ThaiPublica > เกาะกระแส > “ส.ผู้ค้าปลีกไทย” แนะ AOT แยกประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ ตามหมวดสินค้า – “นิตินัย” แจงTOR – โมเดลธุรกิจ รอที่ปรึกษาสรุป

“ส.ผู้ค้าปลีกไทย” แนะ AOT แยกประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ ตามหมวดสินค้า – “นิตินัย” แจงTOR – โมเดลธุรกิจ รอที่ปรึกษาสรุป

9 มีนาคม 2018


นายนิตินัย สิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ณ ห้องประชุม AOB 1 ชั้น 5 อาคารสำนักงาน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมี นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวสรุปรายงานการดำเนินงานในภาพรวมของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ,ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต ตามนโยบายที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภาคภูมิภาค และรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ในวันเดียวกันนั้น คณะนิติศาสตร์ ได้ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จัดสัมมนาหัวข้อ “สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล” โดยมีข้อเสนอถึงทอท. ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบของสัมปทานดิวตี้ฟรี ก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 แนะนำให้ทอท.เปลี่ยนรูปแบบสัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรี จากเดิมอนุญาตให้รายใหญ่รายเดียวรับสัมปทาน เป็นการให้สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า (Category)

ภายหลังการประชุมมอบนโยบายนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยถึงข้อเสนอแนะของนักวิชาการและสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเกี่ยวกับรูปแบบการให้สัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรีว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีนักวิชาการมาช่วยกันศึกษากันในหลายมุมมอง แต่ในการพิจารณาของ ทอท. ต้องคำนึงถึงเรื่องการบริหารจัดการด้วย ซึ่งตนเคยยกตัวอย่างอยู่บ่อยครั้ง สมมติว่า ผู้ประกอบการรายหนึ่งได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีฝั่งซ้าย อีกเจ้าหนึ่งได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีฝั่งขวา หาก ทอท. กำหนดให้ผู้โดยสารไปลงทางฝั่งซ้ายมาก ฝั่งขวาก็ขายไม่ดี กรณีนี้ควรทำอย่างไร หรือกำหนดให้สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีมี 2 ราย รายหนึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีบริเวณอาคารหลัก (Main Terminal) กับ อีกรายได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีบริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน (Sattellite Terminal) หากผู้รับสัมปทานบริเวณอาคารหลักมีการจัดอีเวนต์ พอผู้โดยสารไปถึงอาคาร Sattellite Terminal ก็ต้องรีบขึ้นเครื่อง ผู้ที่ได้รับสัญญาสัมปทานบริเวณอาคาร Sattellite Terminal ก็จะลำบากในการบริหารจัดการ

“ขณะนี้ ทอท. ได้มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาตามกระบวน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งจะมีการประเมินมูลค่าโครงการลงทุนต่างๆ และศึกษารูปแบบของธุรกิจ (Business Model)เบื้องต้น ทอท. ก็จะรับข้อเสนอในแต่ละมุมมอง นำมาวิเคราะห์ร่วมกัน คาดว่าจะสรุปอยู่ในรายงานของบริษัทที่ปรึกษา รวมทั้งการประเมินมูลค่าโครงการก็รวมอยู่ในนั้นด้วย” นายนิตินัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่าง TOR อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณารายได้หรือยัง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนไหน?

นายนิตินัยตอบว่า “ยังครับ ขั้นแรกต้องประเมินมูลค่าโครงการก่อน (Valuation) เพื่อพิจารณาว่าโครงการนี้ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมทุนฯ หรือไม่ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประเมินมูลค่าโครงการ และศึกษา Business Model ต่างๆ จากนั้นก็จะมายกร่าง TOR ซึ่งจะต้องล้อไปกับคอนเซปต์ที่ว่าควรจะให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่รายเดียวไปบริหาร (Single Operator) หรือให้สัมปทานผู้ประกอบการหลายราย (Multiple Operator) โดย TOR จะต้องสอดคล้องกับคอนเซปต์”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าควรให้สัมปทานรายใหญ่รายเดียวเหมือนเดิมหรือไม่ นายนิตินัยกล่าวว่า “ต้องรอผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาก่อน เพราะอยู่ในกระบวนการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนฯ”

ผู้สื่อถามว่าผลศึกษาเสร็จเมื่อไหร่ นายนิตินัยตอบว่า”ประมาณ 2-3 เดือน หลังจากที่ปรึกษาทำรายงานเสร็จ ก็เสนอให้บอร์ด ทอท. พิจารณาตามกระบวนการ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนฯ”

ผู้สื่อข่าวถามว่าการแบ่งสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีออกเป็นโซนซ้ายและโซนขวา และถ้าแบ่งสัญญาตาม Category ได้หรือไม่ นายนิตินัยตอบว่า “ไม่ใช่ครับ นั่นคือผมยกเป็นตัวอย่าง เดี๋ยวจะไปโควตอีก นอกจากมุมมองบางมุมมองและก็มีมุมมองบางมุมมอง ต้องเอาทุกๆ มุมมองมาพิจารณาร่วมกัน คุณชอบเอาผมไปโควตว่าผมพูดอย่างนี้ อีกทีนะ สื่อมวลชนเป็นพยาน เมื่อกี้เป็นแค่ตัวอย่าง อย่างไรก็ต้องรอผลการศึกษา”

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมต้องเร่งเปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี นายนิตินัยตอบว่า “ต้องเปิดประมูลพร้อมกันครับ เพราะว่าอาคารผู้โดยสารหลังใหม่จะสร้างเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน 2562 ขณะที่สัญญาสัมปทานของบริษัทคิงเพาเวอร์กำลังจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 หมายความว่า อาคารผู้โดยสายหลังใหม่จะสร้างเสร็จก่อนที่สัญญาสัมปทานของบริษัทคิงเพาเวอร์ครบกำหนดประมาณ 10 เดือน หลังจากสร้างอาคารหลังใหม่เสร็จ ก็ต้องมีการทดสอบระบบ กว่าจะทดสอบระบบเสร็จ ก็ประมาณไตรมาส 2-3 ใกล้เคียงกับสัญญาสัมปทานของบริษัทคิงเพาเวอร์สิ้นสุดพอดี การเปิดประมูลครั้งนี้ก็จะรวมพื้นที่ทั้งอาคารปัจจุบันและอาคารใหม่เข้าด้วยกันเลย ระยะเวลาใกล้เคียงกัน”

ฟังการถามตอบคลิปเสียงที่นี่