ThaiPublica > คอลัมน์ > อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย|หนึ่งในกลไกหลัก ผลักดันเศรษฐกิจ BCG

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย|หนึ่งในกลไกหลัก ผลักดันเศรษฐกิจ BCG

5 กุมภาพันธ์ 2021


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

หลังโควิด-19 ประเทศไทยพร้อมเปิดเมืองเปิดประเทศสู่ความยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG [เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)] โดยเน้น

  • การเดินทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและบริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
  • ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับบน ด้วยภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก
  • เพิ่มขีดความสามารถและปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพการบริการด้วยการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิม
  • กระจายการเดินทางท่องเที่ยวเชิงพื้นที่และเวลา ให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และผลักดันการท่องเที่ยวตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเปรียบเสมือนหนึ่งกิจกรรมที่แยกออกจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้ยาก เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ครบถ้วนมากขึ้น จึงต้องพัฒนาและนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว อาทิ

    – การนำ Immersive Technology ได้แก่ Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR) และ Mixed Reality (MR) มาใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ ของการเดินทางทั้งก่อนการเดินทางและระหว่างการเดินทาง เพื่อศึกษาแหล่งท่องเที่ยวเบื้องต้น และการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ลดช่องว่างทางการสื่อสาร
    – การพัฒนาระบบเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว เช่น Digital Health Passport
    – นำเทคโนโลยีไร้สายมาใช้เพิ่มความตรงต่อเวลาของการขนส่ง และความปลอดภัยที่สนามบิน สถานีโดยสาร สามารถมอบประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว

เพื่อปรับภาพลักษณ์และยกระดับแบรนด์การท่องเที่ยวไทย กระตุ้นการใช้จ่ายและขยายฐานตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังใช้จ่ายสูง และกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ จะมุ่งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอุตสาหกรรมบริการที่มีคุณภาพสูง ได้แก่

1) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ การนวดสมุนไพร การฝึกโยคะ การบริการสุวคนธบำบัดหรือการบริการวารีบำบัด การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ การตรวจร่างกาย การรักษาโรคต่าง ๆ ทันตกรรม การผ่าตัดเสริมความงาม และการผ่าตัดแปลงเพศ

2) การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวหรือมหกรรมกีฬา เช่น การเข้าชมการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ การท่องเที่ยวเพื่อเล่นกีฬา เช่น การปีนหน้าผา การวิ่งมาราธอน การแข่งขันไตรกีฬา

3) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวในพื้นที่หรือบริเวณที่มีคุณลักษณะสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้ มีประสบการณ์ร่วมและตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรม นำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่

4) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นการท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส เรียนรู้ ชื่นชม และเข้าใจผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อระบบนิเวศ

5) การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ การเดินทางท่องเที่ยวศาสนาเพื่อความสบายใจหรือยกระดับจิตใจ นักท่องเที่ยวมีวัตถุประสงค์เพื่อสักการะบูชาสิ่งเคารพในสถานที่อันศรัทธา ครอบคลุมถึงการเข้าร่วมประเพณีวัฒนธรรมทางศาสนา เช่น เทศกาลกินเจ งานบุญบั้งไฟพญานาค งานแห่เทียนพรรษา

6) การท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน เพื่อสร้างการกระจายรายได้สู่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยนำเสนอ Local Experience เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจมาสัมผัสประสบการณ์จากพื้นที่โดยตรง ชูจุดเด่นโดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่และส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ในแง่มุมที่ต่างกันไป ต่อยอดความเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กับการรักษาธรรมชาติที่ฟื้นตัวดีขึ้น
โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป

**ขอขอบคุณ ดร. ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอแนวคิด “อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย|
หนึ่งในกลไกหลัก ผลักดันเศรษฐกิจ BCG “ ผ่านบทความนี้ครับ