ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “Youth in Charge”ครั้งที่ 1 : พลังเยาวชน จุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ กับโลกที่อยากเห็นในอนาคต

“Youth in Charge”ครั้งที่ 1 : พลังเยาวชน จุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ กับโลกที่อยากเห็นในอนาคต

1 ธันวาคม 2020


เวที “Youth in Charge” ครั้งที่ 1

หลังจากที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผลัดตำแหน่งจาก ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ’ เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2563 จากนั้นราว 3 เดือน ดร.สุวิทย์ในวัยเฉียด 60 ปี ได้เริ่มแชปเตอร์ใหม่ แต่ยังคงงานในมิติ ‘การพัฒนาคน’ ในแพลตฟอร์ม Youth In Charge ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุ 15-22 ปี ได้ร่วมออกแบบและสร้างอนาคตของตัวเองในมิติต่างๆ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของพลังเยาวชนจากหลากหลาย background ในการขับเคลื่อนวาระสำคัญๆที่มีผลต่อชีวิต ความเป็นอยู่และอนาคตของเจนเรชั่นของพวกเขา

จากปัญหาว่า ‘เสียงของเยาวชนมักไม่ค่อยมีผู้ใหญ่รับฟัง’ Youth in Charge จึงเป็นแพลตฟอร์มของการเป็นพื้นกลางในการแลกเปลี่ยน พื้นที่กลางในการมีส่วนร่วม การฟังแล้วได้ยิน และเป้าหมายคือการนำไปสู่ “action” ที่เป็นรูปธรรม

การเกิดขึ้นของ Youth In Charge ไม่ได้มาจากไอเดียของ ดร.สุวิทย์คนเดียว แต่เป็นการทำงานร่วมกันกับลูกสาวอย่าง “เอริกา เมษินทรีย์” ในวัย 26 ปี (อ่านเพิ่มเติมYouth In Charge… ประเทศไทย จากมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่)

จาก “จุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่”

วันที่ 28 พฤจิกายน 2563 “Youth in Charge” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ “ประเทศไทยกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เวทีการหารือของเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 ( The 1st Youth Symposium on SDGs) ณ อาคาร M Tower ชั้น 8 ภายในงานมีบุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ และมีเยาวชนเกือบ 60 คน มาเป็นหัวใจสำคัญของเวทีในครั้งนี้

‘เยาวชน’ อายุ 15-22 ปีที่เข้าร่วมมาจากหลากหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนมีชัยพัฒนา, โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15, โรงเรียนสาธิตพัฒนา, โรงเรียนราชนันทาจารย์ สามเสนวิทยาลัย 2, โรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย, โรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม, โรงเรียนรุ่งอรุณ, โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า, โรงเรียนอัสสัมชันศรีราชา, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี รวมไปถึงเครือข่ายเยาวชน homeschool

ในทางกลับกัน ‘ผู้ใหญ่’ ที่มาเข้าร่วมเป็นภาคเอกชนที่เป็นภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น บางจาก, เอสซีจี, เบทาโกร ฯลฯ ก็มีฝั่งภาคประชาสังคม และภาครัฐ โดยเฉพาะข้าราชการและนักวิเคราะห์นโยบายรุ่นใหม่จากสภาพัฒน์และโครงการ นปร. ที่มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับเยาวชนอย่างใกล้ชิดและสร้างสรรค์

ทั้งนี้โดยมีเป้าหมาย ก่อให้เกิด 1. AWARENESS & INTEREST ความตระหนัก เข้าใจ และสนใจในประเด็นท้าทายต่างๆรอบตัว และบทบาทของพวกเขาในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า 2. DESIRE & ACTION ความตื่นตัว ความพร้อม และความต้องการในการเข้ามาเป็นผู้นำหรือผู้ร่วมนำ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เริ่มตั้งแต่ตัวเยาวชนเอง และอนาคตของตัวเยาวชน ไปจนถึงระดับโรงเรียน ชุมชน สังคม และประเทศ

เริ่มด้วยกิจกรรมแรกภายในงานหัวข้อ “ประเทศไทยจากมุมมองของเยาวชน A day in my Life” โดยเริ่มจากตั้งคำถามว่าในหนึ่งวันเราไปเจออะไรมาบ้าง และรู้สึกต่อสิ่งที่เจออย่างไร

เยาวชนเขียนบอกเล่าสิ่งที่พบเจอในแต่ละวัน แต่ส่วนใหญ่มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงกัน เช่น ตั้งแต่เช้าตื่นนอน-อารมณ์ดี ระหว่างไปโรงเรียนเจอรถติด-อารมณ์ไม่ดี พักเที่ยงรับประทานอาหาร-อารมณ์ดี เลิกเรียนสี่โมง-อารมณ์ดี เรียนพิเศษต่อ-อารมณ์ไม่ดี กลับบ้านรถติด-อารมณ์ไม่ดี

บทเรียนของกิจกรรมนี้คือการมองหาจุดร่วมทั้งด้านบวกและด้านปัญหาในการใช้ชีวิต เช่น ปัญหาด้านการเดินทาง ปัญหาการศึกษา หรือบางคนที่ต้องทำการบ้านจนถึงเวลาดึก และเมื่อเยาวชนเริ่มมองเห็นปัญหาใกล้ตัวจึงนำไปสู่การถอดบทเรียนว่าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านั้นได้อย่างไร

ต่อมาได้มีการแบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็น 8 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีประมาณ 8 คน มาจับเข่าเล่าปัญหาในประเทศไทยที่พบเจอพร้อมเสนอทางออกว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยแบ่งออกเป็นด้านรายได้ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม และมีพี่เลี้ยงกลุ่ม 4 คนเข้ามาช่วยดูแล

พี่เลี้ยงจากภาคราชการซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ นับว่ามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมระหว่าง ‘เยาวชน’ และ ‘ผู้ใหญ่’ เพราะนอกจากต้องพูดจากภาษาเดียวกันกับเยาวชนแล้วยังต้องเข้าใจประเด็นสังคม และมองเห็นข้อจำกัด-ความเป็นไปได้ในการออกแบบนโยบายหรือไอเดียของเยาวชนว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ หรือสามารถเสริมจุดแข็งของเยาวชนได้อย่างไร

จากการสนทนาแลกเปลี่ยนในแต่ละกลุ่ม ระดมสมองถึงปัญหาที่พบเจอ ตามโจทย์ที่ได้รับของแต่ละกลุ่ม นำมาสู่ไฮไลต์ของ Youth in Charge ในเวทีแรก คือเปิดเวทีให้เยาวชนได้พูด และมีผู้ใหญ่มารับฟังและรับไปปฏิบัติ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับเวลาในการนำเสนอเพียงประมาณ 10 นาที ดังนั้นการบริหารจัดการเวลาก็เป็นข้อจำกัดหนึ่งที่เยาวชนต้องจัดการควบคู่ไปกับเนื้อหาสาระ

เสียงเยาวชน ฟังแล้วได้ยิน

กลุ่ม 1 โจทย์ปัญหาด้านรายได้ เยาวชนคนหนึ่งเริ่มจากตั้งคำถามถึงความฝันว่าอยากเป็นอะไร แต่กว่าจะเรียนจบและไปถึงความฝันนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายไปเท่าไรกว่าจะไปถึงจุดนั้น

“เราและเพื่อนๆ เป็นเด็กต่างจังหวัด แต่ทุกคนดิ้นรนจะมาเรียนในกรุงเทพฯ เพราะเชื่อว่าสามารถให้การศึกษาที่มีคุณภาพที่สุด เพื่อเราจะมีอนาคตที่ดี มันเป็นอะไรที่น่าเศร้ามาก ทำไมการที่เด็กคนหนึ่งในต่างจังหวัดต้องมาดิ้นรนในกรุงเทพฯ ข้อเสียคือการมาอยู่กรุงเทพฯ จะต้องเสียทั้งค่าหอ ค่ากิน ค่าอยู่ เดือนละหมื่นบาท ทำไมเราไม่อยู่ที่บ้านต่างจังหวัดแล้วเอาเงินที่ต้องจ่ายตรงนี้ไปพัฒนาด้านอื่นที่เราขาด มันเป็นเงินที่เราไม่ควรจะเสียไปด้วยซ้ำ…การที่คนเข้ามาในกรุงเทพฯ มากๆ ทุกคนเชื่อว่ามีงานรองรับเขาได้เยอะ แบบนี้ใครจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด” เยาวชนกลุ่ม 1 กล่าว

เยาวชนจากกลุ่ม 1 เสนอวิธีการที่ช่วยพัฒนาชุมชนคือการท่องเที่ยวภาคชุมชน ทำให้คนในภาคท้องถิ่นเห็นศักยภาพว่าคนสามารถใช้ชีวิตได้ โดยทำงานในชุมชน และเปลี่ยนการจัดประชุมสัมมนาในโรงแรม ไปจัดตามทุ่งนา ให้ชุมชนเป็นผู้จัดงาน ทำให้มีรายได้

นอกจากนี้มองว่า “ปัญหาหลักๆ มาจากการศึกษา พอทุกคนไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอ สิ่งที่ตามมาคือเขาไม่มีความรู้ ที่เขาจะนำไปสร้างรายได้ เราเลยเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อเราจะสนับสนุนชุมชน เราต้องสนับสนุนโรงเรียนให้เป็นพื้นที่กลาง เพื่อสนับสนุนชุมชนให้ได้มากที่สุด”

กลุ่ม 2 โจทย์ปัญหารายได้ โดยกลุ่มนี้มองปัญหาใหญ่ๆ ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

1. การคอร์รัปชัน ซึ่งมีตั้งแต่ในระดับการศึกษา เช่น การโกงข้อสอบเพื่อให้มีคะแนนที่ดีสำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัย ดังนั้นปัญหาคอร์รัปชันต้องแก้ตั้งแต่ต้นเหตุของปัญหา

2. ปัญหาการว่างงาน โดยให้ภาครัฐดูแลอย่างจริงจังเรื่องสวัสดิการ เรื่องเด็กจบใหม่ และอย่ารับคนเข้าทำงานเพียงเพราะค่านิยม/ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

3. ด้านสาธารณูปโภค มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นภาครัฐควรสำรวจความต้องการของประชาชน มีการตรวจสอบการทำงานหรือกระบวนการทำงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กำหนดในอัตราที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่าย

4. ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีเป็นหลัก ทำให้ผู้สูงอายุหรือคนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงข้อมูล จึงเสนอให้ภาครัฐกำหนดหน่วยงานหรือบุคคลช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้

กลุ่ม 3 โจทย์โครงสร้างพื้นฐาน มองปัญหาเป็น 3 ด้าน

1. Education Technology จากปัญหาการเรียนออนไลน์ สู่ข้อเสนอว่าให้มีระบบกลางโดยไม่ต้องพึ่งแค่แพลตฟอร์มของสถาบันการศึกษา และให้ใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้ว เช่น Google Meet, Zoom, Line, Google form ให้เป็นประโยชน์

2. Financial Management จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงินและรายได้ สู่ข้อเสนอเรื่องวินัยทางการเงินให้อยู่ในหลักสูตรของนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมและนักศึกษา

3. Waste Management แก้ปัญหาขยะโดยใช้เทคโนโลยีอย่างยั่งยืน


กลุ่ม 4 โจทย์โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเยาวชนกลุ่มที่ 4 มองว่าโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนควรเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน

เริ่มจากการแสดงบทบาทสมมติเรื่องการเผาขยะ และตั้งคำถามว่าแยกขยะอย่างไร แยกขยะไปทำไม แยกแล้วได้อะไร และถ้าไม่แยกจะเกิดอะไรขึ้น รวมถึงตั้งคำถามเรื่องแสงไฟในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ทุกพื้นที่

“วิธีการแก้ปัญหาของเราคือกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีไฟฟ้าทุกๆ พื้นที่ที่มีคนเดินผ่านและในที่เปลี่ยว และเสาไฟฟ้าเป็นโซลาร์เซลล์ จะได้ไม่เปลืองพลังงาน”

กลุ่ม 4 เสนอแก้ปัญหารถพยาบาล กรณีเจอปัญหารถติด ด้วยการสร้างรถพยาบาลที่สามารถปรับระดับล้อยกสูงได้ ทำให้สามารถไปถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลา และสร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ส่งเสริมอาชีพให้คนไร้บ้านมีรายได้ และเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดและปลอดภัย โดยสร้างเครื่องกรองน้ำในทุกพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้

กลุ่ม 5 โจทย์สังคม โดยเยาวชนกลุ่ม 5 ตีโจทย์ด้านสังคมคือความเท่าเทียมในสังคม

“ปัญหาแรกเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ชุมชน คนในชุมชนขาดความรู้เทคโนโลยี สิ่งที่เราอยากเห็นคืออยากให้ชุมชนรับรู้ข่าวสารสวัสดิการต่างๆ ให้ภาครัฐลงพื้นที่ชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่บ้านไปสำรวจ ซึ่งอาจไม่ทั่วถึง”

“ปัญหาที่สอง สวัสดิการ คนที่ควรจะรับ ไม่ได้รับ คนจนจริงๆไม่ได้รับ แต่คนไม่จนกลับได้รับ เนื่องจากการสำรวจข้อมูล มันมีความเหลื่อมล้ำเรื่องเส้นสาย บางทีคนที่มีเงินหรือสนิทกับผู้ใหญ่บ้าน ก็ได้รับเงินช่วยเหลือ เราอยากให้คนที่ต้องการโอกาส ได้รับโอกาสอย่างแท้จริง”

“ปัญหามาตรฐานสถานพยาบาลที่ไม่เท่ากัน คนในชุมชนไม่ได้รับการรักษา เราอยากให้ทุกคนสามารถไปตรวจสุขภาพได้ แต่บางคนไม่มีเงิน ก็อยากให้รัฐส่งคุณหมอเข้าไปดูแลรักษาสุขภาพคนในชุมชน”

ส่วนสังคมอื่นๆ เช่น การคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ การตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก ปัญหาการท้องไม่พร้อม การศึกษาไม่ครอบคลุมทุกชุมชน หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ครอบคลุมการใช้ชีวิตจริง ฯลฯ

กลุ่ม 6 โจทย์สังคม มองปัญหาเป็น 3 ด้าน ดังนี้

การศึกษาที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์จริง การแก้ปัญหาคือเพิ่มหลักสูตรพื้นฐานที่ใช้ได้ในชีวิตจริง และเพิ่มชั่วโมงเรียนตามความสนใจ เพื่อเพิ่มทักษะชีวิต

โดยมองว่าการเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดูได้จากเด็กไทยต้องเรียนพิเศษตลอดเวลา…

“คำว่าโรงเรียนคือแหล่งสร้างอนาคตของชาติ และถ้าโรงเรียนสอนเราจริงๆ เราจะไม่ต้องเรียนพิเศษ ถูกต้องไหมคะ เราเลยมามองว่าทำอย่างไร ให้โรงเรียนครบวงจรกับนักเรียน วิธีการแก้ไขปัญหาคือขอให้นักเรียนมีสิทธิประเมินติดตามผลการสอนของคุณครู ทำไมนักเรียนไม่มีสิทธิเลือกครู ทั้งที่เราคือคนที่สำคัญที่สุดในโรงเรียน นักเรียนควรมีสิทธิให้คอมเมนต์คุณครู และการสร้างความสุข เราไม่เคยสอนเลยทั้งที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ และการเรียนแบบบูรณาการ” เยาวชนกลุ่ม 6 กล่าว

ปัญหาถัดมาที่กลุ่ม 6 นำเสนอคือปัญหาความรุนแรง ซึ่งไม่ได้แค่กายภาพ แต่รวมถึงด้านจิตใจและคำพูด ดังนั้นกลุ่ม 6 เสนอว่าควรสอนให้ทุกคนเข้าใจความรุนแรงในทุกด้าน

“หลักสูตรในประเทศไทยควรจะเน้นให้นักเรียนเป็นคนดีมากกว่าเก่งวิชาการ เพราะว่าทุกโรงเรียนสอนให้เก่ง แต่คนพัฒนาประเทศชาติคุณสมบัติที่เขาต้องมีคือเรื่องการเป็นคนดี”

กลุ่ม 7 โจทย์สิ่งแวดล้อม เสนอการแก้ปัญหาด้วย green working space คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน working space

“ปัจจุบันเราเจอ PM2.5 ฝุ่นละอองต่างๆ หรือพื้นที่ในประเทศไทย ถูกปล่อยเป็นพื้นที่รกร้าง ถูกทำให้เสียประโยชน์โดยเปล่าๆ จำนวนต้นไม้มีไม่เพียงพอต่อการดูดซับมลพิษ และคนไม่เห็นความสำคัญของธรรมชาติ พอไม่เห็น ก็เลยทำลายหรือรุกล้ำเขตป่าไม้”

กลุ่ม 8 โจทย์สิ่งแวดล้อม โดยเยาวชนกลุ่ม 8 มองว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ในมิติสิ่งแวดล้อม

จากสาเหตุว่าคนขาดความตระหนักถึงผลกระทบและความเข้าใจในการแยกขยะ นำมาสู่ผลกระทบการเผาขยะและเกิดฝุ่น PM 2.5 และปัญหากลิ่น โดยเยาวชนกลุ่ม 8 เสนอให้โรงเรียนสอนความรู้ความเข้าใจเรื่องขยะ

“ภาพฝันที่เราอยากเห็นในอนาคตคือโรงงานแยกขยะและกำจัดขยะ กรณีญี่ปุ่น เวลาเผา เขาเอาความร้อนจากการเผาเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในการทำงาน และก๊าซพิษจะกรองเป็นอากาศดีก่อนปล่อยขึ้นไปปล่องควัน ขี้เถ้าก็เอามาถมทะเลเพื่อเพิ่มดิน” เยาวชนกลุ่ม 8 กล่าว

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามผู้เข้าร่วมโครงการ นางสาวอาภัสรา กระแสโท อายุ 21 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้เข้าร่วมโครงการ Youth in Charge มองว่า “เยาวชนเป็นพลังของชาติอย่างแท้จริง เพราะอนาคตเป็นของเยาวชน เราต้องช่วยกันเคลื่อนประเทศไปในทางที่พัฒนาอย่างยั่งยืน พลังของชาติไม่ใช่แค่เยาวชนเท่านั้น แต่รวมถึงพลังของผู้ใหญ่เช่นกัน และโครงการนี้ช่วยให้สิ่งที่เยาวชนพูดมีคนได้ยินมากขึ้น มีส่วนช่วยให้ภาครัฐนำปัญหาต่างๆ จากมุมมองของเยาวชนไปพิจารณาเพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะต่อไป”

ขณะที่นางสาวสภมล ตรีบริรักษ์ อายุ 16 ปี จากโรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้เข้าร่วมโครงการ Youth in Charge บอกว่า

“เยาวชนเป็นส่วนสำคัญที่เป็นพลังขับเคลื่อนสังคม และส่วนตัวสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นปัญหาที่ภาครัฐและสังคมพูดถึงน้อยมาก เราเชื่อในการสื่อสารมาก ทุกคนมีเสียงที่จะพูดและทุกคนควรได้รับการเคารพ โดยเฉพาะเยาวชนเรียกร้องในสิ่งที่เขาตระหนัก เขาไม่ได้รู้สึกเท่าผู้ใหญ่ แต่เสน่ห์คือความไร้เดียงสาจากใจจริงที่อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศ เราอยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจและคุยกัน ทำให้เป็นรูปธรรม”

นี่คือเสียงจากพลังเยาวชน พลังของชาติ ที่ต้องไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง