ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปมขัดแย้ง ทอท. vs สมาคมการค้าฯ “เปิดเสรี-ผูกขาดดิวตี้ฟรี” จากสนามบินสุวรรณภูมิถึงทำเนียบรัฐบาล

ปมขัดแย้ง ทอท. vs สมาคมการค้าฯ “เปิดเสรี-ผูกขาดดิวตี้ฟรี” จากสนามบินสุวรรณภูมิถึงทำเนียบรัฐบาล

10 เมษายน 2018


สนามบินสุวรรณภูมิ

หลังจากที่3 สมาคมการค้าฯ ยื่นหนังสือ พร้อม “รายงานการศึกษาธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในไทย” ส่งถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เรียกร้องให้รัฐบาลในฐานะที่กำกับดูแล สั่งการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “AOT” เปิดเสรีธุรกิจดิวตี้ฟรี โดยเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบธุรกิจดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แยกตามหมวดหมู่สินค้า

กรณีที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย และสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย รวมทั้งนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คณะนิติศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเคลื่อนไหว มีจุดเริ่มต้นจากนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ช่วงที่ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ ตรวจสอบราคาอาหารและเครื่องดื่มภายในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ ว่า ทอท. เตรียมเปิดขายซองประมูลโครงการบริหารจัดการร้านค้าปลอดอากรในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนต้นเมษายน 2561 ภายใต้เงื่อนไขเดิม คือ มีผู้รับสัมปทานรายเดียว (master concessions)

ภาพที่ 2: จำนวนผู้รับสัมปทานจากสนามบินและยอดขายของร้านค้าปลอดภาษีอากรโดยประมาณ
(ดอลล่าร์สหรัฐ, 2559)

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงทำการรวบรวมข้อมูลธุรกิจดิวตี้ฟรีภายในท่าอากาศยานนานาชาติจากหลายประเทศ รวม 10 แห่ง เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงให้สาธารณะได้รับทราบ รูปแบบการให้สัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรีของท่าอากาศยานนานาชาติ 10 แห่ง จากข้อมูลที่สำรวจพบว่ามี 4 รูปแบบ คือ

1. สัมปทานรายใหญ่รายเดียว (master concession) ตามรายงานการศึกษาฯ ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่าสนามบินนานาชาติ 10 แห่ง มีอยู่ 2 แห่งที่ใช้รูปแบบนี้ คือที่สนามบินสุวรรณภูมิ กับสนามบินซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

2. สัมปทานแยกตามที่ตั้ง (multiple concessions by location) ใช้รูปแบบนี้มี 3 แห่ง คือ สนามบินอินชอน อาคาร 1 ประเทศเกาหลีใต้ รูปแบบนี้มีผู้ได้รับสัมปทาน 6 ราย, สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น มี 4 ราย และสนามบินเถาหยวน ประเทศไต้หวัน 3 ราย

3. สัมปทานแยกตามกลุ่มสินค้าหลัก (multiple concessions by category) เช่น เครื่องสำอาง, สุรา-ไวน์-ยาสูบ, แฟชั่น, บูติก และสินค้าทั่วไป เป็นต้น มีใช้ในสนามบินนานาชาติ 6 แห่ง คือ สนามบินอินชอน อาคาร 2 ประเทศเกาหลีใต้ รูปแบบนี้มีผู้รับสัมปทาน 6 ราย, สนามบินชางงี ประเทศสิงค์โปร์ มีผู้รับสัมปทานมากกว่า 3 ราย สนามบินฮ่องกง ประเทศฮ่องกง มีผู้ได้รับสัมปทานมากกว่า 4 ราย, สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น มีผู้รับสัมปทาน 4 ราย, สนามบินสคิปโฮล ประเทศเนเธอแลนด์ มีผู้รับสัมปทาน 2 ราย, สนามบินอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีผู้รับสัมปทาน 3 ราย

4. สัมปทานตามกลุ่มสินค้าและตามที่ตั้ง (multiple concessions by category and by location) เป็นรูปแบบผสม มีที่สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ คือที่อาคาร 1 และอาคาร 2 โดยมีผู้ได้รับสัมปทานรวม 12 ราย

โมเดลธุรกิจดิวตี้ฟรีที่มีการพูดถึงในเวทีเสวนา “สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล” วันที่ 8 มีนาคม 2561 คือ รูปแบบการประกอบธุรกิจดิวตี้ฟรีของสนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางออกจากสนามบินแห่งนี้ประมาณ 16.9 ล้านคน ผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรทั้ง 12 ราย มีรายได้จากการขายสินค้าปลอดอากรและธุรกิจค้าปลีกประมาณ 10.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบกับประเทศไทย มีนักท่องเที่ยว 32.6 ล้านคน แต่มีรายได้จากการขายสินค้าปลอดอากรและธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ แค่ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ รายได้จากการขายสินค้าปลอดอากรของเกาหลีใต้สูงกว่าไทยเกือบ 6 เท่า ส่วนยอดใช้จ่ายต่อหัวของผู้โดยสารต่างชาติที่สนามบินอินชอนอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าของสนามบินสุวรรณภูมิ 52%

นอกจากนี้ตัวเลขค่าธรรมเนียมสัมปทาน หรือ ส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้รับสัมปทานจ่ายให้ท่าอากาศยาน ทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40% สำหรับผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีที่สนามบินอินชอน จ่ายค่าธรรมเนียมสัมปทานในอัตรา 40% ของรายได้จากยอดขาย สนามบินชางงีจ่ายค่าธรรมเนียม 46% ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิจ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 17% สนามบินดอนเมืองและภูเก็ต จ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 19% โดย Mr.Ben Hartwright นักวิเคราะห์จากบริษัทโกลด์แมนแซค ระบุว่า ประเทศไทยเก็บค่าธรรมเนียมสัมปทานดิวตี้ฟรีของไทยต่ำกว่าสนามบินอื่นในภูมิภาคนี้

ภาพที่ 13 สรุปข้อดีข้อเสียของรูปแบบสัมปทานแต่ละประเภท

โดยรายงานผลการศึกษาธุรกิจดิวตี้ฟรีฉบับนี้ พยายามชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับ หาก ทอท. เลือกใช้รูปแบบการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการหลายราย แยกตามหมวดสินค้า นอกจากจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาแล้ว ยังเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการสรรหาผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดมอบให้กับลูกค้า รวมทั้งคิดค้นกลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขายและรายได้ให้กับท่าอากาศยานได้อย่างเต็มที่

ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2561 นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย, นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย และ ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอแนะ 9 ข้อ คือ

    1. เปลี่ยนจากระบบสัมปทานรายเดียวมาใช้ระบบสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้าแทน

    2. เสนอให้มีตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนได้เสีย เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และตัวแทนจากภาคเอกชน เป็นต้น เป็นผู้สังเกตการณ์ในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข TOR และการคัดเลือกผู้ได้รับสัมปทานฯ

    3. กำหนดระยะเวลาสัมปทานฯ 5-7 ปี และไม่มีการต่ออายุสัมปทาน ยกเว้นมีเหตุสุดวิสัยหรือภัยธรรมชาติ

    4. กำหนดการประมูลตามหลักสากล ซึ่งมี 2 ขั้นตอน กล่าวคือ ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิคในขั้นตอนที่ 1 เสนอผลตอบแทนให้ ทอท. สูงที่สุด เป็นผู้ชนะการคัดเลือกให้เป็นผู้รับสัมปทานตามหมวดสินค้า

    5. ควรเพิ่มอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำให้สูงขึ้น และกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 25-30% ของรายได้จากยอดขาย โดยเพดานของอัตราผลตอบแทนอาจแตกต่างไปตามหมวดหมู่สินค้า

    6. ควรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประมูลมีเวลาเตรียมการนำเสนอแผนงานไม่น้อยกว่า 90 วัน นับจากที่ออก TOR

    7. จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในท่าอากาศยานนานาชาติ ต้องจัดให้มีขึ้นตามกฎหมายศุลกากร โดยไม่เปิดให้มีสัมปทาน แต่ให้ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่โดยตรงจาก ทอท.

    8. ควรจัดเก็บค่าตอบแทนจากการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรไม่เกิน 1% ของรายได้จากยอดขาย

    9. ปรับลดอากรขาเข้า สินค้าที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้า เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว และลดแรงจูงใจในการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี

ช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ออกแถลงข่าว ฉบับที่ 37/2561 ชี้แจงกรณีนักวิชาการแสดงความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการให้สัมปทานร้านค้าปลอดอากรนั้น นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท. ใช้รูปแบบการให้สัมปทานรายใหญ่รายเดียว (master concessions) เช่นเดียวกับท่าอากาศยาน Heathrow ประเทศอังกฤษ และท่าอากาศยาน Shanghai Pudong International Airport สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนสาเหตุที่ต้องเปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีการเปิดอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ตามโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 จึงต้องเปิดประมูลล่วงหน้า 2 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมการจัดหาสินค้า การอบรมบุคลากร และติดต่อกับร้านค้าชั้นนำต่างๆ ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสียของรูปแบบการให้สัมปทาน โดย ทอท. มอบหมายให้ที่ปรึกษาดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) และกำชับให้นำข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายมาใช้ประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด การคัดเลือกเน้นความโปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้ รวมทั้งรูปแบบการให้สัมปทาน ต้องเป็นรูปแบบที่มีการใช้ในท่าอากาศยานทั่วโลก และเหมาะสมกับกายภาพของอาคารผู้โดยสารของ ทอท. ด้วย

ด้าน ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึงสาเหตุที่ไม่ได้นับรวมกรณีการประกอบธุรกิจดิวตี้ฟรีของท่าอากาศยาน Heathrow มาอยู่ในรายงานการศึกษาฯของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยนั้น เนื่องจากรูปแบบการบริหารจัดการร้านค้าปลอดอากรที่สนามบินแห่งนี้มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ ในสมัยก่อนท่าอากาศยาน Heathrow มีบริษัท บริติช แอร์เวย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้มอบหมายให้บริษัทในเครือชื่อ Dufry บริหารกิจการร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยาน Heathrow มาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยเปิดประมูลมาก่อน จึงไม่ได้นำมาเปรียบเทียบกับกรณีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ส่วนท่าอากาศยาน Shanghai Pudong International Airport ใช้รูปแบบการให้สัมปทานรายใหญ่รายเดียวจริง แต่ผลประกอบการต่ำกว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาก ยกตัวอย่าง ท่าอากาศยาน Shanghai Pudong มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมนักท่องเที่ยวจีนเดินทางผ่านเข้า-ออกประมาณ 70 ล้านคน/ปี มีรายได้จากการขายสินค้าปลอดอากรรวมค้าปลีกอื่นฯประมาณ 0.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ/ปี เปรียบเทียบกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีนักท่องเที่ยว 32.5 ล้านคน/ปี มีรายได้จากการขายสินค้าปลอดอากร 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ/ปี สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงไม่ได้นำกรณีของท่าอากาศยาน Shanghai Pudong เข้ารวมอยู่ในรายงานฉบับนี้ด้วย เพราะหลักของการจัดทำรายงานการศึกษาฯ จะวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประเทศที่มีรูปแบบการบริหารที่ดีกว่า ยกตัวอย่าง การให้สัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรีของท่าอากาศยานอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ มีผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือ “เจ้าของสินค้าแบรนด์ดัง” เข้ามาเปิดกิจการโดยตรงกับท่าอากาศยาน 67 ราย ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 78 ราย เป็นต้น

“อย่างไรตาม หากนำรูปแบบการประกอบธุรกิจของท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง เข้ามารวมอยู่ในรายงานฉบับนี้ด้วย แต่ในหลายประเทศก็ยังเลือกใช้รูปแบบการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการหลายราย และแยกตามกลุ่มสินค้ากันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ในการตัดสินใจเลือกใช้รูปแบบใดบริหารสัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรี ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นหลักสำคัญ” ดร.ฉัตรชัยกล่าว

อ่านเพิ่มเติมซี่รี่ย์เจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย