
คลังแจงรายละเอียดโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ปปช.ทั่วไปลงทะเบียนผ่านแอปฯ ‘ทางรัฐ’ เริ่ม 1 ส.ค. – 15 ก.ย. กรณีไม่มีมือถือ 16 ก.ย.- 15 ต.ค. – ร้านค้า 1 ต.ค.เป็นต้นไป เริ่มใช้จ่ายเงินในไตรมาส 4 ปีนี้ คาดดัน GDP โตอีก 1.2 – 1.8% ต่อปี เตรียมกันงบฯปี’67 วงเงิน 1.65 แสนล้านบาทไว้แจกเงินหมื่นข้ามปี – ‘จุลพันธ์’ ยืนยัน “ไม่ส่งข้อมูลร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการให้สรรพากรเก็บภาษีเหมือนในอดีต”
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงความคืบหน้าสำคัญของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพิจารณารายละเอียดโครงการฯ อย่างรอบคอบ สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ข้อกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบ และรัดกุมนั้น โครงการฯนี้มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเมื่อเริ่มดำเนินโครงการฯ แล้วจะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ลูก ดังนี้
-
พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน
พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่
พายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ และ
พายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
ทั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน 2567 และมีกำหนดการที่จะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันแถลงรายละเอียดของโครงการฯ เพิ่มเติม ดังนี้
1. คุณสมบัติประชาชน ดังนี้
-
1.1 ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
1.2 สัญชาติไทย
1.3 มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
1.4 ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
1.5 ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท โดยตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ (1) เงินฝากกระแสรายวัน (2) เงินฝากออมทรัพย์ (3) เงินฝากประจำ (4) บัตรเงินฝาก (5) ใบรับเงินฝาก และ (6) ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ (1) – (5) ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าวให้หมายความถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม และเป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
1.6 ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
1.7 ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
1.8 ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
2. กำหนดการเข้าร่วมโครงการฯ
-
2.1 การลงทะเบียนประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 จะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” บนสมาร์ตโฟน โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิ์ในโครงการฯ ดังนั้น ประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการไว้จำนวน 45 – 50 ล้านคน
2.2 การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด (ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ตโฟน สำหรับส่วนของการใช้จ่ายนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน ดังนั้น การลงทะเบียนผ่านสมาร์ตโฟนจะสามารถใช้งานได้สะดวกกว่า จึงแนะนำให้พยายามลงทะเบียนผ่านทางสมาร์ตโฟนก่อนเป็นอันดับแรก
2.3 การลงทะเบียนร้านค้า ในเบื้องต้นกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะมีการแถลงข่าวเพิ่มเติมเพื่อแจ้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทางและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้ทราบต่อไป
2.4 การใช้จ่ายในโครงการฯ มีรายละเอียด ดังนี้
-
1) เริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567
2) เงื่อนไขการใช้จ่าย
-
2.1) การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และในการซื้อสินค้า หากประชาชนมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใด ก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) ซึ่งคำว่าซื้อขายแบบพบหน้านี้ จะมีการตรวจสอบ (1) ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการฯ (2) ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการฯ และ (3) พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
2.2) การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ร้านค้าทุกประเภทสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จึงซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้แม้จะอยู่ต่างพื้นที่
2.3) ประเภทสินค้า: สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรายการสินค้า Negative List เพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ การใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ จะไม่รวมถึงบริการต่าง ๆ
3. ขั้นตอนการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
-
3.1 รูปแบบที่ 1 การยืนยันตัวตนและลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567
3.2 รูปแบบที่ 2 การยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” มาก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2567 แล้ว จึงค่อยมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 ซึ่งจะทำให้คงเหลือขั้นตอนลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ที่ง่ายและรวดเร็วกว่า
ดังนั้น จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนเตรียมการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และทำการยืนยันตัวตนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้โดยตรงจากแอปพลิเคชัน “App Store” สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปพลิเคชัน “Google Play” สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) บนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ นำเสนอรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการฯ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคม 2567
อนึ่ง ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่า www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย หรือสามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111 ซึ่งพร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จากนั้นกระทรวงการคลังได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถาม โดยคำถามแรก โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน
ดร.เผ่าภูมิ ตอบว่า ในการประเมินโครงการนี้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร เราประเมินตามความเป็นจริง และไม่ได้ประเมินจากตัวเลข 50.7 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นไปไม่ได้ แต่เราจะประเมินตัวเลข 80 – 90% ของผู้ที่มาใช้สิทธิประมาณ 45 ล้านคน และเนื่องจากโครงการนี้ ไม่เหมือนกับโครงการอื่นๆของรัฐในอดีต จึงไม่สามารถอ้างอิงจากข้อมูลทางวิชาการ หรือ ข้อมูลจากงานวิจัยต่าง ๆ ที่จะบอกว่าโครงการนี้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเท่าไหร่อย่างชัดเจนชัดได้ เพราะโครงการในอดีตที่ผ่านมามีการโอนเงินสดไปให้พี่น้องประชาชนโดยตรง ซึ่งบางกรณีอาจนำกลับมาเก็บเป็นเงินออม ไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ แต่โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นี้ เป็นกระบวนการใหม่ที่ออกแบบขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเงินไปเก็บออม หรือ นำเงินไปซื้อสินค้าอบายมุข อีกทั้งยังกำหนดเงื่อนไขให้มีการใช้จ่ายเงินได้เฉพาะในชุมชน หมู่บ้าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน และการผลิต และกำหนดเงื่อนไขให้ร้านค้านำเงินไปใช้ต่ออีกรอบก่อนที่จะนำเงินดิจิทัลไปแลกเป็นเงินสด ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ไม่สามารถนำงานวิจัยต่างๆมามาคำนวณผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้ แต่อย่างไรดี กระทรวงการคลังก็เคยมีการประเมินเอาไว้ตามที่เคยแถลงข่าวก่อนหน้านี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ หรือ GDP ประมาณ 1.2 – 1.8% ต่อปี
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าโครงการนี้จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ดร.เผ่าภูมิ ตอบว่า เป็นคำถามที่ต่อเนื่องจากคำถามก่อนหน้านี้ การจัดเก็บภาษีของรัฐจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นเราจึงกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้เงินที่หมุนในระบบเศรษฐกิจกลับมาเป็นรายได้ของรัฐบาลให้มากที่สุด ถามว่า ทำไมกระทรวงการคลังจึงกำหนดใส่เงื่อนไขว่าผู้ที่จะนำเงินดิจิทัลมาขึ้นเป็นเงินสดได้จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ก็เพราะกระทรวงการคลังการันตีเงินทุกบาทที่จ่ายออกไปจะต้องมีรายได้จากภาษีไหลกลับเข้ามาที่รัฐบาล
ถามต่อว่าการบริหารจัดการงบประมาณในปี 2567 และ 2568 เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินในการดำเนินโครงการนี้จะต้องหาเงินให้ได้อีก 172,300 ล้านบาทนั้น รัฐบาลมีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหนจะหาเงินได้
นายจุลพันธ์ ตอบว่า เรื่องการบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 และ 2568 นั้น สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังมีการหารืออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ยืนยันว่าในกรอบที่มีอยู่สามารถบริหารจัดการได้ ไม่มีประเด็นข้อห่วงใยแต่อย่างใด โดยกลไกในการบริหารจัดการงบประมาณสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การยกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2568 ก็ทำได้ หรือ ยกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายเปลี่ยนแปลงรายได้ก็ทำได้ หรือ ใช้งบกลางก็ได้ ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการได้ ไม่มีปัญหาใดๆ และไม่มีผลกระทบกับภารกิจของรัฐบาล
ถามว่าก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีข้อเสนอแนะเรื่องการป้องกันการทุจริตที่อาจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนี้ กระทรวงการคลังเตรียมการไว้อย่างไร
นายจุลพันธ์ ตอบว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เน้นย้ำอยู่เสมอในเรื่องของการป้องกันการทุจริตคอรัปชัน และในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจะเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก็มีการเน้นย้ำเรื่องนี้อย่างเข้มงวด และที่ผ่านมาก็ไม่เคยได้ยินว่ามีใครพูดถึงว่าจะมีการทุจริตในส่วนของภาครัฐ เพราะโครงการนี้เป็นการเติมเงินให้กับประชาชน ดังนั้น เรื่องการทุจริตในส่วนของภาครัฐไม่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้น เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์จะมีผู้รับคือประชาชน แต่ที่เป็นห่วงในเรื่องของการทุจริตนั้น อาจเกิดขึ้นได้ในส่วนของภาคประชาชน ซึ่งการดำเนินโครงการของรัฐในอดีตเคยมีเรื่องดังกล่าวนี้เกิดขึ้น เช่น การซื้อสินค้ามูลค่า 10,000 บาท แต่นำมาขอแลกเป็นเงินสด 7,000 – 8,000 บาท เป็นต้น กรณีนี้เท่ากับผู้ซื้อขาดทุน ถามว่าจะทำไปทำไม แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ระมัดระวัง
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงกำหนดเงื่อนไขของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องไม่เคยกระทำความผิด หรือ ละเมิดในโครงการของรัฐในอดีตมาก่อน เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือ เราเที่ยวด้วยกัน เมื่อรัฐบาลโอนเงินให้ไปแล้วไม่ได้ไปซื้อสินค้า หรือ ใช้บริการจริง สุดท้ายก็ถูกดำเนินคดีอาญา และเรียกเงินคืน ซึ่งเราไม่อยากเห็น และถ้าเราพิสูจน์ทราบได้ว่าเคยมีการกระทำผิดในโครงการของรัฐในอดีตแล้ว เราจะตัดสิทธิออกจากการเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตรงนี้เป็นมาตรการป้องกันการทุจริตประการแรกที่กำหนดเป็นเงื่อนไขการลงทะเบียนขอรับสิทธิ
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจะเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้ทำงานร่วมกับทีมพัฒนาระบบ Blockchain ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลใดๆได้ ซึ่งสุดท้าย Transaction ของการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ในระบบครบถ้วน เช่น ซื้อสินค้าอะไร ที่ไหน เมื่อไร่ ใครเป็นผู้ซื้อ ทำการซื้อขาย ณ สถานที่ใด โดยคณะอนุกรรมการฯจะมีการกำหนดเงื่อนไขในการตรวจสอบเข้าไปในระบบ เช่น ร้านค้าแห่งนี้ปกติเคยมียอดขาย 4,000 บาท แต่วันนี้มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้สามารถใช้ระบบตรวจสอบได้ หาก Transaction ไหนมีประเด็นที่น่าสงสัย ก็จะส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบทันทีว่ามีการซื้อ-ขายสินค้าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หากตรวจพบว่ามีการซื้อ-ขายสินค้าผิดประเภทก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม คิดว่าเป็นส่วนน้อย แต่เราก็ต้องระมัดระวัง
ถามว่าการใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ปกติจะต้องใช้จ่ายให้จบภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 แต่โครงการนี้ไปเริ่มเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลใช้วิธีผูกพันงบฯ เพื่อนำไปจ่ายในปีถัดไปอย่างไร
นายจุลพันธ์ ตอบว่า “ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 เมื่อวานนี้ ก็มีสมาชิกสอบถามประเด็นนี้กันอย่างละเอียด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ตอบคำถามนี้ให้กับสมาชิกไปชัดเจนแล้ว คาดว่าคงจะมีการพูดคุยประเด็นนี้อีกครั้งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นขอตอบว่า กลไกของงบประมาณสามารถดำเนินการได้ และถือเป็นเรื่องปกติในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณที่มีความจำเป็น ต้องกันเงินไว้จ่ายข้ามปีงบประมาณ สามารถทำได้โดยมีการผูกพัน ซึ่งองค์ประกอบนั้นจะต้องมีการเสนอและสนองอย่างครบถ้วน “เสนอ” ก็คือมีประชาชนมาลงทะเบียนขอรับสิทธิ ส่วน “สนอง” ก็คือ การที่รัฐบาลยืนยันว่าท่านมีสิทธิครบถ้วน เมื่อมีทั้งการเสนอและสนองครบถ้วน ก็สามารถจัดทำเป็นงบฯผูกพันได้ เพื่อกันเงินไว้จ่ายให้ประชาชน เหมือนกับการจัดทำ PO (ใบสั่งซื้อสั่งจ้าง) ถือว่ามีการผูกพันเป็นสัญญากันไว้แล้ว”
ถามว่าร้านค้ารายย่อยมีข้อห่วงใย เกรงว่าจะเสียภาษี นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า “โครงการนี้ไม่มีการส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรเหมือนโครงการของรัฐในอดีต ประเด็นนี้ไม่มีผลกระทบต่อร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ แต่อย่างไรก็ตามการที่พี่น้องประชาชนจะเข้าสู่ระบบภาษี ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะต้องเสียภาษีนะครับ อย่างที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ร้านค้าที่จะสามารถขึ้นเงินได้ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น แต่ถ้ามายื่นแบบแสดงรายการเงินได้และท่านมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็ไม่ต้องเสียภาษี จึงอยากเชิญชวนให้เข้ามาอยู่ในระบบดีกว่า เพื่อที่จะสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย”