ThaiPublica > สู่อาเซียน > วิสัยทัศน์ “3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ของลาว

วิสัยทัศน์ “3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ของลาว

26 ตุลาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ธง 3 ชาติ แสดงถึงความร่วมมือของ 3 ประเทศในเขตสามเหลี่ยมพัฒนา ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Khmer Times https://www.khmertimeskh.com/50904613/cambodia-commits-to-enhancing-the-clv-development-triangle-area/

วิสัยทัศน์ของลาว ซึ่งต้องการปรับจุดอ่อนของประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (landlocked) ให้เป็นจุดเชื่อมต่อของภูมิภาค (land link) มิใช่มีเพียงแผนพัฒนาเส้นทางคมนาคม ที่ล่าสุด เส้นทางรถไฟลาว-จีน กำลังเตรียมพร้อมเปิดให้บริการในอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้านี้เท่านั้น

แต่ตามพื้นที่ชายแดนซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างประเทศ กำลังมีโครงการพัฒนาพื้นที่เกิดขึ้นในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นชายแดน 2 ประเทศ หรือพื้นที่สามเหลี่ยมจุดเชื่อมพรมแดน 3 ประเทศ

แผนพัฒนาทั้งเส้นทางคมนาคมและพื้นที่เชื่อมต่อชายแดนระหว่างประเทศ ล้วนเน้นตำแหน่งที่ตั้งประเทศของลาว อยู่ในจุดที่น่าสนใจ

…….

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 กระทรวงแผนการและการลงทุนในฐานะตัวแทนรัฐบาล สปป.ลาว ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้บริษัทพัฒนาอัตตะปือครบวงจร จำกัด เป็นผู้สำรวจ ออกแบบ ศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อก่อสร้างและพัฒนาเขตเศรษฐกิจตัวเมืองทันสมัย บริเวณชายแดนสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม (CLV)

ที่ตั้งด่านสากลพูเกือ เมืองพูวง แขวงอัตตะปือ

พิธีเซ็น MOU จัดขึ้นที่ด่านสากลพูเกือ เมืองพูวง แขวงอัตตะปือ โดยมีคำจัน วงแสนบูน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ในฐานะตัวแทนรัฐบาล กับสีพอน ทองสะนิด ประธานบริษัทพัฒนาอัตตะปือครบวงจร จำกัด เป็นผู้ลงนาม

เขตเศรษฐกิจตัวเมืองทันสมัยชายแดนสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และพัฒนาระบบตรวจคนข้ามแดนของด่านสากลพูเกือ โดยนอกจากบริษัทพัฒนาอัตตะปือครบวงจรจะต้องศึกษาความเป็นไปได้แล้ว ยังต้องประเมินผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) และทำแผนควบคุมและตรวจตราสิ่งแวดล้อม (EMMP) เสนอให้รัฐบาลลาวอนุมัติก่อน จึงค่อยเริ่มต้นการก่อสร้าง

พิธีเซ็น MOU ให้บริษัทพัฒนาอัตตะปือครบวงจร ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจตัวเมืองทันสมัย บริเวณชายแดนสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ตามข่าวที่สถานีวิทยุแห่งชาติลาวรายงานไว้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ระบุว่า หากแผนการของบริษัทพัฒนาอัตตะปือครบวงจรได้รับอนุมัติ เมืองพูวงจะถูกพัฒนาขึ้นเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแขวงอัตตะปือ เป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ มีด่านสากลที่ทันสมัย เป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยวแบบผสมผสาน ระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่น ธรรมชาติ และการเกษตร ในอนาคต

ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ได้เริ่มต้นโครงการความร่วมมือสามเหลี่ยมพัฒนา (CLV-DTA) เพื่อพัฒนาพื้นที่พรมแดนเชื่อมต่อระหว่าง 3 ประเทศ มาตั้งแต่ปี 2542

พื้นที่ความร่วมมือครั้งแรกเริ่มต้นจาก 7 จังหวัด ต่อมาในปี 2547 ได้ขยายเป็น 10 จังหวัด และเพิ่มมาเป็น 13 จังหวัดในปี 2553

ในพื้นที่ 13 จังหวัด แบ่งเป็น 4 แขวงของลาว ได้แก่ อัตตะปือ เซกอง สาละวัน และจำปาสัก

เป็น 4 จังหวัดของกัมพูชา คือ สตึงแตรง, รัตนคีรี, มณฑลคีรี และกระแจะ

กับอีก 5 จังหวัดของเวียดนาม ประกอบด้วย ดั๊กลัก, ยาลาย, คอนตูม, ดักโนง และบิญเฟือก

ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อปลายปี 2557 พื้นที่รวมของ 13 จังหวัด ในโครงการสามเหลี่ยมพัฒนา มีทั้งสิ้น 144,600 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรรวม 6.7 ล้านคน

ขอบเขตความร่วมมือสามเหลี่ยมพัฒนา มุ่งเน้นใน 8 กิจการหลัก ประกอบด้วย

  • การคมนาคมขนส่ง
  • การค้าและการลงทุน
  • อุตสาหกรรม
  • พลังงาน
  • โทรคมนาคมและการสื่อสาร
  • การท่องเที่ยว
  • การเกษตร
  • การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

นับแต่เริ่มก่อตั้งโครงการสามเหลี่ยมพัฒนา ได้เกิดความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศในหลายด้าน เช่น มีแผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมในเขตสามเหลี่ยมพัฒนา มีความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเวียดนามได้ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กของนักเรียนลาวและกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเส้นทางเชื่อมต่อระหว่าง 3 ประเทศ การก่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากประเทศเพื่อนมิตร และประเทศคู่ร่วมพัฒนา เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งได้ช่วยเหลือลาวเป็นเงิน 7.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงเส้นทางสาย 1H จากเมืองท่าแตง แขวงเซกอง ไปถึงแขวงสาละวัน ยาว 20 กิโลเมตร โครงการก่อสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษา 8 แห่ง ก่อสร้างโรงพยาบาลที่เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน 1 แห่ง โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเซกะหมาน 2 ตามเส้นทางสาย 1J ในแขวงอัตตะปือฯลฯ

ในการประชุมเมื่อปี 2561 ผู้นำของทั้ง 3 ประเทศ มีฉันทามติร่วมกันที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือ CLV-DTA ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของทั้ง 3 ประเทศ จากเดิมที่จำกัดไว้เพียง 13 จังหวัด

การประชุมออนไลน์ระหว่างผู้นำเวียดนาม ลาว และกัมพูชา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Hanoi Times

การประชุมสุดยอด CLV-DTA ครั้งที่ 11 ซึ่งถูกจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 โดยมีลาวเป็นเจ้าภาพ ผู้นำของทั้ง 3 ประเทศได้ยืนยันอย่างหนักแน่นในที่ประชุมว่า จะมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และลดปัญหาความยากจนของประชาชนใน 3 ประเทศ

ที่ประชุมยังได้มีการรับรองแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราแบบยั่งยืนภายในเขตสามเหลี่ยมพัฒนา รวมถึงแผนพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับเขตสามเหลี่ยมพัฒนา

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศลาว เหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม และนายกรัฐมนตรี ฮุนเซ็น ของกัมพูชา เห็นชอบร่วมกันผ่านการประชุมทางระบบออนไลน์ ในการร่างแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคมของ 3 ประเทศ จากผลกระทบของโควิด-19

นอกจากนี้ ผู้นำทั้ง 3 ประเทศ ยังเห็นชอบการกำหนดเป้าหมายของแผนแม่บทความร่วมมือ CLV-DTA ที่มองไปถึงขยายตัวทางเศรษฐกิจในอีก 10 ข้างหน้า จนถึงปี 2573 ผ่านโครงการต่างๆ โดยจะใช้คำขวัญร่วมกันว่า “3 ประเทศ 1 ปลายทาง”

ผู้นำ 3 ประเทศในพื้นที่ความร่วมมือสามเหลี่ยมพัฒนา (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีฮุนเซน จากกัมพูชา (กลาง) ประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม และ (ขวา) ประธานประเทศ ทองลุน สีสุลิด จากลาว ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Hanoi Times

นอกจากความร่วมมือสามเหลี่ยมพัฒนา ซึ่งอยู่ในภาคใต้ของลาวแล้ว ทางภาคเหนือสุด ลาวก็มีแผนพัฒนาพื้นที่รอยต่อชายแดน 3 ประเทศ ลาว-จีน-เวียดนาม

โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 5 ห้องว่าการแขวงผ้งสาลี ได้มีพิธีเซ็น MOU ระหว่างแผนกแผนการและการลงทุน ในฐานะตัวแทนแขวงผ้งสาลี กับบริษัทยู่เจิง ลงทุน จากจีน ผู้ลงนามในสัญญา ได้แก่ ทองสุก เปาสุลี หัวหน้าแผนกแผนการและการลงทุนแขวง สมหวัง สุมวิไล เจ้าเมืองยอดอู และเซินปิ่ง ประธานบริษัทยู่เจิง ลงทุน โดยมีคำผอย วันนะสาน เจ้าแขวงผ้งสาลี เป็นสักขีพยาน

เนื้อหาของ MOU อนุญาตให้บริษัทยู่เจิง ลงทุน สำรวจพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร ในเมืองยอดอู เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยม ลาว จีน เวียดนาม รวมถึงจัดทำแผนโดยละเอียดของโครงการ และทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม มานำเสนอต่อแขวง

พื้นที่สำรวจเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยม ลาว จีน เวียดนาม ในแขวงผ้งสาลี

ยังไม่มีรายละเอียดของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยม ลาว จีน เวียดนาม ถูกเปิดเผยออกมา แต่ในเบื้องต้น เนื้อที่สำหรับสร้างเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม 150 ตารางกิโลเมตร เขตบริการและท่องเที่ยวอีก 100 ตารางกิโลเมตร รวมถึงจะมีการสร้างถนนจากบ้านใหญ่อูเหนือ ในเมืองยอดอู ขึ้นไปถึงสามเหลี่ยมที่เป็นจุดบรรจบของชายแดนทั้ง 3 ประเทศ

เจ้าหน้าที่ในแขวงผ้งสาลีผู้หนึ่ง บอกกับสถานีวิทยุเอเซียเสรีภาคภาษาลาวว่า แขวงผ้งสาลีได้วางแผนสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ไว้นานแล้ว แต่เพิ่งได้เซ็น MOU ให้บริษัทยู่เจิง ลงทุน เข้ามาสำรวจศึกษาความเป็นไปได้

ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยในพิธีเซ็น MOU ไม่ได้ให้รายละเอียดของบริษัทยู่เจิง ลงทุน เพียงระบุว่า MOU ฉบับนี้มีอายุ 18 เดือน กำหนดให้บริษัทต้องเริ่มลงสำรวจพื้นที่ภายใน 30 วันนับจากวันลงนาม และบริษัทยู่เจิง ลงทุน ได้วางเงินค้ำประกันไว้กับแขวงผ้งสาลี 80 ล้านกีบ หรือประมาณ 2.4 แสนบาท ตลอดอายุ MOU

“ยอดอู” เป็นเมืองที่อยู่เหนือสุดของลาว มีพื้นที่ติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติฮาหนี และอี๋ เจียงเฉิง จังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน ของจีน และอำเภอเหมืองแญ้ จังหวัดเดี่ยนเบียน เวียดนาม

พิธีเซ็น MOU ให้บริษัทยูเจิง ลงทุน สำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยม ลาว จีน เวียดนาม ที่มาภาพ: เพจสถานีวิทยุ-โทรทัศน์แขวงผ้งสาลี

เมืองยอดอูเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำอู ความยาว 448 กิโลเมตร ที่ไหลไปลงแม่น้ำโขงที่เมืองปากอู แขวงหลวงพระบาง โดยตลอดลำน้ำสายนี้มีเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำอูตั้งอยู่ถึง 7 แห่ง ลดหลั่นลงไปตามลำดับความสูงของพื้นที่

เขื่อนน้ำอูทั้ง 7 เขื่อน เป็นการลงทุนของ Power China Company หรือบริษัทพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติจีน

ปัจจุบัน ลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งตั้งอยู่บริเวณจุดรอยต่อชายแดน 3 ประเทศแล้ว 1 แห่ง คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ จากจีน อยู่ริมแม่น้ำโขงในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ของเมียนมา

เซินปิ่ง (ซ้าย) ประธานบริษัทยู่เจิง ลงทุน ที่มาภาพ: เพจสถานีวิทยุ-โทรทัศน์แขวงผ้งสาลี

นอกจากนี้ ยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนอีกหลายแห่ง ได้แก่

  • เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม ซึ่งเป็นการลงทุนของกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง จากจีนอีกเช่นกัน ตั้งอยู่ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ตรงข้ามกับเมืองบ่อหาน เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวและนักลงทุนมาเลเซีย อยู่ที่เมืองเซโน แขวงสะหวันนะเขต ตรงข้ามกับจังหวัดมุกดาหาร ของไทย
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษวังเต่า-โพนทอง ของนักลงทุนลาว ตั้งอยู่ในบริเวณด่านสากลวังเต่า ตรงข้ามกับด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
  • เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน ซึ่งเป็นการลงทุนของ Guangdong Yellow River Industrial Group ที่เมืองโขง แขวงจำปาสัก ตรงข้ามกับจังหวัดสตรึงแตรง กัมพูชา

ผู้นำทั้ง 3 ประเทศ ยังเห็นชอบการกำหนดเป้าหมายของแผนแม่บทความร่วมมือ CLV-DTA ที่มองไปถึงขยายตัวทางเศรษฐกิจในอีก 10 ข้างหน้า จนถึงปี 2573 ผ่านโครงการต่างๆ โดยจะใช้คำขวัญร่วมกันว่า “3 ประเทศ 1 ปลายทาง”

ขณะที่รอยต่อชายแดนระหว่างประเทศไทย ลาว และกัมพูชา บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี แขวงจำปาสัก และจังหวัดพระวิหาร ซึ่งถูกเรียกชื่อเป็น “สามเหลี่ยมมรกต” นั้น มีโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้เคยมีการร่วมร่างแผนกันไว้แล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2543 แต่ในการดำเนินงานจริง จนถึงขณะนี้ มีความคืบหน้าน้อยมาก