ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเลื่อนต่อสัญญา‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’-มติ ครม.จัดงบ 3,150 ล้าน จ่ายเบี้ย อสม.500 บาท 6 เดือน

นายกฯเลื่อนต่อสัญญา‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’-มติ ครม.จัดงบ 3,150 ล้าน จ่ายเบี้ย อสม.500 บาท 6 เดือน

8 กุมภาพันธ์ 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯเลื่อนต่อสัมปทาน ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’-ปัดตอบย้ายสังกัดพรรค ‘รวมไทยสร้างชาติ’-แจงแก้ปมน้ำมันแพง ต้องดูงบฯที่มีอยู่-มติ ครม.จัดงบฯ 3,150 ล้าน จ่ายเบี้ย อสม. 500 บาท 6 เดือน-ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ BCG ขับเคลื่อนประเทศ 40,972 ล้าน

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีแทน

เลื่อนต่อสัญญาสัมปทาน ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’

การประชุมครม.วันนี้ รัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฯลฯ เนื่องจากกระแสข่าวการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประเด็นนี้ ดร.ธนกร กล่าวในประเด็นนี้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าใจในสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลมีความสุจริตใจมุ่งแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องมาดูว่าไทยสามารถแก้ปัญหาได้รอบด้านครบถ้วนหรือไม่

ขณะเดียวกัน ดร.ธนกร ตอบคำถามข้อเท็จจริงปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว และท่าทีพรรคภูมิใจไทยที่ไม่เข้าร่วมประชุมครม.จะมีผลต่อการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ ว่า “นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร วันนี้เป็นการดำเนินการตามคำสั่งคสช.ที่กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย , กทม.นำผลการเจรจา เสนอให้ครม.พิจารณา และจากการพิจารณาวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางหน่วยมีข้อสังเกตบางประการ ครม.จึงมอบหมายให้กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือกัน เพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

วอน ส.ส.เข้าประชุมสภา ฯ ผ่านร่าง กม.

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ แสดงความห่วงใยต่อประชาชนที่มีการเดินทางมากขึ้น โดยขอให้เพิ่มความระมัดระวัง แม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19ได้ และมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายซึ่งมาจากความสมัครใจ อีกทั้งต้องยกการ์ดให้สูงควบคู่กันไป

“ฝากถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เข้าร่วมประชุมสภาให้มากที่สุด เพราะมีกฎหมายสำคัญหลายฉบับ รอการพิจารณาอยู่ ขณะนี้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ และไทยยังเป็นเป้าหมายของประเทศที่สามารถประคับประคองสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี รวมทั้งยังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นมากมาย”

กำชับหน่วยงานอำนาวยความสะดวกนักท่องเที่ยว

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีการอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวอย่างอุทยานต่าง ๆที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น ระบบการจอง การกำหนดเวลาเปิดปิดของสถานที่ท่องเที่ยวให้เหมาะสม ตลอดจนลดความแออัด อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว เพื่ออำนวยการท่องเที่ยวให้ประชาชนอย่างเต็มที่

เตรียมเลือกตั้ง ‘ผู้ว่า กทม.’ พ.ค.นี้

ดร.ธนกร ยังตอบคำถามเรื่องไทม์ไลน์เลือกตั้งผู้ว่ากทม.ว่า “วันนี้ไม่ได้มีการนำเข้าหารือใน ครม. จากขั้นตอนการดำเนินการของ กกต.และกระทรวงมหาดไทยในการจัดเตรียมการเลือกตั้ง ตามกำหนดการคือประมาณเดือนพฤษภาคม 2565

แจงแก้ปมน้ำมันแพง ต้องดูงบฯที่มีอยู่

ดร.ธนกร กล่าวถึงมาตรการเพิ่มเติมที่จะมาบรรเทาความเดือดร้อนปัญหาราคาน้ำมันแพง จนทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกออกมาประท้วงว่า “นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นไปแล้ว ประเทศชาติและประชาชนเดือดร้อน คงไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว แต่หลายประเทศก็เกิดปัญหา ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารจัดการให้เดือดร้อนน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงงบประมาณที่มีอยู่

ปัดตอบนายกฯย้ายสังกัดพรรค ‘รวมไทยสร้างชาติ’

คำถามสุดท้าย ต่อกรณีที่มีกระแสข่าว พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีการหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้ยืนยันจะไม่สังกัด ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ แสดงว่าได้พูดคุยกันแล้ว และเป็นคำตอบของนายก ฯ เองใช่หรือไม่ ดร.ธนกร ตอบว่า “ขณะนี้นายกฯ ยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากเป็นพรรคที่สนับสนุนท่านในครั้งที่ผ่านมา นายก ฯ ยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้”

“ขอบคุณทุกพรรคที่ยืนยันสนับสนุนนายกฯ ในการทำงานทั้งวันนี้และอนาคต การเมืองและการเลือกตั้งเป็นเรื่องของอนาคต ทุกพรรคการเมืองต้องแก้ปัญหาในพรรคของตนเอง ทั้งพรรคเก่าใหม่ ซึ่งการเลือกตั้งเมื่อมาถึงเป็นเรื่องของประชาชน เป็นเรื่องของนายกฯ ต้องพิจารณาต่อไป” ดร.ธนกร กล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ BCG ขับเคลื่อนประเทศ 40,972 ล้าน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) พ.ศ. 2564 – 2570 ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (พ.ศ. 2565-2570) กรอบวงเงินงบฯ รวม 40,972.60 ล้านบาท ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้มีคุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ การอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ และวัฒนธรรม การสร้างคุณค่า (Value Chain) จากทรัพยากรชีวภาพ และวัฒนธรรม และการสร้างความสามารถในการพึ่งตนเอง

สำหรับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ มีตัวชี้วัดอาทิ คลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมดิจิทัล เทคนิคและนวัตกรรม ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพสิ่งแวดล้อม ในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีโครงการ อาทิ โครงการคลังข้อมูลดิจิทัลความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมโดยบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน BCG ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ และโครงการ Thailand Biodiversity Genome Project และโครงการการจัดทำแผนที่ใต้สมุทร และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพทางทะเลและชายฝั่งทะเลไทย กรอบวงเงิน 2,290 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีตัวชี้วัดอาทิ อัตราการขยายตัวของ GDP ของภูมิภาคเติบโตเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากปีพ.ศ. 2565 และ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลดลงไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน กรอบวงเงิน 1,820 ล้านบาท สำหรับ 4 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาการเกษตรเศรษฐกิจจากจุลินทรีย์และเห็ดรา เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG Model โครงการการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จากความหลากหลายทางชีวภาพสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โครงการยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และมาตรฐานของอาหาร ท้องถิ่น (Street Food/วิสาหกิจชุมชน) และโครงการพลังงานชุมชน

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (ประกอบด้วย 5 สาขา ได้แก่ สาขาการเกษตร และอาหาร สาขาการแพทย์และสุขภาพ สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน) กรอบวงเงิน 33,301 ล้านบาท โดยมีตัวชี้วัดสำคัญ เช่น เพิ่ม GDP สาขาเกษตร 3 แสนล้านบาท รายได้ครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 100,000 บาท/ ครัวเรือน/ปี เพิ่ม GDP สาขายาและวัคซีน เป็น 9 หมื่นล้านบาท สาขาเครื่องมือแพทย์สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม 100,000 ล้านบาท เพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ให้ประชาชน ในภูมิภาคและชนบท 1 ล้านคน เพิ่มอันดับการจัดอันดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Global Wellness Travel Ranking) เป็น Top 5 ภายในปี พ.ศ. 2570 การปล่อย ก๊าซเรือนกระจกลดลงไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2570 โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญ รวม 15 โครงการ ได้แก่

    1.โครงการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Based)
    2.โครงการ การใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตร เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพ การผลิต และจัดสมดุลการผลิต – การตลาด
    3.โครงการ รับรองมาตรฐานสินค้าปลอดภัยเชื่อมสินค้าเกษตรปลอดภัย สู่อุตสาหกรรมอาหาร
    4.โครงการพัฒนากลไกบริหารจัดการและมาตรการ เพื่อลดการสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste) 5.โครงการยกระดับแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม ครบวงจร
    6.โครงการการผลิตยาต้านไวรัสรองรับการระบาดใหญ่ และสร้างศักยภาพการผลิตยาภายในประเทศ
    7.โครงการยกระดับ การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการบริการ
    8.โครงการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาด้านนวัตกรรมและเสริม มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่ขาดแคลนให้เป็นสากล
    9.โครงการ ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยด้วยนวัตกรรม
    10.โครงการการพัฒนาแนวทาง วิธีการ และกระบวนการติดตามประเมินผล การกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากโครงการภาคป่าไม้ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการรับรองเป็นคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการ ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศ
    11.โครงการการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
    12.โครงการยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการท้องถิ่น เพื่อการท่องเที่ยวหลังโควิด
    13. โครงการสร้างความรับรู้และมีส่วนร่วม ในเรื่อง BCG
    14.โครงการจัดการขยะพลาสติกครบวงจร แยก รวบรวม จัดเก็บ หมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้มีการนำมาใช้ซ้ำ 15.โครงการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลการลดการสูญเสีย อาหารและขยะอาหารระดับชาติ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแส การเปลี่ยนแปลงของโลก ) กรอบวงเงิน 3,213.5 ล้านบาท สำหรับ มีตัวชี้วัดอาทิ จำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน จำนวนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG 1,000 ราย โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญเช่น โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (Youth Startup Fund) โครงการ พลิกโฉมการเรียนรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรม และศาสตร์เชิงบูรณาการ

“รัฐบาลมุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้ แผนปฏิบัติการฯ BCG พ.ศ. 2564- 2570 เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เชิงรุก ซึ่ง นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ซึ่งจะกำกับดูแล ขับเคลื่อนบูรณาการการทำงานสู่การปฏิบัติ โมเดลเศรษฐกิจ BCG อีกทั้งจะมีการติดตามและการประเมินผลเพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด” ดร.ธนกร กล่าว

เคาะ ‘ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย’ ปี 64/65 ตันละ 1,070 บาท

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 พร้อมทั้งเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น , ผลตอบแทนการผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เป็นรายเขต 9 เขต ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย , ผลตอบแทนการผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 มีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้

    1.ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราตันอ้อยละ 1,002.20 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. (ราคาอ้อยขั้นต้น ณ 23 ก.พ.2564 อยู่ที่ 920 บาท)
    2.อัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 60.13 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
    3.ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เฉลี่ยทั่วประเทศ เท่ากับ 429.51 บาทต่อตันอ้อย

ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่เสนอครั้งนี้ อยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ดังนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง ส่วนรายได้สุทธิที่ได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย โรงงานน้ำตาลต้องนำส่งเงินส่วนต่างระหว่างรายได้สุทธิและราคาอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย อัตราตันอ้อยละ 8 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 533.27 ล้านบาท

กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น , ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 โดยคำนวณราคาอ้อยเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ

    1.ราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตราตันอ้อยละ 1,070 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 93.34 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,110.66 บาทต่อตันอ้อย
    2.อัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 64.20 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.
    3.ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เท่ากับ 458.57 บาทต่อตันอ้อย

ทั้งนี้ ในส่วนของส่วนประเด็นข้อพิพาทกรณีน้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างประเทศไทยกับบราซิลนั้น เรื่องนี้ไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

ปรับแผนที่แนวเขตที่ดินรัฐ 9 หน่วยงาน แก้ปมพื้นที่ทับซ้อน

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ กลุ่มจังหวัดที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี (จากทั้งหมด 7 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 11 จังหวัด) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนของหน่วยงานรัฐประกอบด้วย 9 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กรมป่าไม้ 2) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 3) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4) กรมพัฒนาที่ดิน 5) กรมธนารักษ์ 6) กรมที่ดิน 7) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 8) กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ9) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับและใช้มาตราส่วนในแผนที่แนบท้ายกฎหมายแตกต่างกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ โดยมีพื้นที่รวม 542.35 ล้านไร่ มากกว่าพื้นที่ประเทศไทยที่มีประมาณ 320.7 ไร่

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมอบให้หน่วยงานที่มีที่ดินของรัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยใช้แผนที่ One Map ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบแทนแผนที่แนบท้ายกฎหมายและใช้เป็นแนวเขตที่ดินของรัฐตามกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน โดยอาจขอขยายระยะเวลาการดำเนินการต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้ไม่เกิน 180 วัน ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาแก้ปัญหาหรือให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งให้กำหนดหลักการคุ้มครองและรับรองการดำเนินการของคณะกรรมการ คณะทำงาน และเจ้าหน้าที่ที่ได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐนั้นด้วย

ขยายเวลาเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาอีก 1 ปี

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection : TDCC) ของทางการเมียนมา ณ จังหวัดสมุทรสาคร ออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้แรงงานเมียนมามีเอกสารประจำตัว โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ และทำให้การบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทยเกิดความต่อเนื่อง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร พิจารณากำหนดวัน เวลา ในการเริ่มเปิดดำเนินการ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯของทางการเมียนมา ให้สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้ในปัจจุบันศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯของทางการเมียนมาได้ยุติการดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 แจ้งความประสงค์ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯของทางการเมียนมาออกไปอีก 1 ปี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง และแรงงานเมียนมาให้สามารถมีเอกสารประจำตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า แนวทางการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯของทางการเมียนมา ยังคงให้เป็นไปตามแนวทางที่ครม.ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เช่น มีกลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มแรงงานเมียนมา ไม่รวมคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยด้วยวัตถุประสงค์อื่น เป็นการดำเนินการชั่วคราวระยะเวลา 1 ปี สถานที่ตั้ง ตลาดทะเลไทย ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาได้แก่ แบบคำขอ บัตรประจำตัวประชาชนเมียนมา และสำเนาทะเบียนบ้านเมียนมา ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ยกเว้นเมื่อไปรับหนังสือเดินทาง ณ จุดที่กำหนด ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 1,050 บาท

ขณะที่สถานที่สำหรับรับหนังสือเดินทาง ประกอบด้วย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย และศูนย์ออกหนังสือเดินทางบริเวณชายแดน 3 แห่ง ได้แก่ ฝั่งท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ฝั่งเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และฝั่งเกาะสอง ตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดระนอง

ผ่านร่าง กม.ตัดท่อน้ำเลี้ยงผู้ก่อการร้าย-สกัดอาวุธร้ายแรง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 เกี่ยวกับการประกาศและการเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง การระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้ที่ถูกประกาศรายชื่อดังกล่าว การเข้าถึงทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน และอำนาจหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น

สำหรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของหน่วยงานด้านความมั่นคงในการป้องกันการก่อการร้ายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับต่อประชาคมโลกในการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย และก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบกิจการและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รายละเอียดสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เช่น กำหนดกระบวนการส่งเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณา กำหนด หรือ เพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือ เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง , กำหนดให้นำมาตรการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินมาใช้โดยอนุโลมกับทรัพย์สินที่โอนเข้าบัญชีที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินอันเนื่องมาจากมีการประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เป็นต้น

กนง.แจงแนวโน้ม ศก.ปี’65 โต 3.4% เงินเฟ้อ 1.7%

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) โดยกนง.มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน และ 22 ธันวาคม 2564 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ควรติดตามการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์โอไมครอนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป กนง.เห็นว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เนื่องจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจากช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานจะคลี่คลายภายในปี 2565 แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

สำหรับการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินนั้น กนง.ระบุว่า ด้านเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องแต่ชะลอลงตามลำดับ โดยปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวตามการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ส่วนภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยภาวะการเงินไทยโดยรวมยังผ่อนคลาย ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเสถียรภาพระบบการเงินยังเปราะบาง โดยเฉพาะฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดหลายระลอก ซึ่งอาจชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงต้องติดตามและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงระยะปานกลางที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้กนง.ยังได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย ประกอบด้วย ในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 และปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ขณะที่มูลค่าการส่งออกในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.51 และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าปี 2565 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 5.6 ล้านคน และปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 20 ล้านคน ด้านการบริโภคภาคเอกชนปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.4 และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการโดยปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.7 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นชั่วคราวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4

จัดงบฯ 3,150 ล้าน จ่ายเบี้ย อสม. 500 บาท 6 เดือน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด -19 ในชุมชน วงเงินจำนวน 3,150 ล้านบาท โดยจะนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ อสม.จำนวน 1,039,729 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)จำนวน 10,577 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,050,306 คน ในอัตราเดือนละ 500 บาท ต่อคนระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565 เพิ่มเติมจากเดิมที่ได้รับเดือนละ 1,000 บาทจากภาระงานปกติ

สำหรับกิจกรรมที่อสม.จะดำเนินการในส่วนภาระงานที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วย อสม.เคาะประตูบ้าน แจ้งสถานการณ์โรค ให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่ประชาชน, อสม.สำรวจ และลงทะเบียนกลุ่มเป้าหมายในชุมชนให้ได้รับการฉีดวัคซีน ติดตามอาการกลุ่มเสี่ยงหลังฉีดวัคซีนที่บ้านในชุมชน ส่งต่อผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์และติดตามกลุ่มเป้าหมายจนกว่าจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 2, สำรวจ เฝ้าระวัง คัดกรองและติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชนอย่างต่อเนื่อง,ร่วมสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในการติดตามผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน หรือเข้ารับการแยกกักในชุมชน, ดูแลให้คำแนะนำและประเมินคัดกรองสุขภาพจิตเบื้องต้น ทั้งสำรวจ คัดกรองความเครียด สำรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า และประเมินภาวะซึมเศร้า รวมถึงกิจกรรมอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในชุมชน

ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับประกอบด้วย ประชาชนในชุมชนได้รับการเฝ้าระวัง คัดกรอง ป้องกันโรคโควิด-19 ในชุมชน, ประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตัวถูกต้องในการป้องกันตนเองและครอบครัวจากการติดเชื้อโควิด-19 , ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักกัน หรือแยกตัวเพื่อสังเกตอาการ ได้รับการดูแลที่ถูกต้องจากอสม. ลดการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่น และสร้างขวัญและกำลังใจให้กับอสม.ในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนเป็นแรงจูงใจที่สามารถผลักดันให้เกิดการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีกับประชาชน

ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้อสม.และอสส.ร่วมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในชุมชนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีผลดำเนินงานดังนี้คือ ให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลสุขภาพตนเองแก่ประชาชนจำนวน 7,424,625 คน , เฝ้าระวังและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจำนวน 1,098,782 คน, เคาะประตูบ้านต้านภัย COVID-19 จำนวน 14,020,134 หลังคาเรือน, ค้นพบกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการและส่งต่อให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวน 3,514 คน , อสม.แนะนำกลุ่มเป้าหมายตรวจATK และรายงานผลการตรวจผ่าน Application “สมาร์ท อสม.” จำนวน 37,643 ครั้ง , อสม.เชิญกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัวมารับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 14,864,145 เข็ม และเข็มที่ 2 จำนวน 9,638,559 เข็ม

ตั้ง ‘ประภาศ คงเอียด’ประธานบอร์ดออมสิน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันที่ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆมีรายละเอียดดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางมานิดา สิงหัษฐิต นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต ให้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรง ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอ แต่งตั้ง นายวีรศักดิ์ ทิพย์มณเฑียร ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการ ระดับสูง) สำนักอำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบงานการข่าว (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นายประพันธ์ ดิษยทัต เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
    2. นางสาวดาว วิบูลย์พานิช รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย
    3. นายกฤษณ์ ตันคณารัตน์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ญี่ปุ่น ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส สาธารณรัฐอาร์เจนตินา

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 3 ราย ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

    1. นายวัลลพ สงวนนาม รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง
    2. นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    3. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรง ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นางสุปราณี นฤนาทนโรดม รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    2. นางสาวเจริญวรรณ หนูนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    3. นายศัจธร วัฒนะมงคล รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 1 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 1 สำนักงานปลัดกระทรวง
    4. ว่าที่ร้อยตรี เจษฎาภรณ์ พรหนองแสน รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 14 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 17 สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

6. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอขอแต่งตั้งนายดิสทัต คำประกอบ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกหนึ่งวาระ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565

7. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย รวม 9 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 3 ปี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ดังนี้

    1. นายธีรัชย์ อัตนวานิช ผู้แทนกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ
    2. นายปิ่นสาย สุรัสวดี ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ
    3. นางสาวสุภัค ไชยวรรณ ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ
    4. ศาสตราจารย์อัญญา ขันธวิทย์ กรรมการ
    5. พลตำรวจตรี ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ กรรมการ
    6. พลโท วรพจน์ ธนะธนิต กรรมการ
    7. นายทองเปลว กองจันทร์ กรรมการ
    8. นายสมศักดิ์ เธียรวิวัฒน์นุกูล กรรมการ
    9. นางชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ กรรมการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

8. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสิน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสิน รวม 10 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 3 ปี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ดังนี้

    1. นายประภาศ คงเอียด ผู้แทนกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ
    2. นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ
    3. นางวรนุช ภู่อิ่ม ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ
    4. นางสาวเยาวนุช วิยาภรณ์ กรรมการ
    5. นางสาวธิดารัธ ธนภรรคภวิน กรรมการ
    6. นางสาวสุปรียา พิพัฒน์มโนมัย กรรมการ
    7. นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ กรรมการ
    8. นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ กรรมการ
    9. รองศาสตราจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการ
    10. นางธิดา พัทธธรรม กรรมการ

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

9. การแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเสนอการแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ดังนี้

    1. นายโชติชัย เจริญงาม เป็นประธานกรรมการ
    2. นายถาวร ชลัษเฐียร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    3. นางสาวเพียงออ เลาหะวิไลย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    4. นายพิศิษฐ์ แสง-ชูโต เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    5. นายสมโภชน์ อาหุนัย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
    6. นายสุเมธ องกิตติกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เพิ่มเติม