ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
ผู้ที่เคยอ่านนิยายสงครามซึ่งเขียนโดย “สยุมภู ทศพล” ย่อมคุ้นชินกับชื่อเมือง “ล่องแจ้ง” และน่าต้องนึกภาพออกว่าสถานการณ์ใน “ล่องแจ้ง” ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในลาวนั้น รุนแรงและโหดร้ายเพียงใด
เพราะด้วยความที่สยุมภู ทศพล เคยเป็นทหารรับจ้างเข้าไปรบในสงคราม “ลับ” ในลาว ทั้งเคยถูกจับขังเป็นเชลยศึก เรื่องราวที่เขานำมาเล่าในนิยายจึงกลั่นออกมาจากประสบการณ์จริง เขียนจากเหตุการณ์รบที่เกิดขึ้นจริง ใช้ชื่อสถานที่และตัวบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ถึงขั้นที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยเคยต้องมาร้องขอกับสำนักพิมพ์ให้เลี่ยงๆ ไปบ้าง เพราะโดย “ทางการ” แล้ว ไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับสงครามที่เกิดขึ้นในลาว
นิยายสงครามของสยุมภูจึงทำให้ผู้ที่ได้อ่านซึมซับกับบรรยากาศจริงของสงคราม ชนิดที่ว่าเมื่อได้หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านแล้ว แทบไม่อยากวางลง
แม้สยุมภูได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่นิยายของเขาก็ยังมีผู้นิยม มีการคัดบางส่วน บางตอน ของบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของเมืองล่องแจ้ง ลงไว้ในเว็บพันทิป…
“ล่องแจ้ง” เคยเป็นฐานบัญชาการใหญ่ เป็นป้อมปราการสุดท้ายของกองทัพลาวฝ่ายขวา นำโดยนายพลวังเปากับกองทัพทหารม้งของเขา ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาจาก CIA
แต่ฐานแห่งนี้ ได้ถูกทหารลาวอิสระและอาสาสมัครเวียดนามตีแตกเมื่อปี 2517
ล่องแจ้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทุ่งไหหิน สภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งขนาดใหญ่ในหุบเขา มีเส้นทางเดินเชื่อมต่อไปได้ถึงชายแดนไทยที่ไซยะบูลี
ทุกวันนี้ ล่องแจ้งเปลี่ยนแปลงไปมากจากที่เคยปรากฏอยู่ในนิยายสงครามของสยุมภู ทศพล
จากเมืองที่เคยเป็นพื้นที่สำคัญในยุทธศาสตร์การรบ ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ จากทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ทั้งบนดินและใต้ดิน โดยเฉพาะแร่ธาตุมูลค่าสูงนานาชนิดที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบัน ล่องแจ้งเป็น 1 ใน 5 เมืองหลักของแขวงไซสมบูน แขวงลำดับที่ 18 ของ สปป.ลาว ที่เพิ่งได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2556
หลังฐานบัญชาการใหญ่ของลาวฝ่ายขวาที่เมืองล่องแจ้งถูกตีแตกในปี 2517 แต่กำลังพลบางส่วนของนายพลวังเปายังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่
ในปี 2518 กลุ่มคนเหล่านี้ได้รวมตัวจัดตั้งเป็นกองกำลังม้งลาวฝ่ายขวาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ขณะที่ฝั่งรัฐบาลโดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางเข้ามาจัดการกับกองกำลังเหล่านี้ จนสถานการณ์กลับคืนสู่สภาพปกติได้ในภายหลัง
กองกำลังติดอาวุธที่เคยเคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายทางการเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกลุ่มบุคคลติดอาวุธ ที่เคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์จากธุรกิจสีเทาแทน
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในลาว ระหว่างปี 2518-2549 พื้นที่ซึ่งเป็นแขวงไซสมบูนปัจจุบัน เคยถูกตั้งให้เป็น “เขตพิเศษไซสมบูน” อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกองทัพประชาชนลาว ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง มีรูปแบบการปกครองและการดำเนินชีวิตของผู้คนที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของลาว
ผู้ที่เคยเดินทางไปยังเขตพิเศษไซสมบูนเล่าว่า ชาวบ้านที่นี่ คนที่ไม่พกปืน ไม่สะพายปืน มีจำนวนน้อยกว่าคนที่พกปืนและสะพายปืน!!!
เขตพิเศษไซสมบูน มี 3 เมืองหลัก ได้แก่ เมืองไซสมบูน เมืองฮ่ม และเมืองท่าโทม โดยเมืองล่องแจ้งในยุคนั้น เป็นเขตการปกครองหนึ่งขึ้นกับเมืองไซสมบูน
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 รัฐบาลลาวได้สั่งยุบเขตพิเศษไซสมบูน กระจายพื้นที่ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเขตพิเศษฯ ให้ไปขึ้นกับแขวงข้างเคียง ได้แก่ เมืองท่าโทมถูกโอนไปขึ้นกับแขวงเชียงขวาง ส่วนเมืองฮ่มกับเมืองไซสมบูน ถูกโอนมาขึ้นกับแขวงเวียงจันทน์
ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ในสมัยที่ทองสิง ทำมะวง เป็นนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว สภาแห่งชาติลาวได้มีมติฉบับที่ 12/สพซ. สถาปนาแขวงไซสมบูนขึ้นเป็นแขวงลำดับที่ 18 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป
แขวงไซสมบูน ตั้งอยู่ตอนกลางของ สปป.ลาว มีเขตแดน ประกอบด้วย
- ทิศเหนือ ติดกับเมืองพูคูน แขวงหลวงพระบาง, เมืองพูกูด เมืองผาไซ และเมืองคูน แขวงเชียงขวาง
- ทิศใต้ ติดกับเมืองทุละคม แขวงเวียงจันทน์, เมืองท่าพะบาด แขวงบอลิคำไซ
- ทิศตะวันตก ติดกับเมืองกาสี เมืองวังเวียง และเมืองแก้วอุดม แขวงเวียงจันทน์
- ทิศตะวันออก ติดกับเมืองหมอกใหม่ แขวงเชียงขวาง และเมืองบอลิคัน แขวงบอลิคำไซ
แขวงไซสมบูน มีพื้นที่รวม 8,500 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองเป็น 5 เมืองหลัก ได้แก่ เมืองฮ่ม เมืองท่าโทม เมืองอะนุวง เมืองล่องซาน และเมืองล่องแจ้ง โดยมี 3 เมือง ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาใหม่ ได้แก่ เมืองล่องซาน ที่แยกออกจากเมืองฮ่ม กับเมืองล่องแจ้งและเมืองอะนุวง ที่ตั้งขึ้นมาแทนเมืองไซสมบูนเดิม โดยมีเมืองอะนุวงเป็นเมืองหลวง
ด้วยความที่ไซสมบูนเป็นพื้นที่อ่อนไหวด้านความมั่นคง หลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นแขวงล่าสุด ลำดับที่ 18 ของลาว เจ้าแขวงไซสมบูนส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มาจากสายทหาร
พลตรีคำเลียง อุทะไกสอน เจ้าแขวงคนปัจจุบัน เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ต่อจากพลตรี ดร.ทองลอย สิลิวง เจ้าแขวงคนก่อนหน้า ก่อนหน้าจะมาเป็นเจ้าแขวงไซสมบูน พล.ต. คำเลียงเป็นกรรมการคณะประจำพรรค กระทรวงป้องกันประเทศ รองหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการกองทัพประชาชนลาว
…
ไม่กี่วันมานี้ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เพียงวันเดียว ได้มีพิธีเซ็นสัญญา 2 ฉบับ ฉบับแรกจัดขึ้นที่ห้องประชุมแผนกศึกษาธิการและกีฬา โดยแผนกแผนการและการลงทุน แขวงไซสมบูน ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ให้กลุ่มบริษัทบ้านฝาย ได้เข้าสำรวจ ค้นหา และศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่เหล็ก บนเนื้อที่ 5.56 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านน้ำซาน เมืองล่องแจ้ง แขวงไซสมบูน กำหนดช่วงเวลาสำหรับการศึกษาไว้ 24 เดือน
อีกฉบับหนึ่ง จัดขึ้นที่สโมสรเมืองอะนุวง โดยองค์การปกครองแขวงไซสมบูน ได้เซ็น MOU ให้บริษัทเคเคเอฟซีจะเลิน ก่อสร้างเคหะสถาน ขัวทาง และชลประทาน ได้เข้าสำรวจ ค้นหา และศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่เหล็ก บนพื้นที่ 70.68 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านหนองพูนไซ เมืองล่องแจ้ง กำหนดช่วงเวลาสำหรับการศึกษาไว้ 24 เดือนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม พื้นเมืองล่องแจ้งรวมถึงพื้นที่อื่นๆ ของแขวงไซสมบูน มิได้มีเพียงแต่แร่เหล็กเท่านั้น ในบริเวณนี้ยังเป็นแหล่งสำรองของสินแร่โลหะสำคัญที่มีมูลค่าและราคาในท้องตลาดที่สูงกว่า นั่นคือ ทองคำและทองแดง
จากข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งรวบรวมโดยโครงการส่งเสริมการจัดหาวัตถุดิบและการลงทุนด้านเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ใน สปป.ลาว มีแหล่งแร่ทองคำและทองแดงที่สำคัญ 2 แห่ง ซึ่งได้เปิดให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนเข้าไปขุดค้นทำเหมืองแล้ว
แห่งแรก ได้แก่ แหล่งเซโปน ที่เมืองวีละบูลี แขวงสะหวันนะเขต มีปริมาณสำรองทรัพยากรแร่ 14.2 ล้านตัน ปัจจุบันบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล ซึ่งมีบริษัท Chifeng Jilong Gold Mining จากจีน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 90% เป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองแหล่งแร่ในแหล่งนี้
อีกแห่งหนึ่ง คือแหล่งภูเบี้ย ซึ่งประกอบด้วยแหล่งย่อย 3 แหล่ง คือ แหล่งภูคำ แหล่งล่องแจ้ง และแหล่งบ้านห้วยซาย มีปริมาณสำรองทรัพยากรแร่อยู่ 45 ล้านตัน
ส่วนแร่ทองแดง เอกสารชุดเดียวกันระบุว่า ในแหล่งคะนอง ที่เซโปน มีปริมาณสำรองทรัพยากรแร่อยู่ 1.68 ล้านตัน ส่วนแหล่งภูคำ ในภูเบี้ย มีปริมาณสำรองแร่อยู่ 144 ล้านตัน หรือเท่ากับ 810,000 ตันทองแดง
ภูเบี้ย เป็นชื่อของยอดเขาที่สูงที่สุดในลาว อยู่ในเมืองอะนุวง แขวงไซสมบูน มีความสูงถึง 2,820 เมตร เล่ากันว่า ในปี 2400 เคยมีหิมะตกบนยอดเขาภูเบี้ย
หลังปี 2530 เมื่อลาวเริ่มเปิดประเทศ ตามวิสัยทัศน์จินตนาการใหม่ของลุงไกสอน พมวิหาน รัฐบาล สปป.ลาว เปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาสำรวจ ค้นหา เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในแหล่งภูเบี้ย
เดือนมกราคม 2537 รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำและทองแดงในแหล่งภูเบี้ย แก่บริษัทภูเบี้ย ไมนิ่ง ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทแพน ออสเตรเลีย รีซอร์สเซส จากประเทศออสเตรเลีย มีเนื้อที่สัมปทานมากกว่า 2,600 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่แขวงเชียงขวาง ไซสมบูน และแขวงเวียงจันทน์
ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแพน ออสเตรเลีย รีซอร์สเซส ได้ถูกเปลี่ยนมือมาเป็น Guangdong Rising H.K. (Holding) บริษัทลูกของ Guangdong Rising Holding บริษัทที่มีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ภูเบี้ย ไมนิ่ง เริ่มผลิตและส่งออกสินแร่ทองคำและทองได้ได้ตั้งแต่ปี 2551 และได้แบ่งรายได้ปีแรกให้แก่รัฐบาลลาวคิดเป็นเงินรวมประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยค่าภาคหลวง ภาษีกำไร ภาษีรายได้ของพนักงาน ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มส่งออก
เดือนสิงหาคม 2555 รัฐบาลลาวได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทภูเบี้ย ไมนิ่ง 10% คิดเป็นเงินลงทุนรวม 29 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลลาวจ่ายเงินค่าหุ้นโดยใช้วิธีหักจากเงินปันผลที่บริษัทต้องจ่ายให้ทุกปี จนถึงปี 2560 รัฐบาลได้รับเงินปันผลครบ 29 ล้านดอลลาร์ เต็มจำนวนค่าหุ้นที่ต้องจ่าย
หลังจากปี 2560 เป็นต้นมา รัฐบาลลาวจึงมีแหล่งรายได้ใหม่จากสัมปทานนี้เพิ่มขึ้นมาอีก 1 แหล่ง คือเงินสดปันผลที่ได้รับจากบริษัทภูเบี้ย ไมนิ่ง นอกเหนือจากค่าภาคหลวง และภาษี
เมื่อต้นปี 2563 บริษัทภูเบี้ย ไมนิ่ง จ่ายเงินปันผลประจำปี 2562 ให้แก่รัฐบาลลาว เป็นเงิน 21 ล้านดอลลาร์ ทำให้เงินปันผลที่รัฐบาลลาวได้รับจากการเข้าไปถือหุ้น 10% ในบริษัทนี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 จนถึงสิ้นปี 2562 มียอดเงินรวมทั้งสิ้น 58 ล้านดอลลาร์
เดือนตุลาคม 2563 บริษัทภูเบี้ย ไมนิ่ง ได้มอบเงินภาษีจากกำไรล่วงหน้า คิดเป็นเงิน 4.1 ล้านดอลลาร์ ให้แก่รัฐบาลลาว เงินก้อนนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพันธะที่บริษัทต้องจ่ายให้แก่รัฐบาลลาว ตามเงื่อนไขสัมปทานที่บริษัทได้รับ
นับแต่ปี 2551 ที่บริษัทภูเบี้ย ไมนิ่ง เริ่มมีรายได้จากการส่งออกทองคำและทองแดง จนถึงสิ้นปี 2562 บริษัทได้จ่ายภาษีจากผลกำไรของบริษัทให้แก่รัฐบาลลาวแล้ว เป็นเงินรวม 259 ล้านดอลลาร์
สัมปทานเหมืองทองคำและทองแดงในแขวงไซสมบูน ที่รัฐบาลลาวมอบให้แก่บริษัทภูเบี้ย ไมนิ่ง จึงเป็นสัมปทานที่สร้างรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำให้แก่รัฐบาลลาว และรัฐบาลลาวเหมือนมองเห็นโอกาส ในการแปลงสภาพพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสนามรบที่ดุเดือดแห่งนี้ ให้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจแห่งใหม่
…
วันที่ 28 สิงหาคม 2562 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการขุดค้นทองคำและแร่อื่นๆ บนพื้นที่ 234 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านนาตี เมืองล่องแจ้ง ดำเนินการโดยบริษัทโจ้ บุนมี พัฒนาแร่ธาตุ ในเครือโจ้ บุนมี กรุ๊ป มีพลตรี อ่อนสี แสนสุก รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ ในขณะนั้น พลตรี คำเลียง อุทะไกสอน เจ้าแขวงไซสมบูน และสุดสะดา โพทิวัน ตัวแทนห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว มาร่วมในพิธี
โจ้ บุนมี กรุ๊ป เป็นบริษัทของคนลาว ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สำรวจความเป็นไปได้ของโครงการมาตั้งแต่ปี 2560 ต่อมาจึงได้ร่วมทุนกับกรมเศรษฐกิจ กระทรวงป้องกันประเทศ จัดตั้งบริษัทโจ้ บุนมี พัฒนาแร่ธาตุ ขึ้นเป็นผู้ดำเนินการสัมปทาน
พลจัตวา คำมี หล้าบุนทัน หัวหน้ากรมเศรษฐกิจ กระทรวงป้องกันประเทศ บอกว่า รัฐบาลลาวเห็นชอบให้กรมเศรษฐกิจร่วมทุนกับโจ้ บุนมี กรุ๊ป เพื่อทำโครงการนี้
บริษัทโจ้ บุนมี พัฒนาแร่ธาตุ เป็นเหมืองทองคำอีกแห่งหนึ่ง ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่แขวงไซสมบูน แต่ไม่ใช่เป็นเหมืองสุดท้าย…
9 ธันวาคม 2562 แผนกแผนการและการลงทุน แขวงไซสมบูน ได้เซ็น MOU ให้บริษัทสีสะเกด ขุดค้นบ่อแร่ เข้ามาสำรวจแหล่งแร่ทองคำ ทองแดง และแร่ติดพันธ์อื่นๆ ในเขตผาขาวหา, พูกองข้าว และยอดน้ำผาใหญ่ ในพื้นที่เมืองอะนุวง และเมืองล่องแจ้ง
9 กันยายน 2563 แผนกแผนการและการลงทุน แขวงไซสมบูน เซ็น MOU ให้บริษัทลุกยาว เข้าสำรวจ และศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่ทองคำ และแร่ติดพันธ์อื่นๆ บนเนื้อที่ 15.64 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านน้ำซาน เมืองล่องแจ้ง และเมืองอะนุวง
บริษัทลุกยาวเป็นบริษัทเอกชนจากเวียดนาม ที่ได้ทำความร่วมมือกับบริษัทบ่อคำเอดดี้ ไซสมบูน และกรมเศรษฐกิจ กระทรวงป้องกันประเทศ เพื่อทำโครงการนี้โดยเฉพาะ
1 ตุลาคม 2563 แผนกแผนการและการลงทุน แขวงไซสมบูน เซ็น MOU ให้บริษัทลาวยูนนาน หวูถ่านขวางเย เข้าสำรวจ และศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่ทองคำ และแร่ติดพันธ์อื่นๆ บนเนื้อที่ 74.12 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านพูกะทะ เมืองฮ่ม
ต้นเดือนมกราคม 2564 องค์กรปกครองแขวงไซสมบูน ได้เซ็น MOU ให้บริษัทเวียงออน สำรวจ และศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่ทองคำ และแร่ติดพันธ์อื่นๆ บนพื้นที่ 34 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านน้ำยอน เมืองอะนุวง และเขตบ้านนาตี เมืองล่องแจ้ง และเซ็น MOU ให้บริษัทคำรุ่ง มิเนอรัล สำรวจ และศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่ทองคำ และแร่ติดพันธ์อื่นๆ บนพื้นที่ 183.92 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านออม เมืองอะนุวง และเขตบ้านหลวงพันไซ เมืองล่องแจ้ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 แผนกแผนการและการลงทุน แขวงไซสมบูน เซ็น MOU ให้บริษัทกิ่งแก้วอุดม สำรวจออกแบบ ก่อสร้างเคหะสถานและขัวทาง สำรวจ และศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่ทองคำ และแร่ติดพันธ์อื่นๆ บนพื้นที่ 58.4 ตารางกิโลเมตร ในเขตบ้านหนองพูนไซ เมืองล่องแจ้ง
MOU ทุกฉบับที่เซ็นกันไปแล้ว มีอายุ 24 เดือน นั่นหมายความว่า ในเวลานี้ หากบริษัทใดสำรวจพบแหล่งที่มีปริมาณสำรองแร่มากพอ คุ้มค่ากับการลงทุน โอกาสที่บริษัทนั้น จะได้ทำเหมืองแร่ทองคำแห่งใหม่ในพื้นที่แขวงไซสมบูน ก็มีมากเช่นกัน…