22 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นเดดไลน์ข้อสรุป”จุดส่งมอบสินค้า” ร้านค้าปลอดภาษีในเมือง ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกรมศุลกากรจะชี้ขาดอย่างไร ด้วยอำนาจเต็มอยู่ที่อธิบดีกรมศุลกากร ไม่เกี่ยวกับบริษัทคิงเพาเวอร์หรือการท่าอากาศยานไทยว่าสัญญาจะหมดลงเมื่อใด เพราะด้วยกฏหมายกรมศุลกากรอธิบดีสามารถตัดสินใจได้ทันที ว่ากระบวนการส่งมอบสินค้าที่ลูกค้าซื้อจากร้านค้าปลอดภาษีในเมืองสามารถรับได้ที่พื้นที่ไหน โดยไม่เกี่ยวกับพื้นที่ใดๆของคิงเพาเวอร์ที่เป็นเจ้าของอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสนามบินดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิ
ปมข้อขัดแย้งมาจากการเข้ามาของดิวตี้ฟรีรายใหม่ที่ต้องการเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมือง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ของไทยเอง รวมทั้งดิวตี้ฟรีสัญชาติเกาหลีอย่าง ล็อตเต้ จำกัดเป้าหมายโกยเงินออกจากกระเป๋านักท่องเที่ยวที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยความแรงของการรุกให้เปิดเสรีธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองเป็นกระแสข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” บิ๊กบอสคิงเพาเวอร์ ออกโรงให้สัมภาษณ์น.ส.พ.ไทยรัฐและสื่ออื่น รวมทั้งตอบคำถามผู้สื่อข่าวในประเด็นดังกล่าว ขณะที่นางรวิฐา พงศ์นุชิต อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, อดีตเลขานุการนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปัจจุบัน “นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย” ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจร้านค้าปลอดอากร ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงคมนาคม, กรมศุลกากร และบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้ชัดเจน เพียงแค่ประกาศให้ผู้ประกอบการทราบก็สามารถปฏิบัติได้ทันที
ด้วยความรู้ด้านกฎหมาย ประกอบกับเคยเป็น”ลูกหม้อกระทรวงคลัง” มาก่อน การลุกขึ้นมาเดินหน้าชนกับหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขการเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมืองครั้งนี้แล้ว ยังเป็นการเดินหน้าชน“วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจ้าพ่อดิวตี้ฟรีที่มีคอนเนคชั่นปึ้ก การงัดข้อกฎหมายมากาง ว่ากันตามข้อเท็จจริง จึงเป็นช่องทางการเดินเกมของ นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยที่หวังว่าจะได้รับการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ไม่แตะสัญญาของคิงเพาเวอร์แต่อย่างใด
นางรวิฐาเล่าย้อนว่า สมาคมแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นช่วงกลางปี 2558 มีสมาชิก 3 ราย ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรไม่เกิน 10 ราย สมาคมแห่งนี้มีสมาชิกแค่ 3 ราย หากคิดเป็นสัดส่วนถือว่ามีมากพอสมควร
สมาชิกของสมาคมฯ รายแรก คือ บริษัท จีเอ็มเอส ดิวตี้ฟรี จำกัด เปิดกิจการร้านค้าปลอดอากร จังหวัดภูเก็ต เปิดจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) อยู่ภายในท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต หรือสนามบินภูเก็ต บริษัท จีเอ็มเอสจึงไม่มีปัญหาเรื่องจุดส่งมอบสินค้าเหมือนสมาชิกรายอื่น
ทั้งนี้ เนื่องจากสนามบินภูเก็ตได้นำจุดส่งมอบสินค้าออกมาเปิดประมูล โดยกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ชนะการประมูลต้องจัดพื้นที่ให้ผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกรายที่เปิดกิจการอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง อาทิ กระบี่ ภูเก็ต มาขอเช่าพื้นที่ต่อจากบริษัทคิงเพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนั้นได้ บริษัทคิงเพาเวอร์จึงทำหน้าที่เสมือนผู้บริหารจัดการพื้นที่ หรือ “Operator” ทำให้บริษัทจีเอ็มเอสมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงกว่าบริษัทคิงเพาเวอร์ เพราะนอกจากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการเช่าให้ท่าอากาศยานภูเก็ต 3% ของยอดขายแล้ว ยังต้องจ่ายค่าเช่าให้บริษัทคิงเพาเวอร์อีก 5%
“หากมองในแง่ของความเป็นธรรม หรือความเสมอภาค ร้านค้าปลอดอากรในเมืองควรจ่ายค่าธรรมเนียมการเช่าในอัตราที่เท่าเทียมกัน ซึ่งตามหลักการดังกล่าวนี้ บริษัทการท่าอากาศยานไทย ( ทอท. ) ควรทำหน้าที่เป็น Operator และถ้า ทอท. ไม่ทำ ทอท. อาจจะมอบหมายให้นิติบุคคลเป็นที่กลาง ทำหน้าที่แทน ไม่ควรมอบหมายให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรรายหนึ่งรายใดทำหน้าที่เป็น Operator อย่าลืมว่าเวลาลูกค้าไปซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง สินค้าปลอดอากรจะถูกใส่ไว้ในถุงใสๆ ส่งมาวางไว้ที่ Pick-up Counter ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็น Operator ก็จะล่วงรู้ข้อมูลทางธุรกิจของคู่แข่งขันทางการค้าทุกรายที่นำสินค้ามาวางไว้ที่ Pick-up Counter ร้านไหนขายสินค้าอะไรไปบ้าง สินค้าไหนขายดี ราคาเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลทางการตลาด หากคู่แข่งขันล่วงรู้ข้อมูลเหล่านี้ อาจจะทำให้ฝั่งตรงข้ามเสียเปรียบได้”
สมาชิกรายที่ 2 คือ บริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นบริษัทที่มีคนไทยถือหุ้น 51% บริษัทล็อตเต้ เกาหลี ถือหุ้น 49% เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยโดยการเชื้อเชิญของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะที่เดินทางไปเยือนประเทศเกาหลี
ก่อนล็อตเต้จะเข้ามาทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองไทย ได้มีการทำการศึกษาล่วงหน้า พบว่าการเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองไทยอาจจะมีเรื่องจุดส่งมอบสินค้า เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ผู้บริหารของล็อตเต้เข้าพบ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น ทาง พล.อ.อ. ประจิน จึงสอบถามไปที่ ทอท. ว่า หากผู้ประกอบการรายอื่นต้องการเปิดจุดส่งมอบสินค้าภายในสนามบินนานาชาติที่ ทอท. ดูแลอยู่ สามารถดำเนินการได้หรือไม่ ทอท. รายงาน พล.อ.อ. ประจิน ว่าเปิดได้ ไม่มีปัญหา
“หลังจากได้รับคำยืนยันจาก พล.อ.อ. ประจิน ล็อตเต้จึงไปทำสัญญาเช่าพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร กับศูนย์การค้าโชว์ดีซี พระราม 9 เปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่นั่น ทางล็อตเต้มาถามดิฉันในฐานะนักกฎหมายของกระทรวงการคลังว่าต้องทำอะไรต่อไป ดิฉันแนะนำให้ล็อตเต้ไปขอใบอนุญาตจากกรมศุลกากรให้ถูกต้อง”
จากนั้น ล็อตเต้ก็ไปติดต่อกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ศุลกากรแจ้งให้ล็อตเต้ทราบถึงคุณสมบัติในการขออนุญาตจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรตามประกาศกรมศุลกากรฉบับที่ 20/2549ทั้งหมดมี 7 ข้อ แต่ไม่มีข้อความใดกำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องไปหาพื้นที่ที่จะเปิดจุดส่งมอบสินค้ามาประกอบการยื่นขออนุญาต ปรากฏว่าในระหว่างที่ยื่นขอคำอนุญาตเปิดร้านค้าปลอดอากร เจ้าหน้าที่ศุลกากรแจ้งให้ล็อตเต้ทราบโดยวาจาว่าต้องไปหาพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้ามาก่อน
“ล็อตเต้ก็เข้าใจว่าน่าจะขอเช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ ล็อตเต้จึงทำหนังสือถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ตอบกลับมา ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองทำหนังสือตอบกลับว่าไม่สามารถหาพื้นที่ให้ล็อตเต้เช่าได้ เพราะพื้นที่แออัด”
Pick-up Counter มีความสำคัญอย่างไร
นางรวิฐากล่าวต่อว่า “Pick-up Counter” ถือเป็นช่องทางหนึ่งในกระบวนการส่งมอบสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง ตามประกาศกรมศุลกากรฉบับที่ 20/2549 ได้กำหนดวิธีการจัดส่งสินค้าของร้านค้าปลอดอากรในเมืองเอาไว้ 3 วิธี คือ 1. ส่งมอบให้ผู้ซื้อนำติดตัวไปพร้ออมกับตน 2. ส่งมอบสินค้าโดยวิธีอื่น เช่น ส่งทางไปรษณีย์ ทางเรือ ทางด่านศุลกากร และ 3. ส่งมอบของ ณ จุดส่งมอบสินค้าที่กรมศุลกากรกำหนดและเห็นชอบ หากดูตามตัวบทกฎหมาย การเขียนถ้อยคำของกฎหมายไม่มีการเว้นวรรค กล่าวคือ กรมศุลกากรจะมีอำนาจทั้งกำหนดจุดส่งมอบสินค้าและเห็นชอบอย่างเบ็ดเสร็จ กรมศุลกากรชอบตรงไหน ก็ตรงนั้น ยกตัวอย่าง กรณีของสนามบินสุวรรณภูมิ กรมศุลกากรกำหนดและเห็นชอบให้จุดส่งมอบสินค้าอยู่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่ทอท. ตีความว่าจุดส่งมอบสินค้าเป็นบริการทั่วไป ควรนำจุดส่งมอบสินค้าไปวางรวมอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีบริษัทคิงเพาเวอร์เป็นผู้เช่า ดังนั้น จึงเป็นสิทธิของบริษัทคิงเพาเวอร์ที่จะอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใดเช่าหรือไม่ให้เช่า
“กรณีนี้อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ ทอท. ไม่ทำหนังสือแจ้งล็อตเต้ว่าจะให้เช่าพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อทำจุดส่งมอบสินค้าได้หรือไม่ จริงๆ แล้ว ทอท. ควรทำหนังสือแจ้งล็อตเต้ว่า พื้นที่จะที่ทำจุดส่งมอบสินค้าอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทคิงเพาเวอร์ ล็อตเต้ต้องไปเจรจาขอเช่าพื้นที่กับคิงเพาเวอร์เอง ซึ่งล็อตเต้ทำหนังสือถาม ทอท. ไป 2 ฉบับ แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จาก ทอท. ”
ต่อมา บริษัทล็อตเต้ได้ทำเรื่องไปขอเช่าพื้นที่เพื่อทำจุดส่งมอบสินค้ากับสนามบินอู่ตะเภา ในที่สุดบริษัทล็อตเต้ก็ได้รับอนุญาตให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินอู่ตะเภา
เมื่อถามว่าทำไมบริษัทล็อตเต้ต้องทำเรื่องมาขอเปิดจุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินอู่ตะเภา นางรวิฐากล่าวว่าบริษัทล็อตเต้จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ระหว่างที่ยื่นเรื่องขออนุญาต ซึ่งกล่าวโดยวาจาให้บริษัทล็อตเต้หาพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้ามาประกอบการขออนุญาตเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมือง ทั้งที่คำแนะนำดังกล่าวไม่มีอยู่ในหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรในเมือง ตามประกาศกรมศุลกากรฉบับที่ 20/2549 แต่ที่ต้องทำเรื่องขอเช่าพื้นที่กับสนามบินอู่ตะเภา เพราะต้องการได้รับใบอนุญาตเปิดบริการร้านค้าปลอดอากรในเมืองจากกรมศุลกากร จึงต้องทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ศุลกากร
อย่างไรก็ตาม หลังจากบริษัทล็อตเต้ยื่นเอกสารขอจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรในเมืองครบถ้วนแล้ว ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดร้านค้าปลอดอากรในเมืองโดยทันที บริษัทล็อตเต้ต้องไปลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าทัณฑ์บน ติดตั้งระบบไอที หรือเชื่อมต่อกับกรมศุลกากร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบยอดขายของบริษัทล็อตเต้ได้ นี่คือสถานะของบริษัทล็อตเต้
แนะดิวตี้ฟรีในเมือง เชื่อมข้อมูลยอดขายกับกรมศุล- ทอท.
“ล่าสุด ทางสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ได้ขอให้ทุกร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกราย ต้องจัดทำระบบ Point Of Sale หรือ “POS” เชื่อมต่อกับจุดส่งมอบสินค้าทุกจุดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ ทอท. ใช้เป็นข้อมูลในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้ และยังใช้เป็นข้อมูลให้กรมศุลกากรใช้ตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนกับสินค้าที่ขายออกไป รวมทั้งเป็นข้อมูลสำคัญให้กรมสรรพากรใช้จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ในฐานะที่ดิฉันเคยทำงานกับหน่วยงานจัดเก็บภาษีมาทั้งชีวิต เชื่อว่า วิธีนี้น่าจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมการเช่าพื้นที่จากธุรกิจประเภทนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งสมาชิกของสมาคมฯ มีความเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง”
สมาชิกรายที่ 3 คือ บริษัท เซ็นทรัล ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด ก็เป็นอีกรายหนึ่งที่ต้องการขยายธุรกิจค้าปลีก โดยการเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมือง แต่บริษัทเซ็นทรัลไม่เห็นด้วยกับกรณีที่บริษัทล็อตเต้ต้องไปขอเช่าพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้ากับสนามบินอู่ตะเภาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ถือว่าไม่มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ทางบริษัทเซ็นทรัลต้องการให้การแก้ปัญหาเรื่องจุดส่งมอบสินค้าให้ชัดเจนก่อน จึงยังไม่ยื่นขออนุญาตเพื่อเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมือง
“ทั้งจีเอ็มเอส, ล็อตเต้ และเซ็นทรัล ต่างก็มีความเห็นตรงกัน ต้นตอของปัญหาเกิดจากกฎหมายศุลกากรประกาศออกมาแล้วไม่มีผลในทางปฏิบัติ ทำให้นักลงทุนทั่วไปไม่ได้รับความเป็นธรรม สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองไม่ได้มีแค่ 3 รายเท่านั้น รายอื่นๆ ก็อยากจะเปิดเหมือนกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสรรพกำลังของแต่ละราย หลังจากนั้น ผู้ประกอบการทั้งหมดก็มาหารือกันในสมาคมฯ ดิฉันจึงเริ่มทำการศึกษากฎหมายศุลกากร ระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว น่าจะทำได้”
ขณะเดียวกันสถานการณ์บ้านเมืองของเราในขณะนี้ ไม่มีภาคอุตสาหกรรมใดที่เป็นความหวังของประเทศไทยได้เลย นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฝากการบ้านให้สมาคมค้าผู้ค้าปลีกไทย สมาคมค้าศูนย์การค้าไทย และสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยไปช่วยกันคิดระหว่างการหารือ “ทำอย่างไรจะควักเงินออกจากกระเป๋านักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้”
“แต่อย่าลืม ประเทศไทยมีแต่ฤดูการท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีฤดูกาลช็อปปิ้ง จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยใช้จ่ายเงินวันละ 4,000 กว่าบาทต่อคน และใน 4,000 บาท ประกอบด้วยค่าโรงแรม ค่าอาหาร เป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้มีค่าช็อปปิ้ง 1,200-1,500 บาทเท่านั้น หากเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมืองจะทำให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกจับจ่ายใช้สอยมากกว่าที่ควรจะเป็น อย่าคิดว่านักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาดูวัฒนธรรม หรือปูชนียสถาน หรือดูอะไรก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้มาดูครั้งเดียวก็เลิก ไปดูที่ประเทศอื่นๆ ต่อ แต่สิ่งที่จะจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยซ้ำ คือ การช็อปปิ้ง หากนักท่องเที่ยวมีเวลาน้อย ก็ช็อปปิ้งในดิวตี้ฟรีในเมืองได้”
“สินค้าที่วางขายในร้านค้าปลอดอากร อย่าคิดว่าขายได้เฉพาะสินค้าแบรนด์เนมเท่านั้น สินค้าเอสเอ็มอี OTOP เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้มากที่สุด เช่น ขนมและผลิตภัณฑ์สปาร์ ดิฉันเคยหารือกับบริษัทล็อตเต้ หากได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร ช่วยนำสินค้าเอสเอ็มอีไทยไปวางขายที่ร้านค้าปลอดอากรของล็อตเต้ที่มีอยู่ทั่วโลก บริษัทล็อตเต้รับปากว่าได้ แต่มีข้อแม้ว่าฝ่ายไทยควรดูแลเรื่องคุณภาพของสินค้า ประเด็นนี้ได้มีการหารือกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์”
และก่อนหน้านี้วันที่ 22 ธันวาคม 2558 นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมกับสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย เข้าพบนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหาทางแก้ปัญหาจุดส่งมอบสินค้าของร้านค้าปลอดอากรในเมือง นายอภิศักดิ์มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาไปทำการศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา
พ.ร.บ.ศุลกากร ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ
นางรวิฐาเล่าตอว่าวันที่ 12 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เชิญสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ทอท. บริษัทคิงเพาเวอร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาหารือกัน
“ระหว่างการหารือ ดิฉันสอบถามคุณนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ว่า กรณีสนามบินสุวรรณภูมิ ทำไม ทอท. ตีความจุดส่งมอบสินค้าเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ คุณนิตินัยตอบว่าไม่ทราบ ผมเพิ่งมารับตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และในที่ประชุมมีผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรรายหนึ่ง กล่าวว่า ทอท. เปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน ทอท. จะตีความอย่างไร หรือกำหนดพื้นที่อะไรไว้ตรงจุดไหนก็ได้ เพราะเป็นบ้านของเขา”
“ดิฉันตอบกลับไปว่า ที่พูดมาถูกต้อง ถ้า ทอท. เป็นบ้านของคุณ แต่ข้อเท็จจริง ทอท. เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ มีหน้าที่บริหารธุรกิจการบิน บริหารพื้นที่ของรัฐ และดูแลผลประโยชน์ของชาติ การตีความอะไรก็ตาม ควรนึกถึงกฎหมายข้างเคียง และนึกถึงนโยบายของรัฐและผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง สุดท้ายคุณกุลิศ (อธิบดีกรมศุลกากร) ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม กล่าวสรุปว่า หากเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมืองแล้วเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติจริง ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข”
สิ่งที่สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยออกมาเรียกร้อง ขอย้ำว่า เราไม่ได้พูดถึงเปิดร้านค้าปลอดอากรภายในสนามบินที่บริษัทคิงเพาเวอร์เป็นผู้ได้รับสัมปทาน แต่พูดเฉพาะการขออนุญาตเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมืองเท่านั้น
“ปัญหาคือ กฎหมายศุลกากรเขียนขึ้นมาแล้ว ในทางปฏิบัติทำได้ไม่สุดซอย ปล่อยให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองต้องไปดิ้นรนหาทางออกกันเอาเอง ในต่างประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่มีจุดส่งมอบสินค้าไว้บริการนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศ แต่คุณจะมีปัญญาเปิดร้านค้าดิวตี้ฟรีในเมืองกี่แห่ง ร้านเล็ก ร้านใหญ่ อยู่รอดหรือไม่ เป็นเรื่องธุรกิจ รัฐไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว นี้คือการเปิดเสรีร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่แท้จริง”
ถามว่าประเทศไทยมีนโยบายเปิดเสรีร้านค้าปลอดอากรตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบก็คือ ตั้งแต่พระราชบัญญัติศุลกากรมีผลบังคับใช้(พ.ศ.2469) หรือมีการแก้ไขกี่ครั้งก็ตาม นั่นแสดงว่ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในการแข่งขันเสรีมานานแล้ว เพียงแต่มอบอำนาจให้กรมศุลกากรพิจารณาและกำกับดูแล
ที่ชัดเจนที่สุดคือ พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 8) 2480 มาตรา 3-6 ระบุว่า ท่าอากาศยานทุกท่าที่เป็นท่าอากาศยานนานาชาติต้องขึ้นอยู่กับกรมศุลกากร โดยเรียกสนามบินหรือท่าอากาศยานนั้นว่า “สนามบินศุลกากร” ศุลกากรมีหน้าที่กำกับดูแลการขนสินค้าเข้า-ออกของประเทศไทยในแต่ละท่า (หมายความรวมถึงท่าเรือและท่าอากาศยาน) ให้อธิบดีกรมศุลกากรเป็นคนกำหนดกฎกติกาทุกอย่างและรับผิดชอบการขนสินค้าเข้า-ออก จากท่าอากาศยานนั้นๆ นี่คืออำนาจของกรมศุลกากรที่แท้จริง
ถามว่า กรมศุลกากรมีหน้าที่จัดสรรพื้นที่ภายในการท่าอากาศยานหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีสิทธิเข้าไปจัดการพื้นที่ในทุกตารางเมตรได้ แต่กรมศุลกากรมีหน้าที่กำหนดว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ใช้ส่งออก ตรงนี้รับสินค้านำเข้า ตรงนี้เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน แม้กระทั่งพื้นที่ของร้านค้าปลอดอากรที่อยู่ในสัมปทาน กรมศุลกากรก็เป็นคนกำหนด
ทำไมกรมศุลกากรต้องเป็นผู้กำหนด เพราะว่ากรมศุลกากรต้องรู้ว่าดิวตี้ฟรีในการท่าอากาศยานนำสินค้ามาจากคลังสินค้าทัณฑ์บนแห่งไหน และส่งออกไปนอกประเทศไทยผ่านช่องทางใด และที่สำคัญ กรมศุลกากรต้องตรวจสอบได้
ย้ำอำนาจอยู่ที่อธิบดีกรมศุลกากร
จากคำสัมภาษณ์ของอธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่า เรื่องการเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมือง หากเป็นนโยบายของรัฐ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน อธิบดีกรมศุลกากรอาจลืมไปว่ากฎหมายทุกฉบับออกตามนโยบายของรัฐบาล กฎหมายไม่ได้ออกก่อนนโยบายรัฐบาล แต่นโยบายออกก่อนกฎหมายเสมอ นโยบายออกมาอย่างไร กฎหมายก็เขียนตามนั้น
เมื่อกฎหมายหลักมอบอำนาจให้อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมศุลกากรจึงมีหน้าที่เขียนกรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรปฏิบัติงานหลุดออกนอกกรอบที่กำหนด จึงต้องออกมาเป็นประกาศกรมศุลกากรฉบับที่ 20/2549 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำมาให้เรียบร้อย ก่อนเสนออธิบดีกรมศุลกากรลงนามอนุมัติ แต่ว่ากระบวนการส่งมอบสินค้า อธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้กำหนดเช่นกัน
“เมื่อกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนถึงขนาดนี้แล้ว ทำไมต้องไปขอให้รัฐบาลออกนโยบายอะไรอีก แค่กรมศุลกากรปฏิบัติตามกฎหมาย และปฏิบัติตามกรอบที่กรมศุลกากรบัญญัติขึ้นมาให้ถูกต้องและชอบธรรม ก็จะไม่มีผู้ประกอบการรายใดพูดเรื่องนี้ขึ้นมาอีกเลย แต่ถ้ากรมศุลกากรต้องการให้รัฐบาลประกาศนโยบายให้ชัดเจน กรมศุลกากรควรคิดใหม่ว่าต้องการให้รัฐบาลออกนนโยบายแบบไหน ต้องการให้แข่งขันเสรีหรือไม่เสรี ถ้าต้องการให้แข่งขันเสรีก็ไม่ต้องพูดถึงเพราะกฎหมายบัญญัติไว้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ต้องการให้แข่งขันเสรี นิดเดียว กรมศุลกากรก็เขียนกฎหมายใหม่ คือให้รัฐทำได้แต่ผู้เดียว หรือมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งทำได้เท่านั้น ผู้ประกอบการจะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกัน แต่อย่าไปโฆษณาว่าประเทศไทยแข่งขันเสรี เพราะว่าในทางปฏิบัติมันไปได้ไม่สุดซอย”
นางรวิฐาเล่าว่าประเด็นข้อกฎหมาย ยังไม่ได้อธิบายในรายละเอียด แต่อธิบดีกรมศุลกากรตอบว่า กรมศุลกากรไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ประเด็นนี้ดิฉันไม่เถียง อธิบดีกรมศุลกากรเข้าไปแทรกแซง ทอท. ไม่ได้อยู่แล้ว แต่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดได้ว่าจะใช้จุดไหนเป็นจุดส่งมอบสินค้า เพราะกรมศุลกากรมีอำนาจกำกับเส้นทางการนำเข้า-ส่งออกของสินค้า อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดจุดส่งมอบสินค้าในพื้นที่ใดก็ได้ และเมื่อกำหนดพื้นที่เป็นจุดส่งมอบสินค้าแล้วก็ต้องคิดวิธีกำกับดูแลไม่ให้เกิดรูรั่วไหล เช่น ผู้ประกอบการนำสินค้าปลอดอากรออกมาขาย หากดิฉันเป็นอธิบดีกรมศุลกากร ดิฉันก็ต้องกลัวเหมือนกัน แต่เมื่อเรารู้ปัญหาแล้วก็ต้องหาทางแก้ปัญหา คนก็มี กฎหมายก็มี เทคโนโลยีก็มี ทั่วโลกเขาก็ใช้กัน พี่ถึงบอกว่ามันพูดไม่สุดซอย
“หลังจากประชุมกับอธิบดีกรมศุลกากรจบ สัปดาห์ถัดมา ทางสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย ก็ไปประชุมกับ ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง รองผู้อำนวยการ ทอท. และผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ทอท. รายงานต่อที่ประชุมว่า ทอท. ไม่สามารถยกเลิกสัญญาระหว่าง ทอท. กับคิงเพาเวอร์ได้ เพราะจะทำให้ ทอท. ถูกคิงเพาเวอร์ฟ้อง ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ดิฉันบอกว่า เดี๋ยวๆ…. กลับมาก่อน สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยไม่เคยเรียกร้องให้ ทอท. ยกเลิกสัญญาสัมปทานกับบริษัทคิงเพาเวอร์ ประเด็นที่สมาคมฯ เรียกร้องคือต้องการให้ ทอท. ทบทวนและไปหาพื้นที่มาทำจุดส่งมอบสินค้า ไม่เคยพูดให้ยกเลิกสัญญาสัมปทาน”
“แต่ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของการประชุมวันนั้น ดิฉันได้อ่านข้อสงวนสิทธิที่อยู่ท้ายสัญญาสัมปทานระหว่าง ทอท. กับบริษัทคิงเพาเวอร์ให้ที่ประชุมฟัง จากนั้นก็ส่งเอกสารสัญญาให้ปลัดกระทรวงการคลังอ่านอีกรอบ ดิฉันถามว่าตกลงข้อสงวนสิทธิสามารถทบทวนสัญญาสัมปทานได้หรือไม่ ปลัดกระทรวงการคลังตอบเบาๆ ว่า ก็ทบทวนได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทคิงเพาเวอร์ยอมรับได้ด้วย จากนั้นดิฉันก็ถามกลับว่า บรรทัดสุดท้ายของข้อสงวนสิทธิในสัญญาฯ ระบุว่า “ให้ความเห็นของ ทอท. ถือเป็นที่สุด” หมายความอย่างไร ประเด็นนี้ปลัดกระทรวงการคลังไม่ตอบ”
“จากนั้น ปลัดกระทรวงการคลังถามว่า สมมติรัฐบาลมีนโยบายที่จะทำดิวตี้ฟรีในเมือง บริษัทคิงเพาเวอร์จะยอมหรือไม่ ประเด็นนี้ดิฉันพยายามอธิบายมาตั้งแต่ต้นแล้วว่ารัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีมาตั้งแต่เริ่มเขียนกฎหมายศุลกากร ทำไมต้องมาขอนโยบายอะไรกันอีก หากดิฉันเป็นบริษัทคิงเพาเวอร์ ดิฉันก็ไม่ยอม ส่วนตัวแทนจากบริษัทคิงเพาเวอร์ก็บรรยายถึงสิทธิของเขา ซึ่งเขาก็ไม่ยอม
ก่อนจบการประชุมวันนั้น ดิฉันบอกปลัดกระทรวงการคลังว่า ทอท. อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่วนกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานในสังกัด ทำไมปลัดกระทรวงการคลังไม่เรียกภาครัฐมาหารือกันให้ได้ข้อยุติก่อน ไม่ใช่เรียกเอกชนมาทะเลาะกัน จัดการประชุมลักษณะนี้ไม่มีใครยอมใครอยู่แล้ว”
นี่คือผลการประชุมระหว่างสมาคมฯ กับภาครัฐ 3 ครั้ง ครั้งแรกมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธานร่วมกัน รวมทั้งปลัดกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว ครั้งที่ 2 อธิบดีกรมศุลกากรนั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ และครั้งที่ 3 มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานที่ประชุม
“และวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นการประชุมครั้งที่ 4 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน สมาคมฯ ยังไม่รู้ภาครัฐคิดอย่างไร ภาครัฐจะคำนึงถึงประเด็นข้อกฎหมายหรือไม่ แต่เรื่องนโยบายคงไม่ต้องพูดถึง เพราะกฎหมายกรมศุลกากรถูกกำหนดมาจากนโยบายรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องไปขอให้รัฐบาลออกนโยบายอีก(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
3 โมเดลจุดส่งมอบสินค้า
สำหรับโมเดลธุรกิจของร้านค้าปลอดอากรในประเทศไทยมีทั้งหมด 3 รูปแบบ โดยมีพื้นที่ที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ 3 โซน คือ พื้นที่ร้านค้าปลอดอากร พื้นที่เชิงพาณิชย์ และจุดส่งมอบสินค้า
โมเดลที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ที่เป็นจุดส่งมอบสินค้า เดิมทีลอยอยู่ด้านนอกของพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่จุดส่งมอบสินค้า ไม่ได้ถูกกำหนดอยู่ในสัญญาสัมปทานฉบับไหนเลย ต่อมา ทอท. ก็ตีความว่าจุดส่งมอบสินค้าเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ จึงถูกโอนเข้ามาอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ และที่สำคัญ จุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทอท. ไม่ได้นำออกมาประมูล หากเข้าไปดูในสัญญาเช่าพื้นที่ทำร้านค้าปลอดอากร และสัญญาเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้ง 2 สัญญา จึงไม่ได้ระบุจำนวนพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าเอาไว้
โมเดลที่ 2 สนามบินดอนเมือง ทอท. นำพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าเข้าไปรวมกับพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรและนำมาเปิดประมูลพร้อมกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่กำหนดข้อห้ามไม่ให้ผู้ชนะการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์นำพื้นที่ไปทำจุดส่งมอบสินค้า ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิตีความว่า จุดส่งมอบสินค้าเป็นการให้บริการทั่วไป ควรอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่สนามบินดอนเมืองทำอีกแบบหนึ่ง บริษัทคิงเพาวเวอร์เป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนั้น
“เรื่องการตีความ ไม่ใช่ความผิดของคิงเพาเวอร์ เพราะนักธุรกิจก็ต้องทำแบบนี้ แต่ ทอท. เป็นผู้กำกับดูแล ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ ขณะที่กรมศุลกากรนั่งดูอยู่เฉยๆ”
โมเดลที่ 3 สนามบินภูเก็ต ทอท. อาจจะสู้แรงกดดันของสังคมไม่ไหว จึงแยกจุดส่งมอบสินค้าออกมาจากพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ และนำมาเปิดประมูล โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลทำหน้าที่จัดสรรพื้นที่ (Operator) จุดส่งมอบสินค้าให้กับร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกรายที่ต้องการเปิดจุดส่งมอบสินค้าภายในพื้นที่ของสนามบินภูเก็ต ส่วนสนามบินอู่ตะเภาก็มีโมเดลคล้ายกับสนามบินภูเก็ต ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกร้านสามารถมาเช่าพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าที่อู่ตะเภาได้
“ทั้งบริษัทคิงเพาเวอร์และบริษัทล็อตเต้ก็มาเช่าพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าที่นี่ แต่บริษัทเซ็นทรัลไม่เช่า เพราะมันไม่แฟร์ สาเหตุที่ผู้ประกอบการมาเช่าพื้นที่ที่สนามบินอู่ตะเภามีเป้าหมายเพื่อให้ได้ใบอนุญาตเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลเลือกไม่เปิดจุดส่งมอบที่นี่และขอต่อสู้เพื่อความถูกต้องต่อไป”
โมเดลสุดท้าย สนามบินนานาชาติ จากการศึกษารูปแบบของการบริหารจัดการธุรกิจร้านค้าปลอดอากรของต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะมอบหมายให้ ทอท. หรือนิติบุคคลที่เป็นกลางทำหน้าที่เป็น Operator บริหารจัดการพื้นที่ภายในสนามบิน และไม่มีประเทศไหนมอบอำนาจให้กับผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดบริหารจัดการพื้นที่เหมือนกับประเทศไทย อย่างเช่น ประเทศเกาหลี มอบหมายให้สมาคมร้านค้าปลอดอากรทำหน้าที่เป็น Operator ทางสมาคมฯ ก็ไปว่าจ้างอดีตข้าราชการศุลกากรหรือ ทอท. ที่ปลดเกษียณมาเป็นผู้บริหาร คอยกำกับดูแลและให้คำแนะนำสมาชิก รวมทั้งวางระบบ IT เชื่อมต่อระบบ Point Of Sale กับกรมศุลกากร กรมสรรพากร และ ทอท. เพื่อให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมการเช่า ค่าภาษีเป็นไปอย่างถูกต้อง อย่างที่สนามบินภูเก็ต ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกับโมเดลของสนามบินนานาชาติ แต่อำนาจการบริหารจัดการก็ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งอยู่เหมือนเดิม
ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เป็นข้อเรียกร้องของนายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยที่ออกมาเคลื่อนไหว ผลักดันให้นโยบายเปิดเสรีธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม