ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซีย-เวียดนามเดินหน้าบุกอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ASEAN Roundup มาเลเซีย-เวียดนามเดินหน้าบุกอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

11 สิงหาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 4-10 สิงหาคม 2567

  • มาเลเซีย-เวียดนามเดินหน้าบุกอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
  • Infineon เปิดตัวโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่ที่สุดในโลกที่มาเลเซีย
  • เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 2 โตแซงหน้าจีน-สิงคโปร์-เกาหลีใต้
  • ชนชั้นกลางของอินโดนีเซียลดลง 8.5 ล้านคนตั้งแต่ปี 2561
  • VinFast ผู้ผลิต EV ชั้นนำของเวียดนามตั้งโรงงานแรกในอินโดนีเซีย
  • สปป.ลาวตั้งธนาคารทองคำแท่ง

    มาเลเซีย-เวียดนามเดินหน้าบุกอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

    ความต้องการไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในระดับโลกเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าแรงกดดันของสหรัฐฯ ต่อจีนได้ผลักดันให้ผู้นำอุตสาหกรรมชิปหันไปมองหาการดำเนินงานที่อื่น ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และเกาหลีในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ได้หันไปหาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งส่งผลให้เกิดโครงการใหม่ๆ มากมาย โดยส่วนใหญ่ไปที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

    การแข่งขันของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกนั้น เปิดกว้างและพัฒนาหลายรูปแบบ เมื่อไม่นานมานี้ JTC หน่วยงานด้านการวางแผนอุตสาหกรรมของสิงคโปร์เปิดเผย ว่า กำลังเตรียมที่ดินเพิ่มขึ้น 11% ในนิคมอุตสาหกรรมผลิตเวเฟอร์ของสิงคโปร์ เพื่อดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำให้มากขึ้นและจับกระแสเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) ขณะที่อินโดนีเซีย ประกาศพร้อมแข่งประเทศอื่นส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยการลงนามใน MoU กับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์เพื่อขยายตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์และแบตเตอรี่

    ล่าสุดมาเลเซียได้เปิดตัว Malaysia Semiconductor IC Design Park เพื่อรับโอกาสจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯกับจีน และเวียดนามได้ตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ

    มาเลเซียเปิดตัว Malaysia Semiconductor IC Design Park

    รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ราฟิซิ รามลี และมุขมนตรีแห่งรัฐสลังงอร์ดาโต๊ะ สรี อามิรูดิน ชารี ร่วมเปิดMalaysia Semiconductor IC Design Park ที่มาภาพ:https://www.bernama.com/en/news.php?id=2326106

    วันที่ 6 สิงหาคม 2567 มาเลเซียได้เปิด Malaysia Semiconductor IC Design Park ขนาดใหญ่ ในเมืองปูชอง รัฐสลังงอร์ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจนายราฟิซิ รามลี กล่าวว่า มาเลเซียต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสามารถในการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง เพื่อลดการพึ่งพาชิปนำเข้าในอนาคต

    นายราฟิซิกล่าวว่า ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลกลางคือ การยกระดับระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด ครอบคลุมทั้งภาคต้นน้ำและปลายน้ำ โดยเฉพาะเน้นไปที่ ODM หรือ Original Design Manufacturing(ผู้ผลิตที่ดูแลการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการผลิต, การพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงดำเนินการผลิตสินค้าให้แก่ผู้ว่าจ้าง)

    “ความสนใจในดาต้าเซ็นเตอร์จะยังคงผลักดันความต้องการเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นโอกาส เนื่องจากมีความต้องการชิป
    เมื่อระบบนิเวศนี้เกิดขึ้น ดาต้าเซ็นเตอร์ในมาเลเซียจะเริ่มพิจารณาชิปที่ “ผลิตโดยมาเลเซีย” Made by Malaysia ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกลางต้องการ” นายราฟิซิกล่าวในการเปิดตัว Malaysia Semiconductor IC Design Park

    นายราฟิซิกล่าวว่า รัฐบาลมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการประกอบและการทดสอบหลักอยู่แล้ว และการเปิดตัว Malaysia Semiconductor IC Design Park ถือเป็นกลไกที่ลงตัว สำหรับการเพิ่มจำนวนบริษัทออกแบบ IC ให้ได้มากที่สุด

    “ดังนั้น อีก 2-3 ขั้นตอนต่อไปที่รัฐบาลกลางกำลังดำเนินการ จะเป็นการเพิ่มระบบนิเวศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ” นายราฟิซิกล่าว

    ขณะเดียวกันมุขมนตรีแห่งรัฐสลังงอร์ดาโต๊ะ สรี อามิรูดิน ชารี กล่าวว่า IC design park จะมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือเพื่อการให้บริการสาธารณะทั่วไป รวมถึงเครื่องมือการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติราคาไม่แพง เซิร์ฟเวอร์ IP และโครงการบริการเวเฟอร์หลายโครงการ ตลอดจนโปรแกรมการฝึกอบรม

    “เป้าหมายหลักของ IC design park คือ การส่งเสริม ODM สนับสนุนให้ธุรกิจในประเทศมีส่วนร่วมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างต้นแบบ และการผลิต

    “โครงการนี้ไม่ใช่แค่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสและการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตด้วย. Malaysia Semiconductor Accelerator และ Dana Penjana VC Fund เป็นการบูรณาการองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ของเราเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ” ดาโต๊ะอามิรูดินกล่าว

    ดาโต๊ะอามิรูดินกล่าวว่า รัฐบาลของรัฐมีเป้าหมายที่จะจัดหาทรัพยากรและเงินทุนที่สำคัญ เพื่อเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพและบริษัทที่ดำเนินการการอยู่แล้ว และผลักดันไปสู่ความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง

    IC Design Park สามารถรองรับวิศวกรออกแบบ IC Design มากกว่า 400 คน และมี 8 บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาใช้บริการแล้ว ทั้งจาก MaiStorage, Skyechip, Weeroc และ AppAsia ส่วนพันธมิตรรายอื่นได้แก่ Bluechip VC, Cadence Design System, Synopsys, Siemens EDA,Keysight, และ ARM

    ดาโต๊ะอามิรูดินกล่าวว่า Greater Klang Valley Semiconductor Corridor หรือระเบียงเซมิคอนดักเตอร์แห่งกลังวัลเลย์( Klang Valley คือ ศูนย์กลางการพัฒนาของสลังงอร์) เป็นระบบนิเวศที่ไม่หยุดยิ่ง ของผู้นำในอุตสาหกรรม สถาบันวิจัย และพันธมิตรด้านซัพพลายเชน

    “ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์นี้ช่วยเพิ่มความน่าสนใจของเราในฐานะจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ นำเสนอโอกาสที่ไม่มีใครเทียบได้สำหรับความร่วมมือและการเติบโต การที่เราเปิดตัวโครงการที่มีเป้าหมายสูงนี้ รัฐสลังงอร์ไม่ได้ตั้งเป้าที่จะเป็นแค่ส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เราจะต้องมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและยกระดับห่วงโซ่คุณค่า แต่ตั้งเป้าที่จะเห็นอนาคตเซมิคอนดักเตอร์ที่ติดฉลากว่า ‘ผลิตในมาเลเซีย ออกแบบในสลังงอร์’ Made in Malaysia, Designed in Selangor” ดาโต๊ะอามิรูดินกล่าว

    ดาโต๊ะอามิรูดินกล่าวว่า รัฐสลังงอร์ ตั้งเป้าที่จะจัดเตรียมแรงงานให้มีทักษะและความรู้ เพื่อให้มีความสามารถในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ ผ่านการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ เช่น Malaysia Advanced Semiconductor and AI Institute (MASAI) และ Selangor Digital School

    “โครงการฝึกอบรมของเราจะดูแลนักเรียนหลายพันคน เพื่อเตรียมความพร้อมพวกเขาสำหรับความท้าทายและโอกาสในอนาคต” ดาโต๊ะอามิรูดินกล่าว

    นอกจากนี้การแข่งขันระหว่างสองยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างสหรัฐฯและจีน จะไม่อยู่ที่ความแข็งแกร่งทางทหารเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ว่าใครจะมีบทบาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาในโลกดิจิทัลมากว่ากัน

    “มันจะเป็นการต่อสู้ทางเทคโนโลยี และเซมิคอนดักเตอร์จะเป็นหัวใจสำคัญของการเดินหน้าทางเศรษฐกิจทั่วโลก ในรัฐสลังงอร์ เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันใดๆ ทั้งหมด และ เราต้องยกระดับความสามารถและบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ IC” ดาโต๊ะอามิรูดินกล่าว

    Malaysia Semiconductor IC Design Park กำลังรับสมัครผู้ที่มีทักษะด้าน สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมเครื่องกล เมคคาทรอนิกส์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยให้เงินเดือนในระดับที่แข่งขันสูง ซึ่งตำแหน่งงานระดับเริ่มต้นมีเงินเดือนเริ่มต้นระหว่าง 5,000 ถึง 6,0000 ริงกิตสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ รวมถึงบุคคลทั่วไป ส่วนระดับปริญญาโทหรือมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมมาแล้วสามารถทำรายได้สูงถึง 7,000 ริงกิต

    เวียดนามตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/great-opportunities-for-vietnam-to-develop-semiconductor-industry-ai-post274858.vnp

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์เวียดนามได้ตัดสินใจจัดตั้ง คณะกรรมการกำกับดูแลระดับชาติเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

    คณะกรรมการจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจะประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเป็นรองประธานถาวร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารเป็นรองประธาน

    สมาชิกของคณะกรรมการประกอบด้วยรัฐมนตรี ประธานสำนักงานรัฐบาล รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการขนส่ง

    คณะกรรมการมีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะและแนวทาง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม โดยได้รับมอบหมายให้ประสานงานกระทรวงที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานระดับรัฐมนตรี หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่างๆ เพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

    ในทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามมีการเติบโตที่โดดเด่น ข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่า ภาคส่วนนี้มีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นที่ 7.1% (ปี 2559-2564) ซึ่งส่งผลมูลค่าตลาดสูงกว่า 18.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565

    นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่า จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทบต้น 7.5% ต่อปีในช่วงปี 2565-2570 และจะมีมูลค่ามากกว่า 26.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570

    ปัจจุบันเวียดนามเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมใน 10 อันดับแรกของโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 9 ในทั้งสองประเภท

    ข้อมูลจาก Observatory of Economic Complexity (OEC) ระบุว่า เวียดนามนี้มีส่วนแบ่งการตลาดสูง โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของมูลค่าทั้งหมดที่ได้จากการส่งออกในภาคส่วนเหล่านี้

    ปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อันดับ 3 ของเอเชียไปยังสหรัฐอเมริกา รองจากมาเลเซียและไต้หวัน (จีน)

    ภายในปี 2588 เวียดนามคาดว่าจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โดยมีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ

    เวียดนามยังวางแผนที่จะมีส่วนร่วมอย่างลึกในกระบวนการบรรจุและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นมีความเชี่ยวชาญส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการฝึกอบรมวิศวกร 50,000 คนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่าภายในปี 2573

    มหาวิทยาลัยเกือบ 160 แห่งจากประมาณ 240 แห่งทั่วประเทศกำลังจัดการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะขยายไปสู่เซมิคอนดักเตอร์ และสถาบันการศึกษา 35 แห่งเปิดสอนสาขาวิชาเอกที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์

    เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติเวียดนาม (Vietnam National Innovation Centre:NIC) และ Samsung Vietnam ได้เริ่มโครงการพัฒนาผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า ‘Samsung Innovation Campus (SIC)’ สำหรับปีการศึกษา 2566-2567 ที่กรุงฮานอย นับเป็นความร่วมมือกันครั้งแรกระหว่าง Samsung Vietnam และ NIC เพื่อบรรลุเป้าหมายในการฝึกอบรมวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ 50,000 คนภายในปี 2573

    Infineon เปิดตัวโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่ที่สุดในโลกที่มาเลเซีย

    ที่มาภาพ: https://www.infineon.com/export/sites/default/media/press/Image/press_photo/2024/K3-Opening.jpg
    Infineon Technologies AG บริษัทใหญ่ของเยอรมนีเปิดตัวโรงงานผลิตพาวเวอร์ เซมิคอนดักเตอร์(Power Semiconductor) แบบ Silicon Carbide (SiC) ที่ใหญ่ที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกในมาเลเซีย

    วันที่ 8 สิงหาคม 2567 ที่เมืองกูลิม มาเลเซีย Infineon Technologies AG ได้เปิดตัว โรงงานผลิต Power Semiconductor แบบ Sic แห่งใหม่เฟสแรกอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตซิลิกอนคาร์ไบด์ที่ใหญ่ที่สุดโดยจะผลิตพาวเวอร์เซมิคอนดักเตอร์แบบ SiC ขนาด 200 มิลลิเมตร

    ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และมุขมนตรีแห่งรัฐเกดะห์ดาโต๊ะ สรี ฮายี มูฮัมหมัด ซานุซี ฮายี มูฮัมหมัด โนร์และนายโยเชน ฮาเนเบ็ก ซีอีโอของ Infineon เข้าร่วม

    โรงงานผลิตพาวเวอร์ เซมิคอนดักเตอร์แบบ SiC ที่มีประสิทธิภาพสูงขนาด 200 มม. จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับบทบาทผู้นำระดับโลกในด้านเซมิคอนดักเตอร์ของ Infineon ในเฟสแรกของโรงงานผลิตซึ่งมีมูลค่าลงทุน 2 พันล้านยูโร จะมุ่งเน้นไปที่การผลิตพาวเวอร์ เซมิคอนดักเตอร์แบบ SiC และแบบ Gallium nitride (GaN) ทั้งนี้พาวเวอร์ เซมิคอนดักเตอร์ แบบ SiC ได้พัฒนาให้มีการใช้งานกำลังสูง สามารถสับเปลี่ยนไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และช่วยให้สามารถออกแบบให้มีขนาดเล็กลงได้พาวเวอร์ เซมิคอนดักเตอร์แบบ SiC เพิ่มประสิทธิภาพในยานพาหนะไฟฟ้า สถานีและรถไฟชาร์จเร็ว รวมถึงระบบพลังงานหมุนเวียนและอาต้าเซ็นเตอร์ AI

    ในระยะแรกโรงงานจะมีการจ้างงานที่มีมูลค่าสูง 900 ตำแหน่ง ระยะที่สองด้วยการลงทุนสูงถึง 5 พันล้านยูโร จะสร้างโรงงานผลิตพาวเวอร์ เซมิคอนดักเตอร์ แบบ SiC ขนาด 200 มิลลิเมตรที่ใหญ่ที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก โดยรวมแล้ว จะมีการสร้างงานมากถึง 4,000 ตำแหน่งในโครงการนี้

    “พาวเวอร์เซมิคอนดักเตอร์รุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม เช่น ซิลิคอนคาร์ไบด์ ถือเป็นสิ่งแรกที่ต้องมีในการบรรลุการลดการปล่อยคาร์บอนและการปกป้องสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีของเราเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของการใช้งานที่แพร่หลาย เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ระบบพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และดาต้าเซ็นเตอร์ AI ดังนั้นเราจึงลงทุนในโรงงานผลิต SiC ไฮเทคที่ใหญ่ที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในมาเลเซีย โดยได้รับการสนับสนุนจากความมุ่งมั่นอันแข็งแกร่งของลูกค้า” นายโยเชน ฮาเนเบค ซีอีโอของ Infineon Technologies AG กล่าว “จากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในกูลิม จึงได้รับความสนใจอย่างมากจากลูกค้าของเราที่ให้การสนับสนุนด้วยการชำระเงินล่วงหน้า นอกจากนี้ยังเพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานสำหรับส่วนประกอบที่สำคัญซึ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

    “โครงการอันโดดเด่นของ Infineon ตอกย้ำสถานะของมาเลเซียในฐานะศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกที่กำลังเติบโต” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิมกล่าว “การลงทุนครั้งใหญ่นี้ ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตพาวเวอร์เซมิคอนดักเตอร์แบบ SiC ที่ใหญ่ที่สุดและมีคสามสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกบนแผ่นดินของเรา จะสร้างงานและโอกาส ตลอดจนดึงดูดซัพพลายเออร์ มหาวิทยาลัย และผู้มีความสามารถระดับสูง นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนความพยายามของมาเลเซียในการปกป้องสภาพภูมิอากาศของเรา โดยการเพิ่มการใช้พลังงานไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานหลายอย่าง รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน ดังนั้นเทคโนโลยีที่ผลิตในมาเลเซียจะกลายเป็นส่วนสำคัญของความพยายามลดคาร์บอนทั่วโลกในอนาคต”

    “การมีรากฐานที่ฝังรากลึกของ Infineon ในเมืองกูลิม ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพของภูมิภาคในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง” มูฮัมหมัด ซานุซี มูฮัมหมัด โนร์ มุขมนตรีแห่งรัฐเกดะห์กล่าว “การลงทุนนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างโอกาสในการทำงานที่มีมูลค่าสูงให้กับชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอีกด้วย เรามุ่งมั่นที่จะมอบเงื่อนไขทางธุรกิจระดับสูงในรัฐเกดะห์ต่อไป และสนับสนุนความพยายามของ Infineon ในการสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำในกูลิม ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อระบบนิเวศทั้งหมด”

    Infineon คว้าชัยด้านการออกแบบด้วยมูลค่ารวมประมาณ 5 พันล้านยูโร และได้รับการชำระเงินล่วงหน้าประมาณ 1 พันล้านยูโรจากลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ สำหรับการขยายโรงงานกูลิม 3 อย่างต่อเนื่อง โดยชัยชนะในการออกแบบเหล่านี้ประกอบด้วย OEM หกรายในภาคยานยนต์ รวมถึงลูกค้าในกลุ่มพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรม

    โรงงานกูลิม 3 จะเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดกับไซต์งานของ Infineon ในเมืองวิลลาค ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นศูนย์ความสามารถระดับโลกด้านพาวเวอร์เซมิคอนดักเตอร์ของ Infineon โดย Infineon ได้เพิ่มกำลังการผลิตสำหรับพาวเวอร์เซมิคอนดักเตอร์แบบ SiC และแบบ GaN ในวิลลาค ในปี 2566 แล้ว ในฐานะ “One Virtual Fab” สำหรับเทคโนโลยี wide-bandgap ปัจจุบันโรงงานผลิตทั้งสองแห่งได้แบ่งปันเทคโนโลยีและกระบวนการต่างๆ ซึ่งช่วยให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การดำเนินงานราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูง โครงการนี้ยังมีความยืดหยุ่นในระดับสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของ Infineon ในท้ายที่สุด

    การขยายธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด ซึ่งมีอยู่แล้วสำหรับการผลิตขนาด 200 มิลลิเมตรในกูลิม แต่จะเสริมตำแหน่งผู้นำของ Infineon ในด้านซิลิคอน โดยอิงจากการผลิตขนาด 300 มิลลิเมตรในวิลลาคและเดรสเดน ดังนั้น Infineon จึงเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในกลุ่มพาวเวอร์เซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด ในซิลิคอนทั้งแบบ SiC และ GaN นอกจากนี้ การลงทุนในกำลังการผลิตแบบ wide-bandgap ใน กูลิม ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศในท้องถิ่น และพิสูจน์ให้เห็นว่า Infineon เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ภายในศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังเติบโตของมาเลเซีย การดำเนินงานของ Infineon ในมาเลเซียเริ่มต้นในปี 2516 ในเมืองมะละกา ในปี 2549 บริษัทได้เปิดโรงงานชั้นนำแห่งแรกของเอเชียในเมืองกูลิม ปัจจุบัน Infineon มีพนักงานที่มีทักษะสูงมากกว่า 16,000 คนในมาเลเซีย

    โรงงานกูลิมm 3 จะใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% และจะใช้มาตรการประหยัดพลังงานล่าสุดเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของ Infineon ในความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Infineon จะใช้ระบบลดก๊าซที่ล้ำสมัยและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ผสมผสานประสิทธิภาพสูงเข้ากับศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่ต่ำมาก มาตรการอื่นๆ เพื่อรับรองการดำเนินงานที่ยั่งยืน ได้แก่ การรีไซเคิลวัสดุทางอ้อมที่ล้ำสมัย และประสิทธิภาพการใช้น้ำและกระบวนการรีไซเคิลที่ล้ำสมัย Infineon กำลังดำเนินการเพื่อให้ได้ Green Building Index

    เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 2 โตแซงหน้าจีน-สิงคโปร์-เกาหลีใต้

    ที่มาภาพ: https://www.officeholidays.com/countries/indonesia/jakarta/2020
    นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจ อินโดนีเซียกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียแซงหน้าจีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ โดยเติบโต 5.05% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสที่สองของปี 2567

    “เมื่อเทียบกับจีนแล้ว การเติบโตของอินโดนีเซียยังคงสูงกว่า การเติบโตของจีนอยู่ที่ 4.7%” นายแอร์ลังกากล่าวในการแถลงข่าวในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567

    นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียแซงหน้าสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเม็กซิโก โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์อยู่ที่ 2.9% เกาหลีใต้โต 2.3% และเม็กซิโกโต 2.24%

    “ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเรายังคงแข็งแกร่ง และในไตรมาสที่สองของปี 2567 อินโดนีเซียขยายตัว 5.05%” นายแอร์ลังกากล่าว

    การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ควบคุมได้ โดยอยู่ที่ 2.13% องค์ประกอบอื่นๆ ยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มโดยรวมที่เป็นบวก

    “ในด้านการบริโภคภาคครัวเรือน ขยายตัว 4.93% มีส่วนในการเติบโตทาง 54.53% การใช้จ่ายของสถาบันที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้บริการแก่ครัวเรือน (NPISH) การบริโภคของรัฐบาล การสะสมทุนถาวรขั้นต้น และการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการก็เป็นบวกเช่นกัน” นายแอร์ลังกากล่าว

    อย่างไรก็ตาม การเติบโต 5.05% ทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในไตรมาสที่สองของปี 2567 ชะลอตัวลง จาก 5.17% เมื่อเทียบรายปีในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และต่ำกว่า 5.11% ที่ในไตรมาสแรกของปี 2567

    การชะลอตัวของเศรษฐกิจเทียบรายไตรมาสชะลอตัวลงมาที่ 3.79% แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง 5.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    ชนชั้นกลางของอินโดนีเซียลดลง 8.5 ล้านคนตั้งแต่ปี 2561

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/paper/2023/07/05/indonesia-returns-to-upper-middle-income-status.html
    สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Research Institute:LPEM) คณะเศรษฐศาสตร์และธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (FEB UI) รายงานว่าชนชั้นกลางของอินโดนีเซียลดลงอย่างน่าใจหาย โดยมีสาเหตุมาจากกำลังซื้อที่ลดลง

    รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2024 (Indonesia Economic Outlook 2024 ) ของ LPEM FEB UI ในไตรมาสที่ 3 ปี 2024 พบว่าชนชั้นกลางมีจำนวนลดลงมากกว่า 8.5 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2561 เหลือประมาณ 52 ล้านคนหรือ 18.8% ของประชากร ณ ปี 2023

    การหดตัวนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยคนจำนวนมากขึ้นตกอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ ส่วนแบ่งการบริโภคของชนชั้นกลางลดลง 41.9% ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งสะท้อนถึงอำนาจการใช้จ่ายที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

    “กำลังซื้อที่ลดลงนี้น่ากังวลเนื่องจากจะกระทบการบริโภคโดยรวม ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย” รายงานเตือน

    ชนชั้นกลางมีบทบาทสำคัญในรายได้ของประเทศ โดยมีสัดส่วน 50.7% ของรายได้จากภาษี ในขณะที่ชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นใหม่เพิ่มขึ้น 34.5% กำลังซื้อที่ลดลงอาจมีผลให้คนตกอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ลดการมีส่วนในภาษี และพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น

    การเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลให้รัฐบาลมีความตึงเครียดทางการเงินเพิ่มขึ้น และอาจทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนภาษีต่อ GDP ทำให้ความพยายามในการบรรลุความยั่งยืนทางการเงินและรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความยุ่งยาก

    ด้วยเป้าหมายที่จะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2588 รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะเพิ่มประชากรชนชั้นกลางเป็น 80% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 20%

    ข้อมูลของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าชนชั้นกลางในอินโดนีเซียขยายตัวเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยมีชาวอินโดนีเซียที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 52 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 คน

    ในอดีต ชนชั้นกลางในอินโดนีเซียเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการบริโภคเพิ่มขึ้น 12% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการบริโภคในครัวเรือนทั้งหมดในประเทศ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา คนที่ยากจนและเปราะบางจำนวนมากได้หลุดพ้นจากความยากจนไปสู่ชนชั้นกลางที่มีความมุ่งมั่น ที่ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 115 ล้านคน

    VinFast ผู้ผลิต EV ชั้นนำของเวียดนามตั้งโรงงานแรกในอินโดนีเซีย

    ที่มาภาพ:https://www.thejakartapost.com/business/2024/08/09/vinfast-breaks-ground-on-first-asean-ev-assembly-plant-in-indonesia.html
    VinFast ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ชั้นนำของเวียดนาม ได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์แห่งแรกในอินโดนีเซีย ที่เมืองซูบัง ชวาตะวันตก เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567

    VinFast เป็นบริษัทในเครือของ Vingroup Joint Stock Company (JSC) หนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีเป้าหมายที่จะทำให้งผู้บริโภคทุกคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าถึง EVs ได้มากขึ้น โรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ที่ซูบังถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ล่าสุดของ VinFast ในการสนับสนุนอินโดนีเซียในฐานะตลาด EV ที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาค

    โรงงานแห่งใหม่นี้มีกำหนดจะเริ่มดำเนินการภายในไตรมาสที่สี่ของปี 2568 เพื่อผลิต VinFast EV รุ่นพิเศษ พวงมาลัยขวาเพื่อรองรับตลาดอินโดนีเซีย กลุ่มผลิตภัณฑ์ตามแผนคือรุ่น e-SUV ได้แก่ VF 3, VG 5, VF 6 และ VF 7

    การพัฒนาโรงงานแห่งนี้คาดว่าจะสร้างงานในท้องถิ่นหลายพันตำแหน่ง และเพิ่มอัตราค่าจ้างให้กับแรงงานที่มีทักษะ ขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนซูบัง อีกทั้งกำลังการผลิตปีละ 50,000 คัน หมายความว่าโรงงานแห่งใหม่มีแนวโน้มที่จะส่งผลอย่างมากต่อการส่งเสริมการขนส่งสีเขียวในอินโดนีเซีย

    การเลือก ซูบัง ศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ให้เป็นที่ตั้งโรงงาน เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านสถานที่เชิงกลยุทธ์ Temmy Wiradjaja ซีอีโอของ VinFast Indonesia กล่าว

    “แม้การาวาง อยู่ใกล้จาการ์ตามากขึ้น แต่การอยู่ในซูบัง เราสามารถรองรับตลาดอินโดนีเซียโดยรวมที่ใหญ่ได้ ยิ่งกว่านั้น โครงสร้างพื้นฐานในซูบัง กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการจัดหาชิ้นส่วนจะช่วยให้ประสิทธิภาพดีขึ้นในระยะยาว”

    โรงงานซูบังเป็นการลงทุนเริ่มต้นมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และครอบคลุมพื้นที่ 170 เฮกตาร์ นอกจากนี้ โรงงานแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของพื้นที่การผลิตที่สำคัญต่างๆ รวมถึงอู่ซ่อมตัวถัง ร้านประกอบชิ้นส่วนทั่วไป ร้านพ่นสี และพื้นที่ทดสอบ

    Moeldoko หัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดี กล่าวถึงการจัดตั้งโรงงานในประเทศแห่งแรกของ VinFast ว่า “การเข้ามาของ VinFast [ในอินโดนีเซีย] ไม่เพียงแต่จะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสใหม่ในการทำงาน และยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบด้วย รัฐบาลอินโดนีเซียสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์

    “เราเชื่อว่าการเข้ามาในประเทศของ VinFast จะนำมาซึ่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นอย่างมากในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ”

    Temmy กล่าวว่า การวางศิลาฤกษ์นี้ มีขึ้นในเพียงไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัวตลาดของ VinFast ในอินโดนีเซีย ตอกย้ำถึงการขยายเชิงกลยุทธ์ของบริษัทและแรงผลักดันด้านการแข่งขันใน [เอเชียตะวันออกเฉียงใต้] ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในกลยุทธ์ของบริษัทที่จะเป็นผู้เล่นชั้นนำในภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มสดใส

    “เราเชื่อว่าโครงการนี้จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในระยะยาวของ VinFast ที่มีต่ออินโดนีเซียในการส่งเสริมภาคยานยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวอินโดนีเซีย”

    นอกเหนือจากการขยายขีดความสามารถในการผลิตทั่วโลกแล้ว VinFast ยังได้สร้างสถานะทางธุรกิจที่มั่นคงอย่างรวดเร็ว และเพิ่มการรับรู้แบรนด์นับตั้งแต่เปิดตัวในตลาดอินโดนีเซียในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

    นับตั้งแต่เปิดตัว VinFast ได้เปิดตัว e-SUV รุ่นพวงมาลัยขวา 2 รุ่นแล้ว ได้แก่ VF 5 และ VF e34 จากการตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศ และใช้นโยบายการขายใหม่ที่ยืดหยุ่น เช่น โปรแกรมการสมัครสมาชิกแบตเตอรี่

    ในการพัฒนาโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย VinFast ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผลไปทั่วโลก แม้จะมีความท้าทายในระยะสั้นในอุตสาหกรรม EV แต่ VinFast ก็มุ่งมั่นที่จะขยายการเข้าไปทำธุรกิจในภูมิภาค และสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตของการขนส่งไฟฟ้าที่กำลังเติบโต

    สปป.ลาวตั้งธนาคารทองคำแท่ง

    ที่มาภาพ:https://laotiantimes.com/2024/08/09/laos-establishes-bullion-bank-to-secure-gold-reserves-stabilize-kip/
    ลาวจะจัดตั้งธนาคารทองคำแท่งลาว(Lao Bullion Bank) เพื่อสร้างคลังสำรองทองคำ เพิ่มเสถียรภาพทางการเงิน และเสริมความแข็งแกร่งให้กับเงินกีบลาว

    โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 กระทรวงการคลังได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง จำกัด(PTL Holding Co.) เพื่อจัดตั้งธนาคารทองคำแท่งลาว

    นายจันทอน สิดทิไซ ประธานและผู้ก่อตั้ง PTL Holding Co., Ltd. กล่าวว่า ธนาคารทองคำแท่งจะเปิดให้ทั้งบุคคลและนิติบุคคลฝากทองคำและใช้บริการทางการเงินอื่น ๆ ที่นำเสนอโดยธนาคาร เพื่อเพิ่มบทบาทในฐานะสถาบันกลางในการ ตลาดทองคำ

    ธนาคารจะสร้างมาตรฐานการค้าและการลงทุนทองคำ ดึงดูดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในประเทศและต่างประเทศ

    ธนาคารคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกันยายน โดยจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการเชิงยุทธศาสตร์ และยกระดับสถานะทางการเงินของลาวในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในด้านความเป็นอิสระและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติพาบ พมวิหาน เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของเป้าหมายที่มีต่อผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า คุณค่าคือการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และสามารถรับมือกับความวุ่นวายทางการเงินในปัจจุบัน อำนวยความสะดวกในการระดมทุน และปรับปรุงสภาพคล่อง

    นอกจากนี้ การจัดตั้งธนาคารทองคำแท่ง จะรักษาแหล่งที่มาที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งจะทำให้ลาวเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้ พร้อมทั้งสามารถตอบสนองตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ได้มาตรฐาน

    คาดว่าธนาคารจะเริ่มดำเนินการระยะที่ 1 ได้ในเดือนกันยายน และให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนพฤศจิกายน 2567

    การจัดตั้งธนาคารทองคำแท่งจะมีส่วนใน การดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของพรรคและรัฐบาลในการรักษาและสร้างเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจ ซึ่งจะปลดล็อคศักยภาพของระบบการเงินและการคลังของประเทศ เสริมสร้างมูลค่าของเงินกีบลาว และเพิ่มการระดมทุนและสภาพคล่องของประเทศ

    แนวทางนี้จะช่วยแก้ไขการชะงักงันทางเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ(Lao national TV) ลาวรายงานเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567