ThaiPublica > สู่อาเซียน > “สามเหลี่ยมทองคำ” ล็อกดาวน์ 2 ปี สปป.ลาวได้สนามบินนานาชาติใหม่ 1 แห่ง

“สามเหลี่ยมทองคำ” ล็อกดาวน์ 2 ปี สปป.ลาวได้สนามบินนานาชาติใหม่ 1 แห่ง

6 มกราคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ภาพสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564

โควิด-19 เริ่มระบาดเข้าไปในลาวเมื่อเดือนมีนาคม 2563 แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของชาวจีน ที่มีนักเสี่ยงโชคและนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากเดินทางเข้า-ออกอยู่เป็นประจำ ได้สั่งล็อกดาวน์ตัวเองก่อน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563

เกือบ 2 ปีเต็ม แหล่งบันเทิงครบวงจรริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามอำเภอเชียงแสนของไทย เรียกได้ว่าแทบจะปิดสนิท ทุกธุรกิจที่อยู่ในนี้เปิดให้บริการได้แบบกะปริบกะปรอย เพราะถูกโควิดเข้าไปเยี่ยมเป็นระยะ

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่หยุดเลยในสามเหลี่ยมทองคำ คือ การก่อสร้างสนามบิน!

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำใช้เวลาในช่วงล็อกดาวน์ไม่ถึง 2 ปี สร้างสนามบินนานาชาติได้สำเร็จ และกำลังจะเปิดให้บริการในอีก 2 เดือนข้างหน้า

……

เวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เดินทางไปยังสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ที่มาภาพ: เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

29 ธันวาคม 2564 เวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เดินทางโดยสายการบินลาวไปยัง “สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว” ที่แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงราย

คณะของรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ประกอบด้วย ตัวแทนจากสายการบินลาว บริษัทลาวเดินอากาศ (Lao Skyway) บริษัทล้านช้างแอร์ไลน์ กรมการบินพลเรือน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าแผนกจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วัตถุประสงค์ของการเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อเยี่ยมชมและให้คำแนะนำเรื่องการก่อสร้างสนามบิน พร้อมทั้งร่วมประชุมตรวจสอบความพร้อมสำหรับการเปิดใช้สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของลาว

ข้อมูลซึ่งถูกเปิดเผยในเพจเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ระบุว่า ในที่ประชุม ท้าวตู้ หัวหน้าโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ได้รายงานความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารรับรองผู้โดยสาร รันเวย์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และระบบการสื่อสารภายในสนามบิน ให้กับคณะของรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งได้รับทราบ

เวียงสะหวัด สีพันดอน พบปะพูดคุยกับเจ้าเหว่ย (ใส่สูทผู้เนกไทสีแดง)
ประธานกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ

หลังเสร็จสิ้นการประชุม เวียงสะหวัด สีพันดอน ได้พบปะพูดคุยกับเจ้าเหว่ย ประธานกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ และประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

รุ่งขึ้น ในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ก่อนเดินทางกลับนครหลวงเวียงจันทน์ คณะของรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เข้าประชุมเรื่องการก่อสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้วอีกครั้ง กับบัวคง นามมะวง เจ้าแขวงบ่อแก้ว…

“สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว” ตั้งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ห่างจากย่านพาณิชย์และเขตเมืองของเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 5 กิโลเมตร ในพื้นที่บ้านสีเมืองงาม เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว จุดที่ตั้งสนามบินอยู่ตรงข้ามกับตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในฝั่งไทย (ดูแผนที่ประกอบ)

ที่ตั้งสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว
ภาพสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564

ตั้งแต่ประมาณวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองเชียงแสน โดยเฉพาะตำบลบ้านแซว ต่างได้ยินเสียงและเห็นเครื่องบินพาณิชย์ของลาว 2-3 ลำ บินวนอยู่เหนือพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ที่อยู่ทางฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

AEROLAOS เพจข่าวสารด้านการคมนาคมของลาว รายงานว่า ในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 มีเที่ยวบินของสายการบินลาว และ Lao Skyway ได้บินมาลงยังสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว เพื่อทดสอบสนามบิน

หลังจากล้อของเครื่องบินทั้ง 2 ลำ แตะพื้นรันเวย์ สนามบินนานาชาติบ่อแก้วได้ทำพิธี water salute นำรถดับเพลิง 2 คัน มาพ่นน้ำพุ่งขึ้นฟ้าเป็นรูปซุ้มประตูเพื่อให้เครื่องบินเคลื่อนตัวลอดผ่าน ซึ่งเป็นพิธีการต้อนรับตามธรรมเนียมสากลของธุรกิจการบินในหลายประเทศ

Lao Skyway บินขึ้น-ลง เพื่อทดสอบรันเวย์และระบบสื่อสารของสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 สนามบินนานาชาติบ่อแก้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดศรีดอนสัก ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ มาประกอบพิธีทางศาสนา สวดและพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นศิริมงคลให้กับสนามบินและเครื่องบินของสายการบินลาวกับ Lao Skyway

จากนั้นเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ได้ทดลองบินขึ้น-ลง เพื่อทดสอบรันเวย์ ระบบลงจอด ระบบสื่อสาร ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสนามบิน

ตอนสายของวันที่ 27 ธันวาคม 2564 สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ได้ทำพิธี water salute อีกครั้ง เมื่อเที่ยวบินเช่าเหมาของ Lao Skyway อีกลำหนึ่ง บินตรงจากสนามบินนานาชาติวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ มาลงยังสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว โดยใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมง

ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น ณ สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ในช่วง 10 วันสุดท้ายของปี 2564 ที่กล่าวถึง เป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นขณะที่สนามบินแห่งนี้ ยังก่อสร้างไม่เสร็จ!

…….

29 ตุลาคม 2557 สมดี ดวงดี รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน (ในขณะนั้น) ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลลาวลงนามในสัญญาสัมปทานฉบับปรับปรุง ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ กับเจ้าเหว่ย ประธานกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ ผู้รับสัมปทาน โดยมีสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี ผู้ประจำการรัฐบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติลาวเพื่อคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษ-เขตเศรษฐกิจเฉพาะ เป็นสักขีพยาน

สัญญาสัมปทานเดิมที่รัฐบาลลาวทำไว้เมื่อปี 2550 กลุ่มดอกงิ้วคำได้สิทธิเช่าที่ดินริมแม่น้ำโขง ในแขวงบ่อแก้ว จำนวน 827 เฮกตาร์ (5,169 ไร่) จากรัฐบาลลาว เป็นเวลา 99 ปี เพื่อสร้างแหล่งบันเทิงครบวงจร โดยมีคาสิโนเป็นจุดขายหลัก ใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านดอลาร์สหรัฐ มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นนักเสี่ยงโชคและนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

เนื้อหาในสัญญาฉบับปรับปรุงใหม่ที่ลงนามในปี 2557 ได้ขยายพื้นที่สัมปทานออกไปเป็น 2,173 เฮกตาร์ (13,582 ไร่) ในพื้นที่ส่วนขยายใหม่ กลุ่มดอกงิ้วคำต้องลงทุนเพิ่ม 14 โครงการ เช่น ก่อสร้างสนามบิน สนามกอล์ฟ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดอนซาว เขตเชื่อมต่อเมืองเก่าสุวรรณโคมคำฯลฯ

กลุ่มดอกงิ้วคำต้องลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์…[อ่านดินแดนจีนตรงข้ามฝั่งโขง]

ก่อนหน้านั้น ในพื้นที่แขวงบ่อแก้วมีสนามบินอยู่แล้ว 1 แห่ง คือ สนามบินห้วยซาย ในเมืองห้วยซาย ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ เป็นสนามบินเก่าแก่ที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี 2518 และเคยถูกใช้เป็นสนามบินหลักของสายการบินลาว สำหรับการเดินทางระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์กับแขวงบ่อแก้ว

กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เคยมีแผนขยายสนามบินห้วยซาย แต่แผนนี้ถูกระงับไป หลังจากได้มีการลงนามในสัญญาสัมปทานฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 กรมการบินพลเรือนมีหนังสือแจ้งการเลขที่ 3362/กบพร ให้ปิดปรับปรุงสนามบินห้วยซาย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 จนกว่าการปรับปรุงสนามบินจะแล้วเสร็จ

แต่จนถึงทุกวันนี้ สนามบินห้วยซายยังไม่เปิดให้บริการ…

วันที่ 21 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงบ่อแก้ว อนุมัติให้กลุ่มดอกงิ้วคำก่อสร้างสนามบินขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เป็นสนามบินขนาดรันเวย์ยาว 2,500 เมตร กว้าง 60 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาดไม่เกิน 200 ที่นั่ง เช่น โบอิง 737-900ER แอร์บัส 320 หรือ ATR-72 มูลค่าการก่อสร้าง 150 ล้านดอลลาร์

เป้าหมายของการสร้างสนามบินแห่งนี้ เพื่อใช้รองรับนักเสี่ยงโชคและนักท่องเที่ยวจากจีนโดยเฉพาะ

เนื่องจากสนามบินแห่งนี้ ถูกยกระดับขึ้นเป็นสนามบินนานาชาติ จึงต้องถูกใช้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศในภาคเหนือของลาว เพื่อเชื่อมแขวงบ่อแก้วกับปลายทางในภูมิภาคต่างๆ ทั้งภายในลาวเองและต่างประเทศ

เดิมสนามบินแห่งนี้ถูกเรียกเป็นสนามบินสามเหลี่ยมทองคำ เพราะถูกสร้างอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ แต่จากความเคลื่อนไหวล่าสุดในปลายเดือนธันวาคม 2564 มีการเรียกชื่อสนามบินแห่งนี้อย่างเป็นทางการว่า “สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว”

สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 แต่ด้วยเหตุที่เกิดการระบาดของโควิด-19 และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้สั่งล็อกดาวน์พื้นที่ของตนเองล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จึงได้เข้มงวดในการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ ทำให้ไม่เคยมีภาพการก่อสร้างสนามบิน ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะมาก่อน

ภาพการก่อสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ปรากฏผ่านสื่อเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งที่ พ.ท. ทองไข สียาลาด หัวหน้าการทหาร กองบัญชาการทหารแขวงบ่อแก้ว พ.อ. จันทะลา ไซยะวง รองหัวหน้ากองบัญชาการป้องกันความสงบ (ปกส.) แขวงบ่อแก้ว และ คำแยง คอนไซยะ เจ้าเมืองต้นผึ้ง เดินทางไปดูมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานที่ก่อสร้างสนามบิน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564

สถานที่ก่อสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ซึ่งถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564
ภาพจำลองสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ที่ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564

ภาพในวันนั้น สภาพพื้นที่ในสนามบินนานาชาติบ่อแก้วยังอยู่ในขั้นตอนการปรับหน้าดิน ยังไม่มีการสร้างรันเวย์หรือตัวอาคารใดๆ

ในวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เพจ “คนรักการบิน In Love Aviation” ได้เผยแพร่ภาพภาพจำลองของสนามบินนานาชาติบ่อแก้วออกมาเป็นครั้งแรก เป็นภาพโปสเตอร์ขนาดใหญ่ 2 ภาพ ที่ถูกติดตั้งไว้บนผนังอาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งเพจไม่ได้ระบุว่าเป็นอาคารใด แต่เขียนคำบรรยายสั้นๆ ว่า “ภาพจำลองของสนามบินนานาชาติสามเหลี่ยมทองคำ”

ภาพจำลองสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว
ภาพความคืบหน้าการก่อสร้าง ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 แต่เป็นภาพที่ถ่ายไว้ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2564

18 ตุลาคม 2564 เพจ AEROLAOS เผยแพร่ภาพชุด ซึ่งถ่ายโดยทีมงานของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 ทำให้ได้เห็นความคืบหน้าการก่อสร้างรันเวย์ ลานจอดเครื่องบิน และอาคารผู้โดยสาร ของสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว

AEROLAOS บรรยายว่า อีกไม่นานสนามบินนานาชาติบ่อแก้วจะเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งจะทำให้บ่อแก้วเป็นแขวงที่มีเที่ยวบินเดินทางเข้า-ออกมากที่สุดแห่งหนึ่งของลาว

ส่วนสนามบินห้วยซายนั้น ยังไม่แน่ว่าจะสามารถกลับมาเปิดได้อีกหรือไม่ เพราะมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น เมื่อมีการปรับปรุงสนามบินแล้ว จะรองรับเครื่องบินขนาดไม่เกิน 160 ที่นั่งเท่านั้น เพราะไม่สามารถขยายพื้นที่รันเวย์ได้อีก

สนามบินห้วยซาย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 คำพะหยา พมปันยา รองเจ้าแขวงบ่อแก้ว ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รอบบ้าน ผ่านเมือง” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ระบุว่า สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2565

คำพะหยา พมปันยา รองเจ้าแขวงบ่อแก้ว
ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

……

ก่อนการระบาดของโควิด-19 เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเคยเผยแพร่ข้อมูลว่า แต่ละปี มีนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนเดินทางเข้าไปเที่ยวยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำเฉลี่ยปีละ 300,000 คน

นักท่องเที่ยวเหล่านี้ ส่วนหนึ่งขับรถข้ามชายแดนจากจีนเข้ามาในลาวที่ด่านบ่อเต็น เมืองหลวงน้ำทา และขับรถต่อตามถนนสาย R3a มายังแขวงบ่อแก้ว

แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อย เดินทางโดยเครื่องบินมาลงยังสนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และเดินทางโดยรถยนต์ต่อมายังอำเภอเชียงแสน ก่อนนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

เมื่อสนามบินนานาชาติบ่อแก้วเปิดให้บริการ และสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำผ่านทางจังหวัดเชียงรายอาจลดน้อยลง เพราะคนเหล่านี้สามารถบินตรงเพื่อไปลงยังสนามบินนานาชาติบ่อแก้วได้เลย

เมื่อถึงวันนั้น ความรู้สึกของนักธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย อาจไม่ต่างจากนักธุรกิจท่องเที่ยวในอำเภอเชียงของ ซึ่งเคยประสบมาแล้วหลังเปิดใช้สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เมื่อปลายปี 2556

เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวข้ามจากฝั่งลาว หลังจากลงสะพานมาแล้ว ตัดสินใจเลี้ยวซ้ายไปยังตัวเมืองเชียงราย หรือต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่เลย โดยไม่เลี้ยวขวา เพื่อแวะเชียงของ…