ThaiPublica > คอลัมน์ > การรู้คิดที่บิดเบือน

การรู้คิดที่บิดเบือน

13 กุมภาพันธ์ 2024


ธนากร คมกฤส

มีคำอยู่ประมาณ 3 คำที่ถูกใช้บ่อยในการอธิบายตัวแปรทางทัศนคติที่เกี่ยวกับความคิดความเชื่อของคนพนัน คือ myth (ความเชื่อ), illusion (มายาคติ) และ fallacy (ความเข้าใจผิด)

myths น่าจะหมายถึง ความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับการพนันที่ส่งต่อกันมาในสังคม เช่น ความเชื่อเรื่องโชคลาภกับการได้รางวัลจากการพนัน ความเชื่อเรื่องการฝันที่ถึงขนาดเขียนเป็นตำราเพื่อตีความความฝันแล้วนำมาพนัน ความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ ว่าจะดลบันดาลให้ชนะพนัน หรือถ้าสมัยปัจจุบันก็อาจจะเป็นความเชื่อเรื่องรถนายกฯ หรือรถที่เกิดอุบัติเหตุและอื่นๆ ที่จริงๆ แล้วไม่น่าเกี่ยวกับการแทงพนัน แต่ก็พยายามตีความให้มันเกี่ยว

ส่วน illusions หรือภาพลวงตาอันเกิดจากมายาคติต่างๆ เช่น การได้รับรู้ข่าวสารคนถูกรางวัลใหญ่เป็นประจำ หรือการเห็นเพื่อนเล่นพนันแล้วได้ และคิดว่าตนน่าจะเป็นอย่างเขาได้ง่ายๆ หรือการที่อดีตเคยถูกรางวัลจากการพนันจึงยังคงจำฝังใจมาตลอด และเชื่อว่าเหตุการณ์อย่างนั้นจะต้องเกิดขึ้นอี

อีกคำคือ fallacies หรือความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง รศ.วิทยากร เชียงกูล แปลคำนี้ว่า “การรู้คิดที่บิดเบือน” เช่น ความเชื่อว่าการเกือบชนะพนันในการเล่นพนันครั้งนี้ จะทำให้ตนเป็นผู้ชนะในการเล่นพนันครั้งต่อไป ซึ่งคอหวยเป็นอย่างนี้กันบ่อย หรือการคิดว่าเลขที่ออกไปแล้วในงวดนี้จะต้องไม่ออกอีกในงวดหน้า หรือการคิดว่าเลขคู่ เช่น 00, 22, 77, 99 มีโอกาสถูกรางวัลน้อยกว่าเลข 29, 61 และอื่นๆ จึงไม่นินมซื้อล็อตเตอรี่เลขจำพวกนี้ หรือการคิดว่าเมื่อเสียพนันไปแล้วจะหยุดเล่นไม่ได้ ต้องเอาเงินที่เสียไปคืน กลับมาให้ได้ก่อนแล้วจะหยุดเล่น เป็นต้น เหล่านี้คือความคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะการเกือบชนะในครั้งนี้ไม่มีผลหรือไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับการเล่นพนันในครั้งต่อไป

เหตุการณ์ทั้งสองเป็นอิสระต่อกัน ไม่มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันแต่อย่างใดในความเป็นจริง หรือเลขที่ออกไปแล้ว รวมทั้งเลขคู่เลขเบิลทั้งหลาย ทุกเลขล้วนมีโอกาสจะออกเท่ากันตามหลักการสุ่มและความน่าจะเป็น หรือการที่จะเล่นพนันเพื่อทวงเอาเงินที่เสียไปคืนจากเจ้ามือที่กุมความได้เปรียบผู้เล่นแทบทุกประตู ทั้งในด้านการเป็นผู้กำหนดเกม กำหนดโอกาสแพ้ชนะในเกม กำหนดกติกาที่ทำให้เจ้าได้เปรียบ หรือเว็บพนันที่ใช้ AI ในการคุมโปรแกรมและประมวลผล และอื่นๆ ที่ทำให้โอกาสชนะของผู้เล่นมีน้อยมาก ฉะนั้น ยิ่งอยู่ในสนามของเจ้ามือนานมากเท่าไร ผู้เล่นยิ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากเท่านั้น การตามทวงคืนอาจกลายเป็นยิ่งเสียหนักมากกว่า

ทั้งหมดที่กล่าวมาเรียกได้ว่าเป็นการรู้คิดที่บิดเบือน ถามว่ามีเหตุมีผลในการอธิบายตนเองมั้ย ผู้คิดอาจจะตอบว่า “มี” แต่ถามว่ามันสอดคล้องกับหลักความเป็นจริงหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่”

ในทางเศรษฐศาสตร์มีตัวอย่างหนึ่งของการรู้คิดที่บิดเบือน ชื่อว่า sunk cost fallacy หรือเรื่องของต้นทุนจมหรือต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ได้ลงไปในกิจกรรมที่ไม่สามารถกู้คืนได้ แต่การรู้คิดที่บิดเบือนได้เกิดขึ้น จากการที่คิดว่ากิจการควรดำเนินต่อไปบนพื้นฐานของสิ่งที่ได้ทุ่มเททำมา โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่จะเสียมากขึ้นในอนาคต หรือโอกาสที่ยากจะประสบความสำเร็จ (เหมือนคนเสียพนันที่ดึงดันจะเล่นพนันต่อเพื่อไล่ล่าเอาเงินที่เสียไปคืน)

อาการรู้คิดที่บิดเบือนนี้ อาจไม่ได้เกิดกับฝ่ายผู้เล่นพนันหรือปัจเจกบุคคลเพียงฝ่ายเดียว แต่อาจจะเกิดกับฝ่ายที่เป็นองค์กรด้วยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน หากมีการพยายามใช้เหตุใช้ผลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงมาอธิบายการกระทำของตัวเองบ่อยๆ โดยไม่มีการทบทวนความถูกต้อง ก็อาจนำมาสู่การรู้คิดที่บิดเบือน และนำมาสู่การตัดสินใจดำเนินกิจการที่ผิดเพี้ยนไปได้

ตัวอย่างหนึ่งที่อยากนำมาอภิปรายเป็นกรณีศึกษาคือ การแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลของไทย ที่หลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายผู้รับผิดชอบพยายามจะอธิบายว่า ปัญหาสลากราคาแพงมาจากการไม่สมดุลกันระหว่างจำนวนสลากที่มีอยู่จริงกับความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายในตลาด จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์สลากเพิ่ม หรืออีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การเพิ่มจำนวนสลากจะมีผลทำให้สามารถกำราบหวยใต้ดินลงได้

อยากให้ลองย้อนดูสถิติจำนวนการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินของบ้านเราในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2566) ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ถือเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงเรื่องการพนันที่เชื่อถือได้มากที่สุด) ทำการสำรวจทุกๆ 2 ปี น่าจะช่วยให้เราเข้าใจการรู้คิดที่บิดเบือนของกิจการวิสาหกิจของรัฐหน่วยนี้ได้

  • ปี 2556 (ก่อนการยึดอำนาจ คสช.) หวยใต้ดินเป็นการพนันอันดับ 1 ของคนไทย มีสัดส่วนราว 40.63% ของผู้เล่นพนัน (ใช้เงินราว 9,000 บาทต่อคน/ปี) รองลงมาเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีเปอร์เซ็นต์ต่างกันเล็กน้อย คือ ราว 38.4% (ใช้เงินราว 5,400 บาทต่อคน/ปี) ในการสำรวจครั้งนี้มีเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจว่า ถ้ามีการออกสลาก 2 ตัว 3 ตัว คอหวยใต้ดินราว 75% บอกว่าจะอุดหนุนหวยรัฐบาลตัวใหม่นี้ แต่ 59% ตั้งใจจะซื้อหวยใต้ดินต่อไป และประมาณ 57% บอกว่าจะเล่นทั้งหวยใต้ดินและสลาก 2 ตัว 3 ตัว
  • ปี 2558 (หลังจาก คสช. ยึดอำนาจ) สลากกินแบ่งรัฐบาลพลิกขึ้นมาครองแชมป์ คราวนี้มีการประมาณการเป็นจำนวนประชากรที่ราวๆ 19 ล้านคน หวยใต้ดินตกลงมาเป็นอันดับสอง มีลูกค้าราว 16.5 ล้านคน ข้อสังเกตคือ มาตรการควบคุมราคาของ คสช. ที่ออกมาอย่างขึงขังจริงจัง ช่วยให้คอหวยโดยส่วนใหญ่ (97%) ตอบว่าสามารถซื้อสลากได้ในราคา 80 บาท เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่ต้องซื้อในราคาเฉลี่ยใบละ 107 บาท และราคาที่ลดลงนี้มีผลทำให้ผู้ซื้อจำนวนหนึ่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ละงวดในจำนวนที่มากขึ้นด้วย
  • ปี 2560 2 ปีหลังจาก คสช. เข้ามาแก้ปัญหาสลากฯ โดยใช้นโยบายการพิมพ์เพิ่มจาก 37 ล้านใบมาเป็น 50 ล้านใบและ 80 ล้านใบในช่วงปลายปี 2560 พบว่ามีคนไทยเป็นนักซื้อสลากเพิ่มขึ้นอีก 2.356 ล้านคน รวมจากเดิมกลายเป็น 21.4 ล้านคน ใครที่คาดว่าการที่รัฐบาลเพิ่มจำนวนพิมพ์สลากอย่างเมามันมากขนาดนี้น่าจะทำให้การเล่นหวยใต้ดินของคนไทยลดลงคงผิดคาด เพราะผลสำรวจกลับพบว่า ในรอบสองปีนี้จำนวนผู้ซื้อหวยใต้ดินกลับโตขึ้นอีกราว 5% ขยับจำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้นจากการสำรวจรอบที่แล้วราว 1 ล้านคนมาอยู่ที่ 17.324 ล้านคน
  • ปี 2562 4 ปีผ่านไป สถานการณ์การแข่งกันโตระหว่างสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินยังคงอยู่ในทิศทางเดิม เพราะผลสำรวจพบว่า ในปี 2562 จำนวนผู้ซื้อสลากกินแบ่งยังคงขยับสูงขึ้นอีกราว 1.315 ล้านคน (6% ) กลายเป็น 22.75 ล้านคน ขณะที่หวยใต้ดินก็ยังคงไม่ลดลงเช่นกัน โดยจำนวนผู้ซื้อหวยใต้ดินยังคงเพิ่มขึ้นอีกราว 2.4% (ราว 4.1 แสนคน) กลายเป็น 17.737 ล้านคน
  • ปี 2564 ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งการเติบโตของสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินได้ แม้โควิด-19 จะก่อให้เกิดการหยุดออกรางวัลไป 3 งวด แต่ภาพรวมของผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลรวมทั้งหวยใต้ดินไม่ได้ซบเซาลงเลย การณ์กลับกลายเป็นว่าสลากกินแบ่งฯ ยังคงขยายตัว มีผู้ซื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นจาก 2 ปีที่แล้วอีกราว 8.3% (1.877 ล้านคน) รวมเป็น 24.626 ล้านคน ขณะที่หวยใต้ดินก็เติบโตในลักษณะที่คล้ายกัน คือจำนวนนักเล่นขยายตัวราว 8.7% (หรือ 1.536 ล้านคน) รวมเป็น 19.273 ล้านคน

คำถามคือ ตัวเลขเหล่านี้บอกความหมายอะไร ใช่หรือไม่ว่าการเพิ่มจำนวนสลากกินแบ่งรัฐบาลจะสามารถพิฆาตฟาดฟันหวยใต้ดินให้ล้มหายตายจากไปได้ ใช่หรือไม่ว่าการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสลากเลขท้าย 2-3 ตัวจะสามารถเบี่ยงเบนให้คนซื้อหวยใต้ดินลดลง ใช่หรือไม่ว่าตรรกะทางเศรษฐศาสตร์แบบพื้นๆ จะเอามาใช้อธิบายปรากฎการณ์การซื้อหวยของคนไทยได้ ใช่หรือไม่ว่านี่คือการรู้คิดที่บิดเบือนขององค์กรผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งตรรกะแบบนี้ก็ยังคงถูกนำมาอ้างถึงในบอร์ดของสำนักงานสลากฯ ชุดปัจจุบัน แถมยังถูกตีขลุมไปด้วยว่า วิธีการนี้นอกจากจะกำราบหวยใต้ดินได้แล้ว ยังน่าจะสามารถกำราบหวยเพื่อนบ้านและการพนันออนไลน์ได้ด้วย

อุทาหรณ์ของเรื่องนี้คล้ายๆ เรื่อง “นักแม่นปืนแห่งเท็กซัส” ที่เล่าว่า นายคนหนึ่งโชว์พราวโดยการยิงปืนไปที่ผนังของโรงนา จากนั้นก็เอาสีมาทารอบๆ รูกระสุนที่ยิงไป เพื่อสร้างรูปลักษณ์ว่าตนได้ยิงถูกเป้าหมาย เรื่องอาจฟังดูคล้าย “นักแม่นปืนแห่งลุ่มเจ้าพระยา” ที่ยิงผิดยิงพลาดเป้ามาหลายครั้งหลายครา แต่ก็ยังดึงดันจะยิงต่อไปแบบเดิม โดยใช้สีไปทารอบๆ รูกระสุนเหล่านั้น เพื่อบอกกับตัวเองว่า ที่ผ่านมาเรายิงโดนเป้ามาตลอด

  • บอร์ดสลากฯสั่งเพิ่มสลากดิจิทัลอีก 1 ล้านใบ – พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สู้หวยประเทศเพื่อนบ้าน
  • สลากดิจิทัล บนแอปฯ เป๋าตัง ครบ 1 ปี หนุนคนไทยเข้าถึงสลากฯ 80 บาท เพิ่มช่องทางขายให้ผู้ค้ารายย่อย
  • ปฏิบัติการ “เสธฯ หนุน” ตัดโควตาตัวแทนจำหน่าย โยกสลาก 6 ล้านใบ ขายออนไลน์
  • ‘แรมโบ้-บิ๊กโจ๊ก’ บุกค้น “มังกรฟ้า” โพสต์ขายหวยเกินราคา 2 ล้านใบ-เงินสะพัดกว่าร้อยล้าน
  • “แรมโบ้” บุกค้น ‘กองสลากพลัส’ ขายลอตเตอรี่ออนไลน์เกินราคา
  • สลากกินแบ่งฯรื้อระบบ คัดคนขายตัวจริง 2 แสนราย 1 ม.ค. ปีหน้า
  • 7 ปี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หวยเกินราคา ยังแก้ไม่ได้
  • นายกฯตั้ง “อนุชา นาคาศัย” แก้สลากฯเกินราคา
  • บอร์ดสลากฯไฟเขียวขาย ‘หวย’ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
  • 3 มาตรการ แก้หวยเกินราคา “ของจริง” หรือ “เฟค”?
  • สลากกินแบ่งฯรื้อระบบ คัดคนขายตัวจริง 2 แสนราย 1 ม.ค.ปีหน้า
  • ว่าด้วยทฤษฎีการพนัน (ตอนที่ 1):เข้าคาสิโน-เล่นม้า-แทงหวย-ซื้อลอตเตอรี่-ซื้อประกัน เล่นการพนันอย่างไหนโง่กว่ากัน
  • ว่าด้วยการพนัน…(ตอนที่ 2) เล่นหวย – ซื้อลอตเตอรี่ – ซื้อประกัน การพนันอย่างไหนผู้เล่นเสียเปรียบมากกว่ากัน