ThaiPublica > สู่อาเซียน > โครงข่ายกลุ่ม “พงสะหวัน” กับก้าวย่างทางออกสู่ทะเลของลาว

โครงข่ายกลุ่ม “พงสะหวัน” กับก้าวย่างทางออกสู่ทะเลของลาว

20 มกราคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ขณะที่คนทั่วไปกำลังให้ความสนใจกับขบวนรถไฟลาว-จีน ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564

แต่ในลาวเอง ทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเดินหน้ากรุยเปิดเส้นทางออกสู่ทะเลให้กับลาว

เอกชนกลุ่มหนึ่งที่กำลังเคลื่อนไหว คือกลุ่มบริษัทพงสะหวัน

และทางออกสู่ทะเลของลาวที่กำลังช่วยกันกรุยทาง เป็นเส้นทางที่ไม่ต้องพึ่งพาดินแดนไทย

……

พิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มสร้างเมืองอัจฉริยะของกลุ่มบริษัทพงสะหวัน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มต้นก่อสร้างโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แห่งแรกของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นการลงทุนโดยกลุ่มบริษัทพงสะหวัน ในวงเงิน 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 19,140 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ = 33 บาท ณ วันที่ 14 มกราคม 2565)

พิธีถูกจัดขึ้น ณ สถานที่ก่อสร้าง บนพื้นที่ 300 เฮคตา หรือ 1,875 ไร่ (1 เฮกตาร์ = 6.25 ไร่) ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมนครหลวงเวียงจันทน์ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 21 ถนนสาย 13 ใต้ มีอาดสะพังทอง สีพันดอน เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ และพลโท ไอ่ สุลิยะแสง ประธานกลุ่มบริษัทพงสะหวัน เข้าร่วม

เมืองอัจฉริยะแห่งนี้ถูกออกแบบและวางแผนก่อสร้างโดยบริษัท Surbana Jurong จากสิงคโปร์ ภายในแบ่งพื้นที่พัฒนาเป็น 6 เขต ได้แก่ เขตที่พักอาศัยและการค้า, พื้นที่สาธารณะและขนส่งโดยสาร, เขตการค้า โรงแรม และบริการ, เขตการค้าระหว่างประเทศ, พื้นที่สีเขียว และเขตอุตสาหกรรมเบา

ไพบูน พงสะหวัน ตัวแทนกลุ่มพงสะหวัน กล่าวว่า การสร้างเมืองอัจฉริยะแห่งนี้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม 5 ปี ครั้งที่ 9 (2564-2568) ของนครหลวงเวียงจันทน์ ที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ส่งเสริมการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยวให้ขยายตัวต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สร้างพื้นฐานการผลิตในองค์ประกอบของเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งของนครหลวงเวียงจันทน์ให้มีความเข้มแข็ง ทันสมัย สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างรูปแบบการพัฒนาที่มีความสมดุลและยั่งยืน

นิยามของเมืองอัจฉริยะ คือ ศูนย์รวมของการพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสารโทรคมนาคมอย่างเป็นระบบ และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สอดคล้องกับแผนพัฒนาระยะยาวของทั้งนครหลวงเวียงจันทน์และลาว

ภาพจำลองเมืองอัจฉริยะที่กลุ่มบริษัทพงสะหวันกำลังจะสร้างขึ้นบนพื้นที่ 1,875 ไร่ ริมถนนสาย 13 ใต้

โครงการนี้ นอกจากถูกระบุให้เป็นเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของลาวแล้ว ยังจะถูกใช้เป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแห่งอื่นๆ ที่จะมีการสร้างเพิ่มขึ้นมาในลาวอีกในอนาคต…

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 องค์การบริหารนครหลวงเวียงจันทน์ ได้ มีหนังสือแจ้งการเลขที่ 083/หนว. สั่งห้ามทำธุรกรรมใดๆ บนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่ 5 บ้าน (เทียบเท่าตำบล) ของเมืองไซเสดถา ประกอบด้วย บ้านจอมสี บ้านนาควายใต้ บ้านนาควายกลาง บ้านนาโน และบ้านนาไห และอีก 7 บ้านของเมืองหาดซายฟอง ได้แก่ บ้านดงโพนแฮ่ บ้านคำจะเลิน บ้านหนองแปนเหนือ บ้านหนองแปนใต้ บ้านเชียงควน บ้านท่าพะ และบ้านหนองพง

ทั้ง 12 บ้าน มีเนื้อที่รวมมากกว่า 2,900 เฮคตา (18,125 ไร่) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของถนน 450 ปี ที่เป็นวงแหวนที่เชื่อมถนนท่าเดื่อ จากบริเวณเชิงสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) กับถนนสาย 13 เหนือ และ 13 ใต้ ผ่านทางสี่แยกดงโดก

เหตุผลเพราะว่าบริษัทดวงจะเลิน พัดทะนา ก่อสร้าง ธุรกิจเอกชนแห่งหนึ่งของลาว ได้รับสัมปทานให้สร้างเมืองอัจฉริยะขึ้นบนที่ดินแปลงนี้ และกำลังจะสำรวจปักปันเขตแดนที่แน่นอนก่อนเริ่มต้นโครงการ จึงต้องห้ามทำธุรกรรมทุกประเภทไว้ก่อน

โครงการเมืองอัจฉริยะของบริษัทดวงจะเลินฯ อยู่ห่างลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จากเมืองอัจฉริยะที่กลุ่มบริษัทพงสะหวัน กำลังเริ่มก่อสร้าง

ในพื้นที่ 2,900 เฮคตาที่บริษัทดวงจะเลินฯ จะสร้างเมืองอัจฉริยะขึ้นนั้น แบ่งเป็นส่วนของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ 1,500 เฮกตาร์ (9,375 ไร่) หรือ 50.70% อีก 600 เฮกตาร์ (3,750 ไร่) หรือ 21.18% เป็นส่วนของถนน ลานจอดรถ และลานกิจกรรม และอีก 800 เฮกนาร์ (5,000 ไร่) หรือ 27.12% เป็นพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม โครงการเมืองอัจฉริยะริมถนน 450 ปีของบริษัทดวงจะเลินฯ ขณะนี้ ยังไม่ได้เริ่มลงมือก่อสร้าง…

  • Vientiane Smart City วิธีจัดการ“หนี้สิน-สัมปทาน” ที่น่าสนใจของลาว
  • นิคมอุตสาหกรรมนครหลวงเวียงจันทน์มีเนื้อที่รวม 1,552 เฮกตาร์ (9,700 ไร่) เป็นอีก 1 โครงการลงทุนของกลุ่มบริษัทพงสะหวัน

    วันที่ 1 กันยายน 2560 ได้มีพิธีเซ็นสัญญาความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง ได้แก่ Surbana Jurong Consultants Pte บริษัท Mekong Group และกลุ่มบริษัทพงสะหวัน (https://surbanajurong.com/resources/press-releases/collaborate-support-laos-growth-journey/) ทั้ง 3 บริษัท จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขึ้นบริเวณกิโลเมตรที่ 21 ถนนสาย 13 ใต้ นครหลวงเวียงจันทน์

    ภายใต้สัญญาความร่วมมือที่เซ็นกันในครั้งนั้น กลุ่มพงสะหวันจะเป็นผู้ลงทุนหลัก โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 300 เฮกตาร์ (1,875 ไร่) เป็นการลงทุนของกลุ่มพงสะหวันเอง อีกส่วนหนึ่งประมาณ 1,000 เฮกตาร์ (6,250 ไร่) เป็นการลงทุนร่วมกับองค์การบริหารนครหลวงเวียงจันทน์

    Surbana Jurong Consultants เป็นบริษัทในกลุ่ม Surbana Jurong ธุรกิจเก่าแก่ของสิงคโปร์ จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและวางแผนแม่บทสำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ โดยอาศัยประสบการณ์ในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมและเมืองในหลายประเทศ อาทิ Singapore’s Jurong Island Petrochemical Hub ในสิงคโปร์ Suzhou Industrial Park และ Tianjin Eco-City ในจีน Vietnam-Singapore Industrial Park ในเวียดนาม Kigali City ในอาฟริกา และ Amaravati Capital City ในอินเดีย

    ส่วน Mekong Group เป็นบริษัทในกลุ่มพงสะหวัน ที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ ทำหน้าที่แสวงหาบริษัทระหว่างประเทศผู้มีความชำนิชำนาญ ให้เข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการนี้ และสนับสนุนแผนขยายงานของกลุ่มพงสะหวันที่จะเกิดขึ้น หลังเริ่มเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรม

    เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 ก่อนหน้าการเซ็นสัญญาความร่วมมือ 3 ฝ่าย 1 เดือน องค์การบริหารนครหลวงเวียงจันทน์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะกับกลุ่มบริษัทพงสะหวัน จากนั้นอีก 1 เดือน ในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 องค์การบริหารนครหลวงเวียงจันทน์ ได้การแต่งตั้งคณะรับผิดชอบเพื่อติดตามและผลักดันโครงการเมืองอัจฉริยะ

    โครงการนิคมอุตสาหกรรมเวียงจันทน์ และเมืองอัจฉริยะของกลุ่มบริษัทพงสะหวัน ถูกทิ้งช่วง เงียบหายไปนานกว่า 4 ปี กระทั่งได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มต้นโครงการในวันที่ 13 มกราคม 2565

    หลังวางศิลาฤกษ์แล้ว กลุ่มบริษัทพงสะหวันจะเริ่มสร้างโครงการระยะแรกก่อนโดยใช้พื้นที่ 20 เฮกตาร์ (125 ไร่) อย่างไรก็ตาม เนื้อข่าวที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อทุกแห่งของลาว ไม่ได้ระบุรายละเอียดของการก่อสร้างแต่ละระยะ ว่ามีกำหนดแล้วเสร็จเมื่อใด…

    พงสะหวันเป็นกลุ่มธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ของลาว ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในไทยเมื่อหลายปีก่อน

    เกือบ 10 ปีที่แล้ว ธนาคารพงสะหวัน เคยซื้อเวลาโฆษณาประจำในช่วงละครหลังข่าว ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี ต่อเนื่องยาวนานพอสมควร

    เมื่อความสนใจของคนส่วนใหญ่มุ่งไปยังเรื่องของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน เรื่องราวของกลุ่มพงสะหวันถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อ ทั้งในลาวและไทย เริ่มมีน้อยลง

    แต่หลังจากขบวนรถไฟลาว-จีน เปิดวิ่งให้บริการอย่างเป็นทางการ เครือข่ายธุรกิจในกลุ่มพงสะหวัน กลับมาขยับตัวอย่างมีนัยสำคัญ

    4 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันเดียวกับการเปิดเดินรถไฟลาว-จีนขบวนแรก ที่ท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง ซึ่งอยู่ถัดลงไปจากสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ทางใต้ไม่ไกลมากนัก พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้เป็นประธานในพิธีเปิดเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค ท่าบก (dry port) และศูนย์ขนถ่ายสินค้าครบวงจร ภายในพื้นที่ 382 เฮกตาร์ (2,387 ไร่) โดยมีเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง กล่าวรายงาน

    เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค มิใช่เป็นเพียงศูนย์โลจิสติกส์ที่เชื่อมเส้นทางรถไฟลาว-จีน เข้ากับโครงข่ายทางรถไฟของไทย ผ่านสถานีรถไฟท่านาแล้งและสถานีรถไฟหนองคายเท่านั้น

    แต่ยังเป็นจุดเชื่อมต่อเข้ากับเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม ที่กำลังจะสร้างจากนครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จังหวัดฮาติงห์ ชายทะเลตอนกลางค่อนไปทางเหนือของเวียดนาม

    ทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง ยาว 555 กิโลเมตร อยู่ในลาว 452 กิโลเมตร ในเวียดนาม 103 กิโลเมตร เริ่มจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปตามแนวถนนสาย 13 ใต้ ถึงแขวงบ่ลิคำไซ แขวงคำม่วน เลี้ยวไปทางตะวันออก เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ ขึ้นสู่จังหวัดกว๋างบิ่ญ และจังหวัดฮาติงห์ มีปลายทางที่ท่าเรือหวุงอ๋าง

    คาดว่าทางรถไฟสายนี้ต้องใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี

    “…ในส่วนของท่าเรือ บริษัทได้ร่วมกับกระทรวงการเงิน ในนามของรัฐวิสาหกิจลาวบริการสินค้าผ่านแดน เข้าไปบริหาร จัดการ ท่าเรือหวุงอ๋าง ประเทศเวียดนาม เพื่อก่อสร้างให้เป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่ง ก็คือท่าเรือระดับสากลของลาว เพื่อสร้างความเป็นเอกราชในการขนส่งทางทะเล และหลีกเลี่ยงการผูกขาดเข้า-ออกท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือการบริการที่มีราคาแพง

    เพื่อดึงดูดสินค้าเข้าไปผ่านท่าเรือของตน บริษัทมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงจุดเชื่อมต่อขนส่งหลักของประเทศ โดยเฉพาะท่าบก ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ที่ตั้งอยู่ในโครงการพัฒนาเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งคือหนึ่งในโครงการศูนย์รวมพัฒนาโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้า ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2573 ให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับชาติ และระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง”

    เนื้อหาข้างต้น ถอดความมาจากช่วงท้ายสุดในส่วนประวัติความเป็นมา ของเว็บไซต์ “Vientiane Logistics Park”

    เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ลงทุนและดำเนินการโดยบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 727 ล้านดอลลาร์ (23,991 ล้านบาท) แบ่งเป็นส่วนของท่าเรือบก 180 ล้านดอลลาร์ และศูนย์ขนถ่ายสินค้าครบวงจร 547 ล้านดอลลาร์ มีอายุสัมปทาน 50 ปี

    บริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค เดิมชื่อบริษัทสิทธิ โลจิสติกส์ เป็นบริษัทในกลุ่มพงสะหวัน มีจันทอน สิดทิไซ เป็นประธานกรรมการ

    จันทอน ยังมีอีกตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม บริษัทร่วมทุนระหว่างกระทรวงการเงิน สปป.ลาว กับบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ที่จะเข้าไปพัฒนาและบริหารท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ตามความเห็นชอบร่วมกันของรัฐบาลลาวและเวียดนาม

    บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว เป็นอีก 1 บริษัทในกลุ่มพงสะหวัน ซึ่งได้รับสัมปทานออกแบบและพัฒนาเส้นทางรถไฟเวียงจันทน์-ท่าเรือหวุงอ๋าง และมีจันทอน สิดทิไซ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ

    รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม เป็นตัวแทนรัฐบาลลาวที่ถือหุ้นอยู่ใน Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวและเวียดนาม ในสัดส่วน 20%

    ……

    พันคำ วิพาวัน (ซ้าย) นายกรัฐมนตรี ลาว และ ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (ขวา) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ร่วมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทวิภาคีลาว-เวียดนาม ครั้งที่ 44 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565

    ระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม 2565 พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี ลาว ได้เดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ โดยมีนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม ให้การต้อนรับ

    10 มกราคม 2565 ก่อนเดินทางกลับ นายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศ ได้ร่วมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทวิภาคีลาว-เวียดนาม ครั้งที่ 44 จากนั้นทั้งคู่ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามในเอกสารความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน 2 ประเทศ จำนวน 9 ฉบับ

    1 ในนี้ เป็นเอกสารรับรองข้อผูกพันธ์การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลลาวใน Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company จากเดิม 20% ขึ้นเป็น 60%…

    นายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน และ ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ เป็นสักขีพยานในการเซ็นเอกสารความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ 9 ฉบับ 1 ในนั้น คือเอกสารรับรองการเพิ่มสัดส่วนหุ้นในท่าเรือหวุงอ๋าง ของลาว จาก 20% ขึ้นเป็น 60%

    อ่านประกอบ

  • ทางออกสู่ทะเลของ“ลาว” (1)

  • ทางออกสู่ทะเลของ“ลาว” (2)

  • เส้นทางออกสู่ทะเลของลาว…คืบหน้า