ThaiPublica > สู่อาเซียน > ทางออกสู่ทะเลของ “ลาว” (2)

ทางออกสู่ทะเลของ “ลาว” (2)

16 ธันวาคม 2020


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

“…ในส่วนของท่าเรือ บริษัทได้ร่วมกับกระทรวงการเงิน ในนามของรัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน เข้าไปบริหาร จัดการ ท่าเรือหวุงอ๋าง ประเทศเวียดนาม เพื่อก่อสร้างให้เป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่ง ก็คือท่าเรือระดับสากลของลาว เพื่อสร้างความเป็นเอกราชในการขนส่งทางทะเล และหลีกเลี่ยงการผูกขาดเข้า-ออกท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือการบริการที่มีราคาแพง

เพื่อดึงดูดสินค้าเข้าไปผ่านท่าเรือของตน บริษัทมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงจุดเชื่อมต่อขนส่งหลักของประเทศ โดยเฉพาะท่าบก ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ที่ตั้งอยู่ในโครงการพัฒนาเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งคือหนึ่งในโครงการศูนย์รวมพัฒนาโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้า ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2573 ให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับชาติ และระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง”

เนื้อหาข้างต้น ถอดความมาจากช่วงท้ายสุดในส่วนประวัติความเป็นมา ของเว็บไซต์ “Vientiane Logistics Park”

โลโก้รัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน

รัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดนที่ถูกอ้างอิงถึง เป็นองค์กรของรัฐบาลลาว จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงของรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน ฉบับที่ 0751/กง. ลงวันที่ 1 เมษายน 2551 ทำหน้าที่บริการขนส่งสินค้าที่นำเข้าและส่งออก ให้เช่าพื้นที่จัดเก็บสินค้า รวมถึงจัดทำเอกสาร แจ้งภาษี สำหรับการส่งออก-นำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ

หากวาดโครงสร้าง “การเชื่อมโยงจุดเชื่อมต่อขนส่งหลักของประเทศ” ตามที่ประวัติความเป็นมาเขียนเอาไว้ นอกจากท่าเรือหวุงอ๋างแล้ว ยังต้องมีอีก 2 โครงการสำคัญ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ และทำงานสอดประสานซึ่งกันและกัน เพื่อให้การพัฒนาท่าเรือแห่งนี้ เป็นทางออกสู่ทะเลของ สปป.ลาว ที่มีประสิทธิภาพ

อีก 2 โครงการที่ว่า ได้แก่ ศูนย์โลจิสติกส์ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ และเส้นทางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงท่าเรือหวุงอ๋าง

Vientiane Logistics Park เป็นเว็บไซต์องค์กรของบริษัทสิทธิ โลจิสติกส์ ลาว

สิทธิ โลจิสติกส์ ลาว เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว มหาชน ทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปยังสถานีบริการน้ำมัน PLUS ทั่วประเทศ ก่อนจะแยกตัวออกมาตั้งเป็นอีกบริษัทหนึ่ง เมื่อปี 2556

ปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว มหาชน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมันครบวงจรภายใต้เครื่องหมายการค้า PLUS และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557

ทั้งสิทธิ โลจิสติกส์ลาว และปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว มหาชน เป็นบริษัทในกลุ่ม “พงสะหวัน”

จากข้อมูลที่ระบุในประวัติความเป็นมาของ Vientiane Logistics Park ข้างต้น จึงบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ผู้บริหารท่าเรือหวุงอ๋าง ส่วนที่เป็นภาคเอกชนลาว คือ “กลุ่มพงสะหวัน” นั่นเอง

การเซ็น MOU มอบให้สิทธิ โลจิสติกส์ ลาว ศึกษาความเป็นไปได้ โครงการท่าเรือบก ท่านาแล้ง

หลังจากลาวและเวียดนาม มีแผนสร้างทางด่วนเวียงจันทน์-ฮานอย เพื่อเชื่อมเมืองหลวง 2 ประเทศ ในปี 2559 และนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ของลาว กับนายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม ได้เป็นสักขีพยานในการเซ็นข้อตกลงร่วม 2 ประเทศ ที่ว่าด้วยการลงทุนพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง เพื่อให้เป็นท่าเรือ “ลาว-เวียด” และการสร้างทางรถไฟสายเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง ในปลายเดือนเมษายน 2560

วันที่ 5 เมษายน 2562 กระทรวงแผนการและการลงทุน ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้บริษัทสิทธิ โลจิสติกส์ ลาว เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการท่าเรือบก ท่านาแล้ง

MOU เซ็นโดยคำจัน วงแสนบูน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนงานและการลงทุน ในฐานะตัวแทนรัฐบาล กับจันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัทสิทธิ โลจิสติกส์ ลาว มีสอนไช สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการการลงทุนแห่งชาติ และบุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เป็นประธานและสักขีพยาน

ถัดจากนั้นไม่ถึง 3 เดือน วันที่ 25 มิถุนายน 2562 ได้มีพิธีเซ็น MOU การร่วมธุรกิจระหว่างกลุ่มพงสะหวัน กับกลุ่มรัฐวิสาหกิจจากประเทศอินโดนีเซีย

ผู้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเซ็น MOU ครั้งนี้ ประกอบด้วย สุพัน แก้วมีไซ รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน อาลุนแก้ว กิดติคุน รัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรี ศ. ดร.ออด พงสะหวัน ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กลุ่มบริษัทพงสะหวัน Rini Mariani Soemarno รัฐมนตรีกระทรวงรัฐวิสาหกิจ อินโดนีเซีย และ Pratito Soeharyo เอกอัครรัฐทูตอินโดนีเซียประจำ สปป.ลาว

MOU ที่เซ็นกันในวันนั้น มี 4 ฉบับ 1 ในนั้น ได้แก่ MOU ว่าด้วยการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม ระหว่างบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว มหาชน กับรัฐวิสาหกิจ Indonesia Railway Development Consortium

เนื้อหาใน MOU ฉบับนี้ ทั้ง 2 องค์กรจะร่วมกันพัฒนาเส้นทางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน มีปลายทางที่ท่าเรือหวุงอ๋าง

15 ตุลาคม 2562 รัฐบาลลาว โดยกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้เซ็น MOU ให้บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว มหาชน เป็นผู้ออกแบบรายละเอียดโครงการทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง

พิธีเซ็นมอบสัมปทานโครงการเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ให้กับสิทธิ โลจิสติกส์ ลาว

7 กุมภาพันธ์ปีนี้ (2563) รัฐบาลลาวเห็นชอบผลการศึกษาของบริษัทสิทธิ โลจิสติกส์ ลาว และอนุมัติการจัดตั้งบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค (Vientiane Logistics Park) ให้เป็นผู้สร้างและบริหารท่าเรือบกและศูนย์โลจิสติกส์ท่านาแล้ง ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโลจิสติกส์แห่งชาติ พ.ศ. 2559-2573

ข้อมูลเบื้องต้น เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ครอบคลุมพื้นที่กว่า 200 เฮคตา(1,250 ไร่) ที่บ้านดงโพสี เมืองหาดทรายฟอง ใกล้กับที่ตั้งสถานีรถไฟท่านาแล้ง เป็นศูนย์โลจิสติกส์ครบวงจร ของนครหลวงเวียงจันทน์ ตามที่กำหนดไว้ใน Intergovernmental Agreement on Dry Port ทำหน้าที่ให้บริการรวบรวม รับ-ส่งสินค้า ส่งออกและนำเข้าสินค้าด้วยการขนส่งหลายรูปแบบ รวมถึงให้บริการด้านเอกสาร พิธีการภาษีผ่านแดน โดยจะมีหน่วยงานภาษีของรัฐทุกหน่วยงาน มาตั้งสำนักงานอยู่ในนี้

ตามแผนงานทั้งหมด บริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ต้องใช้เงินลงทุน 727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอายุสัมปทาน 50 ปี

3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีเซ็นสัญญามอบสัมปทานโครงการนี้ ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ สินละวง คุดไพทูน เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ ดร.บุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง และคำจัน วงแสนบุน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน เป็นผู้ลงนามร่วมกับ ศ. ดร.ออด พงสะหวัน และจันทอน สิดทิไซ ประธานบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค

จากนั้น ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เริ่มต้นการก่อสร้างในวันเดียวกัน

การก่อสร้างแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรก มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 12-14 เดือน

พิธีวางศิลาฤกษ์โครงการเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค

วันที่ 9 ตุลาคมปีนี้ บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว ได้เซ็นสัญญาว่าจ้างบริษัท National Consulting Group ให้เป็นผู้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างละเอียด (ESIA) ในโครงการทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง

National Consulting Group เป็นบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมที่ ที่จัดทำ EIA ให้กับโครงการทางรถไฟลาว-จีนด้วย

ทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง ยาว 555 กิโลเมตร อยู่ในลาว 452 กิโลเมตร ในเวียดนาม 103 กิโลเมตร เริ่มจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปตามแนวถนนสาย 13 (ใต้) ถึงแขวงบ่ลิคำไซ แขวงคำม่วน เลี้ยวไปทางตะวันออก เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ ขึ้นสู่จังหวัดกว๋างบิ่ญ และจังหวัดฮาติงห์ มีปลายทางที่ท่าเรือหวุงอ๋าง

คาดว่าทางรถไฟสายนี้จะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปีหน้า กำหนดแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2568

ปิโตรเลียม เทรดิ้ง ลาว เซ็นสัญญาจ้าง National Consulting Group ให้จัดทำ ESIA ทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง

“พงสะหวัน” เป็นกลุ่มธุรกิจเก่าแก่และมีขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งของลาวก่อตั้งโดย ศ. ดร.ออด พงสะหวัน เมื่อปี 2520

ธุรกิจของพงสะหวัน เริ่มจากอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ แล้วค่อยๆขยายมาขายอุปกรณ์สื่อสาร รับเหมาก่อสร้าง ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการเงิน สายการบิน ค้าปลีก ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ธุรกิจโลจิสติกส์ฯลฯ

ปัจจุบัน ธุรกิจในกลุ่มพงสะหวัน มีอย่างน้อย 17 บริษัท

วันที่ 1 กันยายน 2560 ได้มีพิธีเซ็นสัญญาความร่วมมือระหว่าง 3 บริษัท ได้แก่ Surbana Jurong Consultants Pte บริษัท Mekong Group และกลุ่มบริษัทพงสะหวัน ทั้ง 3 บริษัท จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขึ้นบนพื้นที่ 1,300 เฮกตาร์ (8,125 ไร่) บริเวณกิโลเมตรที่ 21 นครหลวงเวียงจันทน์

ภายใต้สัญญาความร่วมมือครั้งนี้ กลุ่มพงสะหวันจะเป็นผู้ลงทุนหลัก โดยได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 300 เฮกตาร์ (1,875 ไร่) เป็นการลงทุนของกลุ่มพงสะหวันเอง อีก 1,000 เฮกตาร์ (6,250 ไร่) เป็นการร่วมลงทุนกับองค์การปกครองนครหลวงเวียงจันทน์

พิธีเซ็นสัญญาระหว่างกลุ่มพงสะหวัน Surbana Jurong Consultants และ Mekong Group ที่โรงแรมดอนจัน พาเลซ

Surbana Jurong Consultants ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม Surbana Jurong ธุรกิจเก่าแก่ของสิงคโปร์ จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและวางแผนแม่บทในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ โดยอาศัยประสพการณ์ในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมและเมืองในหลายประเทศ อาทิ Singapore’s Jurong Island Petrochemical Hub ในสิงคโปร์ Suzhou Industrial Park และ Tianjin Eco-City ในจีน Vietnam-Singapore Industrial Park ในเวียดนาม Kigali City ในอาฟริกา และ Amaravati Capital City ในอินเดีย

ส่วน Mekong Group จะทำหน้าที่แสวงหาบริษัทระหว่างประเทศผู้มีความชำนิชำนาญ เข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการนี้ และสนับสนุนแผนขยายงานของกลุ่มพงสะหวันที่จะเกิดขึ้น หลังเริ่มเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรม (รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ ที่นี่)

Mekong Group เป็นบริษัทที่ปรึกษาซึ่งจดทะเบียนอยู่ในสิงคโปร์ เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2558 โดยเน้นที่ตลาดในภูมิภาคอินโดจีน โดยเฉพาะลาว

ชื่อ Mekong Group เริ่มปรากฏบนหน้าสื่อในลาวครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 ในพิธีเซ็นสัญญาของบริษัท APA ประกันภัย ที่แต่งตั้ง Deloitte & Touche Business Advisory และ Mekong Group ให้เป็นบริษัทที่ปรึกษา

APA ประกันภัยเป็นอีก 1 บริษัทในกลุ่มพงสะหวัน ที่เพิ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต จากกระทรวงการเงิน เมื่อปี 2558

มีข้อมูลที่น่าสนใจ คือเมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์ของ Mekong Group ในหมวด Affiliated Companies ปรากฏว่าชื่อบริษัทในเครือ Mekong Group ที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ ทุกบริษัทก็คือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มพงสะหวัน

พิธีบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งจัดขึ้นในพิธีเซ็นสัญญาระหว่างกลุ่มพงสะหวัน Surbana Jurong Consultants และ Mekong Group

ก่อนการเซ็นสัญญาความร่วมมือระหว่างกลุ่มพงสะหวัน กับ Surbana Jurong Consultants และ Mekong Group เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 กลุ่มพงสะหวันได้เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงต้อนรับคณะนักธุรกิจจากสภาการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์-จีน (Singapore Chinese Chamber of Commerce and Industry: SCCCI) จำนวน 39 คน ที่ร้านอาหารครัวลาว

ภายในงานเลี้ยง มีการนำเสนอข้อมูลกลุ่มพงสะหวันแก่นักธุรกิจกลุ่มนี้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเข้ามาลงทุนในลาว และสร้างโอกาสสำหรับความร่วมมือทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

แผนยุทธศาสตร์เพื่อเปิดทางออกสู่ทะเลให้กับ สปป.ลาว มีความชัดเจนแล้วว่ามีเส้นทางเช่นไร และใครบ้างที่มีบทบาทอยู่ในแผนนี้

ต่อจากนี้ คงต้องรอดูว่า เมื่อองค์ประกอบทุกส่วนของแผนนี้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนหมดแล้ว สิ่งที่ สปป.ลาว ได้วางเอาไว้ จะบรรลุเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด