ThaiPublica > คอลัมน์ > “เขาจะทำให้คุณเป็นหมาใน 7 วัน”

“เขาจะทำให้คุณเป็นหมาใน 7 วัน”

5 กุมภาพันธ์ 2021


ธนากร คมกฤส

ในแวดวงการศึกษาจิตวิทยามีทฤษฎีหนึ่งที่โด่งดังมาก เรียกว่าดังข้ามศตวรรษเลยทีเดียว นั่นคือ ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (classical conditioning theory) ของอีวาน พาฟลอฟ (Ivan Pavlov, 1849–1936) ที่คนทั่วไปมักเรียกกันง่ายๆ ว่า “ทฤษฎีหมาน้ำลายไหล”

พาฟลอฟเป็นนักจิตวิทยาการทดลอง เขาทดลองกับสุนัขโดยการผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับเสียงกระดิ่ง แรกๆ คือ เมื่อสุนัขได้กลิ่นอาหาร สุนัขจะน้ำลายไหล นั่นเป็นการตอบสนองโดยธรรมชาติ แต่พาฟลอฟเอาเสียงกระดิ่งมาแทรกกลาง คือ สั่นกระดิ่งก่อนแล้วจึงนำอาหารออกมา หลายๆ ครั้งเข้าสุนัขเพียงแค่ได้ยินเสียงกระดิ่งก็จะน้ำลายไหล เพราะเกิดการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงระหว่างเสียงกระดิ่งกับอาหาร แม้ครั้งต่อๆ มามีเสียงกระดิ่ง แต่ไม่มีจานอาหารมาปรากฏ สุนัขก็น้ำลายไหล เขาถึงเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่าเป็นการเรียนรู้แบบถูกวางเงื่อนไข

พาฟลอฟพบต่อมาว่า ความเข้มข้นของการตอบสนองจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าสุนัขได้รับสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (ซึ่งก็คือเสียงกระดิ่ง) เพียงอย่างเดียวแต่ไม่ปรากฏจานอาหาร นานเข้าๆ ก็จะหยุดน้ำลายไหลเพราะเสียงกระดิ่ง หรือความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกระดิ่ง (สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข) กับอาหาร (สิ่งเร้าที่ไม่วางเงื่อนไข) หากทอดระยะห่างออกไปมากขึ้น เช่น ได้ยินเสียงกระดิ่งนานกว่าจานอาหารจะมา ก็จะทำให้พฤติกรรมน้ำลายไหลจากเสียงกระดิ่งลดน้อยถอยลง

เรื่องนี้ทำให้เกิดข้อค้นพบเพิ่มว่า “การทอดระยะเวลา” กับ “การได้รางวัล” มีความสัมพันธ์กัน ถ้าผู้เรียนรู้เริ่มจับกฎเกณฑ์ได้ว่า รางวัลจะมาเมื่อไร เมื่อใกล้จะถึงเวลานั้นพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ถูกวางเงื่อนไขไว้ก็จะเริ่มแสดงออก ครั้นเมื่อผ่านเวลานั้นไป พฤติกรรมนั้นจะค่อยๆ จางลดลง และจะกลับมาเข้มข้นขึ้นอีกเมื่อใกล้เวลาที่ตนจับกฎเกณฑ์ได้

นักจิตวิทยาการเรียนรู้และนักจิตวิยาองค์กรรุ่นหลัง นำทฤษฎีของพาฟลอฟมาประยุกต์ใช้ในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้เรียนและผู้ปฏิบัติงาน โดยนำ “รางวัล” มาเป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน หรือลูกจ้างเกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน โดยขจัดความแน่นอนของ “เวลา” และ “รางวัล” ออกไป นั่นคือ นักเรียนหรือลูกจ้างไม่รู้ล่วงหน้าว่า “ครู” หรือ “นายจ้าง” จะให้รางวัลเมื่อไร และไม่รู้ด้วยว่ารางวัลคืออะไร ขนาดเท่าใด

นักจิตวิทยาพบว่า การให้รางวัลแบบไม่มีความแน่นอนของเวลาและตัวรางวัลนี้มีผลในการกระตุ้นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการให้รางวัลแบบมีระยะเวลาหรือมีขนาดของรางวัลที่แน่นอน

“เจ้ามือพนัน” อาจไม่ได้เรียนรู้ทฤษฎีการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขของพาฟลอฟ แต่พวกเขามีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างกระจ่าง เพราะเขารู้ดีว่า “รางวัล” (prize) คือสุดยอดปรารถนาของ “นักพนัน” ไม่ว่ารางวัลนั้นจะเป็นเงินทองของมีค่า

หรือชัยชนะที่ผ่านการท้าทาย หรืออื่นใด และเมื่อการพนันคือเกมที่มีผลลัพธ์ไม่แน่นอน ซึ่งคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ ก็เข้าทางตามเงื่อนไขของพาฟลอฟ …. “ไม่รู้ว่ารางวัลจะมาเมื่อไรและจะได้มากน้อยเพียงใด” ฉะนั้น ต้องลุ้นไปเรื่อยๆ

นี่คือการทำงานตามธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า “การพนัน”

แต่สิ่งที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติในวงการพนัน คือ “การแทรกแซงของเจ้ามือ” ที่ต้องการให้คนที่ยังไม่เคยลิ้มรสความหอมหวานของรางวัลจากการเล่นพนันได้เสพประสบการณ์นั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ “เจ้ามือพนัน” จะทำคือ “เขาจะทำให้คุณได้” ให้คุณได้ลิ้มรสอาหารจากจานพนัน เพื่อฝังความทรงจำในสมองของคุณ และเมื่อคุณคิดถึงมันแล้วคุณจะน้ำลายไหล จากนั้นเขาก็จะสั่นกระดิ่งเพื่อเรียกคุณเข้าไปเล่นพนันอยู่เรื่อยๆ และ “ทำให้คุณได้” เป็นครั้งคราวในระยะแรกๆ เพื่อหล่อเลี้ยงให้อาการน้ำลายไหลของคุณยังเกิดขึ้นเป็นประจำ แล้วจึงค่อยๆ นำคุณเข้าสู่ “แดนประหาร” … เพราะเขาจะทำให้คุณหมดเนื้อหมดตัว

อดีตเจ้ามือพนันรายหนึ่งสังเคราะห์บทเรียนสีดำให้ฟังว่า* เขาใช้ทฤษฎี “ลงบันไดสามขั้น” ในการจัดการกับนักพนัน

บันไดขั้นที่หนึ่ง “ทำลายความกลัว” เพราะคนไม่เคยเล่นพนันมาก่อนมักจะกลัวเสียเงิน ฉะนั้น “เขาจะทำให้คุณได้” ตั้งแต่การเล่นครั้งแรกๆ เพื่อให้คุณไม่กลัวเสียพนัน และจดจำห้วงขณะของการได้พนันแทนว่า “กูเคยได้”

บันไดขั้นที่สอง … “เปลี่ยนทัศนคติให้คุณกล้าได้กล้าเสียมากขึ้น” เพราะแน่นอนว่าเมื่อคุณเข้าเล่นการพนันจริงๆ แล้วคุณจะเสีย แต่หากคุณใจฝ่อพอเสียแล้วจะเลิกเขาก็จะเสียลูกค้า ฉะนั้น เขาจะทำให้เมื่อคุณเสียแล้วคุณต้องกล้าตาม กล้าเบิ้ลเดิมพันไปอีกเท่าตัว โดย “เขาจะทำให้คุณได้” ตามที่คุณปรารถนา เพื่อฝังความทรงจำลงไปให้ลึกว่า “กูเคยเบิ้ลตามแล้วกูได้”

บันไดขั้นที่สาม … “เอาคืน” เมื่อเขาหล่อเลี้ยงความกล้าได้กล้าเสียของคุณจนถึงที่แล้ว ก็ถึงเวลาที่เขาจะ “เอาคืน” จากคุณให้มากที่สุด เพราะเมื่อคุณเล่นพนันจนติดพันแล้วคุณย่อมเสีย และเมื่อคุณเสียพนันมากเข้า คุณจะยิ่งเบิ้ลเพื่อไล่ตามล่าเอาเงินที่เสียไปคืนมาให้ได้ มีรถขายรถมีบ้านขายบ้าน ถึงเวลานี้เขาก็ยังจะย้ำซ้ำคุณด้วยวิธี “ทำให้คุณได้” แต่ได้บ้างแบบไม่เต็มตามจำนวนที่คุณอยากได้ เช่น คุณจะเบิ้ลตามเพื่อให้ได้เงินคืน 300,000 เขาอาจจะทำให้คุณได้สัก 100,000 เพื่อให้คุณเล่นต่อ และย้ำเตือนความทรงจำที่ฝังรากไว้ในบันไดสองขั้นว่า “กูเคยได้” และ “กูเคยเบิ้ลตามแล้วกูได้” ฉะนั้น เดี๋ยวกูต้องได้อีกสิ … แต่ในความเป็นจริงคือคุณจะเสียอีกๆๆๆๆ

การชวนคุณเดินลงบันไดสามขั้นนี้เขายืนยันว่าใช้เวลาไม่เกินเจ็ดวัน … เขาจะทำให้คุณเป็นหมาภายในเจ็ดวัน!!!

การทำให้ผู้เล่นพนันหน้าใหม่ “เคยได้” เป็น “วิชามาร” ของเจ้ามือ ที่ใช้มาตั้งแต่การพนันยุคบ่อนบ้าน บ่อนเถื่อน บ่อนคาสิโนเฟื่องฟู ครั้นมาถึงยุคบ่อนออนไลน์ไยจะใช้ไม่ได้ แถมใช้ได้เนียนกว่า จับผิดได้ยากกว่า เพราะเทคโนโลยีทำงานได้แม่นยำกว่า “การโกงด้วยเครื่อง” แยบยลกว่า “การโกงด้วยคน” หลายเท่านัก

จริงๆ แล้วน่าแปลกใจที่เมื่อเริ่มเล่นเกมพนันแค่ครั้งแรกๆ ก็ได้เงินเลย แต่ก็ไม่แปลกที่คนเล่นมักไม่เอะใจ เพราะเขามัวแต่ดีใจกับรางวัลที่ได้มา และเริ่มเชื่อมโยงเสียงกระดิ่งของการพนันกับรางวัลที่ตนโปรดปราน

* ติดตามได้ที่เฟซบุ๊กและยูทูบ “ชีวิตเฮียๆ ก็เป็นเสี่ยได้”