ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังไม่เคาะ! – ยืมออมสินบางส่วน สัญญาใช้คืน 3 ปี

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังไม่เคาะ! – ยืมออมสินบางส่วน สัญญาใช้คืน 3 ปี

26 กันยายน 2023


แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังไม่เคาะใช้แหล่งเงินในงบประมาณ หรือ นอกงบประมาณ? เบื้องต้นเจรจา “ออมสิน” สำรองจ่ายได้แค่บางส่วน – รับภาระทั้งหมด 560,000 ล้านบาท ไม่ไหว – ต้องหาแหล่งเงินอื่นมาช่วยเสริม ด้านรัฐบาลให้สัญญาจะตั้งงบประมาณมาเคลียร์หนี้ให้หมดภายใน 3 ปี หรือ ก่อนครบวาระ โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขในมติ ครม.

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital wallet ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital wallet ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารออมสิน โดยมี นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง , นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

ภายหลังการประชุมผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายจุลพันธ์จะใช้แหล่งเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทั้งหมด 560,000 ล้านบาท หรือ จะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณปี 2567 มาผสมกัน นายจุลพันธ์ ตอบสั้นๆว่า “ยังไม่มีข้อสรุป”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีการหารือเรื่องแหล่งเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ที่จะนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะให้มีการขยายกรอบวงเงินการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 ขึ้นไป จากปัจจุบันกำหนดเพดานไว้ที่ 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปรับเพิ่มเป็น 45% ซึ่งจะทำให้ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจะมีแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้เพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนล้านบาท จากเดิมมีวงเงินเหลือให้รัฐบาลใช้จ่ายได้แค่ 18,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวม กรณีที่รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มาชำระหนี้เก่าที่ยังติดค้างอยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก็จะยิ่งทำให้การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณของรัฐบาลมีวงเงินเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital wallet ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ที่มาภาพ : www.mof.go.th/

“และเพื่อเป็นการรักษาวินัยการคลัง ไม่ทิ้งไว้เป็นภาระแก่แบงก์รัฐและรัฐบาลชุดต่อไป ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสัญญาว่าจะตั้งงบประมาณมาชำระหนี้ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาลชุดนี้ โดยจะชะลอการชำระหนี้นโยบายรัฐในอดีต และรวบรวมงบประมาณมาชำระหนี้ที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ คืนให้กับแบงก์รัฐจนหมดภายใน 3 ปี หรือ อย่างช้าก่อนรัฐบาลชุดนี้หมดวาระ ”

โดยเงื่อนไขดังกล่าวนี้จะถูกกำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีว่าจะเริ่มจัดงบประมาณมาใช้หนี้ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายดิจิทัล เริ่มตั้งแต่ปีไหนและใช้หนี้หมดในปีไหน ซึ่งจะแตกต่างจากในอดีต ไม่เคยระบุระยะเวลาการชำระหนี้คืนให้กับแบงก์รัฐเอาไว้ ทำให้รัฐบาลมีภาระค้างจ่ายเงินชดเชยให้กับแบงก์รัฐกว่า 1 ล้านล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า จากนั้นที่ประชุมจึงสอบถามนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินว่ามีสภาพคล่องเพียงพอที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ได้แค่ไหน นายวิทัยชี้แจงว่า “ธนาคารออมสินมีสภาพคล่องเหลือที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่จะให้รับภาระทั้งหมด 560,000 ล้านบาท ไม่ไหว คงต้องหาแหล่งเงินอื่นมาช่วยเสริมด้วย”

นอกจากนี้นายจุลพันธ์ได้มีการหารือกับธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารหลักในการกระจายเงินดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ไปยังประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านบัญชี โดยมีระบบ Block Chain อยู่เบื้องหลัง อาจขยายขอบเขตการใช้จ่ายเงินตามที่อยู่บัตรประชาชนในรัศมี 4 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นเป็นระดับอำเภอ ส่วนการแลกเงินกลับ (Cash Back) ยังไม่สรุปว่าจะหักภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก่อนจ่ายเงินหรือไม่ เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายย่อยเป็นจำนวนมาก ไม่ได้จดทะเบียน VAT เพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ จึงไม่สามารถขอคืนภาษีที่ถูกหักไปได้

อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประชุม ครม.รัฐบาลเศรษฐา ครั้งที่ 2 ได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิมที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนประกาศยุบสภามีวงเงินอยู่ที่ 3,350,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 295,000 ล้านบาท หรือเพิ่มจากปีก่อน 9.26%

ส่วนประมาณการรายได้สุทธิ คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้ 2,787,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ 30,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2566 เพิ่มขึ้น 297,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.90% ทำให้กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาลเศรษฐาในปีงบประมาณ 2567 มีวงเงินรวมอยู่ที่ 693,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.63% ของ GDP เปรียบเทียบกับกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ตั้งกรอบวงเงินไว้ที่ 593,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3% ของ GDP หรือ เพิ่มขึ้นมา 100,000 ล้านบาท

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับกรอบวงเงินกู้เพื่อขดเชยการขาดดุลในปีงบประมาณ 2566 จะลดลงไป 2,000 ล้านบาท โดยการปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่าย และกรอบวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีนี้ ส่งผลทำให้ยอดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย คาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 มียอดคงค้างอยู่ที่ 12.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 63.37% ของ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดให้ก่อหนี้ได้ไม่เกิน 70% ของ GDP

นอกจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ทั้งเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายและกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลแล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังมีนโยบายที่จะขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาช่วยเสริมด้วย โดยจะมีการขยายสัดส่วนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 เพิ่มเป็น 45% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 วงเงินรวม 3,480,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลสามารถใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณได้สูงสุดถึง 1,566,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กำหนดเพดานการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณเอาไว้ 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เดิมที่ 3,350,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณได้ไม่เกิน 1,072,000 ล้านบาท

ดังนั้น การขยายวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ครั้งนี้ จึงทำให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) เพิ่มขึ้นมาอีก 494,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ไปชำระหนี้คืนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะทำให้รัฐบาลมีวงเงินที่จะนำไปใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เพิ่มขึ้นไปอีก และจากการที่รัฐบาลปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณปี 2567 ขึ้นไปอยู่ที่ 3,480,000 ล้านบาท แต่งบประมาณปีนี้ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ 2567 ในระหว่างนี้ให้ใช้เกณฑ์การเบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ไปพรางก่อน จนกว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 จะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างช้าสุดคือเดือนมีนาคม 2567 เหลือเวลาในการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ถึง 8 เดือน แม้จะพยายามเร่งรัดการเบิกจ่าย แต่ก็คาดว่าจะมีงบฯค้างท่อเหลือ ข้ามไปเบิกจ่ายในปีหน้าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

ขณะที่ผลการจัดเก็บรายได้ปรับตัวดีขึ้นส่งผลทำให้ระดับเงินคงคลังปลายปีงบประมาณ 2567 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2566 ระดับคงคลังต้นปีมียอดอยู่ที่ 624,019 ล้านบาท โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 ลดลงมาเหลือ 298,943 ล้านบาท

  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจก 5.6 แสนล้านบาท บริหารอย่างไร-ไม่ต้องกู้
  • เจาะฐานะการคลัง รับรัฐบาลใหม่… ‘ไม่มีเงิน’ จริงหรือ?
  • 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1) : ซุกอะไรไว้ ตรงไหน?
  • 8 ปี “รัฐบาลประยุทธ์” ฉีกวินัยการคลัง (อีกแล้ว)