ThaiPublica > สู่อาเซียน > บางข้อสังเกตที่น่าบันทึกไว้ ในการตั้ง “ธนาคารทองคำลาว”

บางข้อสังเกตที่น่าบันทึกไว้ ในการตั้ง “ธนาคารทองคำลาว”

13 สิงหาคม 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พิธีเซ็นสัญญาร่วมทุนก่อตั้งธนาคารทองคำลาว จำกัด ระหว่างกระทรวงการเงิน และบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง ที่มาภาพ : กระทรวงการเงิน

วันที่ 7 สิงหาคม 2567 กระทรวงการเงิน ในฐานะตัวแทนรัฐบาลลาว ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง จำกัด ก่อตั้งธนาคารทองคำลาว จำกัด (The Lao Bullion Bank) ขึ้น เพื่อใช้เป็นคลังเงินทุนสำรองแก่ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ

พิธีเซ็นสัญญาจัดขึ้นที่โรงแรมคราวน์พลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ ผู้ลงนามในสัญญาประกอบด้วย สันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน และจันทอน สิดทิไซ ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง มีสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ, วัดทะนา ดาลาลอย รักษาการ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว พร้อมด้วยแขกรับเชิญซึ่งเป็นเอกอัครราชทูต ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ ที่มีสำนักงานอยู่ในลาวจำนวนหนึ่ง เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

ตามข่าวที่เผยแพร่โดยเว็บไซต์ของกระทรวงการเงิน ระบุว่า ธนาคารทองคำลาว “แห่งแรก” ของ สปป.ลาว จะเริ่มเปิดให้บริการระยะแรกภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ และคาดว่าจะพร้อมให้บริการโดยสมบูรณ์ครบถ้วนทุกผลิตภัณฑ์ในเดือนพฤศจิกายน 2567

การดำเนินงานของธนาคารทองคำลาว จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการทองคำภายใน สปป.ลาว ให้ได้ตามมาตรฐานของ London Bullion Market Association (LBMA) ซึ่งเป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันกับนานาชาติทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล ผ่านกลไกการบริหารจัดการทองคำ เช่น บัญชีฝากทองคำ สินเชื่อที่ให้กู้ในรูปแบบเงินและทองคำ การยืนยัน รับรองคุณภาพทองคำในมาตรฐานของ LBMA

บรรดากลไกบริหารจัดการต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยยกระดับบทบาทของอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทองคำในลาว สร้างโฉมหน้าใหม่ และช่วยเพิ่มศักยภาพให้ลาวได้ขึ้นเป็นประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมทองคำ ที่สามารถแข่งขันกับทุกประเทศทั่วโลก สร้างชื่อเสียงให้ลาวได้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในเวทีเศรษฐกิจโลก อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุน ทั้งจากภายในและต่างประเทศเข้ามาในลาว ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของลาว ให้ขยายตัวสูงขึ้นได้อย่างมั่นคง

การเซ็นสัญญาร่วมทุนก่อตั้งธนาคารทองคำลาวขึ้นในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชน ที่ยืนยันให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ที่ตรงกันในการขยายแนวคิด วิสัยทัศน์ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และรัฐบาล สปป.ลาว ว่าด้วยการสำรองความมั่นคงและสร้างเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเข้มแข็งด้านการเงินและสกุลเงินกีบ การระดมทุนและสร้างสภาพคล่องที่จะเข้ามาหมุนเวียนในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศ

เนื้อหาข่าวในเว็บไซต์ของกระทรวงการเงินยังให้ข้อมูลอีกว่า ปัจจุบันลาวเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้นๆ ของโลก เป็นประเทศลำดับที่ 3 ของอาเซียน และลำดับที่ 6 ของทวีปเอเซีย ในด้านการขุดค้นและผลิตทองคำ จากการสำรวจเบื้องต้นคาดว่าภายในประเทศลาวยังมีแร่ทองคำซึ่งยังไม่ได้ถูกขุดค้นขึ้นมาอยู่อีก 500-1,000 ตัน

หากข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันและรับรองจากองค์กรระดับสากล โดยเฉพาะหน่วยงานที่ศึกษาและสำรวจเหมืองแร่ที่เกี่ยวข้องแล้ว จะสามารถตีมูลค่าเพิ่มเข้าไปในคลังสำรองภายในประเทศได้ถึง 50-76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถช่วยเพิ่มสภาพคล่องด้านการเงิน และเป็นแหล่งทุนรอนสำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาโครงการยุทธศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร และอุตสาหกรรมที่สำคัญและจำเป็น ช่วยสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมั่นคงให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

……

ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป.ลาว กล่าวชี้นำในพิธีเปิดกองประชุมรัฐบาลแบบเปิดกว้าง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์ประชาชน

เนื้อหาในข่าวที่เผยแพร่โดยกระทรวงการเงินข้างต้น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเซ็นสัญญาก่อตั้งธนาคารทองคำลาวครั้งนี้อยู่ในบางประเด็น

ประเด็นแรก ในพิธีเปิดกองประชุมรัฐบาลแบบเปิดกว้าง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทองลุน สีสุลิด เลขาธิการใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ประธานประเทศ สปป.ลาว ได้กล่าวชี้นำถึงภารกิจเฉพาะหน้าที่รัฐบาลลาวต้องทำอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หนึ่งในนั้นคือการเร่งจัดตั้งธนาคารทองคำขึ้น!

รายละเอียดคำชี้นำที่ประธานประเทศลาวบอกแก่รัฐบาลลาวในวันนั้น (15 ก.ค. 2567) ประกอบด้วย

1. ต้องหยุดการอ่อนตัวลงของค่าเงินกีบให้ได้ภายใน 1 เดือน จากนั้นต้องทำให้เงินกีบค่อยๆ แข็งค่าขึ้นทีละก้าว โดยประธานประเทศกำชับด้วยว่า ห้ามรัฐบาลบอกว่าทำไม่ได้ แต่ต้องทำให้ได้ หากตัดสินใจทำด้วยจิตใจรับผิดชอบอย่างแท้จริง

2. ทำทุกวิถีทางให้อัตราเงินเฟ้อลดลงทีละก้าว จนถึงระดับที่สภาแห่งชาติยอมรับ (สภาแห่งชาติลาวกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อของลาวต้องลดลงมาอยู่ที่ 9% หรือเป็นตัวเลข 1 หลัก ในปลายปี 2567)

3. ควบคุมราคาสินค้าให้รัดกุม สมเหตุสมผล ปฏิบัติตามระบบการค้าเสรีแบบเปิดกว้างตามแนวทางเศรษฐกิจการตลาด แต่มีการควบคุมและกำกับโดยรัฐตามแนวทางสังคมนิยม

4. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพของพนักงาน รัฐกร ทหาร ตำรวจ ครู บุคลากรทางการแพทย์ ให้อยู่ในระดับที่สามารถประคองตนได้ สร้างทุกเงื่อนไข ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยให้จัดให้เป็นภารกิจที่มีความสำคัญอยู่ในลำดับต้น

5. เพิ่มเงินในคลังสำรองเงินตราต่างประเทศให้มากขึ้น ให้ถึงระดับที่คาดหมายหรือมากกว่านั้น ด้วยมาตรการชำระเงินค่านำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านระบบธนาคาร

6. มุ่งหน้าลดผ่อนการใช้เงินตราต่างประเทศให้น้อยลงให้เป็นรูปธรรม ด้วยวิธีการจำกัดการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็น ให้เร่งจัดตั้งธนาคารทองคำขึ้นโดยเร็ว เพื่อจะได้ใช้ทองคำเป็นทุนสำรองสะสมของรัฐ ซึ่งถือเป็นย่างก้าวสำคัญของการค้ำประกันเสถียรภาพของเศรษฐกิจแห่งชาติ แต่ต้องควบคุมให้รัดกุม ลดการใช้เงินตราต่างประเทศให้น้อยลง เป็นหัวใจของการประหยัด และสกัดกั้นการเพิ่มขึ้นของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรานอกระบบ

7. ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ในการปฏิบัติมาตรการประหยัด มัธยัสถ์ โดยมาตรการประหยัดนั้นพูดแบบกว้างๆ ไม่ได้ ต้องมีจุดเน้นที่ชัดเจน มีความละเอียด รอบด้าน เช่น ประหยัดต้นทุน ประหยัดพลังงาน ประหยัดการใช้จ่ายในการบริหาร และการปฏิบัติมาตรการประหยัดนั้น ต้องมีแผน มีกระบวนการที่ทำพร้อมกันทั่วไปในสังคม

8. แก้ไขอย่างเร่งด่วน เด็ดเดี่ยว และเด็ดขาด ต่อบรรดากลไกรัฐที่อืดอาด ชักช้า ไม่โปร่งใส และมีเงื่อนงำ การฉ้อราษฎร์บังหลวง กินสินบน ตรวจสอบและจัดการผู้ที่ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ในเวลาที่ประเทศประสบปัญหายุ่งยาก เช่น การลักลอบขายโครงการ ลักลอบเอาทรัพยากรของส่วนรวมไปเป็นของตน

9. เดินหน้าเร่งรัด เก็บกู้ ทวงคืนหนี้สินที่มีผู้ติดค้างไว้กับรัฐ เร่งเปิดประมูลขายทรัพย์สินที่ยึดมาได้จากผู้ที่กระทำผิดกฏหมาย เร่งรัดเก็บกู้วัตถุ เงินทอง ทรัพย์สมบัติ จากผู้ที่ลักลอบเอาไป และศาลได้ตัดสินให้เป็นความผิดแล้ว

  • ข้อมูล “เศรษฐกิจมหภาคลาว” จากที่ประชุมสภาแห่งชาติ ครั้งที่ 7
  • ประเด็นที่สอง ขยายความตามเนื้อหาข่าวข้างต้นที่เผยแพร่โดยกระทรวงการเงิน ในประเด็นปริมาณสำรองแร่ทองคำในประเทศลาว มีบางข้อมูลที่เคยนำเสนอไว้เมื่อกลางปี 2564 และต้องนำมาอ้างอิงประกอบ ดังนี้…

    โครงการส่งเสริมการจัดหาวัตถุดิบและการลงทุนด้านเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ลาวมีแหล่งแร่ทองคำและทองแดงที่สำคัญ 2 แห่ง ซึ่งได้เปิดให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนเข้าไปขุดค้นและทำเหมืองแล้ว

    แห่งแรก ได้แก่ แหล่งเซโปน ที่เมืองวีละบูลี แขวงสะหวันนะเขต มีปริมาณสำรองทรัพยากรแร่ 14.2 ล้านตัน ปัจจุบันบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล ซึ่งมีบริษัท Chifeng Jilong Gold Mining จากจีน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 90% เป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองแหล่งแร่ในแห่งนี้

    อีกแห่งหนึ่งคือแหล่งภูเบี้ย ซึ่งประกอบด้วยแหล่งย่อย 3 แหล่ง ได้แก่ แหล่งภูคำ แหล่งล่องแจ้ง และแหล่งบ้านห้วยซาย มีปริมาณสำรองทรัพยากรแร่อยู่ 45 ล้านตัน

    เดือนมกราคม 2537 รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำและทองแดงในแหล่งภูเบี้ย แก่บริษัท ภูเบี้ย ไมนิ่ง ซึ่งขณะนั้นถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท แพน ออสเตรเลีย รีซอร์สเซส จากประเทศออสเตรเลีย มีเนื้อที่สัมปทานมากกว่า 2,600 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่แขวงเชียงขวาง ไซสมบูน และแขวงเวียงจันทน์

    ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แพน ออสเตรเลีย รีซอร์สเซส ได้ถูกเปลี่ยนมือมาเป็น Guangdong Rising H.K. (Holding) บริษัทลูกของ Guangdong Rising Holding บริษัทที่มีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

    นอกจากนี้ ช่วงปี 2563-2564 รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง เข้าสำรวจ เพื่อขุดค้น ทำเหมืองแร่ทองคำเพิ่มในอีกหลายพื้นที่ของแขวงเวียงจันทน์ ไซสมบูน และเชียงขวาง ส่วนหนึ่งของบริษัทที่ได้สัมปทาน เป็นของนักลงทุนจีน…

    แม้ในลาวอุดมไปด้วยแหล่งแร่ทองคำ แต่จากข้อมูลซึ่งถูกเผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการ ผลตอบแทนที่รัฐบาลลาวได้รับจากแหล่งแร่ทองคำเหล่านี้ คือ ค่าทรัพยากรแร่ ค่าสัมปทาน ภาษี

    แร่ทองคำที่ขุดขึ้นมาได้ บริษัทเจ้าของสัมปทานต้องนำออกไปแปรรูปยังต่างประเทศ การเปิดธนาคารทองคำขึ้นมา ทองคำที่จะนำไปฝากไว้กับธนาคาร โดยเฉพาะทองคำแท่งก็ต้องถูกซื้อหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศเสียก่อน ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์หรือเงินตราต่างประเทศสกุลอื่น ไปซื้อทองคำเหล่านั้นเข้ามา

  • “ล่องแจ้ง” … แปลงสนามรบเป็นแหล่งรายได้
  • เหมืองเซโปน…ขุด “ทอง” ที่ได้มากกว่า “ทอง”
  • ประเด็นที่สาม บริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง ผู้ร่วมทุนกับรัฐบาลในการก่อตั้งธนาคารทองคำลาว เป็นบริษัทในกลุ่ม “พงสะหวัน” ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวางครอบคลุมในหลายกิจการ ทั้งธนาคารพาณิชย์ สายการบิน ค้าปลีกน้ำมัน และที่สำคัญ คือธุรกิจโลจิสติกส์

    เครือข่ายธุรกิจของพีทีแอล โฮลดิ้ง ได้เข้าไปมีบทบาทและเป็นเจ้าของสัมปทานโครงการพัฒนาที่สำคัญของรัฐบาลลาวหลายโครงการ เช่น

  • เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค ท่าบกและศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่กว่า 3,000 ไร่ ที่ท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางรถไฟลาว-ไทย ทางรถไฟลาว-จีน และทางรถไฟลาว-เวียดนาม
  • เส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม ระยะทาง 550 กิโลเมตร เชื่อมจากนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านแขวงบ่อลิคำไซ ไปยังท่าเรือหวุงอ๋าง ชายทะเลในจังหวัดฮาติงห์ ของเวียดนาม
  • เป็นผู้บริหารท่าเรือหวุงอ๋าง ซึ่งเป็นเหมือนทางออกสู่ทะเลของลาว ท่าเรือแห่งนี้จะถูกใช้เป็นท่าเรือเพื่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าของลาว
  • โครงข่ายกลุ่ม “พงสะหวัน” กับก้าวย่างทางออกสู่ทะเลของลาว
  • ประเด็นที่สี่ ประธานประเทศ “ทองลุน สีสุลิด” กล่าวให้ทิศชี้นำรัฐบาลให้เร่งก่อตั้งธนาคารทองคำลาว ในพิธีเปิดกองประชุมรัฐบาลแบบเปิดกว้าง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ต่อมา จากนั้น 3 สัปดาห์เศษ รัฐบาลโดยกระทรวงการเงิน ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัทพีทีแอล โฮลดิ้ง ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567

    ช่วงเวลา 3 สัปดาห์นี้ ในตลาดค้าปลีกทองคำของลาวได้มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น โดยระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ราคาขายปลีกทองคำในลาวมีความผันผวนอย่างหนัก

    ภาพจากคลิป “บุนขายคำ” ที่เพจ “ลาว ไทย” เผยแพร่ไว้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567

    ช่วงแรกราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นกระแสตื่นตระหนกแพร่ไปตามชุมชนออนไลน์ของลาว ผู้คนจำนวนมากพากันนำทองในมือออกไปขายตามร้านทองหลายแห่งจนแน่นร้าน วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 เพจ “ลาว ไทย” เผยแพร่คลิปสั้นๆ เป็นบรรยากาศที่ร้านขายทองแห่งหนึ่งในศูนย์การค้าไอเต็กมอลล์ เขียนบรรยายสั้นๆ ว่า “บุนขายคำ” (หมายถึงมหกรรมขายทองคำ)

    วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 เพจ “โทละโข่ง” เผยแพร่ภาพตู้โชว์ในร้านทองอีกแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าตู้โชว์ทุกใบในร้านว่างเปล่า เขียนคำบรรยายสั้นๆ เชิงตั้งคำถามว่า “เป็นอย่างไรบ้างพี่น้อง วันอาทิตย์นี้ มีใครไปทันไหม?”

    ตู้โชว์ภายในร้านค้าปลีกทองคำแห่งหนึ่งซึ่งว่างเปล่าเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ที่มาภาพ : เพจ “โทละโข่ง”

    Tonamcha News เผยแพร่หนังสือแจ้งการลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ของร้านคำพูวง เครือข่ายร้านค้าปลีกทองคำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของลาว ระบุว่า ร้านคำพูวงจำเป็นต้องปิดฟังก์ชันบริการซื้อทองคำสะสมในแอปพลิเคชัน Easy Gold เป็นการชั่วคราว ในวันที่ 28 กรกฎาคม เนื่องจากมียอดสั่งซื้อทองคำสะสมเข้าไปในระบบจำนวนมากจนเกินกว่าที่ระบบจะรองรับได้ ร้านต้องจัดสรรทองคำในสต็อกให้กับลูกค้าที่ส่งคำสั่งซื้อเข้ามาก่อนหน้าให้ได้ครบถ้วนเสียก่อน จึงจำเป็นต้องระงับคำสั่งซื้อที่ถูกส่งเข้าไปภายหลัง และจะกลับมาเปิดให้บริการฟังก์ชันนี้อีกครั้งในเวลา 10.00 น. ของวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม ส่วนฟังก์ชันการขายทองคำสะสมและถอนทองคำสะสม ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

    รายงานในสื่อออนไลน์ของลาวระบุว่า วันที่ 28 กรกฏาคม เป็นวันที่ราคาขายปลีกทองคำกำลังปรับตัวขึ้น หลายคนตั้งใจไปซื้อทองเก็บไว้เพราะคิดว่าแนวโน้มราคาทองคำจะสูงขึ้นอีก แต่ปรากฏว่าไม่สามารถซื้อได้ เพราะร้านค้าปลีกทองคำหลายแห่งได้ปิดให้บริการไปเสียก่อน

    วันพุธที่ 31 กรกฎาคม กรมการค้าภายใน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า มีหนังสือแจ้งการระบุว่า ราคาทองคำที่เกิดการผันผวนอย่างผิดปกติ ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567 ทำให้ร้านขายปลีกทองคำหลายแห่งได้หยุดการซื้อ-ขายชั่วคราว บางร้านหยุดการขายแต่ก็ยังรับซื้อทองคำตามปกติ รวมถึงธุรกรรมซื้อ-ขายทองคำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือแอปพลิเคชัน Easy Gold ก็ได้มีการหยุดซื้อ-ขาย ชั่วคราว

    แจ้งการของกรมการค้าภายใน เรื่องความผันผวนในตลาดค้าปลีกทองคำลาวระหว่างวันที่ 28-28 กรกฎาคม 2567

    กรมการค้าภายใน ในฐานะผู้ควบคุม และออกใบยืนยันรับรู้การทำธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ Easy Gold ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานของ Easy Gold เพื่อรับประกันการมีอยู่จริงของทองคำ และเพื่อรับประกันผลประโยชน์ของผู้ซื้อทองคำผ่านช่องทางดังกล่าว

    ถึงแม้ว่า Easy Gold จะปิดบริการซื้อทองคำในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการซื้อทองคำแบบผิดปกติ ทำให้เกิดข้อจำกัดทางด้านปริมาณในการรับซื้อ-ขาย เนื่องจากต้องรับประกันการมีอยู่จริงของทองคำตามจำนวนการสั่งซื้อ ซึ่งลูกค้า หรือสมาชิกซื้อ-ขายผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าว สามารถถอนเพื่อรับทองคำจริงออกมาได้ตามปริมาณที่สะสมไว้ หรือรับเป็นเงินได้ตามราคาทองคำที่ได้ซื้อไว้ โดยข้อมูลการซื้อทองคำของแต่ละคนจะถูกเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย

    หากลูกค้ารายได้มีปัญหาเกี่ยวกับบริการของ Easy Gold สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่กรมการค้าภายใน…

    1 สัปดาห์ หลังเกิดความผันผวนขึ้นในตลาดค้าปลีกทองคำในลาว วันที่ 7 สิงหาคม 2567 พิธีเซ็นสัญญาร่วมทุนจัดตั้งธนาคารทองคำลาว ระหว่างกระทรวงการเงิน และบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง ก็ถูกจัดขึ้น

    ……

    ข้อสังเกตทั้ง 4 ประเด็น อาจดูไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน แต่เป็นข้อมูลที่น่าบันทึกไว้ เพื่อให้เห็นภาพรวมของการก่อตั้งธนาคารทองคำลาว “แห่งแรก” ได้อย่างรอบด้าน…

  • ASEAN Roundup มาเลเซีย-เวียดนามเดินหน้าบุกอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์-สปป.ลาวตั้งธนาคารทองคำแท่ง