ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 3 มาตรการ แก้หวยเกินราคา “ของจริง” หรือ “เฟค”?

3 มาตรการ แก้หวยเกินราคา “ของจริง” หรือ “เฟค”?

27 ธันวาคม 2021


ชำแหละต้นต่อปัญหาขายหวยเกินราคา บอร์ดสลากฯ ออก 3 มาตรการ แก้ขายหวยเกินราคา เพิ่มจุดตรึงราคาสลาก 80 บาท 1,000 จุด – รื้อระบบซื้อ-จอง เปิดลงทะเบียนคัดเลือกคนขายจริง 2 แสนราย – เปิด “Lottery Market Place” เพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านออนไลน์ “ของจริง” หรือ “เฟค”?

หลังจากคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลาก ฯ) ประกาศ 3 มาตรการ แก้ปัญหาสลากเกินราคา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาก โดยเพิ่มจุดจำหน่ายสลากราคา 80 บาท ทั่วประเทศ 1,000 จุด หรือที่เรียกว่า “โครงการสลาก 80” รวมทั้งรื้อช่องทางการจำหน่ายสลากจอง-ซื้อผ่านตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย (KTB) โดยจะเปิดให้ผู้ขายสลากตัวจริง 200,000 ราย มาลงทะเบียนกันใหม่ เพื่อคัดเลือกคนขายสลากตัวจริง คาดว่าจะเริ่มขายกันได้ตั้งแต่งวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสลากแบบใหม่ โดยให้ผู้ค้ารายย่อย นำสลากมาโพสต์ขายบน “แพลตฟอร์มออนไลน์” หรือ “Lotto Market Place” ที่สำนักงานสลากฯจัดเตรียมไว้ให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

  • สลากกินแบ่งฯรื้อระบบ คัดคนขายตัวจริง 2 แสนราย 1 ม.ค.ปีหน้า
  • แค่บอร์ดสลาก ฯ ประกาศ 3 มาตรการ ยังม่ทันได้มีผลบังคับใช้ ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นก็มีผู้ค้าสลากกว่า 300 คน ไปประท้วงกันที่สำนักงานสลาฯสนามบินน้ำ และศาลกากลางจังหวัดอีกหลายแห่ง คัดค้านมาตรการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา โดยเฉพาะการยกเลิกพันธสัญญาที่สำนักงานสลากฯเคยทำกันไว้กับผู้ค้าสลากรายย่อยเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เพื่อที่จะเข้าไป จอง – ซื้อสลาก ผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย

    แต่ทว่า การเปิดคัดเลือกผู้ค้าสลากกันใหม่ในครั้งนี้ สำนักงานสลาก ฯ ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่มาลงทะเบียนขายหวยกับสำนักงานสลากฯ ต้องไม่ใช่คนที่มีอาชีพประจำ เพราะในแต่ละงวดหลังจากที่ได้รับสลากมาแล้วมีเวลาขายประมาณ 9-10 วัน ก่อนออกรางวัล หากมีอาชีพประจำอยู่แล้ว อาจไม่มีเวลาที่จะไปเดินขายสลาก และเมื่อได้รับสลากมาแล้ว ก็อาจจะเอาไปขายต่อยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว นำสลากมาขายต่อให้กับคนขายสลากตัวจริงที่ไปจอง-ซื้อสลากกับธนาคารกรุงไทยไม่ได้ในราคาแพง ทำให้คนขายตัวจริงต้องขายสลากเกินราคา หรือ เท่ากับไปแย่งโควตาของคนที่เขาขายสลากจริง ดังนั้น การเปิดลงทะเบียนใหม่ครั้งนี้ สำนักงานสลาก ฯ จึงกำหนดคุณสมบัติต้องห้าม ไม่ให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและพนักงานบริษัทเอกชน มาลงทะเบียน โดยจะส่งรายชื่อผู้สมัครเป็นตัวแทนให้กรมบัญชีกลาง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานประกันสังคม ตรวจสอบ หากตรวจพบก็คัดออก

    กลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อยไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสลากแพงของสำนักงานสลาก ซึ่งมุ่งเน้นมาที่กลุ่มตัวแทนจำหน่ายสลากรายย่อยในระบบจอง-ซื้อผ่านธนาคารกรุงไทยเท่านั้น จึงรวมตัวกันออกมาเรียกร้อง ขอให้สำนักงานสลาก ขยายเวลาการยกเลิกสิทธิการจอง-ซื้อสลากจากธนาคารกรุงไทยออกไปอีก 1 ปี พร้อมกับฝากคำถามไปถึงบอร์ดสลาก ฯ ทำไมไม่ยกเลิกสลากในระบบโควตาที่สำนักงานสลากจัดสรรให้แก่มูลนิธิ , สมาคม , องค์กรและคนพิการต่าง ๆ เพื่อนำสลากมาจัดสรรให้แก่ตัวแทนจำหน่ายสลากในระบบจองซื้อเพิ่ม เพราะปัจจุบันผู้ค้าสลากรายย่อยได้รับสลากแค่คนละ 5 เล่ม ไม่พอขาย ทำให้ผู้ค้าสลากรายย่อยต้องไปรับสลากราคาแพงจากยี่ปั๊วมาขายเพิ่ม

    นี่ก็คือ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น หลังจากที่สำนักงานสลาก ฯ ประกาศ 3 มาตรการ แก้ปัญหาขายสลากเกินราคา ถามว่าการแก้ไขปัญหาขายสลากเกินราคาครั้งนี้ สำนักงานสลากฯ มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหามากน้อยแค่ไหน? ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นที่เป็นปัญหาค้างคาใจของผู้ค้าสลากรายย่อยในระบบซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทย และคอหวยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จ่ายเงินซื้อสลากราคาแพง แต่ถ้าถูกรางวัลได้รับเงินรางวัลเท่าเดิม ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจถึงต้นต่อของปัญหาขายสลากเกินราคา ผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน ก็แก้ไม่ได้

    ประการแรก เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสำนักงานสลาก ฯ เอง กล่าวคือ สำนักงานสลากฯไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นของเอง ต้องพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายสลากเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 ช่องทาง คือ ช่วงทางแรก จัดสรรสลากผ่านระบบโควตา สำนักงานสลาก ฯจัดสรรโควตาสลากให้กับตัวแทนจำหน่ายประเภทมูลนิธิ , สมาคม , องค์กรการกุศล , คนพิการ และบุคคลรายย่อยจัดสรรให้ตามโควตา รายละ 5 เล่ม แต่ถ้าเป็นมูลนิธิ , สมาคม บางองค์กรได้รับจัดสรรเป็น 10,000 เล่ม เพื่อนำไปจัดสรรต่อให้สมาชิกขาย กลุ่มนี้ได้รับสลากตามสัดส่วน ทุกงวดไม่ต้องไปแย่งชิงสลากกับใครที่ตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย เป็นระบบดั้งเดิมที่มีมานาน ซึ่งทางสำนักงานสลาก ฯที่กล้าแตะ แต่ใสมัยพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นประธานบอร์ดสลาก ฯ เคยเข้าไปรื้อระบบโควตามาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเข้าไปตัดโควตาสลาก หรือ ยกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายกับบริษัท ห้างร้านของภาคเอกชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการ และทยอยโอนโควตาสลากของกลุ่มนี้มาทำโครงการสลากซื้อ-จองล่วงหน้า

  • เปิดไอ้โม่ง ต้นเหตุ “สลากเกินราคา” ตะลึง!โควตา 74 ล้านฉบับ “มูลนิธิสำนักงานสลากฯ” กวาด 9.2 ล้านฉบับ/งวด – รายย่อย 37,000 รายได้เฉลี่ย 12 เล่ม/งวด
  • “เสธฯ แดง”เดินหน้าเฟส 2 เปิดเสรีสลาก ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วทยอยบอกเลิกสัญญา คาดสิ้นปี 2558 ไม่ต่อโควตาขายหวย
  • เสธฯ แดงโชว์ผลงาน 1 ปี แก้ขายหวยเกินราคา เตรียมชง ครม. แก้ พ.ร.บ.สลาก เปิดช่องออกหวยออนไลน์
  • ปัจจุบันตัวแทนจำหน่ายสลากในระบบโควตาที่เข้ามาทำสัญญากับสำนักงานสลากฯโดยตรงทั้งสิ้น 27,536 ราย แต่ถ้านับรวมตัวแทนจำหน่ายกลุ่มของมูลนิธิ , สมาคมและองค์กรการกุศล ซึ่งนำสลากไปจัดสรรต่อให้กับสมาชิก 25,858 ราย กลุ่มนี้จะมีตัวแทนจำหน่ายสลากรวมทั้งสิ้น 53,394 ราย ได้รับการจัดสรรสลากงวดละ 290,460 เล่ม หรือ ประมาณ 29 ล้านใบ คิดเป็นสัดส่วน 29% ของจำนวนสลากทั้งหมดที่พิมพ์ออกขาย 1 ล้านเล่ม หรือ 100 ล้านใบ

    ช่องทางที่ 2 จัดสรรสลากผ่านระบบซื้อ-จองล่วงหน้า กลุ่มนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายรายย่อยมีจำนวนทั้งสิ้น 129,244 ราย ได้รับการจัดสรรสลากงวดละ 709,540 เล่ม หรือ ประมาณ 71 ล้านใบ คิดเป็นสัดส่วน 71% ของจำนวนสลากทั้งหมดที่พิมพ์ออกขาย 1 ล้านเล่ม กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มใหญ่มีจำนวนผู้ค้าสลากมากที่สุด แต่มีอำนาจการต่อรองน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการจัดสรรสลากผ่านระบบโควตา ตั้งแต่จัดตั้งสำนักงานสลากฯมามีเข้าไปรื้อโควตาของตัวแทนจำหน่ายสลากกลุ่มนี้ครั้งเดียวคือเมื่อปี 2558 สมัยพล.อ.อภิรัชต์ เป็นประธานบอร์ดสลากฯ จากนั้นก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปแตะอีกเลย ทุกๆปีก็จะมีการต่อสัญญาให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากกลุ่มเดิม

    จากปัญหาที่สำนักงานสลากฯไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นของตนเอง เมื่อสำนักงานสลากฯขายสลากให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากไปแล้ว ผู้ค้าสลากจะนำไปขายต่อ ขายถูก หรือ ขายแพง สำนักงานสลากฯในทางปฏิบัติไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับ หรือ ห้ามไม่ให้ผู้ค้าสลากขายเกินราคา ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องไปกวดขันจับกุม เรียกมาจ่ายค่าปรับ และถ้าตำรวจส่งรายชื่อตัวแทนจำหน่ายที่ถูกจับ-ปรับมาให้สำนักสลาก ฯ ก็จะถูกสำนักงานสลากฯ ตัดสิทธิไม่ให้สลากไปขายอีกต่อไป แต่ปัญหาก็คือ ผู้ค้าสลากส่วนใหญ่ขายสลากเกินราคากันทั่วประเทศ จนตำรวจจับกันไม่หวัดไม่ไหว เหตุเพราะรับสลากมาแพง ก็ต้องขายแพง ประเด็นนี้กลายเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของสำนักงานสลากฯ

    ประการที่ 2 สำนักงานสลาก ฯ ใช้วิธีขายขาด เลขไม่สวย ขายไม่หมด เหลือ ไม่รับซื้อคืน เป็นภาระต้นทุนของผู้ค้าสลาก ตรงนี้จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้ผู้ค้าสลาก ฯ ต้องขายเกินราคา เพื่อให้ครอบคลุมภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด

    ถามว่าทำไมสำนักงานสลากฯต้องใช้วิธีขายขาด ก็เพราะสำนักงานสลากฯต้องการรายได้ที่แน่นอน เนื่องจากกฎหมายสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดให้สำนักงานสลาก ฯต้องจัดสรรเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากในแต่ละงวด โดยกันไว้จ่ายเป็นเงินรางวัล 60% ของรายได้จากการขายสลากทั้งหมด , ไม่น้อยกว่า 23% นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน , กันไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารไม่เกิน 17% ของรายได้จากการขายสลากฯ ซึ่งในจำนวนนี้สำนักงานสลาก ฯ นำมาจัดสรรเป็นส่วนลดให้ตัวแทนจำหน่ายสลาก 12% จัดสรรให้มูลนิธิ , สมาคม , องค์กร และจังหวัด เป็นค่าใช้จ่ายในการนำสลากไปจัดสรรต่ออีก 2% ส่วนที่เหลืออีก 3% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานสลาก ฯ ทำให้สำนักงานสลากฯต้องใช้วิธีขายขาด เหลือไม่รับซื้อคืน และถ้าตัวแทนจำหน่ายสลากในระบบโควตา ไม่มารับสลากไปขาย ก็จะถูกริบเงินประกัน ส่วนผู้ค้าสลากรายย่อยที่ไปซื้อ-จองสลากล่วงหน้ากันธนาคารกรุงไทย ก็ต้องทำรายการจ่ายเงินก่อน สำนักงานสลากฯถึงจะส่งสลากไปให้ทางไปรษณีย์ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อรักษาสัดส่วนของการจัดสรรรายได้จากการขายสลากให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

    ประการที่ 3 จัดสรรสลากให้ผู้ค้าสลากน้อยเกินไป โดยเฉพาะผู้ค้าสลากรายย่อยได้คนละ 5 เล่ม หรือ 500 ใบต่องวด สำหรับคนที่ประกอบอาชีพขายหวยเป็นหลัก ไม่ได้มีรายได้เสริมจากช่องทางอื่น ถ้าขายใบละ 80 บาท หมดเกลี้ยง ได้กำไรงวดละ 4,800 บาท เดือนละ 9,600 บาท ถือว่าน้อยมาก ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร และบางงวดก็จอง-ซื้อสลากกับธนาคารกรุงไทยไม่ได้ จึงจำเป็นต้องไปซื้อสลากราคาแพงจากยี่ปั๊ว-ซาปั๋วมาขาย เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว

    ประการที่ 4 ผู้ค้าสลากมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก ไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไร ก็มาขายสลาก ทำให้ปริมาณสลากไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ขายที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีโควตาสลากเป็นของตัวเอง ก็ต้องไปรับสลากราคาแพงจากยี่ปั๊วมาขาย ทำให้ต้องขายสลากเกินราคา

    ประการที่ 5 ตัวแทนจำหน่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญา มีตัวแทนจำหน่ายสลากทั้งระบบโควตาเดิม และระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ฯ จำนวนมาก เมื่อรับสลากมาแล้ว ก็ไม่ได้นำไปขายเอง แต่เอาไปขายต่อให้กับยี่ปั๊ว ทำให้ราคาสลากออกจากสำนักงานสลากฯใบละ 70.40 บาท บวกกำไรกันมาเป็นทอด ๆ กว่าจะถึงมือผู้บริโภค กลายเป็นใบละ 100-150 บาท

    ประการที่ 6 พฤติกรรมของผู้บริโภค นิยมซื้อสลากรวมชุด เลขเด่น เลขดัง เลขสวย ซึ่งมีปริมาณน้อย หายาก เพื่อให้ได้เลขที่ต้องการ ราคาแพงแค่ไหน ผู้บริโภคก็ยอมจ่าย

    ประการที่ 8 การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เพื่อเพิ่มเรตติง เช่น การนำเสนอข่าวผู้ถูกรางวัลไปสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ไอ้ไข่ พญานาค แล้วถูกรางวัลที่ 1 รับรางวัล 12 ล้านบาท งูจงอาง หรือ ตัวเงินตัวทอง เลี้อยเข้ารถหรือเข้าบ้าน ซูมภาพไปที่ทะเบียนบ้าน หรือ เลขทะเบียนรถยนต์บุคคลสำคัญ จนกลายเป็นการสร้างกระแสเลขเด่น เลขดัง ทำให้เลขกลุ่มนี้มีราคาแพงขึ้น

    และ ประการสุดท้าย สำนักงานสลากฯ ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่น นอกจากลอตเตอรี่เพียงอย่างเดียว ครั้นจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างเช่น สลากออนไลน์ 12 นักษัตร หรือ ลอตโต้ ก็จะถูกโจมตีว่ามอมเมา ครั้นจะสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายแบบใหม่ ทั้งสลากออนไลน์ หรือ สลากดิจิทัลซื้อผ่านแอพริเคชั่น เหมือนกับสลากออมสิน,ธอส.และธ.ก.ส. คู่ขนานไปกับการขายสลากใบ ก็ทำไม่ได้อีก เพราะจะไปกระทบกับคนขายสลากใบ

  • “หวย” ใครรวย?
  • ว่าด้วยทฤษฎีการพนัน (ตอนที่ 1):เข้าคาสิโน-เล่นม้า-แทงหวย-ซื้อลอตเตอรี่-ซื้อประกัน เล่นการพนันอย่างไหนโง่กว่ากัน
  • ว่าด้วยการพนัน…(ตอนที่ 2) เล่นหวย – ซื้อลอตเตอรี่ – ซื้อประกัน การพนันอย่างไหนผู้เล่นเสียเปรียบมากกว่ากัน
  • สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาของสำนักงานสลาก ฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอยู่ 2 ด้าน คือ ฝั่งประชาชนผู้ซื้อ ก็อยากจะได้เลขสวย เลขเด่น เลขดัง รวมชุดขายราคาใบละ 80 บาท ส่วนฝั่งคนขายสลาก ได้รับจัดสรรสลากมาน้อย เลขสวย เลขเด่น เลขดัง ของดีมีไม่มาก และกว่าจะไปหาสลากมารวมชุดขายได้ ก็ต้องไปตั้งโต๊ะรับซื้อมาในราคาแพง ถ้าให้ขายใบละ 80 บาท ก็ขาดทุน แนวทางการแก้ปัญหาช่วงที่ผ่านมาจึงต้องหาจุดสมดุลระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แก้ฝั่งนี้ ก็ไปกระทบอีกฝั่ง ทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาสลากเกินราคาได้ ยกเว้นในช่วงที่สำนักงานสลากฯออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มาขายแข่งกับสลากใบ ใกล้วันออกรางวัล ราคาสลากตามแผงค้าปรับลดราคาลงมาเหลือ 3 ใบ 100 บาท และในช่วงสมัยรัฐบาล คสช.ที่มีการออกกฎหมายพิเศษ ปรับลดสัดส่วนรายได้ที่ต้องนำส่งคลังลง เอามาเพิ่มเป็นส่วนลดให้ตัวแทนจำหน่ายสลาก พร้อมกับทยอยเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกมาจำหน่าย สามารถแก้ปัญหาสลากเกินราคาได้ระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากผู้ค้าสลากปรับตัวได้ นำสลากที่พิมพ์เพิ่มมารวมชุดขายเกินราคาเหมือนเดิม

    ถามว่าทั้ง 3 มาตรการ ที่สำนักงานสลากฯประกาศ เป็น “ของจริง” หรือ “เฟค” ตามที่ประชาชน นักวิชาการและตัวแทนจำหน่ายสลากรายย่อย ตั้งเป็นข้อสังเกต และฝากคำถามไปถึงบอร์ดสลาก ฯ มาตรการดังกล่าวนี้จะช่วยแก้ปัญหาสลากเกินราคาได้จริงหรือไม่?

    เริ่มจากการขยายจุดจำหน่ายสลากใบละ 80 บาท ทั่วประเทศ 1,000 จุด จุดละ 25 เล่ม หรือ จุดละ 2,500 ใบ รวมทั้งประเทศจะมีปริมาณสลากใบละ 80 บาท เข้าไปแทรกแซงราคาในตลาดงวดละ 2,500,000 ใบ คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของปริมาณสลากที่พิมพ์ออกขายทั้งหมด 100 ล้านใบ แม้สำนักงานสลากฯจะกำหนดให้ประชาชนซื้อสลากได้ไม่เกินคนละ 20 ใบ จ่ายเงินผ่าน แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” หรือ “เป๋าตัง” ป้องกันไม่ให้มีการนำสลากจากจุดตรึงราคาไปขายต่อ แต่ในทางปฏิบัติอาจมีปัญหา หากผู้ค้าสลากรายย่อยที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับสำนักงานสลาก ฯไปตระเวนซื้อสลากตามจุดตรึงราคา คัดเอาเฉพาะเลขสวย ๆไปขายต่อ เหลือเฉพาะเลขไม่สวย ทางสำนักงานสลากฯวางระบบการตรวจสอบและลงโทษผู้ซื้อที่อยู่นอกระบบนำสลากไปขายต่ออย่างไร ตัดโควตาก็ไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับสำนักงานสลากฯ นอกจากจะส่งรายชื่อให้ตำรวจจับปรับเหมือนกับกรณีขายสลากเกินราคา

    ส่วนมาตรการรื้อระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลาก ฯ เปิดให้ผู้ค้าสลากรายย่อยมาลงทะเบียนกันใหม่ ตัดสิทธิผู้ที่มีอาชีพประจำ คัดเลือกเอาแต่เฉพาะผู้ค้าสลากจริงจำนวน 200,000 ราย อันนี้ถือเป็นมาตรการที่ดี แต่ในระยะยาวอาจมีปัญหา หากสำนักงานสลาก ฯ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น สลากออนไลน์ หรือ Lotto คนกลุ่มนี้จะตกงานทันที กลายเป็นระเบิดเวลา เมื่อถึงวันที่สำนักสลาก ฯออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คนกลุ่มนี้ก็จะออกมาประท้วงคัดค้านไม่ให้สำนักงานสลากฯออกผลิตภัณฑ์ใหม่ นอกจากนี้ยังมีคำถามจากผู้ค้าสลากรายย่อยที่ไปประท้วงกันที่สำนักงานสลากฯว่าทำไมสำนักงานสลากฯไม่รื้อระบบโควตา และนำสลากมาจัดสรรผ่านระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังไม่ได้รับคำตอบจากสำนักงานสลากฯ

    มาตรการสุดท้าย เปิดช่องทางการจัดจำหน่ายสลากรูปแบบใหม่ ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ “Lottery Market Place” ที่สำนักงานสลากฯจัดทำขึ้อ โดยให้ตัวแทนจำหน่ายทั้งระบบโควตาและระบบซื้อ-จองล่วงหน้าฯ นำสลากที่ได้รับจัดสรรมามอบให้สำนักงานสลากฯนำไปโพสต์ขายผ่าน Lottery Market place ใบละ 80 บาท ตรงนี้ก็ถือเป็นแนวคิดที่ดีมาก แต่ในทางปฏิบัติอาจมีปัญหา ตราบใดที่ยังมีพ่อค้าคนกลางตั้งโต๊ะรับซื้อสลากแบบยกเล่ม ใบละ 90 บาท หากนำที่ได้รับการจัดสรรมา 500 ใบ ไปโพสต์ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ใบละ 80 บาท ขายหมดเกลี้ยงได้กำไรจากส่วนลดงวดละ 4,800 บาท แต่ถ้านำไปสลากไปขายให้ยี่ปั๊วเหมายกเล่มได้กำไรงวดละ 9,800 บาท รับเงินทันที ไม่ต้องรอลุ้นว่าสลากที่นำไปโพสต์ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์จะขายหมดหรือไม่ ไม่มีความเสี่ยงสลากเหลือ

    หลายคนพอ่านข่าวสำนักงานสลาก ฯประกาศ 3 มาตรการ แก้ปัญหาสลากเกินราคาแล้ว อาจเข้าใจผิด คิดว่ามาตรการที่ประกาศจะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆนี้ ซึ่งในทางปฏิบัติต้องใช้เวลาในการเตรียมการเปิดลงทะเบียนและวางระบบ กว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ประมาณกลางปี 2565 ในระหว่างนี้คาดว่าบรรดาคอหวยทั้งหลาย คงต้องซื้อสลากราคาแพงกันต่อไป และเมื่อถึงเวลานั้น ก็ยังไม่แน่ใจว่ามาตราดังกล่าวนี้จะช่วยแก้ปัญหาสลากเกินราคาได้จริงหรือไม่? เป็นประเด็นที่สังคมสงสัยฝากไว้เป็นข้อสังเกต…..