ThaiPublica > เกาะกระแส > เสวนาสัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (ตอน 2): ธุรกิจดิวตี้ฟรีไทยตกขอบมาตรฐานโลก – โกลด์แมนแซคชี้รายได้สัมปทานไทยต่ำสุดในภูมิภาค

เสวนาสัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (ตอน 2): ธุรกิจดิวตี้ฟรีไทยตกขอบมาตรฐานโลก – โกลด์แมนแซคชี้รายได้สัมปทานไทยต่ำสุดในภูมิภาค

15 มีนาคม 2018


เสวนามุมมองธุรกิจหัวข้อ “สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (Best Practice)” ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเสวนาหัวข้อ “สัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (Best Practice)” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงที่สองเป็นการอภิปราย “มุมมองทางธุรกิจ” มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, Ms. Patrine Tay Marketing and Business Development Director, Asia Pacific จากบริษัท Vinci Airports, Mr.Ben Hartwright Executive Director, Goldman Sachs, Global Investment Research, รองศาสตราจารย์ ดร.สมชนก ภาสกรจรัส และผู้ช่วยศาสตรา ดร.วิโรจน์ วาทินพงศ์พันธ์ และมีนายมนต์ชัย วงศ์กิตติไกรวัล Business Editor จาก The Standard เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งผู้ร่วมอภิปรายส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า ควรส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ไม่ว่าสัมปทานนั้นจะเป็นรูปแบบใด

ต่อจากตอนที่ 1

ปรับสัมปทานตอบรับท่องเที่ยวแบบ Shopping Tourism

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้จัดทำการศึกษา“ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากร” ขึ้น เนื่องจากประเด็นแรก Duty Free เป็นส่วนหนึ่งของค้าปลีกที่เรียกว่า Travel Retailing ทั้งนี้ธุรกิจค้าปลีกในประเทศโดยรวมมีมูลค่าสูงถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของรายได้ประชาชาติ (Gross Domestic Product: GDP) หรือประมาณ 20%

ประเด็นที่สอง ในปี 2556 มีข้อมูลว่าคนไทยนำเงินไปใช้จ่ายในต่างประเทศ 150,000 ล้านบาท โดยที่เป็นการช้อปปิ้งจำนวน 51,000 ล้านบาท ก็มองว่าหากดึงเงินส่วนนี้มากลับ 50% ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศได้ และหากว่าเงินนี้เข้าไปอยู่ในร้านค้าปลอดภาษีอากรในเมืองนอกเหนือจากสนามบินก็จะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ถึง 2 รอบ

เมื่อ 2 ปีก่อนได้เสนอแนวคิดต่อภาครัฐให้จัดฤดูกาลช้อปปิ้งเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาไทยมีแต่ฤดูกาลท่องเที่ยว ต่างจากฮ่องกง ที่มีฤดูกาลช้อปปิ้งทั้งเกาะช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมร่วม 2 เดือน โดยเสนอว่าน่าจะทดลองจัดฤดูกาลช้อปปิ้งก่อนหน้าฤดูกาลช้อปปิ้งของฮ่องกงสัก 2 เดือน เพราะคนไทยก็ไปช้อปปิ้งฮ่องกงจำนวนมาก แต่ขณะนั้นหลายภาคส่วนไม่เห็นด้วย

ประเด็นที่สาม จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากเป็น 32 ล้านคนในปีก่อน ติดอันดับ 9 ของสนามบินที่มีผู้โดยสารสูงสุดของโลก และคาดว่าน่าจะถึง 35 ล้านคนในปีนี้ อีกทั้งกรุงเทพมหานครมีผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออกถึง 26 ล้านคนติดอันดับ 1 ของโลก ดังนั้นจะเห็นว่าไทยอยู่ในอันดับที่ดีทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการศึกษาสนามบิน พบว่าสนามบินสุวรรณภูมิที่มีผู้โดยสารเดินทางจำนวนมากติดอันดับที่ 38 ของโลกจาก 11 ตัวชี้วัด ที่ประกอบด้วย หนึ่ง สถานที่และความสะดวกในการจับจ่าย (Shopping Facilities) สอง Food & Beverage สาม ความปลอดภัย และที่เหลือ ได้แก่ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ป้ายบอกทางต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจากตัวชี้วัดทั้งหมดไทยได้คะแนน 3.5 จากคะแนนเต็ม 5 กลายเป็นสนามบินระดับ 3 ดาว บางตัวชี้วัดไทยได้คะแนน 3.2 และบางด้านได้ 2.8 คะแนนซึ่งต่ำลงไปอีก ส่วนที่ได้คะแนน 4.0 คือ Shopping Facilities ขณะที่ Food & Beverage ได้คะแนน 3.8 แม้จะดีว่าตัวชี้วัดอื่น แต่ด้าน Shopping Facilities สนามบินชั้นนำอื่นในภูมิภาคได้คะแนนเต็ม 5 คะแนน

Shopping Facilities และ Food & Beverage เป็นเรื่องการจัดสรรพื้นที่และการให้สัมปทาน ส่วนที่เหลือไม่ได้เกี่ยวกับสัมปทาน เป็นส่วนที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยต้องคิดว่าจะทำอย่างไร และมองว่าการที่ได้คะแนนต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นโครงสร้างจากสัมปทาน ทั้งจากรูปแบบการให้สัมปทาน และระยะเวลาการให้สัมปทาน

ด้าน Shopping Facilities ยังมีปัจจัยชี้วัดอีก 5 ตัว เช่น ความหลากหลายของสินค้าซึ่งไทยไม่มี ความหลากหลายของร้านค้าน้อยลง สินค้าในหมวดสินค้าระดับกลางไม่มี ขณะที่สนามบินอื่นมีร้าน Uniqlo หรือ H&M อยู่ในสนามบินได้ แต่ไทยไม่มี

สนามบินอื่นพยายามทำให้สนามบินเป็นเหมือนศูนย์การค้า ไม่ใช่ไปสนามบินเพื่อการเดินทางหรือไปส่งคน สิ่งที่เจ้าของสัมปทานได้คือได้คนเข้าไปในพื้นที่ในส่วนที่เป็นเชิงพาณิชย์หรือ Commercial Area เพราะในสนามบินมีพื้นที่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ Duty Free อีกส่วนหนึ่งคือ Commercial พื้นที่เชิงพาณิชย์ ดังนั้นจะเห็นชัดถึงปัจจัยชี้วัดในส่วนของ Food & Beverage ซึ่งเป็นพื้นที่ Commercial ส่วนแฟชั่นอยู่ในส่วนของ Duty Free แสดงให้เห็นว่าไทยยังตกขอบอีกมากเป็นเรื่องของโครงสร้างสัมปทาน จึงต้องหาแนวทางว่าจะอย่างไร

ปัจจุบันสัมปทานของไทยเป็นแบบ Master Concession หรือสัมปทานรายใหญ่รายเดียว แต่พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่ใช่สนามบินเล็ก โดยพื้นที่ของไทยมีประมาณ 12,000 ตารางเมตร ใกล้เคียงกับสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้และสนามบินชางงีของสิงคโปร์ พื้นที่ Duty Free จึงไม่ต่างกัน หากยังใช้สัมปทานแบบ Master Concession จะทำให้ไทยเสียประโยชน์ ผลการศึกษาจึงเสนอให้พิจารณารูปแบบ Multiple Concessions by Category หรือสัมปทานตามกลุ่มสินค้า

ระยะเวลาของสัมปทานก็เป็นประเด็นส่วนใหญ่ สนามบินอื่นให้สัมปทานเป็นระยะเวลา 5-7 ปี แต่ไทยให้สัมปทาน 10 ปี แต่ระยะเวลา 5-7 ปีจะทำให้มีการพัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ ธุรกิจค้าปลีกทั่วไป อย่างศูนย์การค้าทุกๆ 3 ปี ต้องมีการปรับปรุง (Renovate) และทุกๆ 5 ปีต้องมี Major Renovate

การศึกษายังได้มองถึงมีปัจจัยอื่นที่จะยกระดับสนามบินของไทยได้ ซึ่งก็คือ ค่าธรรมเนียมสัมปทาน พบว่า สัดส่วนที่เจ้าของสัมปทานในไทยได้ 17-19% โดยได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 17% และสนามบินดอนเมืองได้ 19% ขณะที่สนามบินอื่นได้ 30% ขึ้นไป ทั้งที่เจ้าของสัมปทานคือการท่าฯ น่าจะยังได้ประโยชน์อีกเยอะ การที่ผู้รับสัมปทานหลายรายจะทำให้เกิดการแข่งขัน เป็นการแข่งขันที่จะเป็นประโยชน์กับเจ้าของสัมปทาน และไม่มีผลกระทบต่อร้านค้าปลีกในเมือง เพราะเป็นคนละระดับกัน ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร

ทางด้านโครงสร้างผู้ดูแล สนามบินส่วนใหญ่จะมี 3 ภาคส่วน คือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และการท่าฯ ในแง่การวางโครงสร้างสัมปทานก็แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นแรกคือการพิจารณาคุณสมบัติของผู้จะมาขอรับสัมปทาน หลังจากผ่านคุณสมบัติแล้วพิจารณาด้านราคา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากล หรือ Best Practice

การเปลี่ยนสัมปทานจาก Master Concession ประเทศจะได้ประโยชน์ เพราะจะตอบสนองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่รูปแบบเปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งนั้น การท่องเที่ยวของไทยมีการพัฒนาขั้นตอนจากยุคแรกเป็นธีม Sea-Sun-Sand จุดขายคือทะเล ต่อมาเป็น Cultural ขายวัฒนธรรม วัดวาอาราม สิ่งก่อสร้างต่างๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งการที่จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาอีกคงใช้จุดขายเดิมไม่ได้อีก ธีมก็เปลี่ยนเป็น Food & Beverage และล่าสุดเป็น Shopping Tourism คำถามแรกของนักท่องเที่ยวคือ เมืองที่จะไปท่องเที่ยวนั้นมีแหล่งช้อปปิ้งหรือไม่ คำถามรองลงมาคือที่พัก โรงแรม ความปลอดภัยเป็นอย่างไร ขณะนี้หลายประเทศก็เน้น Shopping Tourism

ในยุคแรกที่จุดขายคือ Sea-Sun-Sand การให้สัมปทานแบบ Master Concession ก็ทำได้ เพราะ Sea-Sun-Sand ไม่เน้นการช้อปปิ้ง แต่ปัจจุบันช้อปปิ้งเป็นเรื่องหลักนักท่องเที่ยวอยากจะได้ของที่ไม่เหมือนใคร มีตัวเลือกให้เลือก

นอกจากนี้ เทคโนโลยีทำให้เวลาสั้นลง การเดินทางใช้เวลาน้อยลง ผู้บริโภคได้รับข่าวสารมากขึ้น จึงต้องการทางเลือกที่ดีที่สุด การที่เปลี่ยนสัมปทาน Master Concession มาเป็น Multiple Concessions by Category ในพื้นที่สุวรรณภูมิที่ใหญ่เท่ากับชางงีหรืออินชอน จะทำให้ได้ผู้รับสัมปทานแต่ละรายที่มีขีดความสามารถเฉพาะด้าน ทำให้สินค้ามีความหลากหลายตอบสนองผู้บริโภคได้ ทำให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น การแข่งขันทำให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งในประเทศมีแฟชั่นหลายรายที่มีคุณภาพ มีการบริหารจัดการที่ดี

“ถ้าเจ้าของสัมปทานมีเหตุผลว่าทำไมถึงจำเป็นต้องเป็น Master Concession และเป็นเหตุผลที่มีหลักการก็ยอมรับได้ แต่สุวรรณภูมิที่มีขนาดใหญ่มีนักท่องเที่ยว 32 ล้านคน รวมขาออกขาเข้า 50 กว่าล้านคน Master Concession อาจจะไม่เหมาะสมแล้ว อาจจะมีรูปแบบอื่นที่จะให้ประโยชน์กับภาครัฐได้เพิ่มขึ้น อย่างที่ผลการศึกษาแสดงให้เห็น สนามบินไทยไทยภาครัฐได้น้อยกว่าสนามบินชางงีถึง 5.8 เท่า ทั้งที่เนื้อที่ไม่ต่างกันมาก หากสามารถปรับรูปแบบสัมปทาน ที่ไม่ใช่ Multiple Concessions by Category ก็ได้ แต่สามารถให้ประโยชน์แก่ภาครัฐสูงสุด เป็นสิ่งที่สมาคมฯ ต้องการ ขอแข่งขันอย่างเป็นธรรมและสมดุล”

ดร.ฉัตรชัยกล่าวว่า TOR ของการเปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีรอบใหม่น่าจะออกในเดือนมีนาคมนี้ ก่อนปี 2563 ที่สัญญาเดิมจะสิ้นสุด ก็ต้องการให้พิจารณาทางออก โดยคำนึงถึงมองยุทธศาสตร์ประเทศที่วาง ให้เป็น Tourism Hub หรือ Shopping Tourism ส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ รวมทั้งต้องมองในแง่ผู้บริโภคด้วย สนามบินเป็น Captive Market หรือตลาดของตาย ทำอย่างไรให้ลูกค้าควักเงินซื้อของให้ได้

สมาคมค้าปลีกไทยผลักดันเรื่องนี้มาตลอด 7-8 ปี มีการเสนอแนะ Shopping Paradise มีการพูดถึง Shopping Tourism มีข้อเสนอภาครัฐตลอดว่าควรเปิดเสรีการค้าโดยเฉพาะร้านค้าในเมือง และล่าสุดสามารถผลักดันให้มีการคืนภาษี VAT Refund ในเมืองได้แล้ว โดยจะเปิดในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะมีการคืนเงินภาษีเป็นเงินบาทในไทยก่อนนักท่องเที่ยวเดินทางกลับ เพื่อให้ละลายเงินบาทในไทย

โกลด์แมนแซคชี้ไทยได้ค่าสัมปทานต่ำกว่าสนามบินอื่นในภูมิภาค

Mr.Ben Hartwright กล่าวว่า โกลด์แมนแซคซึ่งวิเคราะห์หุ้นที่ทำธุรกิจบริหารสนามบินในภูมิภาคบนหลักการวิเคราะห์จากกระแสเงินสด ปัจจัยที่มีผลต่อรายได้ โดยทั่วไปแล้วรายได้สนามบิน 20-30% มาจากรายได้ที่ไม่ใช่เกี่ยวกับกิจการการบิน สนามบินส่วนใหญ่มีการให้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีอากร ซึ่งในสัญญาจะมีการรับประกันรายได้ขั้นต่ำ ดังนั้น การวิเคราะห์โครงสร้างสัมปทานจึงมีความสำคัญต่อการวิเคราะห์หุ้นในกลุ่มนี้ทั้งในเชิงรายได้และมูลค่าหุ้น

ในปีที่ผ่านมาพบว่าการปรับรูปแบบสัมปทานมีผลต่อหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจบริหารสนามบิน มีผลต่อราคาหุ้น (Valuation) โดยในปีที่แล้วสัญญาสัมปทานในเอเชียมีการปรับใหม่ มีทั้งการต่อสัญญา ปรับเงื่อนไข โดยในจีนมีการเซ็นสัญญาสัมปทานใหม่หลายฉบับ ในปักกิ่ง มีกระบวนการพิจารณามากขึ้น มีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมขึ้นจาก 25% เป็น 40% จึงมีผลให้ราคาหุ้นปรับขึ้น นอกจากนี้ ที่กวางโจวยังมีการเปิดให้มีร้านค้า Duty Free ใหม่ โดยมีอัตรา Revenue Sharing 35% ส่วนที่สนามบินเซี่ยงไฮ้ อยู่ที่ 20-25% ซึ่งสำหรับนักลงทุนแล้ว มองว่าเป็นการประกันรายได้ขั้นต่ำ

สำหรับ AOT นักลงทุนมองว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุลง การประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนในปีที่แล้ว นักลงทุนก็คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในไทยด้วย ในปีที่ผ่านมาราคาหุ้น AOT จึงปรับตัวขึ้นอย่างมาก ราคาหุ้นขานรับไปแล้วเพราะมีตัวอย่างจากจีน เหตุผลหลักคือการคาดว่าสัญญาสัมปทานใหม่จะมีอัตราเปอร์เซ็นต์รายได้ที่สูงขึ้น สัญญาสัมปทานเดิมได้ทำกันมาเมื่อ 12 ปี ก่อน แต่ขณะนี้การเดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2006

ปัจจุบัน AOT มีสัญญาสัมปทาน 2 ฉบับคือที่สุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งที่ดอนเมืองอยู่ที่ 20% สุวรรณภูมิ 15% อัตราเปอร์เซ็นต์ของไทยต่ำกว่าสนามบินอื่นในภูมิภาค ซึ่งอัตราเปอร์เซ็นต์นี้คือปัจจัยหลักหนึ่งที่มีผลต่อรายได้ของ AOT

อ่านต่อตอนจบ : Best Practice กรณี “Vinci” มืออาชีพบริหารสนามบินทั่วโลก