ThaiPublica > คอลัมน์ > ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG สู่ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารโลก

ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG สู่ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารโลก

26 มกราคม 2021


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีและถือเป็นการส่งสัญญานที่ชัดเจน ที่เมื่อ 13 มกราคม 2564 ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (โมเดลเศรษฐกิจ BCG) ที่ประชุมได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2569 โดยประกาศให้ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” เป็นวาระแห่งชาติเรื่องที่ 2 ต่อจาก “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติไปก่อนหน้านี้

โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในบริบทโลก

หนึ่งในวาระเชิงยุทธศาสตร์ที่จะทำให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เกิดผลเป็นรูปธรรม คือ การยึดโยงโมเดลเศรษฐกิจ BCG กับการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกหลังโควิด

หนึ่งในสี่สาขายุทธศาสตร์ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มีศักยภาพในระดับโลก หากมีการพลิกโฉม เสริมแกร่งจากภายใน ด้วยการมีนโยบายภาครัฐที่ชัดเจน โมเดลธุรกิจสมัยใหม่ และที่สำคัญคือ การยกระดับขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม คือ “อุตสาหกรรมอาหาร”

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตอาหารส่งออกเป็นอันดับที่ 16 ของโลก จากวิกฤติของโรคระบาดโควิด-19 เราได้เห็นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและเกษตรกรที่ต้องมาพึ่งพาการซื้อขายในระบบออนไลน์ และการส่งสินค้าในระบบดิจิทัลรูปแบบใหม่มากขึ้น การเชื่อมต่อคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนและประเทศจีนส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของการผลิตและการส่งออกอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารไทย สู่การเป็นผู้นำในตลาดโลก

การวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตอาหารเพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ มีประเด็นมุ่งเน้น 11 ประเด็นสำคัญต่อไปนี้

1. Smart & Precision Agriculture ปรับปรุงพันธุ์พัฒนางานด้าน Omics และ Big Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตให้สูงขึ้นโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตที่น้อยลง

2. Digitized Food System เชื่อมโยงเกษตรกรผู้ประกอบการและผู้บริโภคครอบคลุมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

3. Personalized Foods พัฒนาอาหารที่เหมาะสมกับพันธุกรรมและปัญหาด้านสุขภาพของผู้บริโภคจำเพาะราย

4. Functional Foods และ High Value Natural Ingredients พัฒนาอาหารและส่วนผสมอาหารที่มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มสูงรวมถึงพัฒนาอาหารและส่วนผสมโดยใช้กระบวนการทาง Bioprocessในการผลิตอาหารสัตว์

5. Novel Foods และ Novel Processing พัฒนาอาหารที่จะเป็นแหล่งโปรตีนชนิดใหม่ทดแทนเนื้อสัตว์รวมทั้งแปรรูปอาหารด้วยกระบวนการแบบใหม่เพื่อให้อาหารเก็บได้นาน โดยมีความใกล้เคียงกับอาหารสดและอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ

6. ลด Food Loss และเพิ่ม Waste Utilization ผ่านกลไกของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

7. พัฒนา Packaging เพื่อรักษาคุณภาพและบ่งบอกสภาพอาหารภายในบรรจุภัณฑ์

8. Cultural Street Foods บูรณาการเสน่ห์ของอาหารวัฒนธรรมเข้ากับนวัตกรรมการออกแบบและเทคโนโลยีความปลอดภัยอาหารเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

9. พัฒนาระบบ Logistics และ Distribution อาหารที่มีประสิทธิภาพรองรับชีวิตวิถีใหม่และระบบคมนาคมและดิจิทัลสมัยใหม่

10. พัฒนาโมเดลธุรกิจการบริหารจัดการและการตลาดอาหารรูปแบบใหม่ตามความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

11. พัฒนาระบบตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่ถูกต้องรวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือรวมไปถึงปลดล็อกข้อจำกัดที่ล้าสมัยเพื่อเชื่อมโยงให้การวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

…ถึงเวลาที่พวกเราต้องรู้รักสามัคคี ร่วมกันเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ปรับกลไกการสร้างความมั่งคั่งของประเทศใหม่ ด้วย “โมเดลเศรษฐกิจ BCG “ ที่ตอบโจทย์ความสมดุล ทั่วถึงและยั่งยืน ครับ

** ขอขอบคุณท่านอาจารย์สิรี ชัยเสรี ในแนวคิดการพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารในบทความนี้