ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > AOT เมินคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินตั้ง “จุดส่งมอบสินค้า” สมาคมดิวตี้ฟรีจี้ “นายกฯ-สนช.-สผผ.” ปฏิบัติตามรธน.

AOT เมินคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินตั้ง “จุดส่งมอบสินค้า” สมาคมดิวตี้ฟรีจี้ “นายกฯ-สนช.-สผผ.” ปฏิบัติตามรธน.

20 มิถุนายน 2017


ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าวสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ร้องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น นายกรัฐมนตรี สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เรียกร้องให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จัดหาพื้นที่ให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่น ตั้งจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบินนานาชาติ เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่มีสิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง ใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ

จนกระทั่งมาถึงวันที่ 29 มีนาคม 2560 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) มีคำวินิจฉัยพร้อมแนะนำให้ ทอท. พิจารณาจัดหาพื้นที่กำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองรายอื่นใช้ส่งมอบสินค้าร่วมกัน และให้ ทอท. รายงานผลปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 60 วัน

วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 นายนิตินัย สิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ลงนามในหนังสือที่ ทอท. 5510/2560 ชี้แจงประธานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ทอท. ไม่สามารถจัดหาพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นใช้ร่วมกันตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

กรณีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถึงแม้ ทอท. ไม่เคยนำกิจกรรมส่งมอบสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาประมูลคัดเลือกก็ตาม แต่กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่อยู่ในสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่ง ทอท. ได้คัดเลือกผู้ประกอบการโดยวิธีการประมูลทั่วไป ดังนั้น กิจกรรมส่งมอบสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นสิทธิตามสัญญาโดยชอบธรรมของผู้ที่ชนะการประมูลกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ส่วนกรณีท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ทาง ทอท. ได้เปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและกิจการส่งมอบสินค้าปลอดอากรเพียงรายเดียว ดังนั้น การประกอบกิจการส่งมอบสินค้าที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จึงถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ชนะการประมูลเช่นกัน

การดำเนินการของ ทอท. ที่ผ่านมา ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการโดยวิธีการประมูลอย่างโปร่งใส ทำให้ ทอท. ต้องเคารพในสิทธิของผู้ชนะการประมูล

นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย

หลังจากพ้นกำหนด 60 วัน ที่ ทอท. ต้องส่งรายงานผลปฏิบัติการให้สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 14 มิถุนายน 2560 นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ลงนามหนังสือ 4 ฉบับ ส่งถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.), ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยหนังสือ 3 ฉบับแรกที่ทำถึงนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการ ครม. และประธาน สนช. มีสาระสำคัญดังนี้

หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้ ทอท. จัดหาพื้นที่ให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าร่วมกันในท่าอากาศยานนานาชาติ และให้ ทอท. รายงานผลการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินมาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 60 วัน

วันที่ 31 มีนาคม 2560 ทางสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากร ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้สั่งการหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาในช่วงปลายเดือนเมษายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้จัดประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฉพาะกรณีจุดส่งมอบสินค้าได้ข้อสรุปว่าจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และเสนอให้นายกรัฐมนตรี ปลดบอร์ดและผู้บริหาร ทอท.

จากนั้น ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2560 ทอท. ได้ทำหนังสือชี้แจงผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปใจความได้ว่า การให้บริการจุดส่งมอบสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่ง ทอท. ได้ทำสัญญาฯ กับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 ดังนั้น จุดส่งมอบสินค้าจึงถือเป็นสิทธิตามสัญญาของ KPS

สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยมีความเห็นว่า “คำชี้แจงที่ ทอท. ทำถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น มีเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้ ทอท. จัดหาพื้นที่ให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรรายอื่นใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าร่วมกัน ไม่ใช่มาชี้แจงเรื่องข้อสัญญา เพราะเลยขั้นตอนของการชี้แจงไปแล้ว เนื่องจากก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีคำวินิจฉัย ทอท. เคยเข้าร่วมประชุมกับผู้ตรวจการแผ่นดินและ ทอท. ประเด็นดังกล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมแล้ว แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าข้อชี้แจงดังกล่าวไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ และไม่เป็นปัญหาในข้อกฎหมาย ทั้งนี้ ในสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด มีสิทธิใช้พื้นที่ในท่าอากาศยานตามสัญญา 20,000 ตารางเมตร ส่วนจุดส่งมอบสินค้าก็ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด และการตั้งจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะก็ไม่ใช่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่จะไปแข่งขันกันในบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพราะการขายสินค้าปลอดอากรในเมืองเป็นเรื่องของผู้ประกอบการทั่วไปที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร โดยกรมศุลกากรมีหน้าที่ตรวจสอบสินค้าปลอดอากรที่ซื้อมาจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองว่าได้ถูกนำออกนอกราชอาณาจักรไปพร้อมกับผู้ซื้อจริง และ ทอท. มีหน้าที่เพียงจัดการพื้นที่เพื่อเป็นจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ จึงไม่ถือเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่จะต้องมีการแข่งขันกับ บริษัท คิง เพเวอร์ สุวรรณภูมิ หรือร้านค้าปลอดอากรในสนามบินแต่อย่างใด

หาก ทอท. ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 73 ดังนั้น ในกรณีที่ ทอท. ไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ทำให้คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินถือเป็นที่สุด

ทางสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากร ขอเรียนว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 230 (2) (3) ซึ่งบัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่และอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริง เมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัด หรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตาม (1) หรือ (2) โดยไม่มีเหตุอันควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป และอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ให้รายงานผลการตรวจสอบและผลปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อ ครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทุกปี ทั้งนี้ ให้ประกาศรายงานในราชกิจจานุเบกษาและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย ประกอบกับมาตรา 33 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เมื่อได้ดำเนินการตามวรรค 1 และระยะเวลาได้ล่วงเลยไปพอสมควรแล้ว กรณีข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ยังไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินโดยไม่มีเหตุผลอันควร เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญหรือเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ หรือเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำรายงานเรื่องนั้นเสนอต่อ ครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เป็นกรณีเร่งด่วน

จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เลขาธิการ ครม. และประธาน สนช. มีเจตจำนงให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ และเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอันเป็นกฏหหมายสูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้และก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม

สมาคมฯ จึงทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณามีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบินนานาชาติ ส่วนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้พิจารณานำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย และขอให้ประธานสภานิติบัญญัตแห่งชาตินำคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช. เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียน

ส่วนหนังสือที่สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยส่งถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทางสมาคมฯ ระบุว่า ตามที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยพร้อมข้อเสนอแนะให้ ทอท. จัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นใช้ร่วมกันนั้น แต่ ทอท. ไม่ได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 73 แต่อย่างใด

ทอท. ได้ชี้แจงและกล่าวอ้างว่า จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะภายในสนามบินนานาชาติเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่ง ทอท. ได้คัดเลือกบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียว การชี้แจงดังกล่าวถือเป็นการเจตนาจงใจไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน

เนื่องจากการจัดหาพื้นที่ให้บริการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะเป็นเพียงวิธีการตรวจสอบสินค้าปลอดอากรที่จะต้องนำออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายศุลกากร และการดำเนินการดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศุลกากรกับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองเท่านั้น

หากพิจารณาสัญญาประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ระหว่าง ทอท. กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด สามารถใช้พื้นที่ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ 20,000 ตารางเมตร ดังนั้น พื้นที่ในบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติจึงมีเพียงพอที่จะจัดสรรให้เป็นจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะได้ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2543

การที่ ทอท. ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียน และการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ สมาคมฯ จึงขอให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ส่วนที่ 3 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 230 (2) และ (3) ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 13 (4) รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อ ครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทุกปี ทั้งนี้ ให้ประกาศรายงานดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย และมาตรา 33 วรรค 2 เมื่อได้ดำเนินการแล้ว และระยะเวลาล่วงเลยไปพอสมควร ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ยังไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำรายงานเรื่องนั้นเสนอต่อ ครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเป็นกรณีเร่งด่วน

ทางสมาคมฯ จึงขอให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ และเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียน

[scribd id=351712824 key=key-KKZnOyD8VPBFIz9Qc9s7 mode=scroll]
ป้ายคำ :