ThaiPublica > สู่อาเซียน > เส้นทางออกสู่ทะเลของลาว…คืบหน้า

เส้นทางออกสู่ทะเลของลาว…คืบหน้า

7 เมษายน 2021


รายงานโดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

แผนที่เส้นทางคมนาคม-ขนส่ง จากนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านแขวงบ่อลิคำไซ คำม่วน ถึงท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

สาธารณรัฐประชาธิไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ยังคงเดินหน้ากรุยเส้นทางออกสู่ทะเล เพื่อทลายข้อจำกัดของประเทศที่เป็น landlocked ให้เป็น land-linked โดยอาศัยท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ในจังหวัดฮาติงห์ ภาคกลางค่อนขึ้นมาทางเหนือของเวียดนาม ที่อยู่ห่างจากกรุงฮานอย 340 กิโลเมตร เป็นปลายทางหลัก…

เมื่อวันที่ 1-2 เมษายน 2564 ที่ห้องประชุมด่านสากล “แดนสะหวัน-ลาวบาว” จุดเชื่อมต่อระหว่างแขวงสะหวันนะเขตของลาว กับจังหวัดกวางตรีของเวียดนาม มีการประชุมคณะกรรมการร่วมมือ 2 ประเทศ ลาว-เวียดนาม ผู้เข้าประชุม ได้แก่ คำเผย แก้วกินนาลี รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการร่วมมือลาว-เวียดนาม และเหวียน วัน จุง รองรัฐมนตรี รองประธานคณะกรรมาธิการร่วมมือเวียดนาม-ลาว

หลายประเด็นถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในที่ประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะหัวข้อสำคัญที่เกี่ยวกับการทลายข้อจำกัดในการเป็น landlocked ของประเทศ นั่นคือ ความคืบหน้าของการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลลาวในบริษัทหุ้นส่วนท่าเรือสากล ลาว-เวียดนาม (Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company) จาก 20% เป็น 60% ซึ่ง 2 ประเทศตั้งเป้าหมายต้องให้สำเร็จในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ที่มาภาพ : Vietnam Times

ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างเกิดขึ้นตามแนวทางพัฒนาเมืองหวุงอ๋าง ตามแผน “เหนือกว๋างบิ่ญ ใต้ฮาติงห์” ของรัฐบาลเวียดนาม เมื่อปี 2540 จากนั้นในปี 2549 ได้สถาปนา “เขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง” ขึ้นบนพื้นที่ 227.81 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 142,400 ไร่ บริเวณเชิงเขาทางเหนือของเทือกเขาหว่าญเซิน ในอำเภอกี่อาญ

นอกเหนือจากที่ดินซึ่งเตรียมไว้สำหรับให้นักลงทุนมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ที่เป็นแม่เหล็กสำคัญสำหรับดึงดูดเม็ดเงินลงทุน

การเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง เป็นเหมือนการเปิดช่องทางออกสู่ทะเลให้กับลาว เพราะที่ตั้งท่าเรือแห่งนี้เป็นปลายทางถนนหมายเลข 8 และ 12 เส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญตามแนวขวางของลาว และเป็นปลายทางที่สั้นที่สุด หากวัดจากจุดเริ่มต้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ ใกล้กว่าท่าเรือดานัง ต้นทางของถนนหมายเลข 9 เส้นทางหลักของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ที่อยู่ใต้ลงไป(โปรดดูแผนที่ประกอบ)

เดือนเมษายน 2553 รัฐบาลเวียดนามและลาวร่วมกันตั้ง Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ขึ้น โดยฝั่งเวียดนามถือหุ้น 80% ลาว 20% เพื่อเป็นองค์กรสำหรับบริหารและพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ให้เป็นท่าเรือเพื่อใช้ส่งออกสินค้าที่ผลิตได้จากประเทศลาว

Laos-Vietnam Vung Ang Port มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 1,362 ล้านบาท ในอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 5 เมษายน 2564)

กลางปี 2562 รัฐบาลลาวได้เสนอต่อรัฐบาลเวียดนาม ขอเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Laos-Vietnam Vung Ang Port จาก 20% ขึ้นเป็น 60% และขอเข้าบริหารท่าเทียบเรือที่ 1 ,2 และ 3 ของท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

ปีที่แล้ว (2563) รัฐบาลเวียดนามตกลงตามข้อเสนอของลาว โดยยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Laos-Vietnam Vung Ang Port ลงมาเหลือ 40% พร้อมเปิดทางให้ฝ่ายลาวได้เข้าบริหารท่าเทียบเรือ 1 , 2 และ 3

รายละเอียดความเป็นมาและกระบวนกรุยทางออกสู่ทะเลของลาว ดูเพิ่มเติมที่นี่ “ทางออกสู่ทะเลลาว 1”,และ
“ทางออกสู่ทะเลลาว 2”


เขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง ที่มาภาพ : Vietnam Times

เมื่อรัฐบาล 2 ประเทศตกลงจัดตั้ง Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ขึ้นในเดือนเมษายน 2553 รัฐบาลลาวได้มอบหมายให้รัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน (ลลบส.) เข้าไปถือหุ้น 20% ใน Laos-Vietnam Vung Ang Port ในนามของรัฐบาล

ลลบส. เป็นองค์กรของรัฐทั้ง 100% จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงของรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน ฉบับที่ 0751/กง. ลงวันที่ 1 เมษายน 2551 ทำหน้าที่บริการขนส่งสินค้าที่นำเข้าและส่งออก ให้เช่าพื้นที่จัดเก็บสินค้า รวมถึงจัดทำเอกสาร แจ้งภาษี สำหรับการส่งออก-นำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ

ลลบส. ถือหุ้นอยู่ใน Laos-Vietnam Vung Ang Port จนถึงต้นปี 2562 จึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลง…

การเดินหน้าเปิดเส้นทางออกสู่ชายทะเลของลาว รัฐบาลลาวได้ร่วมมือกับบริษัทในเครือพงสะหวัน ซึ่งเป็นภาคเอกชน ให้เป็นแกนหลักสำหรับบริหารจัดการ

ระหว่างวันที่ 5-10 มิถุนายน 2560 ทีมเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ของไทย ได้เคยเดินทางไปสำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ ไทย-ลาว-เวียดนาม ตั้งแต่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านสะหวันนะเขต ขึ้นไปจนถึงกรุงฮานอย และได้เขียนรายงานเกี่ยวกับท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างไว้ว่า ประกอบด้วย

  • ท่าเทียบเรือที่ 1 ยาว 185 เมตร กว้าง 28 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 13,000 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือที่ 2 ยาว 270 เมตร กว้าง 31 เมตร คลังสินค้ากว้าง 5,000 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 24,000 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือที่ 3 ยาว 225 เมตร กว้าง 95 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 30,000 ตารางเมตร

รายงานระบุว่า ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างใช้เพื่อส่งออกสินค้าเป็นส่วนใหญ่ 80-90% นำเข้าเพียง 10-20% สินค้าที่ส่งออกผ่านท่าเรือแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและวัตถุดิบ เช่น เครื่องจักร ปูน หิน ทราย แร่ และถ่านหิน

เดือนกรกฎาคม 2560 รัฐบาลลาวอนุมัติแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ที่เสนอโดยบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว มหาชน ในกลุ่มพงสะหวัน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพ ขยายขีดความสามารถการให้บริการของท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการร่วมทุนจัดตั้ง “รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม” ระหว่างรัฐบาลลาวกับภาคเอกชน โดยกระทรวงการเงินถือหุ้นในนามรัฐบาลลาว 51% และบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ถือหุ้น 49%

รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม (The Lao-Vietnam Vung Ang Port Development State Enterprise: VDS) ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาท่าเทียบเรือที่ 1, 2 และ 3 ของท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ขยายขีดความสามารถให้ขนส่งสินค้าทั้งแบบเทกองและตู้คอนเทนเนอร์

รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2573 ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างจะสามารถให้บริการแก่เรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ 5,000 ตัน ถึง 100,000 ตัน เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ตั้งแตขนาดบรรทุก 50,000 ตู้ ถึง 1,200,000 ตู้ และเรือบรรทุกสินค้าเทกอง ตั้งแต่ขนาดบรรทุก 3 ล้านตัน ถึง 20 ล้านตัน…

พิธีเปิดตัวผู้บริหารรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563

วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ห้องประชุมใหญ่ บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ได้มีพิธีเปิดตัวทีมงานผู้บริหาร รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม

เนื้อหาข่าว ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์ทางการของกระทรวงการเงิน ไม่ได้ให้รายละเอียดของผู้บริหารว่ามีใครกันบ้าง นอกจาก จันทอน สิดทิไซ ประธานกลุ่มบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ที่ถูกระบุตำแหน่งว่าเป็นผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม แต่ได้บอกรายชื่อแขกซึ่งถูกเชิญไปร่วมงาน ประกอบด้วย

  • บุนเหลือ สินไซวอระวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน
  • คำเผย แก้วกินนาลี รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน
  • อาลุนแก้ว กิดติคุน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการบริหารยุทธศาสตร์และการวางแผน บริษัทพีทีแอล โฮลดิ้ง
  • สิลา เวียงแก้ว อดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติก พาร์ค

พิธีโอนหุ้น Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company จาก ลลบส. มาให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่มาภาพ:เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-การค้า https://laoedaily.com.la/2021/03/31/91146/

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีพิธีโอนหุ้นของ Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ที่ ลลบส. ถืออยู่ในสัดส่วน 20% มาให้แก่รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม

ผู้ลงนามในการโอนและรับโอนหุ้น ได้แก่ สุลิยา มะนีวง ผู้อำนวยการใหญ่ ลลบส. กับจันทอน สิดทิไซ ผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม โดยมี เหวียน บาหุ่ง เอกอัคราชทูตเวียดนามประจำลาว, อาลุนแก้ว กิดติคุน ประธานกรรมการบริหารยุทธศาสตร์และการวางแผน บริษัทพีทีแอล โฮลดิ้ง, สิลา เวียงแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติก พาร์ค และผู้บริหารจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยาน

เหตุผลที่ต้องมีการโอนหุ้นระหว่างกันครั้งนี้ เนื่องจากมีการจัดโครงสร้างผู้บริหารในท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างใหม่ โดยรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง กระทรวงการเงินกับบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว จะเข้าไปพัฒนาและบริหารท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ตามความเห็นชอบร่วมกันของรัฐบาลลาวและเวียดนาม

ดังนั้น หุ้นของ Laos-Vietnam Vung Ang Port ซึ่งเคยถูกถือไว้ในนาม ลลบส. ในฐานะตัวแทนรัฐบาลลาว จึงจำเป็นเปลี่ยนมือมาให้แก่รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม เป็นผู้ถือแทน

ขั้นต่อจากนี้ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม จะดำเนินการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Laos-Vietnam Vung Ang Port จาก 20% เป็น 60% ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

จันทอน สิดทิไซ ประธานกลุ่มบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว และผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม

จันทอน สิดทิไซ ผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง กล่าวในพิธีรับโอนหุ้นว่า ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างมีความสำคัญมากต่อการขนส่งทางน้ำ ในภาคกลางของเวียดนามและลาว เป็นทั้งทางผ่าน จุดเชื่อมต่อของลาวที่จะโยงกับการค้าในภูมิภาคนี้

ท่าเรือแห่งนี้ยังเป็นนิมิตรหมายประวัติศาสตร์ ที่ถูกดำริไว้ตั้งแต่ยุคที่ลุงโฮจิมินห์ เป็นประธานาธิบดีเวียดนาม และลุงไกสอน พมวิหาน เป็นประธานประเทศลาว เพื่อผลักดันให้ลาวมีทางออกสู่ทะเล

ภาพจำลองอนาคตของท่าเรือน้ำลึกหวุ๋งอ๋าง หลังจากได้รับการพัฒนาแล้ว ซึ่งถูกนำเสนอในพิธีเซ็นสัญญาโอนหุ้น 20% ใน Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ให้แก่รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม เป็นผู้ถือ ที่มาภาพ : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-การค้า https://laoedaily.com.la/2021/03/31/91146/

การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญเป็นพิเศษ สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ของลาวและเวียดนาม ที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม ของลาวให้มั่นคง ยั่งยืนในระยะยาว

จันทอนกล่าวว่า ตามกำหนดการคาดว่าการพัฒนาท่าเทียบเรือที่ 1, 2 และ 3 จะเริ่มต้นก่อสร้างภายในปีนี้ (2564) และตั้งเป้าหมายระยะแรก ให้เสร็จสิ้นในปี 2566