ThaiPublica > คนในข่าว > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชวนเปิดพื้นที่ให้ “เด็กและเยาวชน” สร้าง “ทุนมนุษย์” ขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืน

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชวนเปิดพื้นที่ให้ “เด็กและเยาวชน” สร้าง “ทุนมนุษย์” ขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืน

11 ตุลาคม 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งด้านวิชาการที่จบปริญญาตรีคณะเภสัช มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโทด้านการตลาด จากคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และปริญญาเอกด้านการตลาดจาก Kellogg School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้านการทำงาน เคยผ่านมาทั้งผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนโลดแล่นในวงการเมือง ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ท้ายสุด คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ทำให้เส้นทางของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เกี่ยวพันกับการศึกษา โดยเฉพาะระยะหลังที่พ้นจากงานการเมือง ทำให้มีเวลามากพอที่จะมุ่งงานด้าน “เด็กและเยาวชน” ที่สนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยหลังจากลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ตั้งใจไม่เข้าไปสู่แวดวงนี้อีกต่อไปตามคำขอของลูกสาว และอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ Work from Home ไปพร้อม ๆ กัน โดยมุ่ง 2 เรื่องใหญ่ แต่ละเรื่องหากสำเร็จก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย

เรื่องแรก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG (Bio Circular Green Economy) ที่จะเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโรคโควิด-19 ดร.สุวิทย์ บอกว่า ประเทศไทยหลังโควิด เศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยการลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง หรือ Hi s-Curve ที่เคยทำมา เพราะโควิดทำให้ต่างประเทศไม่มาลงทุน หรือถ้ามาเทคโนโลยีก็ไม่ใช่ของไทย แต่ BCG เทคโนโลยี 50-60% เป็นของไทย และขณะนี้นโยบายรัฐเรื่องนี้ชัดเจนแล้ว

เรื่องที่สอง คือเรื่องเด็กและเยาวชน เพราะเชื่อว่าเด็กและเยาวชน จะเป็นคนกำหนดอนาคต (Future Changer) ของประเทศ และการพัฒนาเด็กและเยาวชน ต้องเป็นการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

“คำว่า ความยั่งยืนคือ การเชื่อมปัจจุบันไปถึงอนาคตให้ได้ ซึ่งคนที่จะเชื่อมได้คือ “เด็ก” เพราะผู้ใหญ่อย่างพวกเราต่อไปก็จะไม่อยู่กันแล้ว ขณะที่เด็ก คือคนที่อยู่ในปัจจุบันไปถึงอนาคต เด็กจึงเป็นสะพานเชื่อมภาคปัจจุบัน กับภาคอนาคต ถ้าไม่มีความยั่งยืน ก็จะมองไม่เห็นอนาคต”

การพัฒนาเด็กเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิดของดร.สุวิทย์ มี 2 มิติ

มิติแรก คือ ต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ และต้องอยู่กับคนอื่นให้ได้ เพราะถ้าอยู่กับธรรมชาติไม่ได้ ก็ต้องเจอกับโรคโควิด เจอการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (Climate Change) เป็นต้น ขณะเดียวกัน เดิมถูกสอนให้แข่งกับคนอื่น แต่ไม่เคยสอนให้อยู่ร่วมกับคนอื่น ฉะนั้นถ้าอยู่กับธรรมชาติได้ แต่ต้องมาแข่งกัน ความยั่งยืนก็ไม่เกิด หรือมีความสามัคคี แต่ทำลายธรรมชาติ ความยั่งยืนก็ไม่เกิดเช่นกัน

“ยั่งยืนของผมคือ อยู่อย่างปกติสุขกับธรรมชาติและมนุษย์ ถ้าอยู่ได้ก็จะเห็นปัจจุบันเชื่อมกับอนาคต ฉะนั้นถ้าจะลงทุน เด็กและเยาวชนต้องเป็นตัวหลักตั้งแต่ตอนนี้ เป็นตัวหลักตั้งแต่เรื่องระดับโลก อย่างเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่สหประชาชาติ ที่ทั่วโลกรับรอง แต่เป็นการยอมรับของผู้ใหญ่กันเอง รัฐต่อรัฐ หรือระดับเอกชน แต่ลงมาไม่ถึงเยาวชน ทั้งที่เป็นเรื่องที่คนรุ่นนี้ต้องทำ แต่กลับเป็นว่า เด็กจะได้อะไรจาก SDGs”

เวลานี้ต้องคิดอีกแบบ ตั้งแต่ทำให้เด็ก (ForYouth) คือลงทุนเพื่อให้เขาสานต่อ แต่บางเรื่องต้องร่วมทำกับเขา หรือ With Youth เพราะโลกของเรากับเยาวชน เป็นคนละโลกกัน ต้องร่วมกันทำ และบางเรื่องต้อง By Youth คือให้เขาทำเลย ให้เชื่อว่าเขาทำได้ดีกว่าเรา อย่าเป็นคุณพ่อรู้ดี

นอกจากนี้ ยังต้องสร้างเวทีให้เยาวชนแบบ With Youth และ By Youth ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ เป็นโอกาสที่ดีที่จะผลักดันนโยบายเยาวชน แบบให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดประชาพิจารณ์เกี่ยวกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และให้เยาวชนเข้ามาร่วมรับฟัง พร้อมทั้งแบ่งนโยบายสำคัญ 4 ประเด็นให้เยาวชนได้ร่วมวางแผนด้วย

ประเด็นแรก คือ การเปิดให้เด็กออกแบบการศึกษา ประเด็นต่อมา เป็นเรื่องความเป็นปกติสุขของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ (LGTB) การถูกบูลลี่ เรื่องสุขภาพจิต เป็นต้น ประเด็นที่สาม คือเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยให้เขาเริ่มจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ชุมชน เพื่อจะได้รู้สึกถึงความมีส่วนร่วม ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมที่ไกลตัวเขา

“อย่างเรื่อง SDGs ง่าย ๆ เลย ให้เขาคิดว่าจะมีบทบาทขับเคลื่อนอย่างไร จะตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างไรในบริบทของเขา ของครอบครัว ของโรงเรียน และในชุมชนของเขา แค่นี้ก็จะได้ความหลากหลายของเด็กในแต่ละพื้นที่ เป็น SDGs ของเด็ก บางคนอาจจะทำเรื่อง LGTB บางคนทำเรื่องสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือเรื่อง Zero Waste เปลี่ยน Waste เป็น Wealth ในโรงเรียน แปลง SDGs เป็นกิจกรรม หรือเป็นรายได้ ก็ได้ หลังจากนั้นถ้าเขาคิดการใหญ่ มีไอเดียของเขา ที่จะทำให้กับประชาคมโลกก็ทำได้”

เรื่อง SDGs จึงเป็นเรื่องการบูรณาการ ไม่ใช่การท่องจำ 17 ข้อ ซึ่งไร้สาระ ที่ไร้สาระกว่า คือ บริษัทมานั่งติ๊กว่าหัวข้อไหนทำแล้ว หัวข้อไหนยังไม่ทำ เหมือนทำเคพีไอภาครัฐ กลายเป็นติดกับดักตัวเอง

ประเด็นที่สี่ ที่ให้เยาวชนมีส่วนร่วมคิดทำแผน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG (Bio Circular Green Economy) ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป มีทั้งเรื่องเกษตร อาหาร สมุนไพร การแพทย์ สุขภาพ ไปจนถึงพลังงานชุมชน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์

“นี่คือหัวใจของการถักทอเยาวชนให้มีอนาคตที่ยั่งยืน คือมีทั้งระบบ กระบวนการ ที่เป็นข้อเสนอของเยาวชนเอง สามารถลองผิดลองถูกได้ และมีเนื้อหาที่จับต้องได้ ทำให้เด็กรู้ว่าเราใส่ใจกับเด็ก ผู้ใหญ่ยอมรับฟังฉันจริง มีการบรรจุในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จริง และนำไปสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่ถูกทิ้งไว้เป็นแค่เอกสาร”

นอกจากต้องมีนโยบายให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ดร.สุวิทย์ บอกว่า ยังต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกด้วย ซึ่งเวลานี้มีเวทีแบบนี้จำนวนมาก

ไม่เช่นนั้น รัฐจะตีโจทย์ผิด เหมือนการตีโจทย์เด็กที่มาชุมนุมเป็นเรื่องประเด็นทางการเมือง มีวาระซ่อนเร้น (hidden agenda) แล้วไปทะเลาะกับเด็ก ทำให้เสียเวลา เพราะเด็กที่ออกมาประท้วง ส่วนหนึ่งอาจมีเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่เห็นอนาคต ยิ่งหลังการระบาดของโรคโควิด พ่อแม่ต้องตกงานไม่มีรายได้ ทำให้เด็กเขาหาที่ยืนไม่เจอ แต่ถ้าเรามองเขาว่า เป็น Future Changer รัฐบาลก็ต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เขาสามารถเชื่อมโยงปัจจุบันอนาคตได้

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นอกจากการวางยุทธศาสตร์ โดยให้เด็กและเยาวชนเป็นตัวตั้งเพื่อเชื่อมโยงไปสู่อนาคตแล้ว ดร.สุวิทย์ ยังเห็นว่า ต้องมีแผนในการสร้าง Brainpower และ Manpower เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยอีกด้วย

“โลกในศตวรรษที่ 21 จะขับเคลื่อนด้วยทุนมนุษย์ มนุษย์เป็นผู้สร้างเทคโนโลยี รัฐจึงต้องมี Brainpower Planning เพื่อสร้างคนเก่ง คนเฉียบ ด้านวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นวัตกร นักคิด เก่งเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence เก่งเรื่องหุ่นยนต์ ที่รู้ถึงกลไกจริง ๆ เป็นระดับโลก การสร้างคนกลุ่มนี้สำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงในอนาคตขึ้นกับคนก้อนเล็ก ๆ ก้อนนี้ ถ้าไม่ทำในระยะต่อไป ผู้บริหารระดับครีม ๆ จะถูกส่งมาจากต่างประเทศมาคุมประเทศไทย คนไทยจะกลายเป็นพลเมืองชนชั้นสอง ชั้นสาม เป็นแค่คนทำงาน ปัจจุบันก็ได้เห็นซีอีโอ ผู้บริหารระดับสูงหลายบริษัทที่ไม่ใช่คนไทยจำนวนมาก”

นอกจาก Brain Power Planning แล้ว ไทยยังต้องมี Manpower Planning เพื่อวางแผนสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพ มีทักษะสูงมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากเดิมที่ไทยมีแต่แรงงาน (Labour) ที่ทักษะต่ำ

“เรื่องนี้ซีเรียส เป็นความเป็นความตายของประเทศ เพราะเราเป็นประเทศเล็ก เราปิดตัวเองไม่สนใจภายนอกไม่ได้ ต้องเปิดประเทศ ถ้าเราไม่มีจุดแข็ง ไม่มีของจริงของเราเอง คนอื่นก็จะมาครอบเรา มันน่ากลัวนะ ถ้าไม่สร้าง Brain Power เพื่อกลับมาเป็นซีอีโอ มาดูทิศทางเรื่องวิทยาศาตร์ เทคโนโลยีของประเทศแล้ว ใครจะทำ ขณะที่ถ้า Manpower บ้านเราไม่ดีพอ ยิ่งต่อไปที่จะมีการใช้เครื่องจักรกันหมด หรือใช้คนจากต่างประเทศมาคุม แล้วเราจะเหลืออะไร คุณภาพชีวิตจะแย่ลง แล้วยังเจอปัญหา 2 เด้ง คือเราเป็นประเทศที่มีคนสูงวัยมากขึ้น เป็นภาระสังคม มีคนจบมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ถูกเตรียมให้ดี แล้วยังเด็ก ๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อีก”

การวางแผนยุทธศาสตร์เหล่านี้แม้จะช้าไปบ้าง แต่ “ทำช้า ดีกว่าไม่ทำ”

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่าการวางแผนและนำไปสู่การปฏิบัติในวันนี้ ไม่ได้เห็นผลทันที อาจจะเห็นผลในอีก 10 ปีข้างหน้า เหมือนประเทศฟินแลนด์ ที่ฟื้นตัวความยากจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มุ่งเรื่องการยกระดับการศึกษา จนปัจจุบัน ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถสูงอันดับ 1 ใน 3 ของโลก หรือ สิงคโปร์ที่เห็นว่า ทักษะ เป็นเรื่องสำคัญ มีการทำ skill future ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแล มีการแจกคูปองให้คนเรียน มีการอุดหนุนให้บริษัทลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

เรื่องนี้ขึ้นกับผู้นำประเทศ ถ้าผู้นำบอกว่า เรื่องนี้ไม่มีการประนีประนอม ต้องไม่ยอม จะแลกด้วยการเมืองไม่ได้

“บางเรื่องคุณจะไปเล่นการเมือง จะหลับตาข้างหนึ่งไม่ว่า เพราะต้องอยู่รอด และเมื่อตัดสินใจแล้ว ก็ต้องวางแผนกันระยะยาว รัฐมนตรีที่จะทำเรื่องนี้ เรื่องสร้างคน จะเอานักการเมืองมาเป็นไม่ได้ และต้องติดกระดุมให้ถูกเม็ดด้วย ถ้าติดผิดเม็ด ก็ผิดตลอด อย่าง กระทรวงศึกษา ที่ไปมุ่งแก้เรื่องบริหาร เรื่องหนี้ครู แต่ไม่มีการวางนโยบาย วางยุทธศาสตร์เรื่องทุนมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ทั้งที่เรื่องนี้โคตรซีเรียส ทุกประเทศซีเรียสกับเรื่องนี้”

ความสนใจเรื่องการวางแผนให้เยาวชนสร้างอนาคตประเทศไทย ทำให้ดร.สุวิทย์ ร่วมกับลูกสาว(เอริกา เมษินทรีย์) ตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม โครงการ Youth in Charge คัดเยาวชนที่เป็นผู้นำ 85 คนมาร่วมโครงการ ในจำนวนนี้มีเด็กพิการ 7 คน รวมถึงเด็กชาติพันธุ์ โดยสร้างแบบจำลองเป็น VUCA World หรือ โลกที่มีความผันผวน เพื่อให้เยาวชนในโครงการเจอโจทย์ที่ท้าทาย มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามโลกความเป็นจริง เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ขณะที่การนำเด็กพิการ เด็กชาติพันธุ์ มาร่วมด้วย เพื่อให้ทุกคนหลุดพ้นข้อจำกัด สร้างEmphty (ทักษะความสามารถในการเข้าใจคนอื่นโดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง) ให้เกิดขึ้นจริง

โครงการ Youth in Charge

“โครงการ Youth in Charge คือพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน คำถามคือ ทำไม กระทรวง โรงเรียน ไม่สร้างพื้นที่เหล่านี้ให้มากขึ้น อย่าให้คำว่าเด็กเป็นศูนย์กลาง เป็นเพียงคำท่องจำ แต่ไม่รู้ว่าจริง ๆ คืออะไร ทำให้ง่วนอยู่กับการสอน 8 หมวดวิชา วัน ๆ คิดแต่เรื่องเหล่านี้ แม้กระทั่งสอนออนไลน์ ซึ่งนโยบายมันผิด ผู้กำกับนโยบายไม่เข้าใจ”

นอกจาก โครงการ Youth in Charge แล้ว ดร.สุวิทย์ ยังได้เข้าไปช่วยเหลือในหน่วยงานระดับกลไก เช่น สภาพัฒน์ฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) เพื่อผลักดันแผนการสร้างเยาวชนสู่อนาคตที่ยั่งยืน

“ถ้าคนในอนาคตมีโอกาส แล้วเราเติมเต็มความสามารถเขา จะเป็นการสร้างชนชั้นกลางให้เพิ่มขึ้น สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย เพราะถ้าการศึกษาห่วย จะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะคนรวยไม่มาเรียนแบบที่เราเรียน แต่ไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ สักพักก็ส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งห่าง”

“และทำให้ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นรอยปริที่จะทำให้ประเทศไทยพัง โดยปฐมบทมาจากการไม่ลงทุนมนุษย์ แต่เอาเงินไปช่วยเอสเอ็มอี ช่วยเกษตรกร ช่วยแบบปีต่อปี ไม่มีวันจบ เขาอยู่รอดได้แต่ไม่ยั่งยืน แต่จะทำให้ยั่งยืนได้ คือ มุ่งเน้นเรื่องการศึกษา”