ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ต่อจิ๊กซอว์ “ท้องถิ่น” ยกระดับพื้นที่ด้วย ‘เศรษฐกิจ BCG’ สู่ประเทศไทยที่ยั่งยืน

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ต่อจิ๊กซอว์ “ท้องถิ่น” ยกระดับพื้นที่ด้วย ‘เศรษฐกิจ BCG’ สู่ประเทศไทยที่ยั่งยืน

25 กุมภาพันธ์ 2022


18 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ บรรยายพิเศษเรื่อง “จิ๊กซอว์ความสำเร็จของประเทศไทยที่ยั่งยืน” ชี้ BCG คือการสร้างความยั่งยืนเชิงพื้นที่ที่ข้าราชการจับต้องได้จริง ยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาคสู่เศรษฐกิจประเทศ

เนื้อหาการบรรยายเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีข้าราชการและผู้นำความเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง จัดงานโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ 

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงแบบ Crisis Disruption ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติโควิด-19 หรือภาวะโลกร้อน (Climate Disaster) ทำให้เกิดภัยคุกคามและความเสี่ยงต่างๆ ที่ทั่งโลกต้องรับชะตากรรมเดียวกัน เป็นเหตุผลที่โลกต้องมองหาเป้าหมายร่วมกันคือ ‘ความยั่งยืน’ หรือ SDG (Sustainable Development Goals)

ดร.สุวิทย์ กล่าวถึงปัจจัยจากภาคธุรกิจที่ก่อให้เกิดวิกฤติสภาวะภูมิอากาศ โดยอุตสาหรรมเช่น ซีเมนต์ พลาสติก ผลิตก๊าซเรือนกระจกถึง 31% อุตสากรรมไฟฟ้า 27% อุตสากรรมเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ 19% อุตสาหกรรมขนส่ง 16% ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอุณหภูมิเช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องทำความร้อนอีก 7%

“ความท้าทายในยุคนี้คือ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ซึ่งเป็นความสัมผัสระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความสัมผัสระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติก็คือ ‘ความไม่ยั่งยืน’ ณ ปัจจุบันถ้าเราปล่อยไปเฉยๆ จะยิ่งทำให้ความยั่งยืนและความไม่เท่าเทียมแย่ลง”

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า วาระความยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อสามารถแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ กับการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างความมั่งคั่งที่กระจายและไม่กระจุก ดังนั้นความยั่งยืนอยู่ในชีวิตประจำวันและอยู่เป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ ทั้งในเมืองและชนบท เมื่อเกิดการพัฒนาในพื้นที่จะต่อยอดไปสู่ระดับประเทศและระดับโลกได้

ดังนั้น การพัฒนาเชิงพื้นที่จะต้องใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งครอบคลุมถึงการเติบโตอย่างสมดุล (Balanced Growth Engine) การเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth Engine) และการเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth Enginne) อีกทั้ง BCG จะสร้างความเข้มแข็งจากภายในโดยอาศัยหลักคิดเศรษฐพอเพียง ดึงคุณค่าวัฒนธรรมและยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นจนเป็น ‘ชุมชนภิวัตน์’

“ความเหมือนและความต่างของพื้นที่ทำให้มีศักยภาพขับเคลื่อน BCG ของตัวเอง”

  • ภาคเหนือเน้นการพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ทั้งด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นพื้นที่ที่ใช้โอกาสจากเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมไทยสู่ภูมิภาคอื่นๆ เป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การขจัดความยากจน รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
  • ภาคอีสานเน้นการพัฒนาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา เวียดนาม ส่วนการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่คือการบริหารจัดการน้ำ ขจัดความยากจน แก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ และใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม EEC เพื่อพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจใหม่ๆ ของภูมิภาค
  • ภาคกลางและกทม. ตั้งเป้าการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และให้ภาคกลางเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว ยกระดับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม บริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมกับทุกภาค
  • ภาคตะวันออก มีเป้าหมายคือเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ทั้งการเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความทันสมัยที่สุด เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ปรับปรุงด้านการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ
  • ภาคใต้ มุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ ผ่านการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว และพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ของประเทศ ขณะที่ชายแดนภาคใต้ก็ตั้งเป้าเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมและเป็นเมืองน่าอยู่

“เมื่อการกระจายเชิงพื้นที่เกิด ความเหลื่อมล้ำจะค่อยๆ คลายลง อย่างภาคเหนือเราพูดแต่เชียงใหม่ เชียงราย แต่จะทำอย่างไรให้สร้างเมืองใหม่ให้ น่าน ลำปาง มีบทบาทมากขึ้น ทำนองเดียวกับภาคอีสานว่าทำอย่างไรให้ขยายไปสู่ มหาสารคาม หนองคาย นครพนม ทำให้เกิดเมืองหลักและเมืองรองใหม่”

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า BCG ยังทำให้เกิดการหมุนเวียนในมิติต่างๆ เช่น การหมุนเวียนในชุมชน (Circular Community) หรือการหมุนเวียนในเมือง (Circular City) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านการใช้ชีวิตแบบวิถีชีวิตหมุนเวียน (Circular Living)

เมื่อพัฒนาระดับอุตสาหกรรมแล้ว ต้องมาพัฒนาระดับภาค ตามด้วยระดับชุมชน เช่นการตั้งกองทุนอุตสาหกรรม BCG ให้ครอบคลุมทรัพยากรธรรมชาติในประเทศเช่น แหล่งน้ำ แหล่งไม้มีค่า วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ สร้างระบบความปลอดภัยในเมือง ตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจังงหวัด

ดังนั้นรัฐบาลต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า Area Based Infrastructure คือระบบที่ตอบโจทย์ด้านน้ำ ป่า พลังงาน สิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม ต้องให้ประโยชน์ทางด้านพื้นที่และเครือข่าย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาและสังคม ขณะที่ข้าราชการในพื้นที่หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงก็ต้องร่วมผลักดันให้เกิดสังคมที่หลากหลายและเศรษฐกิจท้องถิ่น

“การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนเมื่อตัวเองมีความริเริ่มอยากเปลี่ยนแปลง เมื่อกล้าจะผลักดันสิ่งเหล่านั้น และหน้าที่ของภาครัฐคือการ empower เติมเต็มซึ่งกันและกัน ทุกภาคส่วนมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นการเติมเต็มผ่านการให้อำนาจการบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญ”