ThaiPublica > เกาะกระแส > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้ปรากฏการณ์ “หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม” ตั้งคำถามระบบราชการ “เข้าใจ-มองทะลุ-ขยับ” อย่างไร

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้ปรากฏการณ์ “หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม” ตั้งคำถามระบบราชการ “เข้าใจ-มองทะลุ-ขยับ” อย่างไร

16 มกราคม 2022


13 มกราคม 2565 ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม จุฬาลงกรณหาวิทยาลัย สระบุรี จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “โลกขยับ ราชการต้องปรับเปลี่ยน” บรรยายโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ชวนเปิดมุมมอง ‘การปฏิรูประบบราชการ’ และ ‘โมเดล BCG’ สู่การพัฒนาประเทศที่ตอบโจทย์โลกหลังโควิด-19

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันโลกอยู่ในยุคของ Disruption ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงเทคโนโลยีเพียงเท่านั้น แต่การดิสรัปชันยังรวมถึงประเด็นต่างๆ ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถแบ่งยุคดิสรัปชันออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

  • ยุค Globalization-Driven Disruption เป็นยุคของโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมให้ทุกคนกลายเป็นพลเมืองโลก
  • ยุค Technology-Driven Disruption ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชันในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม การใช้ชีวิต การทำงานและทำให้พลเมืองโลกได้เรียนรู้อะไรต่างๆ
  • ปัจจุบัน ยุค Crisis-Driven Disruption เป็นโลกแห่งวิกฤติที่เชื่อมต่อโลกให้เกิดเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ ‘หนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม’ อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่วิกฤติโควิด-19 เท่านั้นที่เป็นชะตากรรมร่วมของคนในยุคนี้ แต่ยังมีวิกฤติสภาวะภูมิอากาศโลกที่ทำให้คนเผชิญปัญหาเดียวกัน

“เราขยับจาก One Country One Economy เป็น One World One Economy เราจะเห็นเรื่องโควิด-19 เรื่อง Climate Change หรือวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ และ Cyber Security นี่คือสิ่งต่างๆ ที่เห็นว่าทุกอย่างอยู่ในบริบทโลก ดังนั้นการบริหารระบบราชการจะต้องมองทะลุให้เห็นภาพนี้”

ดร.สุวิทย์ตั้งคำถามสำคัญว่า ในโลกที่ทุกประเทศมีชะตากรรมร่วมกัน ข้าราชการในฐานะหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนประเทศจะเข้าใจบริบทโลกใบนี้อย่างไร

ดังนั้นจึงต้องย้อนกลับมาวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ว่าจะต้องมองแบบ Inside Out หรือเป็นการมองจากประเทศไทยออกไปข้างนอก จะพบว่าประเทศไทยช่วงหลายสิบปีมีลักษณะคล้ายญี่ปุ่นในช่วงที่รุ่งโรจน์ แต่ ณ วันนี้ประเทศญี่ปุ่นเกิดภาวะ Japan Lost Decade เช่นเดียวกับประเทศไทยตอนนี้ที่เป็นภาวะ Thailand Lost Decade มานานหลายสิบปี ไม่ว่าอัตราการเติบโตระดับต่ำ ความถดถอยของขีดความสามารถในการแข่งขัน การเผชิญกับวิกฤติซ้ำซาก ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น และความขัดแย้งที่รุนแรง

ดร.สุวิทย์อธิบายว่า สาเหตุของปัญหาคือความบกพร่องในธรรมาภิบาล (System of Governance) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมเติบโตที่ช้าและเกิดวิกฤติซ้ำซาก หรืออาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยไม่ Clean & Clear, ไม่ Fear & Fair และไม่ Care & Share

สาเหตุถัดมาคือกับดักเชิงโครงสร้าง 3 ประการ คือ

  • วงจรอุบาทว์ทางการเมือง (3ป. : ปฏิวัติ-รัฐประหาร ประชาธิปไตย และประท้วงต่อต้าน)
  • กับดักความไม่เท่าเทียม ทั้งรายได้ โอกาส อำนาจ และการยึดครองทรัพย์สิน
  • กับดักรายได้ปานกลาง เพราะไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตลอดจนความรวยกระจุก จนกระจาย

สาเหตุสุดท้ายคือความไร้สมดุลเชิงระบบ กล่าวคือ ประเทศเรามีโครงสร้างอำนาจแนวตั้งในลักษณะโลกยุคเก่าเป็นลำดับชั้น ขณะที่โลกสมัยใหม่เป็นโครงสร้างเครือข่าย แต่ไทยยังปรับตัวจากแนวตั้งไปแนวนอนน้อย อำนาจที่ไร้สมดุลเลยทำให้เกิดระบบการปกครองที่ไร้สมดุล แม้ประเทศไทยเคยพยายามสร้างรัฐชาติ สร้างความเข้มแข็งในระบบราชการมากกว่าประชาธิปไตย สิ่งที่ตามมาทำให้เกิดการไร้สมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็เพิกเฉยหรือละเลยการพัฒนาส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะสังคม สิ่งแวดล้อมและทุนมนุษย์

“แนวโน้มของโลกจากนี้ไปไม่สวยหรูนัก หลายศตวรรษที่ผ่านมายังเห็นโอกาสการเติบโตจากกระแสโลกาภิวัตน์ แต่วันนี้โลกไม่ใช่ใบเดิม แต่เต็มไปด้วยความสี่ยงและภัยคุกคามร่วม โชคร้ายคือประเทศไทยเปราะบาง ขณะที่โลกเต็มไปด้วยความเสี่ยง ประเทศเราเปราะบางที่สุด แล้วภาคเอกชนมีรายใหญ่แข็งแรงไม่กี่ราย ที่เหลือเอสเอ็มอีหรือวิสาหกิจชุมชนยังอ่อนแอ ปัญหาหนี้สิน หนี้ครัวเรือน และการไม่สามารถปรับศักยภาพตัวเองไปสู่โลกข้างหน้า คนที่จะมาช่วยคือภาครัฐ ประกอบด้วยการเมืองและระบบราชการ แต่ต้องยอมรับว่าอ่อนแอทั้งคู่”

ดร.สุวิทย์ย้ำถึงความจำเป็นของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งระบบว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปฏิรูปครั้งเดียวคือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็น The Great Reform ครั้งที่ 1 โดยปรับเพื่อรับภัยคุกคามจากภายนอกเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีแรงปะทุจากภายใน และแรงกดดันจากภายนอกบีบให้ปฏิรูปด้วยเช่นกัน

ดร.สุวิทย์ มองว่าคุณสมบัติของระบบราชการเพื่ออนาคต ประกอบด้วย 10 ข้อ ดังนี้

  1. มีความเป็นสากล สอดรับกับพลเมืองโลก
  2. มีความมุ่งมั่น มีวิสัยทัศน์ มองภาพรวมและบูรณาการ
  3. เป็นหุ้นส่วนขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน ทำงานเป็นเครือข่าย เติมเต็มพลังทุกภาคส่วน
  4. มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวสูง เปิดโอกาสลองผิดลองถูก ทดสอบสิ่งใหม่ๆ
  5. มีกลไกที่ทรงประสิทธิภาพ เน้นประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์
  6. เน้นคุณภาพในการให้บริการประชาชน ด้วยความเท่าเทียม ครอบคลุมและเพียงพอ
  7. มีความน่าเชื่อถือ ยึดธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ตรวจสอบได้
  8. มีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ กฎระเบียบ และแพลตฟอร์มการปฏิบัติงานที่ทันสมัย
  9. มีภารกิจหน้าที่และเป้าหมายที่ชัดเจน มีระบบการถ่วงดุลอำนาจ
  10. มีระบบแรงจูงใจ คุณค่าและวัฒนธรรมการทำงานชุดใหม่

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น สู่โมเดลการขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 โดย ดร.สุวิทย์มองว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ตลอดจนแผนปฏิรูปฯ ต่างๆ แต่ปรากฏว่าในช่วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนเหล่านี้มีความคืบหน้าน้อยมาก

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปเป็นเรื่องไกลตัวประชาชน ทำอย่างไรให้เป็นเรื่องใกล้ตัว จับต้องได้ และทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนต้องการมีส่วนร่วม ภาครัฐคิดว่าตัวเองเป็นคุณพ่อรู้ดี แต่ไม่เคยมีแผนบอกประชาชนว่าเกี่ยวอะไรกับเขา ใกล้ตัวเขาหรือไม่

“เรามัวเสียเวลากับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น วันนี้ยังแก้ไขปัญหาโควิด-19 พร้อมๆ กับปัญหาปากท้องมาเป็นเวลา 2-3 ปี แต่ยังไม่เห็นความหวังว่าต่อจากนี้ จะเป็นอย่างไร จะต้องแก้ไขปัญหาถูกจุด และลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศ… เราเห็นการพูดกันเยอะว่า ปัญหาประเทศไทยตั้งแต่ความเปราะบาง ความไร้สมดุลและกับดักหนี้ มีปัญหาหมักหมมซับซ้อนมาก เราต้องหาจุดคานงัดการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันประเทศไทยมีแต่แผนยุทธศาสตร์ แต่ไม่มีแผนขับเคลื่อนอย่างแท้จริง (Action Plan) คำถามคือ ทำอย่างไรให้สามารถทำได้จริงเหมือนกรณีของ Eastern Seaboard”

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า แผนปฏิรูปและวาระส่วนใหญ่คิดโดยรัฐและขับเคลื่อนโดยส่วนกลาง ดังนั้นต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในรูปแบบ PPPP (Private Public People Partnership) โดยอาจจะเริ่มต้นที่ส่วนกลาง แต่หัวใจต้องอยู่ที่พื้นที่ เพราะอัตลักษณ์พื้นที่ถ้ามีโอกาสขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองจะเติบโตเป็นดอกเห็ดและดีกว่าขับเคลื่อนด้วยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า ผู้นำต้องเป็นต้นแบบที่ดีเพื่อให้ขับเคลื่อนและปฏิรูปอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมารัฐไทยขาดความน่าเชื่อถือ (Credible Government) อย่างน้อยที่สุดต้องมองว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ ขณะเดียวกันการขับเคลื่อนภายในประเทศจะต้องตอบโจทย์ประชาคมโลก

“เมื่อปัญหาหมักหมมสะสมมาเยอะ เราต้องหาจุดคานงัดให้เจอ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะเกิด Common Ground และ Common Goals จากนั้นออกแบบกลไกขับเคลื่อนประเทศเพื่อตอบโจทย์ความพอดีและเติบโตอย่างสมดุลและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วย BCG Economy Model สำคัญคือหาจุด Tipping Point อย่าง BCG ที่จะส่งผลลัพธ์เชิงบวก เพราะเป็นของที่มีอยู่แล้ว จะมีความหวัง กำลังใจ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง”

ดร.สุวิทย์เสริมว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy) จะเป็น New Growth Engine ของประเทศไทยหลังโควิด เพราะถ้าย้อนดูที่ผ่านมาประเทศไทยแต่ละช่วงจะมี Growth Engine ที่แตกต่างกัน อย่างยุคเปลี่ยนวิกฤติพลังงานสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลคือ Eastern Seaboard ต่อมาเจอภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ จนประกาศเปลี่ยนแนวคิดสนามรบเป็นสนามการค้า แต่ ณ วันนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 4.0 จึงต้องใช้โมเดล BCG ซึ่งตั้งบนหลักคิด 3 ประการ ดังนี้

  1. สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก
  2. เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
  3. น้อมนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ BCG ยังเป็นโมเดลที่เน้นการเติบโตที่สมดุล ทั่วถึงและยั่งยืน รายละเอียด ดังนี้

  1. อาศัยจุดแข็งของความหลากหลายเชิงชีวภาพและวัฒนธรรม
  2. การกระจายตัวของสาขายุทธศาสตร์และอุตสาหกรรมเป้าหมายในจำนวนพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
  3. การกระจายตัวของผู้ประกอบการ ครอบคลุมผู้ประกอบการในระดับฐานราก วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายใหญ่และสตาร์ทอัพ
  4. การเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจภูมิภาค ระดับประเทศและเศรษฐกิจโลก
  5. สร้างสมดุลระหว่างการนำเข้าเทคโนโลยี กับการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ

“BCG เป็น Strategic Move ของประเทศไทย การผลักดันอย่างจริงจัง ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม จะทำให้ประเทศไทยมี Soft Power และสามารถ Set the Rule of the Game ในเวทีโลกได้”

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า โมเดล BCG จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความขัดแย้งไปพร้อมกัน เนื่องจาก BCG ไปตอบโจทย์ความมั่นคง 4 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ อาหาร พลังงาน และรายได้-การมีงานทำ ขณะเดียวกันในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG จะทำให้เกิดผู้เล่นใหม่ๆ ตั้งแต่รายย่อยจนถึงระดับกลาง และระดับใหญ่ โดยแบ่งเป็นการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ดังนี้

  • ภาคเหนือ เช่น การยกระดับข้าวด้วยนวัตกรรม, ระบบเกษตรปลอดภัยสำหรับการส่งออก, ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมโยงวัฒนธรรม, นำวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ เช่น วัฒนธรรมล้านนามาสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ พัฒนาสินค้าและบริการ
  • ภาคอีสาน เช่น โปรตีนทางเลือกจากแมลง, ระบบแก้ไขปัญหาและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับ, ระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำชนาดเล็ก, ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิถีวัฒนธรรม
  • ภาคตะวันออก เช่น พัฒนาผลผลิตทางด้านการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มไม้ผล, การพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอนาคต, สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่
  • ภาคกลาง เช่น ประเทศไทยไร้ขยะ, นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย, นวัตกรรมเพื่อการต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่
  • ภาคใต้ เช่น นวัตกรรมด้านฮาลาล, การท่องเที่ยวมูลค่าสูงใน 3 จังหวัดภาคใต้, นวัตกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ Precision Aquaculture, นำเสนอเรื่องราวของปักษ์ใต้ยุคใหม่พัฒนาพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงพหุวัฒนธรรม

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อน BCG จะต้องมุ่งเน้นในเชิงพื้นที่ตั้งแต่ภูมิภาค กลุ่มจังหวัด ระดับชุมชนในจังหวัด อาศัยความร่วมมือทั้งเอกชน ชุมชน เยาวชน และถ้าสามารถทำให้ทุกจังหวัดขับเคลื่อน BCG ได้ จะกลายเป็นเครื่องยนต์ 77 เศรษฐกิจ ดังนั้นผู้ว่าฯ จะต้องมีบทบาทสำคัญในการทำให้ความมั่นคงอยู่ในบริบท จะต้องสร้าง Multiple Growth Poles ผลักดันให้เกิด BCG ใน 15 เมืองหลัก และ 15 เมืองรอง เพื่อเป็นวงจรการพัฒนาเมืองหลักและเมืองรอง สุดท้ายจะเกิดการลงทุนและมีการจ้างงานและการพัฒนาไปสู่เมืองข้างเคียงมากขึ้น

ดร.สุวิทย์อธิบายต่อว่า เมื่อให้ความสำคัญเชิงพื้นที่จะต้องมีมาตรการเสริมความแข็งแกร่ง 5 องค์ประกอบ ได้แก่

  • การสร้างพลวัตของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
  • ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่
  • ยกระดับขีดความสามารถของวิสาหกิจในระดับท้องถิ่น
  • พัฒนาธรรมาภิบาลของระบบตลาด
  • เสริมความเข้มแข็งและกำลังซื้อในผู้บริโภค

“BCG เป็นการให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลงไประดับพื้นที่ ภาค จังหวัด และชุมชน ถ้าระบบราชการโดยเฉพาะ อบต. อบจ. ผู้ใหญ่บ้าน สามารถทำในระบบ BCG ได้ดีจะเกิดความยั่งยืนในตัวของมันเอง เกิดชุมชน BCG ตามนิยามของผมคือมีระบบนน้ำ พลังงานไฟฟ้าชุมชน แหล่งน้ำชุมชน นวัตกรรม ปลูกไม้มีค่า เอาธุรกิจชุมชนและคนรุ่นใหม่มาทำมาหากิน ตลาดกลาง BCG และกองทุน BCG ทุกคนมีบ้านมีที่ดินทำกิน เพราะรากฐานของประเทศคือความเข้มแข็งของชุมชน”

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า BCG คือการต่อจิ๊กซอว์หลายส่วน ตั้งแต่เกษตรที่ยึดโยงอาหาร พลังงาน และสุขภาพ บางส่วนยึดโยงกับการท่องเที่ยว ทั้งหมดจะต้องมีอุตสาหกรรมพื้นฐานในพื้นที่ ไม่ว่าสุขภาพ การแพทย์ ท่องเที่ยว บริการ การค้า และธุรกิจดิจิทัลเพื่อให้เชื่อมต่ออุตสาหกรรมต่างๆ

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า นวัตกรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนหรือชุมชนเริ่มต้นพัฒนานวัตกรรมได้ต้องอาศัยภาครัฐ ดังนั้นต้องช่วยผลักดันองค์การต่างๆ เช่น โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งนวัตกรรมการเกษตร หรือการสร้างนวัตกรรมและย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเมือง, กระจาย Food Innopolis ในเมืองหลักและเมืองรอง และผลักดัน Regional Science Park ให้ครบทุกภูมิภาค

ดร.สุวิทย์ย้ำว่า BCG ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกเรื่อง แต่ BCG เป็นคานงัดที่สำคัญที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสร่วม และส่งผลสัมฤทธิ์ จากนั้นค่อยไปปฏิรูปเรื่องอื่นๆ ภายหลัง จะทำให้ไทยทะยานขึ้นไปอีกครั้ง และทำให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้มแข็ง

“เมื่อโลกขยับ ข้าราชการต้องปรับเปลี่ยน ระบบราชการก็ถูกท้าทายจากภาคอื่นๆ แต่ต้องถามว่าระบบราชการยังมีความหมายในระบบไหม ถ้าเราลองขมวดใหม่และเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ใกล้ตัวคือ BCG มันจะเกิดการพลิกโฉมในตัวของเราเอง นั่นคือความสำเร็จในระบบราชการ”