ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สมาคมดิวตี้ฟรี ร้อง”ประยุทธ์” สั่ง AOT ปฏิบัติตามผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ขาด ต้องเปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ระบุเคยให้ “KPI -บริษัทการบินกรุงเทพ” ทำมาแล้ว

สมาคมดิวตี้ฟรี ร้อง”ประยุทธ์” สั่ง AOT ปฏิบัติตามผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ขาด ต้องเปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ระบุเคยให้ “KPI -บริษัทการบินกรุงเทพ” ทำมาแล้ว

2 พฤศจิกายน 2017


ศึกชิงพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า หรือ “Pick-up counter” ยังเป็นประเด็นร้อน หลังจากมีข่าวบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ส่งผลการวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้อัยการสูงสุดวินิจฉัย กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ ทอท. จัดหาพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่น ที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าร่วมกัน โดยขอให้อัยการสูงสุดพิจารณา 2 ประเด็น คือ ทอท. สามารถดำเนินการตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินได้หรือไม่ หากดำเนินการตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วถือเป็นการทำผิดเงื่อนไขสัญญา อัยการสูงสุดจะมีข้อแนะนำอย่างไร

หลังจากเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากร ทำหนังสือถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 โดยจัดทำรายงานคณะรัฐมนตรี, สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภาเป็นการเร่งด่วน กรณี ทอท. ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน

วันที่ 20 ตุลาคม 2560 นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากร ยื่นหนังสือร้องเรียน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาสั่งการ กรณี ทอท. ไม่ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังจากเจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรีออกเลขรับหนังสือที่ 32946 เสร็จเรียบร้อย ก็นำสำเนาหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี พร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินทั้งหมด ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา

จากนั้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ได้ทำหนังสือแจ้งรัฐมนตรี และ ทอท. ในฐานะที่กำกับดูแลการอนุญาตเปิดจุดส่งมอบสินค้าหลายแห่ง อาทิ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ทั้งนี้เพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย

หนังสือร้องเรียนที่นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยส่งถึงนายกรัฐมนตรีมีสาระสำคัญดังนี้

1. ความเป็นมา

สมาคมฯ เป็นผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเปิดจุดส่งมอบสินค้าของร้านค้าปลอดอากรในเมืองภายนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่อยู่ในกำกับดูแลของ ทอท. และผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว เมื่อเวลาล่วงเลยเกินกว่า 60 วัน ตามระยะเวลาที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว ปรากฏว่า ทอท. ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินแต่อย่างใด โดย ทอท. เพียงแต่ให้ความเห็นต่อคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การให้บริการจุดส่งมอบสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และเป็นสิทธิที่อยู่ภายใต้สัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามสัญญาเลขที่ ทสภ.1-01/2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 ที่ ทอท. ได้ทำสัญญากับบริษัท คิง เพาเวอวร์สุวรรณภูมิ จำกัด (สัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์) ซึ่งหาก ทอท. ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินจะถือเป็นการละเมิดสิทธิของคู่สัญญา ทั้งที่สัญญายังไม่สิ้นสุด และจะก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐ (ความเห็นของ ทอท.)

วันที่ 2 สิงหาคม 2560 สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือถึงสมาคมฯ แจ้งว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาความเห็นของ ทอท. ข้างต้นแล้ว ยังไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ จึงแจ้งผลยืนยันคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ทอท. เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ดังนั้น สมาคมฯ ในฐานะผู้ร้องเรียน ซึ่งมีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทบโดยตรงในเรื่องดังกล่าว ขอชี้แจงข้อเท็จจริง แนวบรรทัดฐานของศาลปกครองสูงสุด และหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นไปด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ถูกต้องครบถ้วน และเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายดังนี้

2. กรณีอำนาจหน้าที่ของ ทอท. ที่เกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากรและจุดส่งมอบสินค้า

  • กรณีที่ 1 การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จำหน่ายสินค้าปลอดอากร เป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายศุลกากร
  • กรณีที่ 2 ทอท. ไม่มีสิทธิและ ไม่มีกฎหมายใดที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการสินค้าปลอดอากรได้
  • กรณีที่ 3 ทอท. มีหน้าที่เพียงจัดพื้นที่ให้บริการและบริหารจัดการสนามบินเท่านั้น
  • กรณีที่ 4 การจัดพื้นที่ส่งมอบสินค้าปลอดอากร มิใช่การบริหารกิจการเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารของ ทอท. แต่อย่างใด เนื่องจากการจำหน่ายสินค้าที่กระทำนอกเขตสนามบินส่วนพื้นที่ภายในสนามบินเป็นเพียงพื้นที่ที่ให้บริการเป็นจุดส่งมอบสินค้าที่ผู้ซื้อซื้อสินค้ามาจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองเท่านั้น จึงไม่เกี่ยวกับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในสนามบินแต่งอย่างใด
  • กรณีที่ 5 สำหรับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการศึกษาข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีคำวินิจฉัยดังกล่าวออกมาเป็นที่สุด และไม่มีกฎหมายใดกำหนดหรือให้อำนาจให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นผู้พิจารณาคัดค้านหรือให้ความเห็นที่ขัดกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และไม่ว่าความเห็นของ อสส. จะเป็นเช่นใด ก็ไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของผู้ตรวจการแผ่นดินได้แต่อย่างใด
  • กรณีที่ 6 ตามที่ ทอท. อ้างว่าจุดส่งมอบสินค้าถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจการร้านค้าปลอดอากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ยังคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริง เนื่องจากร้านค้าปลอดอากรมี 2 ประเภท คือ 1. ประกอบกิจการภายในสนามบิน 2. ประกอบกิจการภายในเมือง สนามบินเป็นเพียงให้ใช้พื้นที่เป็นจุดส่งมอบสินค้าตามระเบียบของกรมศุลกากรเท่านั้น ส่วนการจะอนุมัติให้ผู้ใดประกอบกิจการสินค้าปลอดอากรขาออกในเมือง เป็นหน้าที่ของกรมศุลกากรตามกฎหมาย และในเรื่องดังกล่าวกรมศุลกากรได้ออกใบอนุญาตและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัทผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของ ทอท. เพียงแต่จัดหาพื้นที่ให้บริการเท่านั้น
  • กรณีที่ 7 การที่ ทอท. และฝ่ายบริหาร ทำหนังสือถึง อสส. ก็เป็นเพียงการดำเนินการเพื่อประวิงเวลาที่จะไม่เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้น

3. กรณีจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง

สมาคมฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินดังต่อไปนี้

ก. กรณีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

การที่ ทอท. กล่าวอ้างว่าการให้บริการจุดส่งมอบสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และเป็นสิทธิที่อยู่ภายใต้สัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ ทอท. ได้ทำสัญญากับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ นั้น สมาคมฯ ขอเรียนว่า จุดส่งมอบสินค้าเพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง ไปรับสินค้าที่ตนได้ซื้อไว้ก่อนออกเดินทางไปนอกราชอาณาจักรโดยเครื่องบินตามกฎหมายศุลกากรผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่อยู่ในกำกับดูแลของ ทอท. นี้ไม่เคยมีการประมูลหรือไม่มีกำหนดไว้ในเอกสารข้อกำหนดโครงการ (Terms OF Reference) ของโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์แต่ประการใด

นอกจากนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ทอท. ได้ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KPI) ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาตามสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เช่าพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้า โดยที่ KPI ยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ จึงยังไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ทอท. แม้ว่า KPI จะดำเนินการเปิดจุดส่งมอบสินค้าเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองไปแล้วตั้งแต่ปี 2549 ก็ตาม จนในที่สุดคณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท. ได้มีมติเห็นชอบให้ KPI มาทำสัญญาเช่าพื้นที่โดยตรงกับ ทอท. โดยจ่ายค่าตอบแทน 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรให้แก่ ทอท. ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดย ทอท. สงวนสิทธิในการอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่นประกอบกิจการตั้งจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับ ทอท. ทั้งนี้สมาคมฯ ได้เคยชี้แจงประเด็นนี้ไว้โดยละเอียดแล้วในหนังสือที่สมาคมส่งถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ข. กรณีท่าอากาศยานดอนเมือง

ทอท. ได้กำหนดพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าให้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ อาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ท่าอากาศยานดอนเมือง สัญยาเลขที่ 6-06/2555 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ที่ ทอท. ได้ทำกับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (สัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและส่งมอบสินค้าปลอดอากร)

จากข้อเท็จจริงข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กรณีจุดส่งมอบสินค้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่เคยกำหนดในสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ดังที่ ทอท. กล่าวอ้าง และเป็นกรณีที่แตกต่างจากกรณีท่าอากาศยานดอกเมืองที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และส่งมอบสินค้าปลอดอากร ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทอท. มีสิทธิที่จะทำสัญญาให้เช่าพื้นที่ เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้ากับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองรายอื่นๆ ได้ ดังเช่นที่ ทอท. เคยให้ KPI และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เช่าพื้นที่

ปัจจุบันจุดส่งมอบสินค้าจะถูกจัดตั้งอยู่ในอาคารผู้โดยสารขาออกของท่าอากาศยานเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองรายอื่นๆ ไม่สามารถจัดหาหรือมีจุดส่งมอบสินค้าในท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งข้างต้นได้ อีกทั้งบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาตามสัญญาทั้ง 2 แห่งนั้นเป็นเอกชนกลุ่มเดียวกัน จึงมีผลทำให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองที่จะเป็นต้องมีจุดส่งมอบสินค้าในท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งที่อยู่ในกำกับดูแลของ ทอท. โดยปริยาย และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรเห็นว่า จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะเป็นบริการสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องจัดทำ และเหตุผลของ ทอท. ไม่อาจรับฟังได้

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th

4. อำนาจพิเศษ หรือเอกสิทธิ์ของ ทอท. ในการแก้ไขสัญญาฝ่ายเดียว ตามแนวบรรทัดฐานของศาลปกครองสูงสุด และหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

หนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทอท. มีอำนาจพิเศษหรือเอกสิทธิ์ในการแก้ไขสัญญาฝ่ายเดียวตามแนวบรรทัดฐานของศาลปกครองสูงสุด และหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบกฎหมายมหาชน ที่มุ่งเน้นกำหนดภาระหน้าที่ของฝ่ายปกครองในการดำเนินกิจการทางปกครองให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน อันมีหลักการให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจมหาชนเหนือกว่าเอกชน เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของรัฐบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อสัญญาทางปกครองถูกจัดว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายปกครองในการจัดทำบริการสาธารณะแล้ว การปฏิบัติตามสัญญาทางปกครอง จึงอยู่ภายใต้หลักการจัดทำบริการสาธารณะที่สำคัญ 3 ประการ อันได้แก่

    1. หลักว่าด้วยความเสมอภาคของผู้ใช้บริการสาธารณะ

    2. หลักว่าด้วยความต่อเนื่องของการบริการสาธารณะ

    3. หลักว่าด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้การบริการสาธารณะเหมาะสมกับเหตุการณ์และสอดคล้องต่อความต้องการของประชาชน

ทั้งนี้ด้วย หลักการจัดทำบริการสาธารณะทั้ง 3 ประการดังกล่าว การปฏิบัติตามสัญญาทางปกครองเพื่อให้การบริการสาธารณะบรรลุผล คู่สัญญาฝ่ายปกครองจึงมีอำนาจพิเศษหรือเอกสิทธิ์เหนือคู่สัญญาเอกชน เช่น อำนาจในการแก้ไขข้อกำหนดของสัญญาได้ฝ่ายเดียว โดยเอกชนผู้เข้ามาเป็นคู่สัญญากับฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาทางปกครอง และต้องยอมรับอำนาจพิเศษหรือเอกสิทธิ์ดังกล่าวของคู่สัญญาฝ่ายปกครอง อีกทั้งการปฏิบัติตามสัญญาทางปกครองนั้นจะให้ความสำคัญกับภาระหน้าที่ของฝ่ายปกครองในการจัดบริการสาธารณะ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเป็นหลัก และคุ้มครองประโยชน์ของมหาชนหรือประโยชน์ส่วนรวม ในการปฏิบัติตามสัญญาทางปกครองจะอยู่เหนือกว่าประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเสมอ

อย่างไรก็ตาม หากปฏิบัติตามสัญญาทางปกครองด้วยเหตุผลดังกล่าวไปแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน คู่สัญญาฝ่ายเอกชนก็มีสิทธิเรียกร้องให้ฝ่ายปกครองชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ดังปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.676/2554

ด้วยเหตุผลข้างต้น กรณีนี้จะเห็นได้ว่า เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของรัฐบรรลุอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักกฎหมายดังกล่าว ทอท. มีหน้าที่ต้องพิจารณาจัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยแก้ไขข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องได้ฝ่ายเดียวอันเป็นอำนาจพิเศษหรือเอกสิทธิ์ ของ ทอท. ซึ่งบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด มีหน้าที่ต้องยอมรับ และปฏิบัติตาม ส่วนความเห็นของ ทอท. ที่ได้ชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อปฏิเสธไม่ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินตามที่กล่าวข้างต้น (ข้อ 1.) นั้น คลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง และไม่อาจรับฟังได้แต่ประการใด

เนื่องจากการจัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองนี้เป็นการกระทำเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของรัฐบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และเป็นกรณีที่กระทำได้ตามแนวบรรทัดฐานของศาลปกครองสูงสุด และหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ดังนั้น จึงมิได้กระทบต่อความน่าเชื่อถือของ ทอท. ตามที่ ทอท. กล่าวอ้าง และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการและการดำเนินการเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานแต่อย่างใด

5. ข้อสงวนสิทธิตามสัญญา

กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยขอชี้แจงว่า สัญญาที่เกี่ยวกับจุดส่งมอบสินค้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองได้กำหนดข้อสงวนสิทธิของ ทอท. ไว้ดังนี้

(ก) สัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรณภูมิ สัญญาเลขที่ ทสภ. 1-01/2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 ข้อ 25 ข้อสงวนสิทธิ ระบุว่า “ในการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขสัญญานี้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ หรือ ตีความเงื่อนไขสัญญาให้ ทอท. และผู้รับอนุญาตร่วมหารือกันเพื่อหาข้อยุติ ทั้งนี้ ในกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน ให้ความเห็นหรือทางเลือกของ ทอท. ถือเป็นที่สุด”

(ข) สัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ อาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ท่าอากาศยานดอนเมือง สัญญาเลขที่ 6-06/2555 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ข้อ 21 ข้อสงวนสิทธิ 21.1 ระบุว่า “ในการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขสัญญานี้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติหรือตีความเงื่อนไขสัญญา ให้ ทอท. และผู้รับอนุญาตร่วมหารือกับเพื่อหาข้อยุติ ทั้งนี้ ในกรณี 2 ฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน ให้ความเห็นหรือทางเลือกของ ทอท. ถือเป็นที่สุด”

สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากร เห็นว่า ตามข้อสงวนสิทธิในสัญญาทั้ง 2 ฉบับข้างต้น เป็นข้อสัญญาที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดมาแล้วตามกฎหมาย แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า กรณีปัญหาเกี่ยวกับสัญญาเรื่อจุดส่งมอบสินค้าในกรณีนี้ ทอท. และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด สามารถร่วมหารือกับเพื่อหาข้อยุติได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ 2 ฝ่าย มีความเห็นไม่ตรงกัน ให้ความเห็นหรือทางเลือกของ ทอท. ถือเป็นที่สุด และการใช้ดุลพินิจในกรณีนี้เป็นไปด้วยความชอบด้วยกฎหมายและสมเหตุสมผล เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อจัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ ซึ่งทำให้การจัดทำบริการสาธารณะของรัฐบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ

6. ขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยคำนึงถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ขอชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งยืนยันผลการวินิจฉัยไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ ทอท. เพื่อให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ แต่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องดังกล่าวรวมถึง ทอท. ยังไม่ดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินในเวลาอันควร อันเป็นการขัดและไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นการไม่คำนึงถึง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีกฎหมายกลางในการกำหนดขั้นตอน และระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตอันเป็นประโยชน์และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรจึงขอให้ นายกรัฐมนตรีสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Pick-up Counter) ในท่าอากาศยานนานาชาติที่อยู่ในกำกับดูแลของ ทอท. ให้กับร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรได้ใช้ร่วมกันตามคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีดังกล่าว สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยร่วมกับบริษัทสมาชิกที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีนักลงทุนต่างชาติได้ลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท อีกทั้งได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน พร้อมทั้งได้ชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ กว่า 20 ล้านบาท ให้กับกรมศุลกากรไว้แล้ว หากนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังประวิงเวลาไม่ดำเนินการ สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยและนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ผู้เสียหาย จึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตลอดจนคำนึงถึง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ด้วย จักขอบคุณยิ่ง ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อ นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย

ป้ายคำ :