ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
การประชุมสภาแห่งชาติลาว สมัยสามัญครั้งที่ 7
ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมา มีการประชุมสภาแห่งชาติลาว สมัยสามัญครั้งที่ 7 โดยการเป็นประธานของไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ
การประชุมครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลลาว ได้กล่าวรายงานถึงภารกิจที่รับผิดชอบตลอดช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 รวมถึงชี้แจงและตอบข้อซักถามจากสมาชิกสภาแห่งชาติให้ที่ประชุมได้รับทราบ
เนื้อหาในการกล่าวรายงานและคำชี้แจงของรัฐมนตรีแต่ละคน โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อยู่พอสมควร
เนื้อหาถัดจากนี้เป็นการสรุปเนื้อความบางส่วนจากคำกล่าวรายงานและการชี้แจงของรัฐมนตรีบางคน ที่มีนัยสำคัญต่อการมองภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคของลาวปัจจุบัน…
(*ตัวเลขการเงินที่รายงานใช้หน่วยเป็นกีบ ปัจจุบันราคาตลาดของเงินกีบอยู่ที่ 700 กีบต่อ 1 บาท)
สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี
สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี
“ลาวไม่ใช่ประเทศที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้”
6 เดือนแรกของปี 2567 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลาวอยู่ที่ 4.7% คาดว่าตลอดทั้งปี เศรษฐกิจลาวจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่สภาแห่งชาติกำหนดไว้ที่ 4.5%
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 6 เดือนแรกของปี 2567 จะบรรลุ 148,043 พันล้านกีบ หรือเท่ากับ 50.4% ของแผนการที่สภาแห่งชาติได้กำหนดให้ GDP รวมของลาวตลอดทั้งปี 2567 ต้องขึ้นไปถึง 293,786 พันล้านกีบ
อัตราเงินเฟ้อ 5 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 25.1% เฉพาะเดือนพฤษภาคม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 25.8% คาดว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 25% ขณะที่สภาแห่งชาติกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อของลาวต้องลดลงมาอยู่ที่ 9% หรือเป็นตัวเลข 1 หลัก ในปลายปี 2567
รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาล ทั้งหนี้ที่เกิดภายในประเทศและหนี้เงินกู้จากต่างประเทศ ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งจากงบประมาณของรัฐ การระดมทุนจากตลาดเงินภายใน เพื่อชำระต้นทุนและดอกเบี้ยให้ได้ตามสัญญา โดยการแก้ไขหนี้โครงการลงทุนของรัฐด้วยรูปแบบพลิกหนี้ 3 มุม วงเงิน 8,000 พันล้านกีบ มาถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ออกพันธบัตรระดมทุนได้แล้ว 7,390 พันล้านกีบ เท่ากับ 92% ของแผนการ และจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลนำออกมาใช้ ได้รับประกันให้ทุกวันนี้ ลาวไม่ตกเป็นประเทศที่ไม่สามารถชำระหนี้สินได้
รัฐบาลได้เจรจากับบริษัทจำนวนหนึ่งที่ได้กู้เงินไปจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว (แบงก์ชาติลาว) ให้มาชำระเงินกู้คืนก่อนกำหนดตามสัญญา ปัจจุบันมีเงินกู้ประมาณ 30% ที่ได้รับการชำระคืนมาแล้ว รวมถึงการเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่ง จ่ายคืนเงินกู้และหนี้ค่าไฟฟ้าที่ได้ค้างเอาไว้
รัฐบาลกำหนด 5 นโยบายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในการขาดแคลนครู ใช้งบประมาณรวม 90 พันล้านกีบ และเริ่มใช้นโยบายนี้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 โดยใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 29 พันล้านกีบ ประกอบด้วย
1. ต่ออายุครูที่ครบกำหนดเกษียณอายุแล้ว ให้ยังคงสอนหนังสือต่อไปได้ โดยได้รับเงินเดือนและสวัสดิการเท่าเดิม
2. ให้ผู้ที่เคยเป็นครู แต่ได้ลาออกไปทำงานอื่น สามารถกลับมาเป็นครูได้โดยได้รับเงินเดือนและสวัสดิการเท่ากับอัตราที่ได้รับก่อนลาออก
3. ให้เงินเดือนและสวัสดิการแก่ครูอาสาสมัครตามระดับการศึกษาของครู และจ่ายเงินตามชั่วโมงสอนเท่ากับครูที่เป็นรัฐกร
4. ปรับครูอาสาให้เป็นรัฐกรครูในพื้นที่ซึ่งมีเงื่อนไข
5. ใช้บุคลากรจากหน่วยงานอื่น เช่น ทหาร ตำรวจชายแดน มาทำหน้าที่ครู ในพื้นที่ซึ่งมีเงื่อนไข โดยคำนวณเงินเดือนให้ตามชั่วโมงสอนในอัตราที่รัฐกำหนด
บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว
บุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว
“เงินเฟ้อเป็นปัญหาที่ยากต่อการควบคุม เพราะยังมีตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรานอกระบบ”
ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จะดำเนินนโยบายเงินตราอย่างรัดกุม เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่คลังสำรองเงินตราต่างประเทศ ควบคุมเงินตราต่างประเทศให้เข้าสู่ระบบธนาคารมากขึ้น ควบคุมปริมาณเงินให้ขยายตัวอยู่ในจังหวะที่ไม่สูงเกินไป กำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง พัฒนาระบบการชำระเงินให้มีความทันสมัย สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคให้มากขึ้น ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพดีขึ้น เร่งแก้ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อเงินกีบ เพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนมาถือครองเงินกีบให้มากขึ้น
ปัจจุบัน สถานการณ์ด้านเงินตราของลาวยังไม่แข็งแรง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจและการผลิต ยังไม่สมดุลกับการบริโภค เงินสำรองในคลังยังอยู่ในระดับต่ำ ถ้าเทียบกับมาตรฐานความมั่นคงในการชำระค่าสินค้านำเข้า ยิ่งเมื่อเทียบกับพันธะในการชำระหนี้สินต่างประเทศ ก็ยิ่งต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้มแข็งให้ฐานะเงินตราของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดุลชำระเงินตราต่างประเทศ ซึ่งก็คือการใช้เงินตราต่างประเทศกับการหาเงินตราต่างประเทศ ก็ยังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจของลาวจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าถึง 60-70% จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้า
อัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่ยากพอสมควรต่อการควบคุม เนื่องจากยังมีตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนอกระบบ แม้ว่าช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 การอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ในจังหวะที่ช้ากว่าเมื่อปี 2566 แต่ปัญหาการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน M2 ก็ยังอยู่ในระดับที่สูง ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของลาว ยังอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จะพยายามควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้มีเสถียรภาพมากกว่าเดิม เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง
ลาวต้องขยายการส่งออกสินค้าให้มากขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ ปัจจุบัน ในลาวมีบริษัทที่จดทะเบียนแล้วรวม 3,300 แห่ง ในนี้มีเพียง 1,178 แห่ง ที่ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบบัญชีเฉพาะ เพื่อให้ธนาคารแห่ง สปป.ลาว สามารถติดตามจำนวนเงินที่ใช้เพื่อการส่งออก-นำเข้าสินค้าได้ จึงจำเป็นต้องให้บริษัททั้ง 3,300 แห่ง เปลี่ยนมาใช้ระบบบัญชีเฉพาะได้ทั้งหมด
ธนาคารแห่ง สปป.ลาว จะเพิ่มการควบคุมเงินตราต่างประเทศที่มาจากแหล่งอื่น เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งตามสถิติในปี 2566 การท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้แก่ลาวถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินของนักท่องเที่ยว จึงได้มีการพัฒนาระบบ QR Code ระหว่างลาว-ไทย ลาว-เวียดนาม และ ลาว-จีน โดยในวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 นี้ จะเปิดใช้ QR Code ไทยสแกนลาว เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้จ่ายเป็นเงินบาท จากนั้นในปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ก็จะเปิด QR Code เวียดนามสแกนลาว เพิ่มอีก
สันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน
สันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน
“6 เดือนแรกของปี 2567 รัฐบาลลาวจะมีรายรับ 28,005 พันล้านกีบ เท่ากับ 112% ของเป้าหมาย”
ต้นปี 2567 รายรับของรัฐบาลลาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน การเปิดปีท่องเที่ยวลาว การลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น กิจการหลายแห่งมีการขยายตัว รวมถึงการปฏิบัติมาตรการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ-การเงิน เงินตรา การอุดช่องว่างที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณ รวมถึงการนำระบบการจัดเก็บงบประมาณที่ทันสมัยมาใช้
5 เดือนแรกของปี 2567 รัฐบาลลาวมีรายรับรวม 25,957 พันล้านกีบ เพิ่มขึ้น 64% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเท่ากับ 52% ของเป้าหมายในแผนจัดเก็บรายรับตลอดปี ในนี้เป็นรายรับจากภายใน 24,104 พันล้านกีบ เท่ากับ 54% ของเป้าหมาย แบ่งเป็นรายรับจากภาษีและส่วยสาอากร 21,333 พันล้านกีบ เท่ากับ 51.21% ของเป้าหมาย รายรับที่ไม่ใช่ภาษีและส่วยสาอากร 2,770 พันล้านกีบ เท่ากับ 81.15% ของเป้าหมาย และเป็นรายรับจากเงินช่วยเหลือ 1,854 พันล้านกีบ เท่ากับ 36.82% ของเป้าหมาย
รายรับส่วนใหญ่ได้จากแขนงพลังงานไฟฟ้ากับแขนงแร่ธาตุ และเมื่อแยกเป็นรายรับของแต่ละท้องถิ่น โดยเฉลี่ยทุกแขวงสามารถจัดเก็บรายรับได้ 70% ของเป้าหมาย โดยแขวงไซสมบูนสามารถจัดเก็บรายรับได้มากถึง 136% ของเป้าหมาย
คาดการณ์ 6 เดือนแรกของปี 2567 รัฐบาลลาวจะมีรายรับ 28,005 พันล้านกีบ เท่ากับ 112% ของเป้าหมายในแผนจัดเก็บรายรับครึ่งปีแรก และเท่ากับ 56% ของเป้าหมายในแผนจัดเก็บรายรับตลอดทั้งปี
โพไซ ไซยะสอน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่
โพไซ ไซยะสอน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่
“ปี 2566 การลงทุนกิจการเหมืองแร่มีมูลค่า 2,432 ล้านดอลลาร์ สร้างรายได้ให้รัฐบาล 322.6 ล้านดอลลาร์”
ปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตลงทุนในกิจการเหมืองแร่จากรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 968 บริษัท แบ่งเป็นการให้ใบอนุญาตจากระดับแขวง 671 บริษัท ส่วนกลางเป็นผู้ให้ใบอนุญาต 297 บริษัท
โครงการส่วนใหญ่ที่ได้รับใบอนุญาตจากระดับแขวง เป็นสินแร่อโลหะ ยกเว้นแขวงไซสมบูนที่สามารถให้ใบอนุญาตทำเหมืองแร่โลหะได้
การให้ใบอนุญาตโดยส่วนกลาง ปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตในขั้นตอนสำรวจและขุดค้น 150 บริษัท อยู่ในขั้นตอนการศึกษาด้านเศรษฐกิจและเทคนิค 32 บริษัท และอยู่ในขั้นตอนที่มีการขุดค้นและแปรรูปแล้ว 115 บริษัท
มีแร่ธาตุ 19 ชนิดในลาวที่ได้มีการสำรวจและขุดค้นเชิงพาณิชย์ มีปริมาณทรัพยากรรวม 14,606 ล้านตัน ในนี้เป็นปริมาณสินแร่สะสม 7,987 ล้านตัน โดยแร่โปแตชมีปริมาณทรัพยากรมากที่สุดถึง 10,125 ล้านตัน รองลงมาเป็นถ่านหิน 845 ล้านตัน และทอง 201 ล้านตัน
ปี 2566 การลงทุนขุดค้นและแปรรูปเหมืองแร่ทั่วประเทศ มีมูลค่าถึง 2,432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การจำหน่ายแร่ธาตุภายในประเทศ มีมูลค่ารวม 273.6 ล้านดอลลาร์ การขายออกไปยังต่างประเทศ มีมูลค่ารวม 2,604 ล้านดอลลาร์ มอบพันธะที่เป็นรายได้แก่รัฐบาลเป็นเงิน 322.6 ล้านดอลลาร์
ลาวได้ร่วมมือกับจีนและเวียดนามสำรวจข้อมูลทางธรณีวิทยาและแร่ธาตุภายในประเทศลาว และได้ทำแผนที่ธรณีวิทยาและแร่ธาตุ อัตราส่วน 1 : 200,000 โดยเหลือพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้สำรวจอีก 74,696 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับ 31.5% ของพื้นที่ทั่วประเทศที่ต้องเดินหน้าสำรวจต่อให้เสร็จ และจะทำแผนที่ธรณีวิทยาและแร่ธาตุ อัตราส่วน 1 : 50,000 ในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรแร่ที่มีศักยภาพ
ใบคำ ขัดทิยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
ใบคำ ขัดทิยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
“ปัจจุบัน แรงงานลาวที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ ส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 52 ล้านดอลลาร์”
ปัจจุบัน มีแรงงานลาวออกไปทำงานในต่างประเทศแบบถูกต้องตามกฏหมาย 212,795 คน ไปทำงานแบบผิดกฏหมาย 203,161 คน ได้ส่งเงินกลับประเทศเดือนละ 52,110,961 ดอลลาร์สหรัฐ หรือปีละ 625,331,532 ดอลลาร์
ขณะที่คนลาวหลั่งไหลออกไปทำงานในต่างประเทศ แต่ความต้องการแรงงานในประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้น จากการเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ พบว่า ระหว่างปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 องค์กรธุรกิจต่างๆ ในลาวมีความต้องการแรงงาน 36,269 คน แต่ในความเป็นจริงสูงกว่านี้ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้อยู่
…….
การประชุมสภาแห่งชาติลาว สมัยสามัญ ครั้งที่ 7 จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567…