ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปฏิบัติการ “เสธฯ หนุน” ตัดโควตาตัวแทนจำหน่าย โยกสลาก 6 ล้านใบ ขายออนไลน์

ปฏิบัติการ “เสธฯ หนุน” ตัดโควตาตัวแทนจำหน่าย โยกสลาก 6 ล้านใบ ขายออนไลน์

4 เมษายน 2022


พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

“เสธฯ หนุน” เปิดปฏิบัติการแก้ปัญหาสลากฯเกินราคา เตรียมเสนอบอร์ดฯ ยึดโควตาตัวแทนจำหน่ายกว่า 8,000 ราย สแกนขาย “หวยออนไลน์” เกินราคา พร้อมโยกโควตาสลากกว่า 6.7 ล้านใบ ขายผ่าน “Lottery Market Place” ปิดช่องรับสลากไปขายต่อ ‘ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว’ บวกกำไรกันเป็นทอดๆ

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ต่อกรณีที่นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือที่เรียกกันว่า “แรมโบ้ อีสาน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจ ตรวจสอบผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลเสนอขาย หรือ ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าตรวจค้นสถานประกอบการของผู้ค้าสลากออนไลน์ 3 แห่ง อันได้แก่ บริษัท มังกรฟ้า ลอตเตอรี่ จํากัด, บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด และบริษัท เสือแดงลอตเตอรี่ ออนไลน์ จำกัด ได้นำสลากจากตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการจัดสรรโควตาจากสำนักงานสลากฯ มาสแกนและโพสต์ขายผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ในราคาเริ่มต้นใบละ 100-120 บาท โดยมีการปิดบังบาร์โค้ด เพื่อไม่ให้สำนักสลากฯ ตรวจสอบได้ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม และเป็นโควตาสลากของตัวแทนจำหน่ายสลากรายใด

สำหรับการเข้าตรวจค้นสถานประกอบการของผู้ค้าสลากออนไลน์ทั้ง 3 แห่ง มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญๆ คือ 1. ตรวจสอบสลากที่เก็บรักษาไว้ในสถานประกอบการทั้ง 3 แห่ง เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลของจริงหรือไม่ 2. สลากที่นำมาสแกนและโพสต์ขายอยู่ในระบบโควตาของผู้ค้ารายย่อยโดยถูกต้องหรือไม่ 3. สลากที่นำมาโพสต์ขายเป็นของตัวแทนจำหน่ายสลากที่ได้รับจัดสรรโควตารายใด 4. ตรวจสอบสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ได้สแกนเก็บไว้ในฐานข้อมูลของผู้ค้าสลากออนไลน์นั้นมีการเสนอขายสลากเกินราคาหรือไม่ 5. สลากที่นำมาสแกนขายนั้นมีสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวจริงรองรับไว้ด้วยหรือไม่ และ 6. ตรวจสอบว่ามีการนำสลากฉบับเดียวกันมาวนขายซ้ำหรือไม่

  • ‘แรมโบ้-บิ๊กโจ๊ก’ บุกค้น “มังกรฟ้า” โพสต์ขายหวยเกินราคา 2 ล้านใบ-เงินสะพัดกว่าร้อยล้าน
  • “แรมโบ้” บุกค้น ‘กองสลากพลัส’ ขายลอตเตอรี่ออนไลน์เกินราคา
  • จากการเข้าตรวจค้นตามที่กล่าวข้างต้นนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการจึงยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา หรือเปรียบเทียบปรับ (ไม่เกิน 10,000 บาท) ตามกฎหมายในกรณีโพสต์ขายสลากเกินราคาแต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิสูจน์การกระทำความผิด หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นเสร็จเรียบร้อย ผู้ค้าสลากออนไลน์ก็ยังโพสต์ขายสลากกันตามปกติ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้สาธารณชนเกิดข้อสงสัยว่าปฏิบัติการบุกตรวจค้นสถานประกอบการของผู้ค้าสลากออนไลน์ทั้ง 3 แห่งนี้ มีเป้าประสงค์ที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ และเมื่อตำรวจส่งข้อมูลที่ได้จากการตรวจค้นไปให้สำนักงานสลากฯ แล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

    สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลถึงประเด็นดังกล่าว ได้คำตอบว่า การตรวจค้นสถานประกอบการของผู้ค้าสลากออนไลน์ทั้ง 3 แห่งนั้น เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขาย หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนด ตามคำสั่งของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นสถานประกอบการของผู้ค้าสลากออนไลน์แล้ว ก็จะส่งข้อมูลมาให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทำตรวจสอบบาร์โค้ดว่าเป็นสลากของผู้ค้าสลากรายใด ตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการได้ส่งข้อมูลสลากของบริษัท มังกรฟ้า ลอตเตอรี่ จำกัด มาให้สำนักงานสลากฯ ตรวจสอบแล้ว พบตัวแทนจำหน่ายสลากในระบบโควตากว่า 8,000 รายนำสลากไปโพสต์ขายผ่านผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของมังกรฟ้ากว่า 2 ล้านใบ ส่วนข้อมูลของ “กองสลากพลัส” ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบพบสลากจำนวน 4.7 ล้านใบ ถูกเก็บรักษาไว้ที่สถานประกอบการของกองสลากพลัส และข้อมูลของ “เสือแดงลอตเตอรี่” เพิ่งเข้าไปตรวจเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 นั้น พบสลากจำนวน 10,000 ใบ ทั้ง 2 รายหลังนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้ส่งข้อมูลมาให้สำนักงานสลากฯ ตรวจสอบ

    พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

    ถามว่าเมื่อสำนักงานสลากฯ ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการตรวจค้นของเจ้าหน้าตำรวจแล้ว ทำอย่างไรต่อไป พันโท หนุน ตอบว่า สุดท้ายต้องตัดโควตาของตัวแทนจำหน่ายสลากที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะทำผิดเงื่อนไขของสัญญาที่ทำไว้กับสำนักสลากฯ โดยเฉพาะเรื่องการนำสลากไปขายเกินราคา ซึ่งทางสำนักงานสลากฯ สามารถตัดโควตาได้ทันที โดยตัวแทนจำหน่ายสลากฯ จะอ้างว่า ตนได้ขายสลากไปแล้ว แต่ผู้ค้าสลากรายอื่นนำสลากไปขายต่อเกินราคา ตรงนี้ก็ถือว่าผิดเงื่อนไขของสัญญาที่ห้ามนำสลากไปขายช่วง ต้องขายเองเท่านั้น

    ส่วนข้ออ้างที่ว่าผู้ค้าสลากออนไลน์ขายใบละ 80 บาท แต่เหตุที่ต้องบวกราคาเพิ่มขึ้นไปอีกใบละ 20-40 บาท คือ ค่าใช้จ่ายในการมาใช้บริการระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ค้าสลากออนไลน์ ประเด็นนี้ก็อ้างไม่ได้ เพราะตามกฎหมายของสำนักงานสลากฯ กำหนดให้ผู้ค้านั้นขายสลากได้ไม่เกินใบละ 80 บาท ซึ่งราคานี้ประกอบด้วยต้นทุนสลากที่มารับจากสำนักงานสลากฯ ใบละ 70.40 บาท ส่วนที่เหลืออีก 9.60 บาท เป็น “กำไร” หรือ “ส่วนลด” ที่สำนักงานสลากฯมอบให้แก่ผู้ค้าสลากแล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการให้บริการระบบคอมพิวเตอร์นั้น ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล 2562 ต้องรวมอยู่ในส่วนลด 9.60 บาทเท่านั้น ผู้ค้าสลากจะไปบวกราคาเพิ่มขึ้นไปอีกใบละ 20-40 บาท ไม่ได้

    “ตรงนี้ถือเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ทางสำนักงานสลากฯจำเป็นต้องตัดสิทธิโควตาตัวแทนจำหน่ายที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ทำก็ไม่ได้ ถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่” พันโท หนุน กล่าว

    ถามว่าสำนักงานสลากฯ ‘ตัด’ หรือ ‘ยึด’ โควตาของตัวแทนจำหน่ายที่ขายสลากเกินราคาทำผิดเงื่อนไขแล้ว โควตาสลากที่ยึดกลับคืนมาจะเอาไปทำอะไรต่อ พันโท หนุน กล่าวว่า ประเด็นนี้ตนได้มีการหารือกับนายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว และก็เห็นด้วยที่จะนำโควตาสลากที่ยึดคืนมาในเบื้องต้น คาดว่าจะประมาณ 6 ล้านใบ ซึ่งมาจากโควตาของตัวแทนจำหน่ายสลากที่นำไปโพสต์ขายบนเว็บไซต์มังกรฟ้า 2 ล้านใบ และโควตาสลากที่ไปขายบนเว็บไซต์ของกองสลากฯ พลัสและเสือแดงลอตเตอรี่ 4.7 ล้านใบ นำขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ “Lottery Market Place” ที่สำนักงานสลากฯ และธนาคารกรุงไทยจัดทำขึ้น โดยสำนักงานสลากฯ ไม่ขายเอง แต่จะเปิดรับสมัครหรือเชิญชวน ผู้สมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายในระบบซื้อ-จองสลากล่วงหน้าผ่านธนาคารกรุงไทย (ตัวแทนจำหน่ายระบบเสรี) ที่มาลงทะเบียนกับสำนักงานสลากฯไว้ก่อนหน้านี้จำนวนกว่า 900,000 ราย เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากขายผ่าน Lottery Market Place ราคาใบละ 80 บาท/ใบ เท่านั้น โดยสำนักงานสลากฯจะไม่คิดค่าบริการใดๆ จากตัวแทนจำหน่ายที่นำสลากมาโพสต์ขายบนแฟลตฟอร์มออนไลน์ของสำนักงานสลากฯ ซึ่งผู้ค้าสลากจะได้รับส่วนลดไปเต็มๆ ใบละ 9.60 บาท

    “สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาสลากเกินราคา โดยการนำโควตาที่ยึดคืนกลับมาไปขายบนแฟลตฟอร์มออนไลน์ของสำนักงานสลากฯ ตามที่กล่าวข้างต้นนี้ ผมขอนำเสนอให้ที่ประชุมกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลอนุมัติก่อน ถึงจะดำเนินการได้” พันโท หนุน กล่าวย้ำ

    พันโท หนุน กล่าวต่อว่า สำหรับโรดแมปหรือแนวทางการแก้ปัญหาขายสลากเกินราคา ตามที่สำนักงานสลากประกาศไว้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ แบ่งเป็นระยะสั้น, ระยะกลาง และระยะยาว สำหรับมาตรการระยะสั้นประกอบด้วย 1. ขยายจุดจำหน่ายโครงการ “สลาก 80” ไม่เกิน 1,000 จุด ทั่วประเทศ 75 จังหวัด อำเภอละ 1-2 จุด โดยตัวแทนจำหน่ายที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับจัดสรรสลากรายละ 25 เล่ม หรือ 2,500 ใบ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ ได้เปิดรับสมัครตัวแทนจำหน่ายสลากไปแล้ว และมีตัวแทนจำหน่ายรายเดิมสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 4,000 ราย โดยสำนักงานสลากฯได้ทำการสุ่มคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายสลาก 80 บาทในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปแล้ว และในวันที่ 9-11 เมษายน 2565 จะไปทำการสุ่มคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายสลากในภาคอิสาน และ 2. เปิดรับสมัคร และลงทะเบียนตัวแทนจำหน่ายในระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยใหม่จำนวน 200,000 ราย (ระบบเสรี) ล่าสุด ก็มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 900,000 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครว่าตรงตามเงื่อนไขที่สำนักงานสลากฯ กำหนดหรือไม่ หลังจากผ่านการตรวจคัดกรองคุณสมบัติแล้ว ก็จะใช้วิธีสุ่มเพื่อคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายสลากในระบบเสรีต่อไป

  • สลากกินแบ่งฯรื้อระบบ คัดคนขายตัวจริง 2 แสนราย 1 ม.ค. ปีหน้า
  • ส่วนมาตรการระยะปานกลาง คือ การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ “Lottery Market Place” ที่สำนักงานสลากฯ ร่วมกับธนาคารกรุงไทยจัดทำขึ้นตามที่กล่าวข้างต้น โดยจะเปิดให้ตัวแทนจำหน่ายที่เข้าร่วมโครงการนำสลากมามอบให้สำนักงานสลากฯ เพื่อนำเข้าแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยไม่คิดค่าบริการใดๆ กรณีผู้ซื้อสลากแพลตฟอร์มออนไลน์ถูกรางวัล ระบบจะมีการแจ้งเตือนให้ผู้ถูกรางวัลไปติดต่อขอรับรางวัลได้ที่สาขาของธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ยกเว้นรางวัลที่ 1 ต้องมารับที่สำนักงานฯ

    พันโท หนุน กล่าวว่า “มาตรการแก้ปัญหาสลากแพงทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางจะเริ่มทดลองใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 หากไม่มีปัญหาใดๆ ก็จะเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่งวดวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป”

    ผู้อำนวยการการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาในระยะยาว คือ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่จะต้องทำประชาวิจารณ์ตามที่กฎหมายกำหนด คาดว่าจะเริ่มลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนได้หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลอยากจะให้สำนักงานสลากฯ ดำเนินการจำหน่ายสลากผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน หลังจากนั้นสำนักงานสลากฯ ก็จะดำเนินการออกสลากผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ เนื่องจากเกรงว่าประชาชนอาจจะเกิดความสับสน

    “ถามว่าต้นตอของปัญหาสลากเกินราคามันอยู่ตรงไหน หากไปดูโครงสร้างตัวแทนจำหน่ายของสำนักงานสลากฯ จะพบว่ามีตัวแทนจำหน่ายสลากรายย่อยประมาณ 85% ของตัวแทนจำหน่ายสลากทั้งหมด 156,780 ราย ส่วนที่เหลืออีก 15% เป็นตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ ประเภทมูลนิธิ สมาคม และองค์กรคนพิการ ปัญหาที่สั่งสมกันมานาน คือ ตัวแทนจำหน่ายสลากที่อยู่ในระบบของเราจำนวนมาก เมื่อได้รับการจัดสรรสลากไปแล้วไม่ได้ไปขายเอง แต่นำไปขายต่อ มันจึงเกิดตัวแทนจำหน่ายสลากนอกระบบขึ้นมา ตัวแทนจำหน่ายสลากกลุ่มนี้ สำนักงานสลากฯ ไปตรวจสอบอะไรมากไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับเรา จึงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของตำรวจลงพื้นที่ไปตรวจสอบ และส่งข้อมูลมาให้เราบริหารจัดการกับตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในระบบของเรา ดังนั้น การแก้ไขปัญหาขายสลากเกินราคาของสำนักงานสลากฯ จึงพุ่งเป้าไปที่ตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในระบบของสำนักงานสลากฯ เป็นหลัก พันโท หนุน กล่าว

    พันโท หนุน กล่าวต่อไปว่า วิธีการแก้ปัญหาขายสลากเกินราคาที่ตรงจุดที่สุด คือ ทำอย่างไรไม่ให้สลากเปลี่ยนมือ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการจำหน่ายสลากผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของสำนักงานสลากฯ เชื่อว่าวิธีนี้แก้ปัญหาขายสลากเกินราคาได้ 100% เพราะสลากใบตัวจริงจะอยู่กับสำนักงานสลากฯ เปลี่ยนมือไม่ได้แน่นอน เมื่อผู้ซื้อเลือกเลขที่ต้องการ และชำระเงินค่าสลากผ่านแพลตฟอร์มของสำนักงานสลากฯ เรียบร้อย ข้อมูลสลากที่สั่งซื้อจะปรากฏอยู่บนมือถือของผู้ซื้อ เอาไปขายต่อไม่ได้ หรือเปลี่ยนมือก็ไม่ได้

    ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สำนักงานสลากฯ ยังพยายามที่จะทำให้ตัวแทนจำหน่ายสลากที่อยู่ในระบบของเรา ขายสลากไม่เกินใบละ 80 บาท เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 จึงออกประกาศกำหนดให้ตัวแทนจำหน่ายสลากทั้งระบบโควตาและระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ต้องสแกน QR Code จากประชาชนผู้ซื้อสลาก โดยให้ส่งข้อมูลยืนยันว่าเป็นผู้ค้าสลากตัวจริง ไม่ได้นำไปขายต่อ ผ่านแอปพลิเคชัน Line : @glolottery รวมทั้งชำระเงินค่าสลากผ่านระบบแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” ในราคา 80 บาท ข้อมูลการชำระเงินทั้งหมดจะถูกบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลของธนาคารกรุงไทย

    ปรากฏว่ามีตัวแทนจำหน่ายสลากกว่า 200 คน ชุมนุมประท้วง ปิดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยอ้างว่ายังไม่มีความพร้อมในการจัดเตรียมอุปกรณ์ และการเข้าถึงเทคโนโลยี ทำให้สำนักงานสลากฯ ต้องยกเลิกประกาศฉบับเดิม และออกประกาศฉบับใหม่ เปลี่ยนจากมาตรการบังคับมาเป็นขอความร่วมมือตัวแทนจำหน่ายที่มีความพร้อม ให้ทดลองใช้ระบบสแกนคิวอาร์โค้ด และจำหน่ายสลากผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” ทำได้แค่ไหน ก็แค่นั้น เอาเท่าที่ทำได้ สำหรับตัวแทนจำหน่ายรายไหนที่ทำได้ สำนักงานสลากฯ ก็จะมีแต้มต่อให้ เช่น อาจจะยกระดับตัวแทนจำหน่ายในระบบซื้อ-จองซื้อล่วงหน้า ขึ้นมาเป็นตัวแทนจำหน่ายในระบบโควตา ได้รับการจัดสรรสลากแน่นอนทุกงวด งวดละ 5 เล่ม/ราย โดยไม่ต้องไปสั่งซื้อสลากผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ซึ่งบางครั้งก็สั่งซื้อได้ บางครั้งก็สั่งซื้อไม่ได้ เป็นต้น ส่วนตัวแทนจำหน่ายที่ไม่พร้อม ทำไม่ได้ ก็ใช้วิธีอื่นไปตรวจเช็คว่ามีการขายสลากเกินราคาหรือไม่ โดยการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบ

    “ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการบริหารจัดการตัวแทนจำหน่ายสลากที่อยู่ในระบบของเรา ถ้าคุณเป็นคนขายสลากตัวจริง ขายในราคาใบละ 80 บาท คุณจะได้อยู่ในระบบและได้ขายสลากต่อไป แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนขายตัวจริง ได้รับการจัดสรรสลากมาแล้วนำไปขายต่อ เราจะคัดคุณออกจากระบบการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลาก เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการขายสลากจริงๆ แต่ไม่ได้รับการจัดสรรสลาก ได้เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายกับสำนักงานสลากฯต่อไป” พันโท หนุน กล่าว

  • 7 ปี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หวยเกินราคา ยังแก้ไม่ได้
  • นายกฯตั้ง “อนุชา นาคาศัย” แก้สลากฯเกินราคา
  • บอร์ดสลากฯไฟเขียวขาย ‘หวย’ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
  • 3 มาตรการ แก้หวยเกินราคา “ของจริง” หรือ “เฟค”?
  • สลากกินแบ่งฯรื้อระบบ คัดคนขายตัวจริง 2 แสนราย 1 ม.ค.ปีหน้า
  • ว่าด้วยทฤษฎีการพนัน (ตอนที่ 1):เข้าคาสิโน-เล่นม้า-แทงหวย-ซื้อลอตเตอรี่-ซื้อประกัน เล่นการพนันอย่างไหนโง่กว่ากัน
  • ว่าด้วยการพนัน…(ตอนที่ 2) เล่นหวย – ซื้อลอตเตอรี่ – ซื้อประกัน การพนันอย่างไหนผู้เล่นเสียเปรียบมากกว่ากัน
  • “หวย” ใครรวย?