เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 คณะนิติศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา “สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล” โดยในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายแข่งขันทางการค้า มีวิทยากรร่วมเสวนาได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ธนิตกุล อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ,นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม ผู้อำนวยการระดับสูง กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ,ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)และรองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬา
“เสือกระดาษ” พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า

ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ธนิตกุล อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีขึ้นเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้จริง เพราะก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่ใช้กันมาประมาณ 20 ปี ไม่สามารถบังคับใช้ได้เท่าที่ควร ไม่เคยสามารถจับคนผิดเข้าคุกได้ จนถูกมองว่าเป็นแค่เสือกระดาษ
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่มีการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นสำคัญหลายเรื่อง เช่น การลดจำนวนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจาก 15 คน เหลือ 7 คน และต้องทำงานเต็มเวลาเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ, มีอำนาจบังคับใช้ครอบคลุมกับรัฐวิสาหกิจรวมถึงองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ, ส่วนบทลงโทษก็ได้ปรับปรุงแก้ไขให้ความผิดเป็นโทษทางอาญาทั้งหมด ตามมาตรฐานสากล
“นักกฎหมายคิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายป้องกันการผูกขาด เพราะฉะนั้นคนที่เราจะไปดำเนินคดีก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ถ้าไม่ใช่โทษอาญา เราก็คิดว่าเขาจะไม่กลัว กรรมการที่ยกร่างฯ จึงบอกว่าความผิดทุกอย่างเป็นโทษทางอาญาทั้งหมด”
นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังระบุให้คณะกรรมการฯ เสนอความเห็นและเสนอแนะต่อรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายของรัฐด้านการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งให้อำนาจหน้าที่กับคณะกรรมการฯ ในการเป็นตั้งพนักงานสอบสวน เพื่อสามารถสืบสวนสอบสวนในคดีต่างๆ ได้
ดร.ศักดากล่าวถึงกรณีที่รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการดิวตี้ฟรีโดยให้เอกชนเข้ามาร่วมธุรกิจด้วย ว่าจะต้องพิจารณาจากมาตรา 4 ในกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ ซึ่งมีประเด็นสำคัญของการนิยามคำว่า “การกระทำ” แต่การให้สัมปทานขณะนี้คิดว่าไม่เข้าข่ายตามกฎหมายใหม่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กฎหมายฉบับนี้แก้ไขและสำคัญมาก คือ ในมาตรา 17(11) ที่ให้คณะกรรมการฯ เสนอความเห็นและเสนอแนะต่อรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายของรัฐด้านการแข่งขันทางการค้าได้
“การให้สัมปทานในความเห็นของผมตอนนี้ คิดว่าไม่เข้าข่ายกฎหมายใหม่ เนื่องจากการสัมปทานพื้นที่ตรงนี้เป็นของรัฐวิสาหกิจแล้วจะให้สัมปทาน ถามว่าการให้สัมปทานมันตกอยู่ภายใต้การกระทำมาตรา 4 หรือไม่ ในความเห็นผมคิดว่าไม่ แต่การที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม มีรัฐมนตรีคมนาคมเป็นประธาน แต่การถือหุ้นมาจากกระทรวงการคลัง คนที่เป็นประธานบอร์ดมาจากกระทรวงการคลัง ซึ่งแม้กฎหมายจะไม่ครอบคลุมการกระทำ แต่สามารถให้คำแนะนำได้ เช่น มีความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์หรือนักธุรกิจระหว่างประเทศว่า การจะทำให้ธุรกิจดิวตี้ฟรีก้าวสู่สากลได้คืออะไร คณะกรรมการฯก็สามารถส่งคำแนะนำไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ และสามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้”
ดังนั้นการเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจึงมีความสำคัญมาก ยกตัวอย่างในประเทศเกาหลีใต้ เดิมคณะกรรมการแข่งขันฯ เป็นแค่สำนักงานและอยู่ภายใต้สภาพัฒน์ฯ ของเขา แต่ตอนหลังมีการเลื่อนฐานะของประธานคณะกรรมการขึ้นมาเป็นระดับรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุม ครม. ด้วย แล้วให้คำแนะนำกับ ครม.
ดร.ศักดากล่าวต่อว่าเพราะฉะนั้นช่องทางตรงนี้ คณะกรรมการฯ สามารถแนะนำให้กับรัฐมนตรีสองท่าน แล้วเข้าสู่ ครม. ได้ ซึ่งตนคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่เราควรเสนอไอเดียมาดูกันว่าอะไรคือไอเดียที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย และเชื่อว่าบทบาทของคณะกรรมการฯ จะเป็นคนกลางที่จะประสานงานเพื่อให้เรื่องนี้ออกมาได้อย่างเหมาะสม
การบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐต้องเปิดกว้าง-โปร่งใส

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม ผู้อำนวยการระดับสูง กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับเก่าที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เกิดจากกลไกการลงโทษที่เป็นโทษอาญาซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัย ที่ผ่านมากรมการค้าภายในได้ใช้มาตรการเชิงบริหารเชิญผู้ที่มีปัญหามาให้ข้อมูล มาร่วมหารือแก้ปัญหา แต่กลับไม่ได้ความร่วมมือในการพิสูจน์ข้อสงสัยเท่าที่ควร
“ประเด็นอยู่ที่ว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ตอนที่ท่านไม่รักกัน ท่านก็เดินมาหาเรา แต่พอท่านรักกันแล้ว ท่านทิ้งเราอยู่กลางทาง เชิญมาหาให้ข้อเท็จจริงก็ไม่มา บอกว่าไม่ว่างบ้าง ทั้งที่เคยมาฟ้องเขา นี่คือปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่าทำไมจึงต้องปรับแก้กฎหมายกันใหม่ เพิ่มรูปแบบการลงโทษกันใหม่”
ส่วนประเด็นสำคัญกรณีสัมปทานดิวตี้ฟรีภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ อยู่ที่การระบุให้รัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ และต้องการให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่โปร่งใสและเป็นธรรม นำมาซึ่งการพัฒนาประโยชน์ต่างๆ ทั้งด้านสินค้าและการบริการ รวมทั้งให้เกิดการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างคุ้มค่า
อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวมองว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐ ควรจะทำแบบเปิดกว้าง มีความโปร่งใส เปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน และสอดคล้องกับนโยบายของชาติว่าจะมุ่งไปสู่เป้าหมายใด เช่นเดียวกับการกำหนดให้สัมปทานดิวตี้ฟรีที่ต้องมีแผนยุทธศาสตร์หรือนโยบายรองรับที่ชัดเจน
“ผมคิดว่าโดยหลักถ้าเรามีความชัดเจน มีแผนยุทธศาสตร์ในเรื่องการใช้พื้นที่ การให้สัมปทานพื้นที่ ก็เชื่อว่าทุกคนจะเห็นเป้าหมายว่าจะเดินไปอย่างไร แต่ถ้ามันไม่ชัดเจน ก็จะมีคำถามอย่างทุกวันนี้อย่างท่าอากาศยานไทย สร้างขึ้นมาจากภาษีของประชาชน แต่การดำเนินการก็ต้องดูยุทธศาสตร์ชาติหรือนโยบายของรัฐด้วย”
นายวัฒนศักย์กล่าวต่อว่านอกจากนี้ในฐานะหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ตนเชื่อว่าการกำหนดทีโออาร์หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีการเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือนำความคิดเห็นจากเวทีนี้ไปประกอบการรับฟัง ก็น่าจะทำให้มีการทำความเข้าใจกันมากขึ้น แต่ที่สำคัญต้องตอบยุธศาสตร์ชาติให้ได้ และตอบประชาชนให้ได้ว่าประโยชน์ในระยะยาวเป็นอย่างไรแผนที่ชัดเจนเป็นอย่างไร
การประมูลยิ่งโปร่งใสยิ่งสะท้อนราคาตลาด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงกระบวนการเปิดประมูลสัมปทานภาครัฐว่า การประมูลที่มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส จะนำมาซึ่งรายได้จากการประมูลที่สูงที่สุด ซึ่งคำว่าประสิทธิภาพในที่นี้หมายถึงผู้ประมูลแต่ละคนพร้อมจ่ายเท่าไหร่ก็เสนอราคาประมูลเท่านั้น และเมื่อมีผู้ประมูลเสนอราคาได้อย่างตรงไปตรงมา คนที่พร้อมจะจ่ายมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ ก็จะมีได้รายได้จากการประมูลสูงสุด
สำหรับการประมูลที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส จะกระตุ้นให้คนที่เก่งหรือคนที่มีประสิทธิภาพจริงๆ อยากเข้ามาแข่งขัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เอกชนหรือภาครัฐหลายหน่วยงานจะหันมาใช้การประมูลที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เช่น การประมูลการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการประมูลเพชรดิบ เป็นต้น
“ทุกวันนี้ภาครัฐและเอกชนเปลี่ยนมาใช้การประมูลที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ได้รายได้หรือราคาจากการประมูลสูงสุด เพราะการประมูลที่โปร่งใสจะทำให้ราคาดีขึ้น เป็นราคาที่เหมาะสม และสะท้อนราคาตลาดได้”
อย่างไรก็ตาม การประมูลไม่ได้พิจารณาเรื่องจำนวนเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่สามารถพิจารณาเป็น 2 ขั้นตอนได้ โดยขั้นตอนแรกคือการพิจารณาคุณสมบัติก่อน (pre-qualification) แล้วค่อยให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติไปเสนอราคาแข่งขันกันกันด้วยเม็ดเงิน รายได้ก็จะสูง ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. ก็ใช้วิธีนี้
ดร.พัชรสุทธิ์กล่าวด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบการคัดเลือกคุณสมบัติเพียงอย่างเดียว กับการประมูล 2 ขั้นตอน โดยใช้เกณฑ์ชี้วัดเรื่องความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และรายได้จากการประมูล พบว่าในส่วนการคัดเลือกคุณสมบัติ ซึ่งจะต้องมีการตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณา จะมีความโปร่งใสหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความยุติธรรมของกรรมการ ส่วนการประมูล 2 ขั้นตอนมีความโปร่งใสสูง เพราะมีการประกาศกฎอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการใช้ดุลพินิจในการตัดสินแต่อย่างใด
ในเกณฑ์เรื่องประสิทธิภาพ การคัดเลือกคุณสมบัติแทบจะไม่รู้ว่าใครมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเงื่อนไขอยู่ที่กรรมการ แต่ในขณะที่การประมูล 2 ขั้นตอน ใช้ราคาเป็นตัวชี้วัด ซึ่งทุกคนมีแรงจูงใจอยากจะได้กำไรสูงสุด และจะสะท้อนผ่านราคาที่เสนอ โดยคนที่เก่งที่สุดจะเป็นคนยื่นประมูลสูงที่สุด และส่งผลมายังเรื่องรายได้ พบว่าการประมูล 2 ขั้นตอนจะทำให้เกิดรายได้สูงสุด
ส่วนการออกแบบการประมูลเพื่อให้ได้รายได้สูงสุดได้ มีหลายประเด็นต้องพิจารณา ขณะที่การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรียังไม่ได้มีการศึกษาอย่างละเอียดว่ามีลักษณะในเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างไร แต่ก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เช่น การออกแบบสัญญาที่นำไปประมูลแบบ master concession หรือ multiple concession, เงื่อนไขสัญญาเป็นอย่างไร ส่วนแบ่งรายได้เป็นเท่าไหร่ จำนวนสัญญาที่ประมูลได้แบ่งตามพื้นที่หรือจำนวนสินค้า เคาะราคากันอย่างไร ราคาตั้งต้นเป็นเท่าไหร่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา
“แต่ในเชิงหลักการถ้าจะออกแบบให้ได้รายได้สูงสุด ต้องออกแบบสัญญาให้มี competitive premium สูง แต่ยังสร้างการแข่งขันหลังการประมูลได้อยู่ และใช้ competitive bidding ในการขาย พูดง่ายๆ ก็คือ ออกแบบให้สัญญาที่จะประมูลมีมูลค่าที่เหมาะสม แล้วใช้การประมูลที่มีประสิทธิภาพกระตุ้นให้ผู้ประมูลไล่ราคากันไป”
ดังนั้น การออกแบบการประมูลเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ในตัวบริษัทตนเห็นว่าไม่ต้องไปพูดถึงกฎหมายก็ได้ เพราะเป็นแรงจูงใจของบริษัทเองอยู่แล้วที่เอาสินทรัพย์ของบริษัทไปขาย ซึ่งก็ต้องอยากให้บริษัทได้กำไรสูงสุดหรือรายได้สูงสุด แล้ววิธีการที่ให้ได้กำไรสูงสุดก็คือการประมูลที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และออกแบบอย่างดี เพราะเท่ากับเป็นการรักษาผลประโยชน์ของบริษัททั้งนั้น
ดร.พัชรสุทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนวัตกรรมการออกแบบการประมูลมีหลายรูปแบบในหลายธุรกิจ โดยไม่ได้มีแค่การเคาะราคาอย่างเดียวอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่สำหรับสนามบินทั้งในและต่างประเทศยังมีการประมูลที่ล้าหลัง มีการใช้วิธีคัดเลือกคุณสมบัติในการประมูล แต่ก็มีบางสนามบินใช้การประมูลแบบสองขั้นตอน แต่อย่างไรก็ตามอาจจะไม่ต้องศึกษาการประมูลจากต่างประเทศมาก เพราะในวงการน่าจะรู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นสนามบินในประเทศไทยไม่ต้องไปเทียบเคียงกับต่างประเทศก็ได้ แต่ควรจะออกแบบให้ดีที่สุด เนื่องจาก หลักการมีอยู่แล้ว

“ประมูลดิวตี้ฟรี” ศึกษา best practiceต่างประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า ทุกวันนี้เวลาถามนักธุรกิจว่าอยากทำธุรกิจอะไร คำตอบส่วนใหญ่คือทำธุรกิจอะไรก็ได้ที่แข่งขันน้อย ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่น่าสนใจว่าอาจนำไปสู่การทำธุรกิจผูกขาด มีผู้ประมูลเพียงรายเดียว
“คำตอบที่ว่าอยากทำธุรกิจที่แข่งขันน้อย มีนัยยะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณอยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อยราย มันหมายความว่าธุรกิจสามารถทำกำไรได้มากกว่าธุรกิจโดยทั่วไป และความสามารถในการทำกำไรนี้ก็ทำให้คนอยากแสวงหา ซึ่งความสามารถในการทำกำไรอย่างนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “กำไรที่ผิดปกติ”
ทั้งนี้ ในอดีตมีงานศึกษาชื่อดังเรื่องการมีค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่าเป็นความปรารถนาของคนจำนวนมากในการที่คนเข้าไปแสวงหาว่าจะเข้าไปในธุรกิจอะไรที่มีการแข่งขันน้อย เพราะยิ่งผูกขาดรายเดียว ยิ่งพอใจ
จากงานวิจัยยังพบว่าผู้ที่มีส่วนทำให้เกิดสภาวะที่ไม่ต้องมีการแข่งขันมากนัก ส่วนใหญ่เกิดจากกฎ กติกาของภาครัฐ เนื่องจากมีอำนาจในการตัดสินใจ จนนำมาซึ่งการขอส่วนแบ่งในการจัดสรรประโยชน์ ซึ่งเป็นงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ฉบับแรกๆ ที่พยายามอธิบายว่าการคอร์รัปชันเกิดจากอะไร ดังนั้นการที่จะออกแบบกฎกติกาว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการแข่งขันทางการค้าโดยปกติเท่านั้น แต่ยังผูกโยงไปกับเรื่องอื่นๆ อีกจำนวนมาก
ส่วนเรื่องการประมูลอย่างไรให้โปร่งใสยุติธรรม ดร.นวลน้อยระบุว่า ก่อนจะทำให้การประมูลให้มีความโปร่งใส ต้องตั้งคำถามก่อนว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะออกแบบตลาดอย่างไร จะทำให้ตลาดมีการแข่งขันหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนการประมูล
“เมื่อคิดว่าจะทำให้ตลาดมีการแข่งขัน อย่างเช่นในตลาดธุรกิจดิวตี้ฟรี ถ้าต้องการให้ตลาดดิวตี้ฟรีมีการแข่งขัน ก็ต้องกลับมถามว่าแล้วจะทำยังไงให้มีการแข่งขัน แล้วค่อยมาออกมาแบบการประมูลเพราะการออกแบบการประมูลที่ดี แม้จะทำให้การแข่งขันในการเข้าสู่ธุรกิจของแต่ละคนเป็นไปอย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ทำรายได้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลให้ได้รายได้สูงสุด ก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็เป็นขั้นตอนต่อมาจากเรื่องการออกแบบตลาด”
“ดังนั้น ต้องมีการออกแบบตลาดก่อนว่าตลาดนี้เป็นอย่างไรที่จะไม่ทำให้เกิดกำไรแบบผิดปกติ ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจสาธารณูปโภค ที่สามารถมีข้อยกเว้นได้ เนื่องจากรัฐมีกลไกในการเข้าไปควบคุมราคา ถ้าเป็นอย่างนั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ราคารถเมล์ควรจะเป็นเท่าไหร่ ค่ารถไฟฟ้า ค่าทางด่วนมีราคาเท่าไหร่ ซึ่งมีการกำหนดราคาร่วมกันเพื่อไม่ให้คนที่ได้รับสัมปทานไปแล้วได้กำไรที่เกินปกติ
แต่ในธุรกิจดิวตี้ฟรีซึ่งมีสินค้าจำนวนมาก คงคุมราคาไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นปรากฎการณ์ต่างๆมากมาย เช่น ราคาอาหารในสนามบินแพง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหา ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าของในดิวตี้ฟรีจะถูกกว่า แต่จริงๆ ก็อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น”
เพราะขณะนี้มีข้อมูลระบุว่า ยอดการขายสินค้าดิวตี้ฟรีให้กับนักท่องเที่ยวในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของประเทศไทย มีสัดส่วนน้อยกว่า 6 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายสินค้าดิวตี้ฟรีในทท่าอากาศยานอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ทั้งที่มีขนาดและสัดส่วนการรองรับผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน
ดังนั้น ธุรกิจดิวตี้ฟรีจะสามารถปรับตัวและดำเนินการได้ดีก็ต่อเมื่อมีการแข่งขันเกิดขึ้น หรือมีผู้ประกอบการมากกว่าหนึ่งราย ซึ่งจะช่วยให้เกิดโอกาสในการขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและหนุนให้ประเทศไทยเป็นช็อปปิ้งเดสติเนชั่นที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเยือน
“วันนี้มีข้อมูลว่าการขายดิวตี้ฟรีมูลค่าต่อนักท่องเที่ยวหนึ่งคนของสนามบินสุวรรณภูมิน้อยกว่าสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ถึง 6 เท่า ถือเป็นภาพสะท้อนอย่างหนึ่ง ทั้งที่ขนาดและจำนวนนักเดินทางไม่ต่างกับมากนัก แต่ความสามารถที่เราจะให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินในการซื้อสินค้าที่ดิวตี้ฟรีกลับน้อยกว่า ซึ่งก็น่าสนใจว่าที่จริงแล้ว ธุรกิจจะปรับตัวได้ดีเมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขัน ถ้าไม่มีการแข่งขันก็เชื่อว่าคงไม่มีใครปรับตัว”
ดังนั้นสภาพการแข่งขันจะทำให้ธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อทำให้ดีที่สุด สิ่งที่ประเทศไทยต้องคำนึงถึงด้วยก็คือ ขณะนี้เราเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวจำนวนมาก เพราะฉะนั้นถ้าหากนักท่องเที่ยวเขามาซื้อของที่ดิวตี้ฟรีประเทศไทยแล้วรู้สึกแพงกว่าปกติ โอกาสที่เราจะสามารถขายสินค้าได้จำนวนมากคงเป็นไปไม่ได้
ดร.นวลน้อยกล่าวด้วยว่า รู้สึกดีใจที่คนที่ได้สัมปทานดิวตี้ฟรีปัจจุบันติดอันดับหนึ่งใน 500 คนที่เป็นเศรษฐีโลก และอยากให้เก่งมากขึ้นโดยที่ความเก่งเหล่านั้นเป็นความเก่งที่มาจากการมีประสิทธิภาพ มีวิสัยทัศน์ สามารถดำเนินธุรกิจที่จะไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
ดร.นวลน้อยยังระบุด้วยว่า การจะทำให้เกิดการแข่งขันมากรายขึ้น ยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการประมูลเพราะในบางสถานการณ์ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าแม้จะออกแบบมาอย่างไรก็ตาม เช่น แบบ location หรือ category แต่ที่สุดแล้วอาจจะมีจำนวนผู้ขายไม่มากรายเหมือนกับตลาดทั่วไป เพราะธุรกิจดิวตี้ฟรีถือเป็นตลาดเฉพาะ
“ดังนั้น ระยะเวลาในการสัมปทานก็เป็นหัวใจสำคัญ การให้อายุสัมปทานที่พอเหมาะกับธุรกิจดิวตี้ฟรี ซึ่งในต่างประเทศก็มี best practice ว่าเวลาที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ ฉะนั้นเมื่อหมดอายุสัมปทานก็เปิดสัมปทานรอบใหม่ ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันรอบใหม่ และส่งผลให้ธุรกิจเกิดการปรับตัว” ดร.นวลน้อยกล่าว
ตั้งคำถาม ท่าอากาศยานไทย “วิธีการประมูล-pick up counter”

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายว่า การแข่งขันในธุรกิจดิวตี้ฟรีมี 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือแข่งกันในสนามบิน รูปแบบที่สองคือแข่งขันกันในเมือง แล้วไป pick up ที่สนามบิน ซึ่งในต่างประเทศมีการเปิดทั้งสองส่วนแล้ว อย่างเช่นประเทศเกาหลีใต้ ขณะนี้มีร้านค้าที่สามารถขายในเมืองแล้วไป pick up ที่สนามบินอินชอนได้ถึง 6 แห่ง แต่ประเทศไทยมีแห่งเดียว เจ้าเดียว ดังนั้นต้องพิจารณาว่าทำไมต้องมีเจ้าเดียว
ทั้งนี้ สนามบินทั่วโลกมีการประมูลแบบหลายสัญญาและหลายรูปแบบเพื่อให้เกิดการแข่งขันและให้สนามบินมีรายได้ แต่ที่เป็น master concession แบบประเทศไทยมีน้อยมาก ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ที่ไม่ทำ master concession เพราะเป็นเจ้าเดียวและเกิดการเหมากินรวบ
“สนามบินที่เลือกทำ master concession เป็นสนามบินที่เรียกว่าผู้บริหารไม่มีปัญญาบริหาร จึงต้องไปจ้างใครคนใดคนหนึ่งมาบริหารให้ทั้งหมด ดังนั้นถามว่าบริษัทท่าอากาศยานไทย ทำธุรกิจมากี่ปีแล้ว ถ้าเป็นปีแรกก็สามารถยอมรับได้ว่าทำไม่เป็น แต่หากทำมา 20-30 ปี แล้วยังมาจ้างคนอื่นมาบริหาร concession คงต้องคิดนัก โดยเฉพาะการที่พึ่งได้รับรางวัลว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้กำไรสูงมาก จึงต้องถามว่าบริหาร concession มากกว่าหนึ่ง concession ไม่ได้หรือ”
ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า หากไม่ทำแบบ master concession สามารถแบ่งทำ concessionได้อย่างน้อย 2 รูปแบบ คือ
1. แบ่งตามโลเคชั่นของสนามบิน (location concession) เช่น ประเทศเกาหลีใต้เทอมินอลหนึ่งและสองซึ่งจะเป็นคนละบริษัทกัน
2. แบ่งตามหมวดสินค้า (category concession) เช่น สินค้าแฟชั่นหรือเสื้อผ้า ก็เจ้าหนึ่ง สินค้ายาสูบ สุรา ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่ง โดยมีผู้สนใจเข้ามาแข่งขันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสนามบินทั่วโลกส่วนใหญ่แบ่งตาม location และ category ส่วน master concession ไม่ค่อยมีใครทำ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่สำคัญคือ ต้องมีการแข่งขันทั้งในช่วงก่อนการประมูลและหลังการประมูล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยจะออกแบบการประมูลอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าหากแบ่งตาม category แล้วยังมีผู้มาประมูลรายเดียว แสดงว่าต้องเกิดความผิดปกติ
“การแข่งขันในสนามบิน ควรจะเป็น category concession กับ location concession ก็ได้ ให้มีหลายเจ้า เพราะยิ่งแข่งขันกันมาก รายได้ยิ่งมาก ซึ่งจะออกแบบอย่างไรก็ตาม และเมื่อประมูลไปแล้วต้องดูว่ามีการกินรวบหรือเปล่า ซึ่งการซอย category ไม่ได้หมายความว่ามันจะเหลือแค่เจ้าเดียว อย่างสินค้าแฟชั่นคนที่จะมาประมูลก็คิดว่ามีมาก ดังนั้นมันยังซอยได้ แล้วถ้ายังมีหลายรายอยู่ ก็แปลว่าคุณทำถูกแล้ว”
ส่วนประเด็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้มีการแข่งขันกันมากที่สุด คงจะต้องทำให้การประมูลมีความชัดเจนเสียก่อนว่าเงื่อนไขในการประมูลคืออะไรและสอดคล้องกับผลประโยชน์ประเทศหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศ ผู้ที่ตัดสินใจว่าจะประมูลแบบไหนคือกระทรวงการคลัง ไม่ใช่ท่าอากาศยาน เพราะจะทำให้เกิด conflict ได้
นอกจากนี้ควรมีการเปิดการแข่งขันให้มีร้านค้าหลายร้าน ไม่จำกัดว่าต้องเป็นบริษัทใดบริษัทหนึ่ง รวมทั้งต้องปลดล็อคเรื่องพื้นที่ให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร (pick-up counter) ให้มีหลายรายเช่นเดียวกัน
“ในต่างประเทศแทบทุกเจ้า คนที่ตัดสินใจรูปแบบการประมูลคือกระทรวงการคลัง ศุลกากร เพราะเขาต้องเป็นคนกำหนดว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ที่ควรจะปลอดภาษี ไม่ใช่ท่าอากาศยาน ดังนั้นคนที่จะทำเรื่องนี้ต้องไม่มี conflict ซึ่งประเทศไทยสำนักรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ควรจะลงมาเล่น รวมทั้งกระทรวงท่องเที่ยวฯ ด้วย เพราะคุณเป็นสเตกโฮลเดอร์ ไม่ใช่ท่าอากาศยาน”
ขณะเดียวกัน การแข่งขันกันในเมืองไม่จำเป็นต้องมี 1 ราย ประเทศเกาหลีใต้มีถึง 6 ราย จนกลายเป็นประเทศที่ธุรกิจดิวตี้ฟรีโตมากที่สุดในโลกถึง 20% ต่อปี และประเด็นสำคัญคือต้องปลดล็อกเรื่อง pick-up counter ให้มีหลายราย เพราะแม้จะมี 6 ราย แต่วันนี้พอซื้อของจากเมืองได้ แต่ pick up ไม่ได้ เพราะเป็น pick up ของเจ้าเดียว ดังนั้นต้องปลดล็อกปัญหานี้ให้ได้ เหมือนที่หลายประเทศมีกฎหมายว่าท่าอากาศยานต้องให้บริการ pick-up counter ให้กับผู้ค้าปลีกดิวตี้ฟรีทุกรายที่อยู่ในเมืองที่จะมา pick up แต่เรากลับไปเปิดประมูลให้เจ้าเดียว
อย่างไรก็ตาม ดร.เดือนเด่นยังกล่าวว่า ขณะนี้ท่าอากาศยานกำลังพยายามแก้ไขปัญหาเรื่อง pick-up counter เช่น ที่ จ.เชียงใหม่และภูเก็ต โดยพยายามทำให้มี pick-up counter ที่ไม่ผูกขาด ไม่ใช่เป็นผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง แต่ที่ผ่านมากลับมีการประมูลพ่วงกับสัมปทาน คือได้สัมปทานดิวตี้ฟรีแล้วก็ได้ pick-up counter ไปด้วย จึงผิดตัวผิดฝา ดังนั้นต้องปลดล็อคเรื่อง pick-up counter ให้มีหลายราย
ดร.เดือนเด่นกล่าวด้วยว่า การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีควรจะทำให้เกิดความโปร่งใส โดยเสนอว่าควรใช้กลไกการตรวจสอบการประมูลตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่รัฐบาลร่วมทำองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย
“กรณีเกี่ยวกับดิวตี้ฟรีในอดีต มีหลายคดีพบว่าเป็นเรื่องของความไม่โปร่งใส ดังนั้นความโปร่งใส่เป็นหัวใจว่าจะประมูลอย่างไร ซึ่งถ้าให้เสนอก็คือขณะนี้รัฐบาลใช้กลไกการตรวจสอบการประมูลตามข้อตกลงคุณธรรม โดยการให้เอกชนในองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เข้าไปนั่งเป็นผู้สังเกตการณ์เข้าไปนั่งดูตั้งแต่การร่างทีโออาร์ ตั้งแต่การประมูลคัดเลือกว่าเลยว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ถึงแม้ไม่มีอำนาจโหวต แต่อย่างน้อยเป็นการตรวจสอบให้มีความโปร่งใส ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนเข้าไปดูแล้วถึง 40 โครงการ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการท่าอากาศสุวรรณภูมิเฟส 2 ด้วย” ดร.เดือนเด่นกล่าว