18 กันยายน 2564 เปิดตัวโครงการ “Youth in Charge Leadership Academy” เวทีพัฒนาศักยภาพเยาวชนอายุ 16-26 ปีจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สร้างทักษะจำเป็นในโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยความผันผวน โดยต่อยอดจากโครงการ The 1st Youth Symposium on SDGs พร้อมด้วยพันธมิตรภาคีภาคธุรกิจ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ปตท. เอสซีจี โตโยต้า และภาครัฐได้แก่ ททท.และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
นางสาวเอริกา เมษินทรีย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Youth in Charge และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า Youth in Charge Leadership Academy หรือสถาบันเพื่อพัฒนาและปลดปล่อยศักยภาพความเป็นผู้นำของเยาวชนไทย เป็นโครงการให้เยาวชนได้รวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ตลอด 24 สัปดาห์ ทั้งรูปแบบออนไลน์ (online) และออนไซต์ (onsite) โดยในมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 85 คน อายุตั้งแต่ 16-26 ปี จากสถาบันการศึกษาทั้งหมด 27 แห่ง เพื่อรับมือกับโลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันก็มีโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ดังนั้นเยาวชนคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทักษะความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นทักษะชีวิตในโลกที่ท้าทาย สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ตลอดจนมีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการเพื่อให้เห็นโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็น
นางสาวเอริกา กล่าวต่อว่า “ความสนใจของผู้เข้าร่วมครอบคลุมมิติที่หลากหลาย ทั้งการศึกษา ความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จรรยาบรรณสื่อ การท่องเที่ยวและพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน รวมถึงผู้ที่อยากทำธุรกิจสตาร์ทอัพหรืออยากเป็นผู้ประกอบการ เมื่อมารวมตัวกันเขาจะเจอคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กันและจะได้ทำงานร่วมกัน รวมถึงเจอคนที่ความสนใจแตกต่างกันแต่อาจมีทักษะที่ทำงานร่วมกันได้” เอริกากล่าว
“ระบบการศึกษาของเราไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่มีความสนใจหลากหลาย มีศักยภาพเกินไว เยาวชนควรมีโอาสเปิดโลกทัศน์ ควรได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่ถูกสอนในห้องเรียน ควรมีมิตรภาพและเครือข่ายใหม่ๆ ที่ระบบการศึกษาให้เขาไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เยาวชนสนใจอยู่แล้ว แต่ขอให้เขามีโอกาสปลดปล่อย”
โดยโครงการจะนำปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมมาถอดบทเรียนและเรียนรู้ร่วมกันใหม่ ด้วยความคิดสร้างสรรค์และทักษะ ผ่านบททดสอบความเป็นผู้นำที่สอดแทรก เช่น ทักษะการโน้มน้าว การพูดในที่สาธารณะ การรับมือถสานการณ์เฉพาะหน้า หรือการตัดสินใจด้วยข้อมูลที่จำกัด
นายศรัณวุฒิ มุ่งมีขวัญ อีกหนึ่งตัวแทนจาก Youth in Charge Leadership Academy กล่าวว่า โครงการเปิดรับเยาวชนจากทุกพื้นที่มารวมตัวกัน เพื่อใช้เยาวชนกลุ่มนี้ใช้เสียงให้เป็นประโยชน์ให้ผู้ใหญ่รับรู้ความต้องการของเด็ก และเสนอว่าจะช่วยแก้ปัญหาอย่างไร โดยเสียงที่ระดมกันเป็นกลุ่มจะ ‘ทรงพลัง’ มากขึ้นเพราะเป็นคนที่ได้รับปัญหามากขึ้น
นางสาวภัณฑิลา อิ่มสุชาติ ตัวแทนจาก Youth in Charge Leadership Academy กล่าวว่า เยาวชนสามารถเรียกร้องสิทธิที่ถูกลิดรอนไปได้ ตัวอย่างเช่น ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันทำให้คนที่ฐานะยากจน ไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการพัฒนาการศึกษากระจุกตัวในกรุงเทพ การที่เยาวชนใช้เสียงเรียกร้องสิทธิที่ถูกลิดรอนจะเป็นเรื่องสำคัญ
“การรวมตัวกันของเยาวชนจะช่วยเยาวชนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ยืนจุดนี้ หรือเสียงที่ไม่ได้ถูกรับฟัง เราก็จะเห็นกระบอกเสียงให้เขาและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ภัณฑิลากล่าว
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มจับมือกับพันธมิตรกับสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจ ได้แก่ เอสซีจี โตโยต้า ปตท. ธนาคารกรุงเทพ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมไปถึงผู้นำในหลายสาขาเพื่อเรียนรู้ประเด็นที่จำเป็นต่อโลกอนาคต
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คุณสมบัติความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ (1) ownership (ความรู้สึกเป็นเจ้าของ) ทุกคนต้องตระหนักความรับผิดชอบในงานที่ทำ (2) collaboration (ความร่วมมือ) ทำงานร่วมมือกับทุกฝ่าย และ (3) management (การวางแผน) มีกระบวนการติดตามการทำงานและลำดับความสำคัญ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีไม่ใช่แค่อาชีพผู้ประกอบการเท่านั้น
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประเด็นความยั่งยืนว่าเป็นเทรนด์ที่โลกให้ความสำคัญ อีกทั้งประเด็นเทคโนโลยี AI และ Robotic ก็เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากโลกอนาคตต้องทำสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ดังนั้นเยาวชนควรเรียนรู้ประเด็นเหล่านี้เพื่อนำไปใช้ในอนาคต
นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การบริหารกลาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหนึ่งในวิธีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยวิธีการนี้จะต้องเริ่มจากการ ‘ลงมือทำ’ ตัวอย่างเช่นการแยกเศษอาหารออกจากเศษวัสดุทำให้เกิดการรียูสวัสดุอื่นๆ ได้
“ความหลากหลายเรื่องประสบการณ์และความคิด ผู้ใหญ่ลองผิดลองถูกมาพอสมควร เราก็มีความรู้ความเข้าใจระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เราขาดหายไปคือจินตนาการเราก็ลดลง เพราะก่อนหน้านี้เรายึดติดกับความสำเร็จ สิ่งที่คนรุ่นใหม่คืออยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าสองส่วนมาร่วมมือกัน อาศัยจินตนาการคนรุ่นใหม่และประสบการณ์คนรุ่นเก่าหลอมรวมกัน ดัดแปลงใช้และบริหารจัดการในเรื่องราวต่างๆ ก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีเวทีและมีโอกาสใช้พลังนำเสนอสิ่งที่แตกต่าง”
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นประเด็นสำคัยที่เยาวชนต้องเข้ามามีส่วนคิด ต้องมองให้เห็นโอกาสและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยโครงการนี้จะเปิดให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทย
นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันโตโยต้าทำงานกับเยาวชนหลายกิจกรรม เช่นเปิดรับฝึกงานที่ให้นักศึกษานำเสนอแผนงานให้ผู้บริหารฟังว่าอยากปรับปรุงอะไรในทุกๆ ด้าน และมีกิจกรรมงานประกวดหรือรณรงค์ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัย และล่าสุดคือ Youth in Charge Leadership Academy
“เราอาจจะนำโมเดลโครงการของน้องๆ มาทดลองเป็นโมเดลโครงการบางอย่างเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เราทำงานร่วมกันได้ และหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมใหญ่ๆ ร่วมกันในอนาคต” นายนันทวัฒน์กล่าว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในประเด็นการสร้างศักยภาพให้เยาวชนว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมเชิงหลักสูตร แต่หัวใจสำคัญคือการปฏิบัติจริง มีกระบวนการวางแผน การค้นคว้าและการเตรียมการ การพัฒนาจนเป็นเนื้อหาหลักสูตรต่างๆ และนำไปสู่การขยายผลในวงกว้าง ซึ่งช่วยให้วางรากฐานระบบการศึกษาตามยุทธศาสตร์ชาติ