ThaiPublica > คอลัมน์ > Youth In Charge… ประเทศไทย จากมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่

Youth In Charge… ประเทศไทย จากมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่

17 พฤศจิกายน 2020


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ เอริกา เมษินทรีย์

ตั้งแต่ผมยังเด็ก ทุกครั้งที่เริ่มต้นแชปเตอร์ใหม่ในชีวิต ผมจะมีความตั้งใจที่จะทำอะไรใหม่ๆ และดิสรัปต์ตัวเอง

ช่วงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด ที่ผมเองก็ได้เขียนหนังสือ โลกเปลี่ยน คนปรับ: หลุดจากกับดัก…ขยับสู่ความยั่งยืน กับคำถามว่า เราจะอยู่อย่างไรในโลกหลังโควิด

ผมถามตัวเองอยู่เสมอว่า…

หลังจากนี้ ยังไงต่อ จะทำอะไรต่อ อะไรคือจุดยืนของเรา อะไรคือความเชื่อของเรา เพราะสุดท้ายแล้ว ตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

คนรอบตัวทราบดีว่า งานที่กระทรวง อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เป็นงานที่ผมชอบ เป็นเรื่องของเยาวชน เรื่องของการสร้างชาติ และเรื่องของการยกระดับคุณภาพของสังคม ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ผมถามตัวเองว่า ถ้าผมไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว ยังจะสามารถทำงานที่ชอบต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร

การเริ่มต้นแชปเตอร์ใหม่ในวัยเฉียด 60 ปีแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมตั้งมั่นว่าแชปเตอร์ใหม่นี้ควรเป็นแชปเตอร์ที่มีความหมาย และท้าทายตัวเอง

ผมบอกตัวเองว่า ถ้าผมเชื่อมั่นในภารกิจต่างๆ ที่เคยผลักดันจริง ผมก็ควรจะสานต่อให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง จริงๆ แล้วการออกมาผลักดันในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม เผลอๆ อาจจะคล่องตัวกว่า เพราะงานที่เกี่ยวกับเยาวชน เป็นงานที่ต้องลงไป “คลุก” ลงไปทำความเข้าใจ และต้องใช้พลังความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในหลากหลายภาคส่วน

Youth In Charge เป็นแพลตฟอร์มที่ผมและลูกสาวคนโต บะหมี่ เอริกา เมษินทรีย์ ได้ร่วมกันคิดริเริ่ม จากแรงบันดาลใจของเวที World Economic Forum ที่ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

WEF เป็นเวทีที่ผู้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชนระดับโลกเดินทางมารวมตัวกันเพื่อมองอนาคตและกำหนดวาระสำคัญที่อยากร่วมกันผลักดัน เป็นการรวมพลัง “คนใหญ่ๆ” มาคุย “เรื่องใหญ่ๆ” และ “เรื่องยากๆ” ในเมืองเล็กๆ อย่างดาวอส ที่มีความสโลว์ไลฟ์ มีความน่ารัก ในช่วงต้นปีของทุกๆ ปี เพื่อเริ่มต้นใหม่และกำหนดทิศทางสำหรับหนึ่งปีข้างหน้าไปพร้อมๆ กัน

แต่คิดดูสิครับ กว่าผมจะได้ขึ้นเวทีแบบนี้ อายุก็เกือบจะ 60 แล้ว และถ้าไม่ได้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรี ก็อาจไม่มีโอกาสได้ไปร่วมนำเสนอและแชร์ประสบการณ์บนเวทีระดับโลกแบบนี้เสียด้วยซ้ำ ผมคิดได้ว่า ประเทศไทยเองน่าจะสร้างเวทีและนำคนจากหลายภาคส่วนมาร่วมกันกำหนดอนาคตของพวกเรา

บะหมี่บอกว่าตัวผมเองเป็นคนชอบคิด ชอบพูด ชอบมองอะไรไกลๆ กว้างๆ น่าจะมาสร้างเวทีอะไรแบบนี้ร่วมกันกับเขา ซึ่งทำงานด้าน capacity building (สร้างความสามารถ) และ empowerment (สร้างพลัง) อยู่แล้ว

หลังลงจากตำแหน่ง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เลยหารือกันกับบะหมี่ในบริบทของประเทศไทย ว่าถ้าจะสร้างเวทีสักเวทีร่วมกัน จะทำออกมาในรูปแบบไหน และจะสร้างพลังให้ใครมีบทบาท “นำ” ในการคุยเรื่องใหญ่ๆยากๆ การมองอนาคต และการกำหนดวาระสำคัญ ที่จะดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันผลักดัน

เราทั้งสองคนเห็นภาพเดียวกันคือ “เยาวชน” ควรที่จะเป็นผู้นำหรืออย่างน้อยๆ เป็นผู้ร่วมนำในบทบาทที่ได้กล่าวถึง เพราะเยาวชนคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่สุดเมื่อเราพูดถึงการเชื่อมโยงระหว่าง “ปัจจุบัน” และ “อนาคต”

เวทีของเยาวชนมีเยอะครับ ทั้งระดับโรงเรียน ระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ในโลกเสมือนก็มี อย่าง Twitter แต่ส่วนใหญ่เป็นการที่เยาวชนพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเองในวงย่อย ไม่มีผู้ใหญ่หรือภาคส่วนต่างๆ มารับฟังอย่างจริงจัง พอเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เยาวชนพูดก็จะค่อยๆ หายไป ความรู้สึกมีบทบาทก็จะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคิดว่าพูดยังไงก็ไม่มีใครฟัง เสนออะไรไปก็คงถูกเพิกเฉยหรือแย่กว่านั้นคือโดนปฏิเสธ คงได้แต่บ่นไปเรื่อยๆ อย่างเดียว

ประเทศไทยทุกวันนี้ “ผู้ใหญ่คิด ผู้ใหญ่ทำ ผู้ใหญ่นำ” เสียเยอะ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมาก และยังคงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว เราจะตัดสินใจอะไรแทนเยาวชนไปหมด ตั้งแต่ในระดับโรงเรียน ไปจนถึงระดับสังคมและประเทศคงไม่ได้อีกต่อไป

ไม่ใช่ผู้ใหญ่ไม่ดีนะครับ ผมเองก็เป็นผู้ใหญ่เหมือนกัน สิ่งที่ผู้ใหญ่มีแต่เด็กไม่มีคือประสบการณ์ เราเห็นโลกมาเยอะ ผิดหวังและเจ็บปวดมาเยอะ ประสบการณ์ของเราทำให้เรามองโลกแบบอย่างที่มันเป็น บนพื้นฐานของความเป็นจริง มองเห็นจุดบอดได้เร็ว มองปัญหาได้ทะลุ สิ่งที่เด็กมี แต่เราอาจมีน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากเห็นโลกมาทุกด้านแล้ว คือความฝัน ความคาดหวัง ความเป็นไปได้ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ถ้าสามารถผนึกกำลังของสองเจเนอเรชั่นได้อย่างแท้จริง ทำให้การสนทนาอย่างสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกันระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ในภาคส่วนต่างๆ เป็น “เรื่องปกติ” (ไม่ใช่แค่เวลาเกิดปัญหาและจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องหันมาคุยกัน) และนำพลังเยาวชนมาร่วมขับเคลื่อนวาระสำคัญต่างๆ ที่ผู้ใหญ่เองก็พยายามผลักดันอยู่ เราคิดว่าจะเกิดผลกระทบได้แน่นอน

เอริกา…เสริม

เรามองว่าเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเชื่อมเยาวชนกับผู้ใหญ่จากภาคส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน

การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ sustainable development เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกปัจจุบันกับโลกในอนาคต ดังนั้น เราจะละเลยบทบาท “นำ” หรือ “การร่วมนำ” ของเยาวชนไม่ได้ เพราะเยาวชนจะต้องอยู่กับโลกในอนาคต

Youth In Charge อยากให้เยาวชนได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ในภาคส่วนต่างๆ ในหลายๆ รูปแบบ กล่าวคือ ถ้าจะมีเวทีอย่าง World Economic Forum ในประเทศไทย เยาวชนน่าจะมีโอกาสได้ร่วมขึ้นเวทีกับผู้ใหญ่ มาทำงานร่วมกันเพื่อออกแบบอนาคตและกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ ในขณะเดียวกันน่าจะมีเวทีสำหรับการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจเนอเรชั่น บางส่วนให้เยาวชนได้เรียนรู้จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของผู้ใหญ่ บางส่วนมาให้ความคิดและมุมมองใหม่ๆ

สำหรับเรา นี่คือ “อนาคตของชาติ” ที่แท้จริง นี่คือ Youth In Charge

Youth In Charge มีสองภารกิจหลัก ภารกิจแรกคือเราอยากให้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนกลายเป็นความรู้พื้นฐานและจิตสำนึกของคนทุกคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ผู้ที่จะต้องรับช่วงต่อในการขับเคลื่อนสังคม ประเทศ และโลกในอนาคต ผ่านการสร้าง Youth In Charge Academy โดยนำองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วมากมายนอกรั้วโรงเรียนมาแลกเปลี่ยน ถ่ายทอด และสร้างความเข้าใจ เช่น เรื่องการแยกขยะ เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เรื่องพลังงานทดแทน เรื่องปัญหาในชุมชน โดยการเชิญชวนแชมเปี้ยนที่ทำงานด้านเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม มาร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ในรูปแบบที่สนุกและเข้าใจง่าย เป้าหมายคืออยากให้เยาวชนมองการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ และเป็นเรื่องที่พวกเขาสามารถนำไปขับเคลื่อนเองได้

ภารกิจที่สอง เราอยากจะสร้าง Youth In Charge Symposium ให้เป็นเวทีสำหรับเยาวชนในการพบปะรุ่นพี่ รุ่นน้อง และเพื่อนๆ วัยใกล้เคียงกัน (อายุระหว่าง 15-22 ปี) และทำงานร่วมกันในการร่วมคิด ร่วมเสนอ และร่วมผลักดันแนวนโยบายสาธารณะ เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็นหรือวาระสำคัญที่มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคตของพวกเขา

เพื่อร่วมผลักดันให้ข้อเสนอต่างๆ ของเยาวชนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทาง Youth In Charge ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรในภาคเอกชน (เช่น SCG โตโยต้า มิตรผล เบทาโกร บางจาก องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน) และองค์กรระหว่างประเทศ (เช่น องค์การสหประชาชาติ) เพื่อจัด Youth In Charge Symposium ที่จะจัดขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี เพื่อรวบรวมข้อเสนอของเยาวชน ก่อนนำมาประมวลและเปิดโอกาสให้ตัวแทนเยาวชนได้นำเสนอต่อผู้นำจากภาครัฐและภาคเอกชนในช่วงปลายปี 2564 บนเวที Youth In Charge Summit โดยจะมีข้าราชการหนุ่มสาวจากสภาพัฒน์ กระทรวง และหน่วยงานในภาครัฐต่างๆ (จากโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) มาร่วมเป็นพี่เลี้ยง และมีองค์กรพันธมิตร ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัด Youth In Charge Symposium แต่ละครั้ง

Youth In Charge Symposium ครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้ และมีน้องๆ จากหลากหลายพื้นเพ ทั้งจากในเมืองและต่างจังหวัด ทั้งจากในและนอกระบบการศึกษา มาเข้าร่วม

สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย…

สุดท้ายแล้วเราอยากให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพและความเป็นผู้นำของเขาอย่างแท้จริง อยากให้เขาได้มีส่วนร่วมและเป็นผู้นำหรือผู้ร่วมนำในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนในมิติต่างๆ อยากเห็นการทำงานร่วมกัน การรับฟัง และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตามที่ท่านอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ประธานร่วมของ Youth In Charge ได้กล่าวไว้เลยครับ

“เยาวชนเป็นพันธมิตรของชาติ”