ThaiPublica > สู่อาเซียน > เหมืองเซโปน…ขุด “ทอง” ที่ได้มากกว่า “ทอง”

เหมืองเซโปน…ขุด “ทอง” ที่ได้มากกว่า “ทอง”

23 กรกฎาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

การสำรวจในพื้นที่เหมืองทองคำเซโปน เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และพบว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งผลิตทองคำที่เก่าแก่ที่สุดของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาภาพ: เพจสภาการค้าและอุตสาหกรรม นครหลวงเวียงจันทน์

ทองคำจากเหมืองที่เซโปนของลาว ถูกส่งออกไปแล้วมากกว่า 1.2 ล้านออนซ์ แร่เงินอีกกว่า 1 ล้านตัน สร้างรายได้แก่รัฐบาลลาวมากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ธุรกิจในวีละบูลี มีรายได้เพิ่มอีกกว่า 33 ล้านดอลลาร์ และมีประชาชนที่ได้ประโยชน์จากเหมืองแห่งนี้มากกว่า 40,000 คน

ทั้งหมดที่กล่าวถึง เป็นเพียงผลประโยชน์เชิงตัวเลขทางเศรษฐกิจ

แต่ 4 ปีมานี้ การขุดทองคำที่เหมืองเซโปน กลับค้นพบสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่อาจประเมินคุณค่าออกมาได้เป็นตัวเลข

……

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ของของบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล (LXML) ได้ขุดพบวัตถุโบราณจำนวนหนึ่งภายในบริเวณเหมืองทองคำเซโปน เมืองวีละบูลี แขวงสะหวันนะเขต

ส่วนหนึ่งของโบราณวัตถุที่เพิ่งขุดพบล่าสุดในพื้นที่เหมืองทองคำเซโปน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ: เพจข่าวสารพลังงานและบ่อแร่

วัตถุโบราณที่พบคาดว่ามีอายุประมาณ 2,000 ปี ประกอบด้วยขวานเหล็กและไหเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประกอบสำหรับใช้ในพิธีการฝังศพของคนในช่วงท้ายของยุคสำริด ต่อเนื่องถึงช่วงต้นของยุคเหล็ก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการค้นพบวัตถุโบราณในพื้นที่ของเหมืองทองคำเซโปน ซึ่งบ่งชี้ว่าอารยธรรมเก่าแก่ได้ถูกสถาปนาขึ้นบนผืนดินแห่งนี้มาแต่อดีต

ยังมีร่องรอยและหลักฐานอีกหลายชิ้นที่พบ ซึ่งยืนยันได้ว่าบริเวณเซโปนและเมืองวีละบูลี เป็นแหล่งแร่ทองคำโบราณ ที่ได้มีการขุดค้น สำรวจ และทำเหมืองอย่างเป็นระบบ เป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีมาแล้ว!!!

……

3 ปีก่อน เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ทีมสำรวจทางโบราณคดี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล กรมมรดก กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว สปป.ลาว, มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และมหาวิทยาลัยเจมส์คุก ประเทศออสเตรเลีย ได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ระบุว่าเมืองวิละบูลีและเมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ และเป็นแหล่งเหมืองแร่ทองคำที่เก่าแก่ที่สุดของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

มีการเสนอให้สถาปนาพื้นที่บริเวณนี้ เป็นเขตมรดกวัฒนธรรมของแขวงสะหวันนะเขต

การสำรวจในพื้นที่เหมืองทองคำเซโปน เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่มาภาพ: เพจสภาการค้าและอุตสาหกรรม นครหลวงเวียงจันทน์

การสำรวจในครั้งนั้น ได้ค้นพบไหขนาดใหญ่แบบเดียวกับที่เพิ่งพบเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ภายในไหบรรจุไว้ด้วยขวานเหล็ก ปลอกแขนที่ทำด้วยเงิน และลูกปัดที่ทำจากเปลือกหอยและก้างปลา

มีการค้นพบโบราณวัตถุหลายชิ้นที่สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 กับเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยกว่าอีกหลายชิ้นที่คาดว่าอยู่ในสมัยอาณาจักรล้านช้าง ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-19

แต่ที่สำคัญที่สุด มีการพบร่องรอยและหลักฐานที่ยืนยันว่า พื้นที่บริเวณนี้ได้มีการสำรวจ ขุดค้น และทำเหมืองแร่ทองคำ มานานตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อน

นักโบราณคดีได้พบร่องรอยว่าประมาณกว่า 1,300 ปีมาแล้ว หรือก่อนปี ค.ศ. 700 ในเมืองวิละบูลี ได้มีการทำเหมืองทองคำอย่างเป็นระบบกันแล้ว โดยมีการพบหลุมเหมืองทองคำโบราณในบริเวณที่เรียกกันว่า “เปิ้นเบ้าหล่อ” และ “ทุ่งนางเงือก” และทองคำที่ขุดค้นขึ้นมาได้ ถูกนำไปใช้เป็นสื่อกลางสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ภายในสังคมหรือระหว่างชุมชนของคนยุคนั้น

จากร่องรอยของหลุมเหมืองที่พบ ทำให้ทราบว่าในยุคนั้นชาวเหมืองใช้วิธีการเจาะหลุมลงไปในดินลึกตั้งแต่ 10-40 เมตร จากนั้นจึงหาวัสดุ อุปกรณ์มาค้ำยันป้องกันไม่ให้ดินบริเวณขอบหลุมและปากหลุมพังทลายลงไป จนเป็นอันตรายต่อชาวเหมืองที่ไต่ลงไปในก้นหลุมเพื่อค้นหาแร่ทองคำ

ทีมสำรวจยังพบว่า ในเมืองวิละบูลีมีหลุมขุดค้นทองคำมากกว่า 100 หลุม แต่ละหลุมต้องใช้คนงานไม่ต่ำกว่า 3 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไต่ลงไปค้นหาแร่ทองคำ

บริเวณปากหลุมและก้นหลุม ได้พบอุปกรณ์การทำเหมืองทอง เช่น บันไดไม้ ลูกลอก ไม้ค้ำ ตะกร้าไม้ไผ่ เชือกหวาย ฯลฯ ถูกอัดแน่นตามสภาพธรรมชาติอยู่ในชั้นดินเหนียวส่วนลึกลงไปจากผิวดิน เมื่อนำฝาตะกร้าไม้ไผ่ที่พบไปตรวจสอบหาอายุด้วยวิธีการ carbon dating ทำให้ทราบว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีอายุมากกว่า 1,300 ปี

นอกจากนี้ ยังค้นพบโบราณวัตถุอื่นที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ เช่น กลองดงเซิน ซึ่งเป็นกลองมโหระทึกโบราณที่ทำมาจากสำริด เครื่องปั้นดินเผา กระดิ่งทองสำริด เครื่องประดับ และเครื่องใช้ในพิธีกรรมต่างๆ

……

วันที่ 24 กันยายน 2562 บริษัทล้านช้าง มิเนอรัล ได้ทำพิธีส่งมอบโบราณวัตถุจำนวน 7,881 รายการ ซึ่งขุดค้นได้จากพื้นที่เหมืองทองคำเซโปน ให้แก่รัฐบาลลาว

โบราณวัตถุที่ถูกส่งมอบ มีทั้งเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับซึ่งทำจากหิน แก้วเจียรนัย ข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก ทองแดง ทองเหลือง ฯลฯ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 2,500-3,000 ปี

พิธีเซ็นสัญญาส่งมอบถูกจัดขึ้นที่โรงแรมคราว พลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ โดยสะหนาน อะเนกา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทล้านช้าง มิเนอรัล เป็นผู้ส่งมอบ มีวันเพง แก้วปันยา ผู้อำนวยการ หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ มาลาทิเวด อำมะลาทิทาดา ผู้อำนวยการ หอพิพิธภัณฑ์แขวงสะหวันนะเขต และตุ้ยทอง แก้ววงสา หัวหน้าสำนักงานแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว เมืองวีละบูลี เป็นผู้รับมอบ ในฐานะตัวแทนรัฐบาล

ส่วนหนึ่งของโบราณวัตถุ 7,881 รายการ ที่พบในพื้นที่เหมืองทองคำเซโปน ซึ่งถูกส่งมอบให้แก่รัฐบาลลาวเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

หลังรับมอบ โบราณวัตถุทั้งหมดได้ถูกแบ่งนำไปจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมตามจุดต่างๆ โดยแสดงไว้ที่หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติในนครหลวงเวียงจันทน์ 828 รายการ ที่หอพิพิธภัณฑ์แขวงสะหวันนะเขต 409 รายการ และที่หอวัฒนธรรมเมืองวีละบูลี 6,644 รายการ

สะหนาน อะเนกา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทล้านช้าง มิเนอรัล บอกภายหลังส่งมอบโบราณวัตถุเหล่านี้ให้แก่รัฐบาลลาวแล้วว่า บริษัทยังคงร่วมมือกับรัฐบาลลาวในการค้นหาโบราณวัตถุในพื้นที่ ต่อเนื่องไปจนกว่าจะปิดเหมืองลงอย่างถาวรในอีก 10 ปีข้างหน้า

……

เมื่อต้นปีนี้ ระหว่างวันที่ 9-25 มกราคม 2564 กองโบราณวิทยา กรมมรดก กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้สำรวจพบแหล่งอารยธรรมโบราณ บริเวณบ้านน้ำปาเคน เมืองวิละบูลี เพิ่มขึ้นอีกแหล่งหนึ่ง

การค้นพบล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2564 ซึ่งพบร่องรอยของอารยธรรมยุคหินใหม่ ที่มีอายุมากกว่า 6,000 ปี บริเวณบ้านน้ำปาเคน เมืองวิละบูลี ที่มาภาพ: เพจ News Vilabouly

การสำรวจขุดค้นครั้งนี้ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล โดยมีเวียงแก้ว สุกสะหวัดดี รองหัวหน้ากรมมรดก เป็นหัวหน้าชุดสำรวจ ร่วมกับทองลิด หลวงโคด หัวหน้ากองโบราณวิทยา และตัวแทนจากแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แขวงสะหวันนะเขต กับตัวแทนจากสำนักงานแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว เมืองวีละบูลี

สะหนาน อะเนกา บอกว่า นับแต่เริ่มผลิตและส่งออกทองคำที่ได้จากเหมืองเซโปนในปี 2546 เป็นต้นมา บริษัทล้านช้าง มิเนอรัล ได้ให้ความสำคัญ เคารพต่อวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชน และได้ลงทุนไปแล้ว เป็นเงินมากกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนแผนงานสำคัญในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของเมืองวีละบูลี ให้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นใหม่ของลาวได้มีโอกาสศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์

แหล่งอารยธรรมที่ค้นพบที่บ้านน้ำปาเคน เมืองวีละบูลี เชื่อว่าอยู่ในยุคหินใหม่ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการใช้เครื่องมือหินในยุคหิน มีความเก่าแก่ประมาณ 4,500 ปี ก่อนคริสตกาล หรือประมาณกว่า 6,000 ปีก่อน จากการขุดค้น พบว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหิน เช่น ขวานหินขัด ถือเป็นการค้นพบทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่มีความหมายและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง


เขาเชื่อว่าจากหลักฐานที่ขุดค้นพบ บ่งบอกถึงสภาพของพื้นที่ซึ่งเป็นเมืองวีละบูลีปัจจุบันว่า สังคมในยุคนั้น มนุษย์ได้มีการพัฒนา สามารถคิดค้นเทคโนโลยีสำหรับสร้างอุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือ ที่เหมาะกับสภาพการผลิต เป็นช่วงก้าวเข้าสู่ยุคกสิกรรม มีการเรียนรู้การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ ก่อนก้าวสู่ยุคโลหะ ที่ตามมาด้วยการค้นพบและรู้จักนำแร่ธาตุที่มีอยู่ในธรรมชาติ มาแปรรูปสำหรับใช้งาน โดยนำสินแร่โลหะที่ขุดพบมาถลุง ผลิตเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มีความแข็งแกร่ง ทนทาน เที่ยงตรง และทันสมัย

รวมทั้งเป็นยุคที่เริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการติดต่อสัมพันธ์ แลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ของชุมชน ทั้งที่อยู่ใกล้เคียงกัน ชุมชนห่างไกล รวมถึงชุมชนจากต่างชาติแล้ว

……

ที่ตั้งเหมืองแร่ทองคำเซโปน เมืองวีละบูลี แขวงสะหวันนะเขต ที่มาภาพ: บริษัทล้านช้าง มิเนอรัล

รัฐบาลลาวได้เซ็นสัญญามอบสัมปทานทำเหมืองทองคำบนพื้นที่รวม 1,250 ตารางกิโลเมตร ที่เมืองเซโปนและวีละบูลี แขวงสะหวันนะเขต แก่บริษัท Oxiana จากออสเตรเลีย เมื่อปี 2536 Oxiana ได้จัดตั้งบริษัทล้านช้าง มิเนอรัลขึ้น โดยมีรัฐบาลลาวร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย 10%

เซโปนเป็น 1 ใน 2 แหล่งแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว โดยอีกแห่งหนึ่ง ได้แก่ แหล่งภูเบี้ย ในแขวงไซสมบูน ที่รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานพื้นที่กว่า 2,600 ตารางกิโลเมตร แก่บริษัทแพน ออสเตรเลีย รีซอร์สเซส จากประเทศออสเตรเลีย ทำเหมืองทองคำในนามบริษัทภูเบี้ย ไมนิ่ง ไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2537

ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแพน ออสเตรเลีย รีซอร์สเซส ได้ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นของ Guangdong Rising H.K. (Holding) บริษัทลูกของ Guangdong Rising Holding บริษัทที่มีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

  • อ่านรายละเอียดเรื่อง “ล่องแจ้ง…แปลงสนามรบเป็นแหล่งรายได้”

  • ข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งรวบรวมโดยโครงการส่งเสริมการจัดหาวัตถุดิบและการลงทุนด้านเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าแหล่งเซโปนมีปริมาณสำรองแร่ประมาณ 14.2 ล้านตัน มีความสมบูรณ์แร่ทองคำ 3.43 กรัมต่อตัน แร่เงิน 5.68 กรัมต่อตัน และมีปริมาณสำรองแร่ทองแดงอีก 1.68 ล้านตัน

    ปี 2543 เหมืองทองคำเซโปนได้เปิดหน้าดินเพื่อเริ่มขั้นตอนการทำเหมือง และได้เริ่มต้น ผลิตและส่งออกแร่ทองคำได้ในปี 2546

    ปี 2551 Oxiana ที่ออสเตรเลียประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องขายหุ้นในบริษัทล้านช้าง มิเนอรัลให้กับ Minerals and Metals Group (MMG) จากจีน ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกง

    หลังเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ เหมืองทองคำเซโปนได้เร่งการผลิตและส่งออก จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2556 เหมืองทองคำเซโปนประกาศลดจำนวนพนักงาน เพราะคาดว่าสินแร่ทองคำในแหล่งนี้ใกล้หมดแล้ว

    ตามสัญญาที่รัฐบาลลาวเซ็นกับบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล เมื่อปี 2536 สัมปทานเหมืองแร่ทองคำที่เซโปนต้องหมดอายุลงในปลายปี 2563

    วันที่ 21 มิถุนายน 2561 ก่อนสัมปทานเหมืองทองคำเซโปนจะหมดอายุลง 2 ปี MMG แจ้งต่อตลาดหุ้นฮ่องกงว่า ได้ตกลงขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล ให้กับบริษัท Chifeng Jilong Gold Mining (Chifeng) ในมูลค่า 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    Chifeng เป็นบริษัทซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกงเช่นกัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฉีเฟิ่ง เขตปกครองตนเองมองโกเลีย ซึ่งนอกจากธุรกิจทองแล้ว Chifeng ยังทำธุรกิจรีไซเคิลอีกด้วย

    การประชุมเพื่อพิจารณาแผนขยายสัมปทานและพื้นที่ขุดค้นของเหมืองทองคำเซโปน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่มาภาพ: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    วันที่ 4 มิถุนายน 2563 ก่อนสัมปทานเหมืองแร่ทองคำเซโปนจะหมดอายุลง 6 เดือน ได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแผนขยายสัมปทานและขยายพื้นที่ขุดค้น ของเหมืองทองคำเซโปน ที่ทางบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล ได้ขอขยายอายุสัมปทานออกไปจนถึงสิ้นปี 2571

    หลังจากได้พิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) ของโครงการอย่างละเอียด รวมถึงรับฟังการชี้แจงจากตัวแทนบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล ในที่สุด ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนแผนขยายสัมปทานและพื้นที่ขุดค้นของบริษัท เพราะจะช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม และช่วยสร้างงานให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโครงการ

    ……

    เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 คำพัน พมมะทัด ประธานองค์การตรวจตราแห่งรัฐ และหัวหน้าองค์การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง พร้อมคณะผู้บริหารแขวงสะหวันนะเขต ได้เดินทางไปดูงานการขุดค้นและการผลิตทองคำ ที่เหมืองเซโปน ของบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล

    คณะของคำพัน พมมะทัด ประธานองค์การตรวจตราแห่งรัฐ ที่ไปเยี่ยมชมเหมืองทองคำเซโปน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

    สะหนาน อะเนกา ผู้อำนวยการ บริษัทล้านช้าง มิเนอรัล กล่าวรายงานต่อคณะของประธานองค์การตรวจตราแห่งรัฐว่า ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตและส่งออก เมื่อปี 2546 จนถึงปัจจุบัน เหมืองเซโปนได้ส่งออกทองคำไปแล้วมากกว่า 1.2 ล้านออนซ์ และส่งออกแร่เงินไปแล้วมากกว่า 1 ล้านตัน สร้างรายรับให้แก่รัฐบาลลาวไปประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ในรูปแบบภาษีอากร ภาษีทรัพยากรแร่ธาตุ และเงินปันผล

    นอกจากนั้น เหมืองทองคำเซโปนยังได้สร้างผลประโยชน์ทางอ้อมจากโครงการพัฒนาชุมชน ที่บริษัทล้านช้าง มิเนอรัล ได้ใช้เงินลงทุนสำหรับการนี้ไปแล้ว 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกองทุนประจำปีและโครงการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่สำหรับผู้ด้อยโอกาสมากที่สุด ที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่เหมืองทองคำเซโปน

    นอกจากนี้ ยังได้สร้างงานให้กับประชาชนและผู้รับเหมาในท้องถิ่น ทำให้ธุรกิจในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 33 ล้านดอลลาร์ และมีประชาชนในเมืองวีละบูลีที่ได้ประโยชน์มากกว่า 40,000 คน

    ปัจจุบัน บริษัทล้านช้าง มิเนอรัล มีพนักงานทั้งสิ้น 5,000 คน…