ThaiPublica > สู่อาเซียน > 8 เดือนเต็ม กับ “วิกฤติการเงิน” ที่ยังแก้ไม่ตกในลาว!

8 เดือนเต็ม กับ “วิกฤติการเงิน” ที่ยังแก้ไม่ตกในลาว!

26 ตุลาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565 สื่อมวลชนหลายแห่งในลาวได้เผยแพร่มาตรการล่าสุดที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว นำมาใช้เพื่อแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งลาวกำลังเผชิญอยู่อย่างหนักหน่วง

มาตรการที่เพิ่งประกาศออกมา มีเป้าหมายเบื้องต้นเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับเงินกีบที่ได้อ่อนค่าลงมาอย่างรุนแรง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของลาวพุ่งสูงขึ้นสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2565 เพิ่มภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนลาว เพราะสินค้าจำเป็นทุกชนิดล้วนแพงขึ้นอย่างถ้วนหน้า

มาตรการล่าสุดออกตาม “ข้อตกลง” ของธนาคารแห่ง สปป.ลาว 2 ฉบับ คือ ข้อตกลงเลขที่ 778/ทหล. ว่าด้วย “การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของธนาคารแห่ง สปป.ลาว” และข้อตกลงเลขที่ 779/ทหล. ว่าด้วย “การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน” ข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับได้รับการลงนามโดยบุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565

ประเด็นสำคัญของข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ การปรับอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานสำหรับสกุลเงินกีบขึ้นมาอีก 1 เท่าตัว จาก 3.1% เป็น 6.5% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยตัวนี้เป็นเครื่องมือที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ใช้เสริมสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ยังได้กำหนดส่วนต่างของเงินกีบเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้อยู่ในกรอบไม่เกิน +/-4.50% จากอัตราอ้างอิงที่ประกาศออกมาในแต่ละวัน

แต่มาตรการสำคัญและถูกกล่าวถึงมากที่สุด คือการกำหนดให้ร้านตัวแทนรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสามารถซื้อเงินดอลลาร์เข้ามาได้ แต่ห้ามขายออก!!!

หมายความว่า ผู้ส่งออกหรือบุคคลที่มีเงินดอลลาร์ สามารถนำดอลลาร์ไปขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินกีบจากร้านตัวแทนแลกเปลี่ยนเงินตราเหล่านี้ได้

แต่หากต้องการซื้อเงินดอลลาร์ ต้องไปซื้อจากธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว เท่านั้น

ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ถูกนำมาใช้ควบคุมร้านตัวแทนรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างเข้มงวด หลังการกวาดล้างธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินเถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาตครั้งใหญ่เมื่อประมาณ 5 เดือนก่อน…

ข้อตกลงฉบับที่ 778/ทหล. ว่าด้วย“การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของธนาคารแห่ง สปป.ลาว”

สำหรับรายละเอียดของมาตรการตามข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

ข้อตกลงฉบับที่ 778/ทหล. ว่าด้วย “การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของธนาคารแห่ง สปป.ลาว”

มาตรา 1 ข้อตกลงฉบับนี้ ออกเพื่อปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของ สปป.ลาว ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ-เงินตรา ทั้งภายในประเทศและในระดับสากล

มาตรา 2 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานสกุลเงินกีบระยะสั้นไม่เกิน 7 วัน จาก 3.1% ต่อปี เป็น 6.5% ต่อปี

มาตรา 3 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ใช้อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานเป็นเครื่องมือสำหรับเสริมสภาพคล่องแหล่งสุดท้ายให้แก่ธนาคารพาณิชย์ที่ขาดสภาพคล่อง ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือและกลไกอื่น

มาตรา 4 มอบให้กรมนโยบายเงินตรา กรมบริการธนาคาร เป็นเจ้าภาพในการปฏิบัติ พร้อมทั้งเผยแพร่-แนะนำให้สาขาของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ในแต่ละภาค ธนาคารพาณิชย์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้

มาตรา 5 ข้อตกลงฉบับนี้ มีผลศักดิ์สิทธิ์นับแต่วันที่ได้ลงลายมือชื่อเป็นต้นไป และใช้แทนข้อตกลงฉบับที่ 376/ทหล. ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2565

……

ข้อตกลงเลขที่ 779/ทหล. ว่าด้วย“การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน”

ข้อตกลงเลขที่ 779/ทหล. ว่าด้วย “การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน”

มาตรา 1 ข้อตกลงฉบับนี้กำหนดระเบียบการเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ธนาคารพาณิชย์ และร้านตัวแทนรับแลกเปลี่ยนเงินตรา ให้สอดคล้องกับกลไกตลาดที่มีการควบคุมโดยรัฐ สร้างเงื่อนไขให้ระบบธนาคารสามารถให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราได้อย่างคล่องตัว

มาตรา 2 กรมนโยบายเงินตรา เป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงระหว่างเงินกีบกับเงินดอลลาร์สหรัฐประจำวัน และแจ้งอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ภายในเวลา 08.10 น. ของทุกวันทำการ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และร้านตัวแทนรับแลกเปลี่ยนเงินตราใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของตน

จากอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงที่กรมนโยบายเงินตราประกาศ กรมบริการธนาคารจะนำไปกำหนดเป็นอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับการซื้อและขายเงินกีบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นๆ พร้อมทั้งแจ้งอัตราแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ภายในเวลา 08.30 น. ของทุกวันทำการ

สำหรับการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในวันหยุดของรัฐ ให้ยึดจากอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้ประกาศออกมาล่าสุดก่อนวันหยุด

มาตรา 3 ธนาคารพาณิชย์สามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินกีบกับเงินตราต่างประเทศสกุลต่างๆ ด้วยตนเอง ตามหลักการดังนี้

1. กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับการซื้อหรือขายเงินกีบกับเงินดอลลาร์สหรัฐได้ ในขอบเขตไม่เกิน +/- 4.50% จากอัตราอ้างอิงที่กรมนโยบายเงินตราประกาศออกมาในแต่ละวัน และกำหนดส่วนต่างระหว่างอัตราซื้อกับอัตราขาย ไม่เกิน 1%

2. กำหนดให้ส่วนต่างระหว่างอัตราซื้อหรือขาย สำหรับการแลกเปลี่ยนเงินกีบกับเงินบาท เงินหยวน และเงินยูโร ไม่เกิน 1%

มาตรา 4 ร้านตัวแทนรับแลกเปลี่ยนเงินตราต้องกำหนดอัตรา “ซื้อ” เงินดอลลาร์ของตน ภายในขอบเขต +/- 3% จากอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่ง สปป.ลาว และกำหนดอัตรา “ซื้อ” เงินตราต่างประเทศสกุลอื่นๆ ไม่เกินขอบเขตของธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นต้นสังกัดของแต่ละร้าน และสอดคล้องกับระเบียบการอื่นๆ ของธนาคารแห่ง สปป.ลาว

“ร้านตัวแทนรับแลกเปลี่ยนเงินตราไม่ได้รับอนุญาตให้ขายเงินตราต่างประเทศ”

มาตรา 5 ธนาคารพาณิชย์และร้านตัวแทนรับแลกเปลี่ยนเงินตรา ต้องแจ้งอัตราแลกเปลี่ยนแก่ลูกค้าเป็นระยะ ในระหว่างวันที่เปิดบริการ ภายในสถานที่ให้บริการ เว็บไซต์ และผ่านช่องทางโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ของตนอย่างชัดเจนและถูกต้อง

ธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่รายงานต่อธนาคารแห่ง สปป.ลาว ถึงสถานะการแลกเปลี่ยนเงินตราของตน และร้านตัวแทนรับแลกเปลี่ยนเงินตราในสังกัดอย่างครบถ้วนและถูกต้องตามความเป็นจริง ภายในเวลา 16.00 น. ของทุกวัน โดยข้อมูลที่ต้องรายงานประกอบด้วย อัตราแลกเปลี่ยน มูลค่าการซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศโดยรวม และมูลค่าการซื้อขายแต่ละสกุลเงิน รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว กำหนด

มาตรา 6 กรมนโยบายเงินตรามีหน้าที่ติดตาม ตรวจตราการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้อย่างใกล้ชิด และรายงานให้คณะผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว ทราบเป็นระยะ รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ละเมิดอย่างเข้มงวด

มาตรา 7 ข้อตกลงนี้ มีผลศักดิ์สิทธิ์นับแต่วันที่ได้ลงลายมือชื่อเป็นต้นไป และใช้แทนข้อตกลงว่าด้วยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ฉบับที่ 525/ทหล. ลงวันที่ 15 กันยายน 2564 และระเบียบการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีเนื้อหาขัดกับข้อตกลงฉบับนี้

ลาวได้รณรงค์ให้คนลาวใช้เงินกีบมานานนับสิบปี แต่ด้วยความที่เงินกีบขาดเสถียรภาพ ทำให้คนทั่วไปนิยมใช้เงินสกุลต่างประเทศมากกว่า โดยเฉพาะเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ

……

นับแต่ลาวต้องปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 เงินกีบก็ปรากฏแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะแหล่งรายได้หลักที่เป็นเงินตราต่างประเทศส่วนหนึ่งของลาวนั้น มาจากภาคการท่องเที่ยว

ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่แนวโน้มขาลงอย่างชัดเจน หลังรัสเซียนำกำลังบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ลาวยิ่งต้องเผชิญกับวิกฤติการเงินที่แสนสาหัส เกิดภาวะขาดแคลนเงินดอลลาร์ภายในประเทศ ค่าเงินกีบตกต่ำลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ขณะที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นสร้างสถิติใหม่ต่อเนื่องทุกเดือน ประชาชนมีรายได้น้อยลง แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อของลาวเดือนมกราคม 2565 เทียบกับงวดเดียวกันของปี 2564 เพิ่มขึ้น 6.25% เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเป็น 7.31% มีนาคม 8.54% เมษายน 9.86% เดือนพฤษภาคม เงินเฟ้อในลาวเพิ่มเป็นตัวเลข 2 หลัก 12.81% มิถุนายน 23.61% กรกฎาคม 25.62% และสิงหาคม 30.01%

อัตราเงินเฟ้อของลาว นับแต่เดือนมกราคม 2565-เดือนกันยายน 2565

ล่าสุดที่ศูนย์สถิติแห่งชาติ กระทรวงแผนการและการลงทุน เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เงินเฟ้อของลาวเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 34.05%

ปลายเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงกลางเดือนมิถุนายน 2565 ภาวะขาดแคลนเงินดอลลาร์ในลาวรุนแรงมาก ถึงขั้นที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันมีเงินดอลลาร์ไม่เพียงพอสำหรับจ่ายค่าน้ำมันที่ต้องซื้อเข้าไปขายให้กับประชาชนในลาว ส่งผลให้ทั่วประเทศต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมันหลายแห่งโดยเฉพาะตามเมืองใหญ่จำเป็นต้องปิดให้บริการ เพราะไม่มีน้ำมันจะขาย ปั๊มที่ยังเปิดอยู่ ก็มีผู้คนไปต่อคิวรอเติมน้ำมันเป็นแถวยาว จนกลายเป็นความโกลาหลขึ้นบริเวณหน้าปั๊มเต็มไปหมด

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ธนาคารแห่ง สปป.ลาว เปิดขายพันธบัตรเงินกีบ วงเงิน 5 ล้านล้านกีบ อายุ 6 เดือน ให้กับบุคคลและนิติบุคคลที่มีถิ่นฐานอยู่ในลาว ยกเว้นธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน

พันธบัตรลอตนี้ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20% ต่อปี เพื่อหวังดูดซับเงินกีบบางส่วนออกไปจากระบบ ลดความตึงเครียดจากวิกฤติการเงิน และช่วยดึงค่าเงินกีบให้กระเตื้องขึ้น

ณ วันที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ประกาศขายพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 14,906 กีบ ต่อ 1 ดอลลาร์ และ 506.37 กีบ ต่อ 1 บาท วงเงินพันธบัตร 5 ล้านล้านกีบที่เปิดขาย มีมูลค่าเท่ากับ 335 ล้านดอลลาร์ และ 9,875 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 หลังเปิดขายพันธบัตรไปแล้ว 2 เดือน ธนาคารแห่ง สปป.ลาว รายงานผลการขายพันธบัตร จากวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 17 สิงหาคม 2565 สามารถขายพันธบัตรได้ 4 ล้านล้านกีบ หรือ 80% ของวงเงินพันธบัตรที่เปิดขาย

มีการแจงแจงรายละเอียดผู้ซื้อพันธบัตรล็อตนี้ว่า เป็นบุคคลธรรมดามากที่สุด 42% รองลงมาเป็นนิติบุคคล 38% พื้นที่ภาคกลางขายพันธบัตรได้มากที่สุด 2,425 พันล้านกีบ รองลงมาเป็นภาคเหนือขายได้ 1,096 พันล้านกีบ ส่วนภาคใต้ขายได้ 483 พันล้านกีบ

แยกผลการขายโดยธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายพันธบัตร ได้ดังนี้

1. ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว ขายได้ 1,785 พันล้านกีบ
2. ธนาคารพัฒนาลาว ขายได้ 787 พันล้านกีบ
3. ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม ขายได้ 508 พันล้านกีบ
4. ธนาคารร่วมธุรกิจลาว-เวียด ขายได้ 344 พันล้านกีบ
5. ธนาคารร่วมพัฒนา ขายได้ 250 พันล้านกีบ
6. ธนาคารเอสที ขายได้ 109 พันล้านกีบ
7. ธนาคารพงสะหวัน ขายได้ 89 พันล้านกีบ
8. ธนาคารอุตสาหกรรมและการค้าจีน (ICBC) ขายได้ 81 พันล้านกีบ
9. ธนาคารเพื่อการลงทุนและการค้า (BIC) ขายได้ 51 พันล้านกีบ

……

วิกฤติการเงินของลาวได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นหัวข้อสำคัญระดับชาติ โดยในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 3 ของสภาแห่งชาติลาว ชุดที่ 9 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 วาลี เวดสะพง สมาชิกสภาแห่งชาติ (สสช.) จากเขตเลือกตั้งที่ 1 นครหลวงเวียงจันทน์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายในประเด็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ลาวกำลังเผชิญอยู่ ด้วยเนื้อหาที่กระชับ ตรงประเด็น

คำอภิปรายของวาลี เป็นเหมือนคำถามตรงที่เธอถามผ่านสภาฯ ไปยังรัฐบาล ว่ามีแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมอย่างไร และใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

วันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมสภาแห่งชาติลาวมีมติเห็นชอบตามคำเสนอของนายกรัฐมนตรี พันคำ วิพาวัน ให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี โดย…

สอนไซ สิดพะไซ อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ถูกย้ายไปเป็นรัฐมนตรีประจำห้องว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี

โยกย้าย สอนไซ สิดพะไซ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ไปเป็นรัฐมนตรีประจำห้องว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้ง บุนเหลือ สินไซวอละวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน ขึ้นเป็นผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว แทน

โยกย้าย คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ไปเป็นรัฐมนตรีประจำห้องว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้ง มะไลทอง กมมะสิด ประธานองค์การตรวจสอบแห่งรัฐ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า แทน

บุนเหลือ สินไซวอละวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว แทน
……

กว่า 8 เดือนเต็มแล้วที่ลาวต้องอยู่กับวิกฤติการเงิน มีการเปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปฏิบัติการนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน นำมาตรการทางการเงินมาใช้รับมือวิกฤติ รวมถึงการกลับมาเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบอีกครั้ง

แต่วิกฤติที่ลาวเผชิญอยู่นั้น เรียกได้ว่าหนักหนาสาหัส และต้องใช้เวลากับอีกหลายมาตรการ เพื่อบรรเทาปัญหาทุกอย่างให้เบาบางลง…

  • สัปดาห์แห่งความ “โกลาหล” หน้าปั๊มน้ำมันทั่วประเทศลาว
  • การ “ปรับตัว” ที่กำลังเป็นรูปธรรมของ “ลาว” … “ลาวทำ ลาวใช้ ลาวได้ ลาวเจริญ”
  • “ต้นตอ” วิกฤติการเงินในลาว คำถามตรงประเด็นจาก “วาลี เวดสะพง”
  • ฟื้นประเพณี…กระตุ้นเศรษฐกิจ “หลวงพระบาง”