึ่งรายละเอียดจะอยู่ในแผนงานที่ 4

3. แผนงานพัฒนาและสร้างอาชีพให้ชุมชน โดยสนับสนุนให้กองทุนหมู่บ้านดำเนินการจัดอบรมฝึกทักษะอาชีพ ที่เหมาะสมกับศักยภาพและความต้องการของสมาชิก รวมทั้งหาปัจจัยสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพที่ยั่งยืน

4. แผนงานขนส่งและกระจายสินค้าในชุมชน กองทุนหมู่บ้านที่ดำเนินการกิจกรรมตามแผนงานนี้ จะต้องพัฒนาเครือข่ายระบบการขนส่งและกระจายสินค้าภายในชุมชน และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากชุมชนไปสู่ชุมชนอื่นๆ หรือลูกค้าทั่วไป หรือที่เรียกว่า “วินชุมชน” รวมทั้งพัฒนาจัดทำบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการขนส่งเชิงพาณิชย์

“แนวความคิดในการจัดตั้งวินชุมชน คือ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่น่าจะมีรถยนต์ รถกระบะ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เราก็จะได้มาจากการที่เราจ้างพนักงานกองทุนหมู่บ้านออกสำรวจข้อมูลสมาชิก เมื่อได้จำนวนมากพอก็อาจจะดึงเข้าแอปพลิเคชันซึ่งเชื่อมโยงกับบริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. สมาชิกคนไหนว่างจากการทำไร่ทำนา ก็ไปรับสินค้าจาก บขส.มาส่งที่ชุมชน ในทางตรงข้าม ถ้ามีลูกค้าทั่วไปสั่งซื้อสินค้าของชุมชน สมาชิกคนไหนว่าก็มารับสินค้าของชุมชนไปส่ง บขส.เพื่อจัดส่งให้กับลูกค้าทั่วไป ขอย้ำว่าเป็นอาชีพเสริม ไม่ใช่อาชีพหลัก หากทำสำเร็จก็จะขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ให้ดำเนินการด้วย” นายรักษ์พงษ์กล่าว

5. แผนงานด้านการตลาดสำหรับสินค้าชุมชน แผนงานนี้จะช่วยในเรื่องการการจัดหาตลาด และสร้างช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ่านตลาด e-commerce รวมทั้งพัฒนาพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการใช้ e-commerce ให้บุคลากรในชุมชน เช่น จับคู่ธุรกิจ และสร้างเครือข่ายการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกองทุนหมู่บ้านด้วยกันเอง และลูกค้าทั่วไป ผ่านแอปพลิเคชัน “ตลาด กทบ.” ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอด รวมทั้งเร่งเชิญชวนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและลูกค้าทั่วไปเข้ามาแอดไลน์ โพสต์ขายสินค้า

นายรักษ์พงษ์กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกองทุนหมู่บ้านที่มีความพร้อมที่จะทำกิจกรรมหรือโครงการตามแผนงานที่ 1 ถึงแผนงานที่ 3 จะต้องดำเนินการตามแผนงานที่ 4 และ 5 พัฒนาระบบการขนส่ง กระจายสินค้า พัฒนาระบบการซื้อ-ขายสินค้าและบริการผ่าน e-commerce ควบคู่ไปด้วย หลังจากโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้และที่ประชุม ครม.แล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

“การจัดสรรวงเงินกู้ 40,000 ล้านบาท ให้ สทบ.ไปจัดทำโครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ครั้ง ทาง สทบ.คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ปีแรก 100,000 ล้านบาท ปีถัดไป 90,000 ล้านบาทต่อปี” นายรักษ์พงษ์กล่าวทิ้งท้าย

  • สทบ.เปิดตัวกรุ๊ปไลน์ “ตลาด กทบ.” ขายสินค้ากองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ
  • สทบ. จัด “ผลไม้ปราจีนบุรี แลก ข้าวหอมมะลิหนองคาย” หนุนกทบ.ค้าขายกันเอง
  • กองทุนหมู่บ้านฯจัดข้าวหอมมะลิหนองคาย แลกอาหารทะเลเมืองเพชร-ชุมพร
  • กองทุนหมู่บ้านฯปั้นแบรนด์ “ข้าว เท่ เท่ จาก กทบ.” เพิ่มรายได้เศรษฐกิจฐานราก