ThaiPublica > คอลัมน์ > คาสิโน…รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบสังคม

คาสิโน…รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบสังคม

17 มกราคม 2022


ธนากร คมกฤส

ช่วงนี้น่าจะเป็นเวลาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (entertainment complex) การจัดเก็บรายได้ และภาษีจากธุรกิจคาสิโนถูกกฎหมาย และมาตรการในการป้องกันและแก้ไขบ่อนการพนันผิดกฎหมาย การแพร่ระบาดของตู้เกมพนันไฟฟ้าและการพนันออนไลน์ ของสภาผู้แทนราษฎร กำลังทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อจะ “ปิดจ็อบ” ให้ได้ตามกรอบเวลา 90 วันที่วางไว้ คือภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565

สิ่งที่เป็นภารกิจของภาคส่วนต่าง ๆ คือ การช่วยกันให้ข้อมูลและแง่คิดต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ปฏิบัติการทางสภาครั้งนี้เป็นเพียงอาการของ “เด็กอยากได้ของเล่น” ที่เห็นเพื่อนบ้านอื่นเขามีจึงอยากมีบ้าง หรือเห็นเพื่อนบ้านเขาทำแล้วได้เงินเลยอยากได้แบบเขาบ้าง โดยไม่ได้พิจารณาให้ถ่องแท้ว่า “จะเป็นอย่างเขาได้ตนเองต้องมีความพร้อมอย่างไร?”

โจทย์การบ้านจาก 18 ปีที่แล้ว

หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2546 รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำหนังสือถึงสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศ.) ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานในขณะนั้น ขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจหรือกิจการที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อันได้แก่ สถานประกอบการท่องเที่ยวครบวงจร (Entertainment Complex) ซึ่งหมายรวมถึงการเปิดคาสิโนถูกกฎหมายในสถานประกอบการดังกล่าว และได้รับหนังสือตอบกลับจาก สศ. คัดค้านว่า

“สังคมไทยยังขาดความพร้อม เพราะค่านิยมพฤติกรรมคนไทยมีแนวโน้มชอบเล่นการพนัน และการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพพอ การพนันเป็นทางแห่งความเสื่อมนำมาซึ่งความหายนะ ไม่ทำให้บ่อนการพนันเถื่อนหมดไป การจัดระบบการพนันให้ง่ายต่อการควบคุม เหมาะสมและถูกต้องนั้นยากที่จะเป็นไปได้ ธุรกิจการพนันไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการจ้างงาน และทำให้จำนวนผู้เล่นการพนันเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนทางสังคม (อาชญากรรม การล้มละลาย การฆ่าตัวตาย ปัญหาครอบครัว ความเจ็บป่วยฯ) สูงขึ้น ทำให้บรรทัดฐานของสังคมเสื่อมถอยลง รายได้ของธุรกิจการพนันเป็นการดึงเงินจากมือประชาชนเข้าสู่ระบบการพนันมากขึ้น การพนันถูกกฎหมายแก้ปัญหาเงินทุนไหลออกนอกประเทศไม่ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นสู่อิทธิพลระดับชาติ ที่จะกลายเป็นเครือข่ายของนักการเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดคอร์รัปชันระดับชาติหรือคอร์รัปชันเชิงนโยบายได้ง่ายยิ่งขึ้น”

พิจารณาข้อคัดค้านของ สศ. ดังกล่าวจะพบโจทย์การบ้านที่ค้างมาจากเมื่อ 18 ปีที่แล้วอยู่ประมาณ 3-4 ประเด็น ที่เกี่ยวกับการทำให้สังคมไทยมีความพร้อมที่มากพอที่จะมีคาสิโนถูกกฎหมาย คือ

    1.การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ
    2.การกีดกันกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ อันจะเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันของฝ่ายการเมือง
    3.การป้องกันปัญหาและลดผลกระทบทางสังคม การรักษาบรรทัดฐานทางสังคมให้คนไทยมีค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสมต่อการพนัน

อยากให้การพนันก้าวหน้า มาตรการต้องไม่ล้าหลัง

ญี่ปุ่นผู้ที่กำลังจะเป็นน้องใหม่ที่เปิดให้มีคาสิโนถูกกฎหมายในประเทศ ได้ออกกฎหมายคาสิโน (2560) ที่น่าจะถือว่าทันสมัยที่สุดเพื่อจะป้องกันการกระทำผิด และการรับมือกับผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยกำหนดแนวทางให้รัฐต้องกำหนดมาตรการรับมืออย่างน้อยใน 3 ด้าน ดังนี้

หนึ่ง ด้านความโปร่งใสของกิจการคาสิโน ทั้งเกมที่เปิดให้เล่นชิพ (Chip) และอุปกรณ์แทนเงินสดอื่น ๆ ซึ่งใช้ในคาสิโน รวมถึงการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานประกอบกิจการคาสิโน

สอง ด้านการคัดกรองบุคคลไม่พึงประสงค์ไม่ให้มีส่วนร่วมในสถานประกอบกิจการคาสิโน เช่น สมาชิกกลุ่มอันธพาลที่ปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ใช้บริการ และบุคคลไม่พึงประสงค์ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบกิจการคาสิโน การควบคุมดูแลโดยสถานประกอบกิจการคาสิโน โครงสร้างและระบบงานป้องกันอาชญากรรม เพื่อระงับอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น

สาม ด้านการรักษาไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น การอบรมสั่งสอนเยาวชนให้สมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และการเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เยาวชน เพื่อปกป้องคุ้มครองเยาวชน และการป้องกันผลกระทบทางลบที่เกิดจากภาวะเสพติดการพนัน อันเนื่องมาจากการเปิดให้บริการของสถานประกอบกิจการคาสิโน (วิลาสิณี ฉายรัตน์ตระกูล : บทวิเคราะห์แนวคิดการเปิดคาสิโนในประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น.รัฐสภา.2016)

หากลองเทียบเคียงกฎหมายคาสิโนของญี่ปุ่น กับ Gambling Act (2005) ของสหราชอาณาจักร ที่มุ่งเน้นการจัดการอุตสาหกรรมการพนันให้มีความสมดุลกับการปกป้องผู้เล่น เด็กเยาวชน และสังคมโดยรวม จะพบความสอดคล้องกันในหลายประเด็น โดย Gambling Act ได้กล่าวถึงหลักที่สำคัญอยู่ 3 ประการ เช่นกันคือ

  • หนึ่ง หลักการป้องกันไม่ให้การพนันเป็นต้นเหตุหรือเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหรือความไม่สงบเรียบร้อย หรือถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนอาชญากรรม
  • สอง หลักประกันว่าการพนันจะกระทำอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส
  • สาม หลักการป้องกันเด็กและเยาวชน และบุคคลที่บกพร่องด้านความสามารถอื่น ๆ จากอันตรายหรือการถูกใช้ประโยชน์ในการเล่นการพนัน (ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน : ได้เวลาดีไซน์กฎหมายการพนันฉบับทันสมัย.2556)

  • จะเห็นได้ว่าโจทย์หลักที่แทบไม่แตกต่างกันเลยของทุกประเทศก็คือ การควบคุมความโปร่งใสเป็นธรรมในธุรกิจคาสิโน การกีดกันความเกี่ยวข้องกับกระบวนการอาชญากรรมและการคอร์รัปชั่นของฝ่ายการเมือง และการป้องกันและลดผลกระทบทางสังคม

    ตอบโจทย์ไม่ครบ ก็จบไม่ได้

    สิ่งที่คณะกรรมาธิการชุดนี้จะปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการมีคาสิโน ผลการสำรวจสถานการณ์ปัญหาการพนัน และทัศนคติของคนไทยต่อการพนัน โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันในปี 2562 สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 44,050 รายจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ต่อข้อคำถามว่า “ประเทศไทยควรเปิดบ่อนคาสิโนถูกฎหมาย?” ผลปรากฎว่าคนไทย 51.1% ตอบว่าไม่เห็นด้วย ขณะที่ 30.5% เห็นด้วย และ 18.4% ไม่แน่ใจ

    ผลสำรวจนี้สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เรื่อง “บ่อนคาสิโนถูกกฎหมาย จะเอาหรือไม่!” ทำการสำรวจจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่าง ได้คำตอบว่า ร้อยละ 46.51 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 10.32 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 21.25 ระบุว่าเห็นด้วยมาก และร้อยละ 18.13 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย

    ศาสตราจารย์ วิลเลียม อาร์ เอ็ดดิงตัน จากสถาบันเพื่อการศึกษาการพนันและเกมเพื่อการพาณิชย์ มหาวิทยาลัยเนวาดา เรโน ลาสเวกัส กล่าวว่า เหตุผลของทุกสังคมในการต่อต้านการพนันถูกฎหมายมักไม่พ้น 4 ข้อต่อไปนี้ 1. การพนันเป็นสิ่งไม่ดีหรือชั่วร้าย สำหรับข้อนี้เอ็ดดิงตันคิดว่าเป็นมุมมองที่อาจฟังไม่ขึ้น เพราะหัวใจของการเล่นพนันคือความบันเทิง ช่วยผ่อนคลายความเครียด แต่ต้องไม่ใช่การเล่นพนันเพื่อหวังรวย 2.การพนันเป็นเรื่องผิดศีลธรรม ข้อนี้เอ็ดดิงตันถือว่าเป็นเรื่องจิตวิสัย (subjective) ที่พิสูจน์ไม่ได้ และในสังคมสมัยใหม่ผู้คนมีแนวโน้มจะนิยามความดีความชั่วด้วยตัวเองมากขึ้น

    แต่เหตุผลอีกสองข้อถัดมาคือข้อที่เขาคิดว่ามีน้ำหนัก ได้แก่ 3. คาสิโนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับองค์กรอาชญากรรมและการคอร์รัปชัน ข้อนี้เอ็ดดิงตันถือเป็นปัญหาสำคัญที่อาจเกิดขึ้นหากกฎหมายไม่รัดกุม และที่สำคัญหน่วยงานที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลต้องมีความน่าเชื่อถือ และ 4. การพนันมีผลกระทบทางสังคม เช่น การเล่นพนันมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาทางการเงิน การล้มละลาย ครอบครัวแตกแยก การเพิ่มขึ้นของโจรขโมย การฉ้อโกง การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักพนัน โดยเฉพาะนักพนันที่เป็นเยาวชน และปัญหาโรคติดการพนัน ซึ่งเอ็ดดิงตันเห็นว่าเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุด ถือเป็นปัญหาที่แก้ไขยากและใช้ต้นทุนสูง (ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน : 4 เหตุผลในการต่อต้านการพนันถูกกฎหมายที่มีอยู่ในทุกสังคม.2556)

    นี่น่าจะเป็นโจทย์ที่กรรมาธิการควรต้องทำการบ้านอย่างหนัก มากกว่าการโชว์ตัวเลขรายได้และการเก็บภาษี หรือตัวเลขการลงทุน รวมถึงการนำเสนอรูปแบบของสถานบันเทิงครบวงจร รูปแบบเกมในคาสิโน และพื้นที่ที่เหมาะแก่การเปิดคาสิโนไทย เพราะถึงแม้จะฉายภาพเหล่านี้ได้สวยหรูเพียงใด แต่หากตอบให้สังคมเชื่อมั่นไม่ได้ว่าจะจัดการกับผลกระทบทางสังคม และปัญหาอาชญากรรมที่เชื่อมโยงกับการคอร์รัปชันได้อย่างไร ก็น่าจะไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากสังคมได้มากพอ

    What? How? and By whom?

    สิ่งที่คณะกรรมาธิการคาสิโนไทยชุดนี้ ควรต้องทำการบ้านเพื่อมาตอบต่อประชาคมผู้ห่วงใยสังคมไทยคงต้องไปไกลกว่าคำตอบว่าเราต้องทำอะไร (What to do?) แต่ต้องไปให้ถึงว่า “เราต้องทำอย่างไร (How to do?) และใครหรือหน่วยงานที่มีรูปร่างหน้าตาเช่นใดคือผู้ที่จะมาทำภารกิจนั้น ๆ (Do these by whom?)

    ในหลายประเทศที่มีนโยบายให้มีการพนันถูกกฎหมาย เช่น สหราชอาณาจักร หรือในมลรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงสิงคโปร์และญี่ปุ่น จะจัดตั้งองค์กรระดับชาติเพื่อกำหนดนโยบายควบคุมดูแลการพนัน ในเมื่อการพนันส่งผลกระทบต่อสังคมหลายด้านจึงมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่เหมาะให้กระทรวงมหาดไทยเพียงหน่วยเดียวรับภาระนี้ จึงจัดตั้งองค์กรในรูป “คณะกรรมการควบคุมการพนัน” (Gambling Commission) ที่มีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การสั่งการหรือแทรกแซงของฝ่ายการเมืองหรือราชการ (ไพศาล ลิ้มสถิตย์ . “เปิดปม เป็น อยู่ คือ พนันออนไลน์ สังคมไทยยุคไร้พรมแดน”.มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.มปป.) เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส วางใจได้

    อีกด้านหนึ่งคือการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการพนัน สิงคโปร์คือตัวอย่างที่น่าสนใจ รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานหลักที่ชื่อ National Council on Problem Gambling (NCPG) ในปี 2005 หรือ 5 ปีก่อนจะมีการเปิดคาสิโนในประเทศ ประกอบด้วยบุคลากรด้านจิตเวช จิตวิทยา สังคมศาสตร์ กฎหมาย งานฟื้นฟูสุขภาพและศาสนา ทำหน้าที่ต่อสู้กับปัญหาการพนันในประเทศ โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องพิษภัยการพนันให้แก่ประชาชน ให้ความรู้ความเข้าใจ การป้องกันเด็กและวัยรุ่นเล่นพนัน รวมไปถึงการบริการให้คำปรึกษาครบด้าน (รศ.พญ.สุพร อภินันทเวช. ระบบให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการพนัน จากความรู้สู่การสร้างรูปธรรม.มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ.2558) รวมถึงการขึ้นทะเบียนผู้ที่ถูกห้ามเข้าคาสิโนหลายแสนราย (ปรีดี บุญซื่อ. อนาคตที่สดใสของธุรกิจบ่อนคาสิโนในเอเชีย บทเรียนจาก Las Vegas Model และ Singapore Model. ไทยพับลิกา. 2017

  • อนาคตที่สดใสของธุรกิจบ่อนคาสิโนในเอเชีย บทเรียนจาก Las Vegas Model และ Singapore Model
  • ไม่แน่ใจว่าระยะเวลาเพียง 90 วันจะเพียงพอต่อการทำงานที่ต้องตอบโจทย์ยาก ๆ ที่ว่ามาได้หรือไม่? ผลงานคงเป็นเครื่องวัดใจและวัดความสามารถของคณะกรรมาธิการ คณะที่ปรึกษา และสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะ “รู้คิด รอบคอบ และรับผิดชอบต่อสังคม” มากน้อยเพียงใด? อย่าให้เป็นเพียงอาการของเด็กอยากได้ของเล่นเท่านั้น เพราะสังคมไทยคงไม่อาจยอมตามใจเด็กเหล่านี้เป็นแน่