ThaiPublica > คนในข่าว > “เอริกา เมษินทรีย์” ปลดปล่อยพลังเยาวชนในพื้นที่ “Youth in Charge” สะพานสานฝัน ‘เด็ก’ ถึง ‘ผู้ใหญ่’

“เอริกา เมษินทรีย์” ปลดปล่อยพลังเยาวชนในพื้นที่ “Youth in Charge” สะพานสานฝัน ‘เด็ก’ ถึง ‘ผู้ใหญ่’

24 ธันวาคม 2020


นางสาวเอริกา เมษินทรีย์

เยาวชนในปัจจุบันโตขึ้นมาด้วยความตื่นตัวและตระหนักต่อสิ่งรอบๆตัวที่เกิดขึ้น ต่างจากเดิมที่เรามักจะได้ยินว่า “เยาวชนคืออนาคตของชาติ” ซึ่งต้องรอ 10 ปี 20 ปี ข้างหน้า เพราะอนาคตเริ่มต้นตอนที่เขาเรียนจบมีงานทำ มีชีวิตเขาเริ่มมั่นคง และการเป็นผู้นำได้ก็ต้องมีอายุระดับหนึ่งแล้ว

นี่คือมุมผู้ใหญ่ที่มอง “เยาวชนคืออนาคตของชาติ”

ปัจจุบันความหมายกลับกัน “เยาวชนยังเป็นอนาคตของชาติ” เพราะเยาวชนวันนี้ รู้ว่าอนาคตเขาเริ่มตั้งแต่วันนี้ และตัวเขาเองเป็นคนกำหนดอนาคตที่เขาต้องการ

ด้วยความเชื่อที่ว่าเยาวชนสมัยนี้เก่ง เรียนรู้เร็ว และรู้อะไรเยอะแยะ แต่สิ่งที่เขาขาดคือเวทีของเขาเอง ที่ผ่านมามีเวทีเยาวชนมากมาย แต่เป็นเวทีที่เยาวชนพูดกันเอง ผู้ใหญ่ยังมองว่า เยาวชนยังขาดประสบการณ์ ยังไม่มีวุฒิภาวะ

แต่ในยุคที่โลกเปลี่ยนไป เยาวชนสามารถเป็นผู้นำหรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะปัจจุบันเยาวชนไม่ได้มีแค่โลกในโรงเรียน โลกข้างนอกกว้างกว่าและสนุกกว่าสำหรับเขาด้วย

นิยามของเด็กหนึ่งคน เมื่อก่อนเรามองเด็กคนนี้เป็นเด็กเก่ง เด็กวิทย์ เด็กศิลป์ นักกีฬา แต่เดี๋ยวนี้คำนิยามคำเดียว ไม่สามารถนิยามเด็กคนนั้นๆได้ เพราะเขามีความสนใจและมีมิติในชีวิตที่หลากหลาย เขามีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีไฟ มีพลัง

ด้วยความตระหนักว่าตัวเยาวชนอาจจะยังไม่พอ ต้องมีการสนับสนุนสนุนจากผู้ใหญ่ แต่เยาวชนยังเป็นคนกำหนดอนาคตโดยมีผู้ใหญ่มาช่วยสานฝันให้เป็นจริง

สิ่งเหล่านี้คือที่มาของการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ในชื่อ “Youth in Charge” โดยผู้อยู่เบื้องหลังเวทีนี้คือ นางสาวเอริกา เมษินทรีย์ หรือ “บะหมี่” วัย 26 ปี ลูกสาวของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งบะหมี่มองว่าเยาวชนต้องการพื้นที่ที่มีผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจรับฟังอย่างจริงใจ

“ในอดีตสักสิบยี่สิบปีมีคำว่าเยาวชนคืออนาคตของชาติ แต่อนาคตของเขาเริ่มตอนเรียนจบ ความหมายตอนนี้มันแตกต่างออกไปคือ เขารู้สึกว่าอนาคตเริ่มตั้งแต่วันนี้และตัวเขาเองเป็นคนกำหนดอนาคตที่ต้องการ”

บะหมี่ในวัย 26 ปีสนใจเรื่องของการพัฒนาคนและการปลดปล่อยศักยภาพของคนรุ่นใหม่-เยาวชน และเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ว่าในอนาคตข้างหน้า พวกเขาจะเป็นคนกำหนด

นางสาวเอริกา เมษินทรีย์

การพัฒนาคนแบบลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น จาก ‘พ่อ’ ถึง ‘ลูก’

“หลายคนบอกว่าหมี่กับคุณพ่อ (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์) คล้ายๆกันมาก อย่างที่ผ่านมางานของหมี่กับพ่อก็ค่อนข้างคล้ายกันคือเรื่องการสร้างการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาคน หลายคนบอกเราเหมือนคุณพ่อตอนสมัยก่อน หลายอย่างค่อนสนิทกันและค่อนข้างซิงค์กันในเรื่องการทำงาน ก็คุยกับคุณพ่อว่าถ้าไม่ทำที่อว.แล้ว น่าจะมาทำอะไรร่วมกัน เพราะคิดอะไรไปในทิศทางเดียวกัน สนใจอะไรคล้ายๆกัน”

แล้วเวลาก็ผ่านไป จนช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ดร.สุวิทย์ลาออกจากรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงกลายเป็นรอยต่อที่เชื่อมพ่อและลูกให้มาทำงานด้วยกัน

ภูมิหลังของบะหมี่มาจากการเลี้ยงดูที่ให้อิสระทางความคิด คุณพ่อไม่เคยบอกเลยว่าเราต้องเรียนอะไร เราต้องทำงานอะไร เวลาอยู่ที่บ้านๆตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อจะชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องไอเดีย ประกอบกับที่คนเป็นพ่อเป็นคนชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ มีหนังสือกว่าหนึ่งพันเล่ม ทำให้บะหมี่ค่อยๆ ซึมซับวิธีคิด

ในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย ประสบการณ์การเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ-ผู้ประกอบการ (enterpreneurship) จากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ทำให้เธอได้ข้อคิดว่า เมื่อความสนใจของเยาวชนที่มีหลากหลาย ความสนใจที่ต่างกัน ความสามารถที่ต่างกัน มันสร้างไดนามิก และทำอะไรร่วมกันด้วยกันได้เยอะ เมื่อถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ

“ตอนเราเรียน ในห้องมีเด็กที่หลากหลายมาก บางคนแคร์เรื่องสังคมมาก บางคนรู้เรื่องธุรกิจ แต่เด็กที่สนใจธุรกิจอย่างเดียวอาจขาดความรู้เชิงลึก หรือบางคนมีเซนส์เชิงทักษะ แต่ไม่มีความรู้เชิงธุรกิจเลย หรือบางคนไม่ได้สนใจปัญหาสังคม หรือบางคนก็จะเป็นเด็กอยู่กับคอมพิวเตอร์…”

ถ้าเด็กที่หลากหลายมาเจอกันจะมีพลังมหาศาล ยิ่งเด็กสมัยนี้มีความสนใจกว้าง แล้วการเรียนในห้องเรียน มันไม่ใช่สำหรับทุกคน โรงเรียนอย่างเดียวอาจจะไม่พอสำหรับเขา จริงๆเยาวชนควรโตขึ้นมาโดยที่เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ใหญ่กว่านั้น โครงการนี้จึงเปิดโอกาสให้เด็กที่แบคกราวน์ที่หลากหลาย ความสนใจที่หลากหลายมาเจอกัน ได้โชว์ในหลายๆมิติของเขา

นอกจากบะหมี่จะเป็นผู้ริเริ่มเวที Youth in Charge Symposium แล้ว หมวกอีกใบยังเป็นกรรมการ มูลนิธิของอาจารย์มีชัย วีรไวทยะ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาและเยาวชน

“ได้เคยคุยกับอาจารย์มีชัยเรื่องการ Empower เยาวชน และเด็กที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา in charge มาก แต่ทุกโรงเรียนไม่ได้เป็นแบบนี้ จึงคิดว่าทำอย่างไรให้เยาวชนมีโอกาสได้ in charge จริงๆ”

Youth in Charge สะพานเชื่อม ‘เด็ก’ ถึง ‘ผู้ใหญ่’

“ทุกวันนี้มีเวทีเยาวชนเต็มไปหมด แต่เป็นเวทีเยาวชนพูดกันเอง ผู้ใหญ่ยังมองว่าเขาขาดประสบการณ์ ไม่ได้มีวุฒิภาวะ แต่เรามองว่าเยาวชนสามารถเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่อายุยังน้อย สิ่งที่เขามีคือความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ มีไฟ และพลัง และสิ่งที่ขาดคือการมีผู้ใหญ่มาสานฝันให้เป็นจริง”

เพราะแนวคิดของเวที Youth in Charge เกิดจากที่บะหมี่มองว่าปัจจุบันสังคมยังขาดพื้นที่ให้เด็กได้ส่งเสียงและมีคนรับฟังไปพร้อมกัน เวทีที่เยาวชนสร้างขึ้นเองมักจะเป็นเวทีที่เยาวชนเป็นผู้เรียกร้องขึ้นมาเอง แต่ไม่มีพื้นที่กลางโดยตรง ขณะเดียวกันโดยธรรมชาติของสังคมไทยก็มักจะเปิดพื้นที่หรือสร้างเวทีก็ต่อเมื่อเกิดปัญหาจึงค่อยมาพูดคุยกัน

Youth in Charge Symposium ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 เพื่อเป็นพื้นที่ให้เด็กได้ส่งเสียง ได้มีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆโดยมีคนรับฟังจากภาคส่วนต่างๆ

  • Youth In Charge… ประเทศไทย จากมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่
  • “Youth in Charge”ครั้งที่ 1: พลังเยาวชน จุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ กับโลกที่อยากเห็นในอนาคต
  • หัวใจสำคัญของการสื่อสารไม่ใช่แค่การพูดเพียงอย่างเดียว แต่การหาคนฟังและนำสิ่งที่ได้ไปปฏิบัติต่อจะทำให้กระบวนการรับฟังมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

    “สิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่รีบตีเหล็กตอนร้อน ความฝันความตื่นเต้นของเยาวชนจะน้อยลงเรื่อยๆ เราน่าจะใช้โอกาสนี้(เวทีYouth in Charge Symposium)ให้เป็นประโยชน์”

    บะหมี่กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้องค์ความรู้ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่กระจายไปอยู่ทุกที่ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญ ตัวอย่างเช่น บริษัทบางจากฯซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาด เอสซีจีเชี่ยวชาญเรื่องการจัดการน้ำและเศรษฐกิจหมุนเวียน ไล่ไปถึงองค์ความรู้จากภาครัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

    ‘ผู้ใหญ่’ ที่มาเข้าฟังในเวที Youth in Charge เป็นภาคเอกชนที่เป็นภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น บางจาก, เอสซีจี, เบทาโกร ฯลฯ ก็มีฝั่งภาคประชาสังคมและภาครัฐ โดยเฉพาะข้าราชการและนักวิเคราะห์นโยบายรุ่นใหม่จากสภาพัฒน์และโครงการ นปร. ที่มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับเยาวชนอย่างใกล้ชิดและสร้างสรรค์

    บะหมี่เล่าต่อว่า ในอนาคตตั้งใจจะสร้างเป็นเวทีซิมโพเซียมสาธารณะ โดยต่อยอดจากเวทีครั้งที่ 1 แต่ทุกเวทีจะมีจุดร่วมกันคือให้เด็กได้แสดงออก มีผู้ใหญ่รับฟัง ถอดบทเรียนแต่ละเวทีสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย

    “โมเดลคือเราจะพยายามจัดเวทีไปเรื่อยๆ แต่ละครั้งให้องค์กรพันธมิตรคิดที่แตกต่างกันออกไป แล้วเก็บข้อมูลมาประมวลผลช่วงปลายปี ให้เยาวชนนำเสนอเป็นเวทีใหญ่ปลายปีเรียกว่า Youth in Charge Summit และคาดหวังว่าจะมีผู้ใหญ่ในภาครัฐ ภาคเอกชนมาร่วมด้วย อย่างน้อยมีซีอีโอ หรือผู้นำของแต่ละหน่วยงานมาร่วมฟัง มีแลกเปลี่ยนข้อคิดกับเยาวชน”

    “ที่ผ่านมายังไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับเสียงของเยาวชนที่มีคนฟังเขาจริงๆ บ่อยครั้งเมื่อไม่มีคนฟังเขา เขาก็สร้างเวทีขึ้นมาเอง และหลายครั้งจึงไม่มีการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ทำให้ทั้งช่องว่างระหว่างวัยและช่องว่างระหว่างภาคส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงอยากให้ Youth in Charge เป็น คือให้เด็กเป็นพันธมิตรของชาติ เป็นพันธมิตรของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นผู้ร่วมกิจกรรม ให้เยาวชนมีบทบาทนำ หรือร่วมนำ”

    ในอนาคต บะหมี่มีแนวคิดจะสร้างสถาบันซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ความรู้ต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ทั้งประเด็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำหรือความเป็นผู้ประกอบการให้เยาวชน และดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเยาวชนออกมา

    นอกจากนี้ยังมองไปถึงการสร้างศูนย์การเรียนรู้ตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย และทำงานด้านการพัฒนาคนเชิงพื้นที่มากขึ้น

    โลกเปลี่ยน เยาวชนเปลี่ยน

    “โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เยาวชนเก่งกว่าที่คิด…เด็กสมัยนี้ไม่ได้เป็นฝ่ายคอยรับ ชีวิตไม่ได้เป็นเส้นตรง ถ้าทำให้เขาเห็นค่าในตัวเขาเองและสิ่งที่เขาพูดมีความหมาย หรือทำให้เขาเห็นว่ากำลังเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่ยิ่งใหญ่ คุณจะได้ใจเขา และเขาจะทำอะไรก็ได้ให้คุณ”

    บะหมี่พูดถึงเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมจนสร้างความเปลี่ยนได้ไม่มากก็น้อย ก่อนจะบอกต่อว่า “แต่ก่อนมีคนบอกว่าจะเป็นผู้นำได้ต้องอายุประมาณหนึ่ง ต้องมีการงานมั่นคง ถ้าอยากทำธุรกิจจะต้องเก็บเงิน มีประสบการณ์ อายุ 40 ค่อยเริ่มต้น”

    “แต่เดี๋ยวนี้เด็กติดเกมหลังห้องเป็นคนแคสต์แกม เป็นคนเขียนโค้ด รายได้เป็นแสนเป็นล้านต่อเดือน อาชีพของเด็กมีภาพที่หลากหลายมาก เมื่อก่อนมีภาพเด็กอยากเป็นหมอ เป็นอาจารย์ เป็นวิศวะ แต่ทุกวันนี้เขาสามารถทำหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน”

    บะหมี่ยังมองไปถึงหลายๆ เรื่องที่เยาวชนลุกขึ้นมาตั้งคำถามที่คนรุ่นก่อนหน้านิ่งเฉย เช่น ประเด็นหูฉลาม ประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายเรื่องเป็นปัญหาที่มีมานาน แต่เพิ่งถูกพูดถึงในยุคสมัยที่เดินด้วย ‘เด็กรุ่นใหม่’

    “เรื่องความแตกต่าง เด็กบางคนอยากแตกต่างเพราะจะได้แตกต่าง ตั้งแต่เพศสภาพ ความคิด เมื่อก่อนถ้าแตกต่างจะถูกบูลลี่ เข้ากับเพื่อนไม่ได้ แต่ตอนนี้ความแตกต่างเป็น identity ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ที่เขาภูมิใจ ความแตกต่างเป็นเรื่องที่เราเห็นด้วย”

    การเติบโตเหล่านี้มาจากเทคโนโลยี โซเชียลมีเดียที่ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นโลกกว้างขึ้น ทั้งไลฟ์สไตล์ รสนิยม ความหลากหลายและความแตกต่าง เป็นคุณค่าที่อยู่ในตัวคนรุ่นใหม่

    ถึงอย่างนั้นก็ยังมีช่องว่างระหว่างวัยของผู้ใหญ่และเด็กที่มีมุมมองไม่ตรงกัน แม้ว่ามุมมองของผู้ใหญ่จะเกิดจากความคาดหวังให้เด็กมีอนาคตที่ดี กระทั่งความผิดหวังในวัยเด็กของผู้ใหญ่ที่กดดันให้เด็กรุ่นใหม่ต้องเติบโตตามเส้นทางแบบผู้ใหญ่ ประสบความสำเร็จได้เทียบเท่าหรือดีกว่าคนรุ่นก่อน ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เด็กมองว่าไม่จำเป็นต้องทำตาม แต่ขอให้ผู้ใหญ่เป็นโค้ชที่จุดประกายและสนับสนุนความฝันของเด็ก

    ฉะนั้นการ ‘ฟัง’ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคน

    “เยาวชนมีความฝัน มีไฟ จินตนาการ ไอเดีย ทุกอย่างเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ แต่ผู้ใหญ่มีประสบการณ์ ทรัพยากร ให้คำปรึกษาและสานต่อฝันให้เป็นจริงได้ ถ้าสิ่งที่แตกต่างกันสุดขั้วมาเชื่อมกันเป็นพลังของเยาวชน จะทำให้พลังกระจายได้เร็วมาก”

    ความเป็นเยาวชนที่ตื่นตัวแบบ active citizen กำลังผลิบานขึ้นทุกวัน ถ้าหากผู้ใหญ่เห็นสัญญาณเหล่านี้จะต้องรีบสร้างพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออกก่อนที่จะต่อกันไม่ติด

    สิ่งเหล่านี้เป็นการทำให้เสียงของ ‘เยาวชน’ และ ‘ผู้ใหญ่’ ดังเท่ากัน