ThaiPublica > เกาะกระแส > สร.ธกส.จี้คลังส่ง ‘กฤษฎีกา’ ตีความปมสำรองจ่าย 1.7 แสนล้าน ผิด กม.?

สร.ธกส.จี้คลังส่ง ‘กฤษฎีกา’ ตีความปมสำรองจ่าย 1.7 แสนล้าน ผิด กม.?

22 เมษายน 2024


เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 15.00 น. นายศุภชัย วงศ์เวคิน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. หรือ สร.ธกส. เข้าพบนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นหนังสือ และขอความชัดเจนกรณีการนำเงินของ ธ.ก.ส. จำนวน 1.723 แสนล้านบาท ไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

สร.ธกส. พบ ‘จุลพันธ์’ เคลียร์ปมสำรองจ่าย 1.7 แสนล้านบาท แจกคนละ 10,000 บาท ผิดกฎหมายหรือไม่? นายกฯสั่งคลังส่งกฤษฎีกาตีความ – เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติโครงการดิจิทัล วอลเล็ต พรุ่งนี้!

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 15.00 น. นายศุภชัย วงศ์เวคิน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. หรือ สร.ธกส. เข้าพบนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นหนังสือ และขอความชัดเจนกรณีการนำเงินของ ธ.ก.ส. จำนวน 1.723 แสนล้านบาท ไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

โดยนายศุภชัย วงศ์เวคิน ประธาน สร.ธกส.ได้แจ้งต่อนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังว่า ทางสหภาพมีความเป็นห่วงเรื่องการนำเงินของ ธ.ก.ส.มาใช้ในโครงการนี้อยู่ 5 ประเด็น คือ 1. การนำเงินของ ธ.ก.ส.มาใช้ในโครงการนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 2. กรณีมอบหมายให้ ธ.ก.ส.ไปดำเนินโครงการดังกล่าวมีมติ ครม.รองรับหรือไม่ 3. สภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส.มีเพียงพอหรือไม่ 4.รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาชดเชยให้กับ ธ.ก.ส.อย่างไร และ 5. รัฐบาลจะจ่ายชดเชยต้นทุนในการดำเนินโครงการนี้ให้กับ ธ.ก.ส.เท่าไหร่

“เรื่องแรก ประเด็นข้อกฎหมาย ถ้าถูกต้องก็จบ ซึ่งประเด็นนี้นายจุลพันธ์ แจ้งว่าเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตกลงจะนำประเด็นข้อกฎหมายส่งไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยภาพส่งให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติในวันที่ 23 เมษายน 2567 ซึ่งในวันนี้ทางสหภาพฯก็ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายด้วย นายศุกชัย กล่าว

อ่าน สร.ธ.ก.ส.ทำหนังสือ สอบถามความเห็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพิ่มเติมที่นี่

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า นายจุลพันธ์ยืนยัน โครงการนี้รัฐบาลไม่ได้กู้ยืมเงิน ธ.ก.ส.ตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายในมาตราดังกล่าวนี้ ไม่ใช่การกู้ยืมเงิน แต่เป็นเรื่องของวิธีการทางงบประมาณ โดยให้ ธ.ก.ส.ไปดำเนินกิจกรรม หรือ โครงการก่อน จากนั้นถึงจะจัดงบประมาณมาชดเชยให้ในภายหลัง ไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงิน ธ.ก.ส.ตามมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลก็เคยมอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ โอนเงินให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ก็ใช้มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ไม่ได้กู้เงินจาก ธ.ก.ส.แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 หากคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าสามารถดำเนินการได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย ก็ต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติ และประเด็นที่ 3 เรื่องสภาพคล่องของธนาคาร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สภาพคล่องที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมาย กับ สภาพคล่องส่วนเกิน ซึ่งสภาพคล่องส่วนเกินนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารของธนาคารต้องออกมาชี้แจงว่ามีเพียงพอที่จะรองรับโครงการนี้หรือไม่ ตนไม่มีข้อมูลตรงนี้

ประเด็นที่ 4 รัฐบาลจะจัดสรร หรือ ตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ ธ.ก.ส.ส่วนที่สำรองจ่ายไปก่อน 1.723 แสนล้านบาทอย่างไร เช่น ตั้งงบฯมาชดเชยให้ทั้งหมดภายใน 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เป็นต้น ซึ่งปกติรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาชดเชยให้กับ ธ.ก.ส.ปีละ 10-12% ของยอดเงินชดเชยคงค้างชำระ 609,000 ล้านบาท หรือประมาณ 60,000 – 90,000 ล้านบาทต่อปี

ส่วนประเด็นสุดท้าย เรื่องผลตอบแทนที่ ธ.ก.ส.จะได้รับเพื่อนำมาชดเชยต้นทุนทางการเงินให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ได้มีการหารือกันในรายละเอียด ต้องรอให้ประเด็นข้อกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังก็แจ้งให้ทราบแล้วว่าจะนำประเด็นข้อกฎหมายหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าผลการหารือก็ออกมาว่าทำได้ตามกฎหมายอย่างนี้ก็จบ จากนั้นก็ต้องเข้าไปดูในรายละเอียดของมติ ครม. และสภาพคล่องของธนาคารมีเพียงพอที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้หรือไม่